ที่สุดในชีวิต ! บันทึกของหมออาสาที่อมก๋อย..ไกลแค่ไหนก็คุ้ม

บันทึกของหมออาสา

          เรื่องเล่าจากประสบการณ์ ของหมอ และพยาบาลอาสา ที่บุกป่าฝ่าดงขึ้นไปยัง หมู่บ้านทีผะแหล่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านที่ขึ้นชื่อว่ายากจนและห่างไกลที่สุดในประเทศไทย จนมีความประทับใจที่สุดในชีวิตมาเล่าต่อกันฟัง..

          ในยุคที่เทคโนโลยีและความสะดวกสบายเป็นเรื่องหาง่าย หลายคนอาจไม่เคยมองว่ามีมุมหนึ่งไกล ๆ ที่ยังไม่สนิทสนมกับความสะดวกสบายมากเท่าไรนัก คุณ megamovie สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม พร้อมด้วยเพื่อนหมอ-พยาบาลอาสา จึงชักชวนกันขึ้นไปแบ่งปันและบรรเทาความลำบากของผู้คนบนหมู่บ้านห่างไกลแห่งนั้น หมู่บ้านทีผะแหล่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และนี่คือเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยความอิ่มเอมใจที่อยากให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ ^^

          หมอ พยาบาลอาสา ที่ทีผะแหล่ หมู่บ้านห่างไกลในอมก๋อย บันทึกประสบการณ์ที่สุดในชีวิต

          นี่เป็นบันทึกของการไปเป็นหมออาสาของ ผมและเพื่อน ๆ หมออีก 3 คน รวมทีมงานพยาบาลศิษย์เก่าพยาบาลสงขลานครินทร์หาดใหญ่ และทีมจากศูนย์มะเร็งลำปาง รวมเกือบ 30 ชีวิต ในโครงการ "พยาบาลใต้ใส่ใจเด็กดอย" ในหมู่บ้านที่ห่างไกลและว่ากันว่ายากจนที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

          เราได้รับการสนับสนุนของบริจาคจากแฟนเพจไป กระทู้นี้จึงมีอีกหน้าที่นอกจากถ่ายทอดประสบการณ์ คือการขอบคุณในน้ำใจครับ ของและเงินบริจาคจากหลายแหล่งหลายคนผู้ใจดี ทำให้เกิดโครงการนี้ได้ ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

          "มีใครสนใจจะไปเป็นหมออาสา ตรวจบนดอยที่อมก๋อยไหม ???"


 บันทึกของหมออาสา

          ข้อความนั้นเด้งเตือนเข้ามาในไลน์กลุ่มเพื่อนหมอ ทันทีที่เห็นก็ราวกับมีแรงดึงดูด คำว่าอาสาและดอย เป็น 2 คำที่มีพลังมากสำหรับผม อาสาแปลว่าไม่มีค่าตอบแทนและเป็นการมอบบางอย่างที่เรามี ที่เราสามารถจะเป็นประโยชน์ได้ให้กับใครสักกลุ่มที่ขาดแคลนและต้องการ

          ดอย แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้ตำแหน่งที่แน่ชัดของอมก๋อย แต่ขึ้นชื่อว่าดอยในช่วงหน้าหนาวอย่างนี้ นึกถึงควันที่เป่าออกจากปากยามหายใจ ต้นไม้ใบหญ้าเขียวสดใสและลำธารไหลเย็น ไม่มีอะไรดีกว่าการไปดอยเป็นแน่ หลังจากปรึกษาเพื่อนรัก และตัดสินใจลางาน จองตั๋วเครื่องบิน เท่านั้นทุกอย่างก็พร้อมแล้วสำหรับการไปเป็นหมออาสาที่ดอยอมก๋อย ในอีก 1 เดือนข้างหน้า

 
บันทึกของหมออาสา

          วันเวลาผ่านไปตามปกติของมัน ไม่ช้าไม่เร็วไปกว่าทุกเดือน การประกาศรับบริจาคตามช่องทางต่าง ๆ ทั้งในเฟซบุ๊กส่วนตัวและในเพจที่ทำอยู่ รวมถึงการประกาศปากเปล่า ก็นำพาของบริจาค ที่เต็มไปด้วยน้ำจิตน้ำใจของผู้ใจดีทั้งจากใกล้ตัว ใกล้บ้าน ไปจนถึงต่างบ้านต่างเมือง ให้หลั่งไหลมารวมกันที่เชียงใหม่ ศูนย์รวมกำลังพลและข้าวของสำหรับโครงการนี้

          คงยากจะหาคำอธิบายความตื้นตันใจที่มีต่อน้ำใจของทุก ๆ คนของบริจาคแต่ละกล่องล้วนกล่องใหญ่เป็นของสภาพดีและสามารถนำไปใช้ได้จริง คำขอบคุณแทนชาวบ้านที่ได้สวมใส่เสื้อผ้าบริจาคเพื่อกันหนาว คงเป็นคำที่มีค่าที่สุด ขอบคุณครับ 


บันทึกของหมออาสา

          ข้าวของพร้อม กายพร้อม ใจพร้อม แล้วเราก็ไปอมก๋อยกัน จากคำบอกเล่าของใครหลาย ๆ คน เราจะใช้เวลาเดินทางจากเชียงใหม่ไป อำเภออมก๋อย 4 ชั่วโมง อย่านะ อย่าคิดว่าถึงแล้วทำไมง่ายจัง ถ้าง่ายขนาดนั้นเราอาจจะไม่ต้องไปกันครับ

          ความจริงมีอยู่ว่า อมก๋อยเป็นเขตอำเภอที่กว้างใหญ่ประกอบด้วย ตำบล และหมู่บ้านชาวปกากะญอ หรือกะเหรี่ยงที่เราคุ้นเคยกัน มากมายหลายสิบหมู่บ้าน และที่ที่เราเลือกไปกัน คือหมู่บ้าน "ทีผะแหล่" จากตัวอำเภออมก๋อยไปโดยรถโฟร์วีล ใช้เวลาอีก 4 ชั่วโมง "นั่นคือคำบอกเล่า" ในเช้าวันเดินทางคณะของเรา ออกจากเชียงใหม่ด้วยรถประจำทางที่ได้เช่าเหมาไว้


บันทึกของหมออาสา

บันทึกของหมออาสา

บันทึกของหมออาสา

          ทุกคนแลดูตื่นเต้นไม่แพ้กัน ที่จะได้ไปประสบกับความแปลกใหม่และน่าจะท้าทายเราไม่น้อย สองข้างทางเต็มไปด้วยทัศนียภาพแม่น้ำลำธารทุ่งนาภูเขา  4 ชั่วโมงกว่าผ่านไป เรามาถึงอมก๋อย 


บันทึกของหมออาสา

          แต่การเดินทางที่แท้จริง มันเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ต่างหาก รถโฟร์วีลกระบะ 4 คัน ที่ล้อมกรงรอบคันมารอรับเราพร้อมด้วยครูยุทธ ครูหนุ่มจากใต้ผู้ที่มีอายุอานามรุ่นราวคราวเดียวกับพวกเราจบ food science แต่ตัดสินใจจากบ้านเกิดมาเป็นครูดอยด้วยความมุ่งมั่น ทิ้งเงินเดือนหลักหมื่น มาเป็นเรือจ้างในดินแดนที่ห่างไกลชื่อไม่คุ้นหู


บันทึกของหมออาสา

บันทึกของหมออาสา

          ขนของบริจาคและของส่วนตัวทั้งหมดกระจายขึ้นรถทั้ง 4 คัน แบ่งกำลังพลกระจายไปแต่ละคัน


บันทึกของหมออาสา

บันทึกของหมออาสา

          การเดินทางที่สุดยอดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตก็เริ่มขึ้น รถขับเคลื่อน 4 ล้อค่อย ๆ  พาผู้อาสาเข้าสู่ดินแดนที่ยากแก่การเข้าถึง ล้อที่แข็งแกร่งพาเราฝ่าถนนลูกรัง ฝ่าฝุ่นควัน ฝ่าเขาสูงชัน ขับข้ามลำธารนับสิบสาย กับอีกหลายหมู่บ้าน ด้วยความที่ถนน.. จริง ๆ จะเรียกถนนก็ดูจะเป็นการดูถูกเส้นทางสู่หมู่บ้านทีผะแหล่จนเกินไปเพราะเอาเข้าจริงมันเป็นแค่ทางดินแดงเกือบตลอดทั้งเส้นระยะทางกว่าร้อนกิโลเมตร ด้วยความทรหดของทางรถนี้ ทำให้ผู้ร่วมทางหลายคนเกือบพ่ายแพ้ ล้มหมอนนอนเสื่อด้วยอาการเมารถกันไปหลายราย


บันทึกของหมออาสา

          ควายในปลักที่ไม่เคยเห็น ทุกคนตื่นเต้นคว้ากล้องมาถ่ายรูปกันใหญ่


บันทึกของหมออาสา

          ขับต่อไปอีกระยะหนึ่ง ขณะข้ามลำธารก็ได้ยินเสียง "ฉ่า" พร้อมควันขึ้นเป็นสัญญาณว่าล้อรถความร้อนสูงเกินไป ต้องลงไปช่วยกันวิดน้ำรดล้อ


บันทึกของหมออาสา

          "สรพงศ์" คนขับรถคันของเราเป็นชายหนุ่มปกากะญออารมณ์ดีพูดไทยได้ชัดเจนทีเดียว บอกเราหลังจากเดินทางด้วยรถโฟร์วีลมาเกิน 4 ชั่วโมง ตามที่ได้รับบอกกล่าวมาแล้วว่า "อินิเดียวคระ อิ 2 ชั่วโม ก็ถึและ" คุณพระ !!! นั่นแปลว่าเราจะใช้เวลาเดินทางรวมกว่า 6 ชั่วโมง จากตัวอำเภออมก๋อย ณ จุดที่อีก 2 ชั่วโมงถึงทีผะแหล่


บันทึกของหมออาสา

บันทึกของหมออาสา

บันทึกของหมออาสา

บันทึกของหมออาสา

          จากจุดนี้ อีก 4 หมู่บ้าน 13 กิโลแม้ว ม้ง หรือเผ่าไหนก็ตาม เราจะถึงทีผะแหล่ แต่ละหมู่บ้านอยู่ห่างไกลกันค่อนข้างมาก 3-4 กิโล เมื่อหารตัวเลขออกมา อาจดูไม่เยอะเลยในสายตาคนเมือง แต่ถ้าคุณ ๆ ได้ลองมาสัมผัสกิโลแม้วสักครั้ง ที่รถสามารถเคลื่อนได้ประมาณ 15-20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหนทางคือดินแดง ลำธาร และลูกรัง นึกภาพไม่ออกเลยว่าถ้ามีคนป่วยหนักอยู่ในหมู่บ้าน แล้วรถที่มีอยู่ไม่กี่คันนั้น เกิดไม่อยู่ในระยะไหว้วานได้ อะไรจะรออยู่นอกจากความตาย


บันทึกของหมออาสา

          แสงอาทิตย์อ่อนลงเต็มที และเริ่มที่จะคล้อยต่ำหลบมุมสู่แนวหุบเขา


บันทึกของหมออาสา

บันทึกของหมออาสา

บันทึกของหมออาสา

          หมู่บ้านแล้วหมู่บ้านเล่าที่เราผ่านไป มีเด็ก ๆ ตัวน้อยหน้าตามอมแมม ออกมายืนไหว้สวัสดีชาวคณะอย่างแข็งขัน เป็นที่แปลกใจของพวกเรามาก ก็รู้ ๆ กันอยู่เด็กวัย 2,3,4,5 ขวบ ที่อยู่ในเมือง สอนกันแทบแย่จะให้ยกมือไหว้คนรู้จักยังยาก แต่นี่เราคือคนแปลกหน้าที่เห็นกันแค่เสี้ยวเวลาที่รถผ่าน แต่เด็ก ๆ แทบทุกคนกลับยกมือไหว้เรา ทำไมกันนะ ?


บันทึกของหมออาสา

          "สรพงศ์" คนเดิม ให้ข้อมูลตอบข้อสงสัยของเราว่า เด็ก ๆ เหล่านี้ได้รับการสอนจากครูในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ให้ใช้การไหว้และกล่าวสวัสดีขบวนของคณะที่เข้ามาในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการต้อนรับ ซึ่งมันเป็นนิสัยที่น่ารักมาก ๆ เชียวล่ะ


บันทึกของหมออาสา

          ทางช่วงสุดท้ายก่อนถึงทีผะแหล่ เรียกได้ว่า "ของจริง" พวกเราบางส่วนที่นั่งและยืนหลังกระบะ ต้องใช้วิทยายุทธข้อแข็ง เกาะเกี่ยวราวเหล็กรอบรถเอาไว้จนกล้ามเนื้อตึงเกร็งไปทุกส่วน และยังไม่วายต้องเอาหัวหลบให้พ้นทางกิ่งไม้ที่พร้อมจะมาปะทะได้จากทุกทิศทาง


บันทึกของหมออาสา

          แล้วในเฮือกสุดท้ายก่อนทุกคนจะหมดแรง หลังคาบ้านหลายหลัง ลำธารใสพร้อมเสียงน้ำไหล ก็ปรากฏแก่สายตาและโสตประสาทของเรา 10 ชั่วโมง จากเชียงใหม่ถึงในเขตจังหวัดเดียวกันอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้านั่งเครื่องบินก็ไปเกือบถึงฝรั่งเศสแล้ว "ทีผะแหล่" อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง


บันทึกของหมออาสา

          ในเย็นวันแรกที่ไปถึงบ้านทีผะแหล่ หลังจากช่วยกันขนย้ายของบริจาคเข้าที่เก็บของ และสัมภาระส่วนตัวเข้าที่พักซึ่งก็คือตัวโรงเรียนเรียบร้อยแล้วโดยมีผู้ช่วยคนของคือเด็ก ๆ ตัวเล็ก ตัวโต คุณครูยุทธและครูหญิงประจำโรงเรียนทีผะแหล่ และคุณครูอีก 2 คน ที่เดินทางมาจากต่างหมู่บ้านเพื่อรอรับเรา


บันทึกของหมออาสา

          ก็ได้เวลาไปชำระล้างฝุ่นดินแดงที่เกาะกรังตามตัว ตามผม ไม่เว้นแม้กระทั่งรูจมูกออกไปบ้าง คืนความสดชื่นให้กับร่างพัง ๆ กันหน่อย และที่อาบน้ำของเราก็ไม่ใช่ที่อื่นไกล คือลำน้ำเงาข้างโรงเรียนที่หล่อเลี้ยงหมู่บ้านทีผะแหล่นั่นเอง


บันทึกของหมออาสา

          ลำธารใสไหลเย็นสดชื่นเมื่อได้กระโดดลงไปแช่ชำระล้างคราบไคล ฝุ่นควัน ฟอกสบู่ แชมพูกันให้หอมเคล้าวิวป่าเขาที่ล้อมรอบ และพระอาทิตย์ที่ทอแสงทองสุดท้ายก่อนลับทิวเขาไป พูดไปก็จะหาว่าเหลือเกิน แต่ความเหนื่อยล้าจากการกระเด้งกระดึ๋ง กระแทกกระทั้น บนเส้นทางอันหฤโหด 6 ชั่วโมง ก็บรรเทาเบาบางลงราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ใครจะรู้กันว่าลำธารน้ำเงานี้มีเสน่ห์ดึงดูดใจทำให้อยากอยู่ที่นี่ไปอีกนาน ๆ 


บันทึกของหมออาสา

          บนดอยและในหมู่บ้านไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ไม่ว่าจะค่ายไหน ๆ 2G 3G 4G ไม่มีกระดิก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมของโรงเรียนไม้เล็ก ๆ ที่น่ารัก มีบ้านต้นไม้หลังเล็กที่เรายึดเป็นเรือนนอน


บันทึกของหมออาสา

          สิ่งปลูกสร้างล้วนก่อร่างสร้างขึ้นด้วยแรงงานอาสา และครูดอยหนุ่ม-สาว เด็ก ๆ ที่น่ารัก ก็ทำให้เราลืมโลกเสมือนบนโซเชียลเน็ตเวิร์กไปได้ไม่ยาก


บันทึกของหมออาสา

          ถึงเวลาอาหารเย็น พี่ ๆ พยาบาลที่ทำหน้าที่ฝ่ายสวัสดิการไปเตรียมพร้อมอาหารเย็นกันอยู่ก่อนแล้วอย่างรวดเร็ว อาหารอย่างง่ายแต่รสชาติเหมือนรสมือแม่ ถูกจัดแจงไว้อย่างพร้อมเพียง ทั้งหมูทอดน้ำปลารสเด็ด ไข่เจียว ไข่ต้ม ผักต่าง ๆ กินเติมพลัง ร่วมกับของแห้งที่เตรียมไปอย่างปลากระป๋อง น้ำพริก และข้าวที่ชาวบ้านหุงเตรียมไว้ให้ เป็นข้าวไร่ที่ปลูกในหมู่บ้าน ก็ทำให้มื้อธรรมดา ๆ กลายเป็นมื้ออร่อยสุดพิเศษท่ามกลางขุนเขา ณ ดินแดนห่างไกลไปอย่างไม่น่าเชื่อ ต้องขอขอบคุณพี่ ๆ ทีมแม่ครัวพยาบาล ที่สนับสนุนให้เราอิ่มอร่อยมีแรงทำงานกันตลอด 3 วัน ในทีผะแหล่ครับ


บันทึกของหมออาสา

          จากนั้นประชุมเตรียมงานวันรุ่งขึ้นเราจะเริ่มตรวจชาวบ้านตอนประมาณ 9 โมงเช้า โดยจะมีเด็ก ๆ นักเรียนในโรงเรียนประมาณ 80 คน และชาวบ้านผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และที่จะเดินเท้ามาอีกจากต่างหมู่บ้านประมาณ 60-70 คน ส่วนจะเสร็จสิ้นเวลาไหนคงบอกยาก เพราะชาวบ้านหลายคนเดินเท้ามาจากต่างหมู่บ้านซึ่งไม่รู้ว่าจะถึงจุดตรวจตอนไหน เมื่อต่างเข้าใจในแผนงานต่างก็แยกย้ายเตรียมตัวเข้านอนกันแต่หัวค่ำ 


บันทึกของหมออาสา

          หมอ 3 คน แอบหลบมานั่งเล่นชิงช้าของเด็ก ๆ รำลึกความหลัง แสดงถึงวัยที่ผ่านพ้นล่วงเลยวัยรุ่นกันมาพอสมควร คุยกันออกรสจนเริ่มง่วง แล้วย้ายขึ้นบ้านต้นไม้ แหล่งพักพิงเล็ก ๆ ของเราที่มองเห็นดาวเต็มฟ้าใส ๆ อากาศเย็นสบาย (และหนาวไปสำหรับบางคน) จนผล็อยหลับไป วันแรกคืนแรกของทีผะแหล่ ไม่ยากเลยที่เราจะตกหลุมรักที่นี่


บันทึกของหมออาสา

          วันนี้เราจะทำกิจกรรมกันทั้งวัน ส่วนเรื่องอาบน้ำ ก็วาดหวังไว้ว่าจะเก็บไว้ไปลงเล่นลำน้ำเงาช่วงที่แดดจัด ไล่ความเหน็บหนาวพ้นไปสักหน่อย


บันทึกของหมออาสา

          พวกเราออกไปเดินริมน้ำเงา เด็ก ๆ กำลังเล่นเตะบอลกันในสนามดินข้างแม่น้ำ


บันทึกของหมออาสา

          เจ้าตัวเล็กหน่อยแยกออกจากกลุ่มพี่ ๆ มาเดินถือธนูไม้ไผ่ไล่ยิงอย่างสนุก เด็ก ๆ ที่นี่ได้สัมผัสกับธรรมชาติในทุกนาทีที่เดิน วิ่ง เล่น กิน เป็นเด็ก ๆ ที่ไม่ได้รับการปรุงแต่งและแปดเปื้อนจากความเจริญภายนอกอย่างแท้จริง
 

บันทึกของหมออาสา

          "หนูชื่ออะไรลูก" พวกเราแหย่ถามเด็ก ๆ ออกจะขี้อายอยู่บ้างและฟังกันไม่รู้เรื่องเท่าไร หนู ๆ ตอบว่า "นาลิต๊ะ นาตะล๊ะ นารูโต๊ะ" อ๋ออออ คงเป็นภาษาปกากะญอ เราคิดไป จนได้มารู้ที่หลังว่าจริง ๆ แล้ว หนู ๆ ชื่อ "นานีรัตน์, นัฐพงศ์" ภาษาไทยเรานี่เอง


บันทึกของหมออาสา

บันทึกของหมออาสา

          ก่อนเริ่มงานตรวจ คุณครูยุทธผู้เป็นทั้งครูทั้งแกนนำกิจกรรม และผู้นำชาวบ้านเรียกนักเรียนมาเข้าแถวจัดระเบียบ ร้องเพลงประจำหมูบ้าน คือเพลง อมก๋อย ทีผะแหล่ ที่พอจับใจความได้ว่า "โอ่โอ อมก๋อยบ้านเรา โอ่โอ อมก๋อยบ้านเรา สาาาล่อสาล่อจักรยาน" (คือ สามล้อ ๆ จักรยาน) น่ารักชะมัด


บันทึกของหมออาสา

บันทึกของหมออาสา

          ถ่ายรูปหมู่แนะนำตัวกันเรียบร้อย ก็เคลื่อนย้ายไปพื้นที่จัดกิจกรรม ซึ่งเป็นอีกอาคารเรียนหนึ่งที่ได้ตั้งโต๊ะตรวจ โต๊ะจ่ายยาไว้เรียบร้อยแล้ว 


บันทึกของหมออาสา

บันทึกของหมออาสา

          เด็ก ๆ นักเรียนทั้งหมดทยอยเข้ามาชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง


บันทึกของหมออาสา

          ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็จะได้รับการตรวจสัญญาณชีพ ชั่งน้ำหนัก เจาะระดับน้ำตาลคัดกรองเบาหวานคร่าว ๆ แล้วส่งเข้ามาตรวจโดยมีหมอเจมส์ หมอบาส คอยดูแลเป็นหลัก


บันทึกของหมออาสา

          จากนั้นก็จะส่งไปรับยาข้างนอก ซึ่งทีมที่ดูแลเรื่องยาก็ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์มะเร็งลำปาง ที่ส่งทั้งแรงคน และยามาช่วย โดยขับรถตามกันมาตั้งแต่เมื่อวานขอบคุณมากครับ


บันทึกของหมออาสา

          ในการตรวจจะมีล่ามซึ่งเป็น อสม. หรืออาสาสมัครประจำหมู่บ้าน และคุณครูมาคอยช่วยพวกเรา เป็นล่ามสื่อสารกับชาวบ้าน 


บันทึกของหมออาสา

          หลังจากตรวจไปสักพัก เราก็พอจะจับปัญหาสุขภาพหลัก ๆ ของชาวบ้านที่นี่ได้ คือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดเข่า ข้อเข่าเสื่อม ซึ่งไม่แปลกเลยจากลักษณะการทำงานที่ทำไร่กันเป็นหลัก และต้องเดินขึ้นเขาลงห้วยอยู่ตลอดแบบนี้ ส่วนอาการไข้หวัด ไอ เวียนหัว และปวดท้องก็เจอได้อยู่เรื่อย ๆ ซึ่งก็เป็นผลกระทบจากชีวิตประจำวันของชาวบ้านเช่นกัน ที่ส่วนใหญ่จะสูบยาสูบ กินเหล้ากันค่อนข้างมาก ส่วนเด็ก ๆ ที่เจอเป็นหลักก็คือฟันผุ และน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ เจริญเติบโตช้ากว่าปกติที่ควรเป็น ซึ่งก็มาจากปัญหาเรื่องอาหารการกิน ที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้กินเนื้อสัตว์กัน


บันทึกของหมออาสา

          เราได้รับรู้เพิ่มเติมว่าในหมู่บ้านมีการเลี้ยงหมู ไก่ วัว ควาย กันอยู่ แต่มักเลี้ยงเพื่อขายและเซ่นผี (ตามความเชื่อ) ไม่นิยมเอามากินกัน ซึ่งแน่นอนจะส่งผลต่อการเติบโตของเด็ก ๆ

          นอกจากการสั่งยาบรรเทาอาการแล้วสิ่งที่พอจะทำได้ก็คือการให้ความรู้ผ่านล่ามเรื่องการลดการสูบบุหรี่ลดเหล้าลง ซึ่งเอาเข้าจริงเราก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็น "วิถิชีวิต" ของพวกเขา เราไม่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากเท่าไรหรอก เราคงทำได้ดีที่สุดโดยให้คำแนะนำที่ปรับไปใช้ได้เท่านั้นเอง


บันทึกของหมออาสา

          ป้าคนนี้แกมอเตอร์ไซค์ล้ม ไปเย็บแผลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลข้างล่าง ที่ห่างจากทีผะแหล่ไปประมาณ 3 ชั่วโมง วันนี้เราดูแผลให้และตัดไหมให้แกด้วยอุปกรณ์ที่มี


บันทึกของหมออาสา

          พักเที่ยงมีเวลาก็เดินไปดูบ้านชาวบ้านละแวกใกล้เคียง ที่กำลังตำข้าว ฝัดข้าว กันอยู่ซะหน่อย ปลูกเอง ตำเอง ร่อนข้าวเปลือกเอง ครบวงจร


บันทึกของหมออาสา

          กิจกรรมในช่วงบ่าย มีการสันทนาการปลุกเด็ก ๆ ให้ตื่นเล็กน้อยหลัง จากหนังท้องตึงกับมื้อเที่ยง เดี๋ยวหนังตาจะหย่อนกันไปเสียก่อน จากนั้นจึงแบ่งกิจกรรมออกเป็นฐาน ๆ เพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 4 ฐาน ได้แก่ กลุ่ม อสม. กับฐานความรู้เรื่องโรคมะเร็ง ให้ความรู้โดยคณะจากศูนย์มะเร็งลำปาง 


บันทึกของหมออาสา

          กลุ่มชาวบ้านผู้หญิง ในฐานสุขภาพผู้หญิง ให้ความรู้โดยหมอบาส กลุ่มเด็ก ๆ เข้า 2 ฐานคือฐานแปรงฟัน และล้างมือ 7 ขั้นตอน ให้ความรู้โดยหมอเจมส์ หมอฝ้าย และพี่ ๆ น้อง ๆ พยาบาล ห้องเรียนที่ทีผะแหล่ใหญ่โต ไม่ได้ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยผนังสี่ด้านและเพดาน แต่โอบล้อมด้วยขุนเขา มีฟ้าเป็นเพดาน มีลำน้ำเงาเป็นผนังด้านหนึ่ง ก่อนจะเรียนแปรงฟันล้างมือกัน ก็ต้องแจกขนมนมเนยสักหน่อยเพื่อความเอร็ดอร่อยในช่วงบ่าย 


บันทึกของหมออาสา

          เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกได้เลยว่า เด็ก ๆ โชคดี ที่มีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติขนาดนี้ มีชีวิตอย่างเรียบง่าย


บันทึกของหมออาสา

          สอนล้างมือ 7 ขั้นตอนกันตรงนี้นี่แหละดีที่สุดแล้ว


บันทึกของหมออาสา

          กิจกรรมฐานให้ความรู้จบลงในช่วงบ่ายแก่ ๆ พร้อมกันแดดที่เริ่มแรงขึ้น ความล้าแดดและไม่สดชื่นเริ่มเร่งเร้าให้วิ่งไปหาแม่น้ำเงา แหล่งพักกาย และรางวัลเล็กน้อยที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวคณะ ที่ผืนป่าและหมู่บ้านทีผะแหล่มอบให้ เราต่างแช่น้ำใสไหลเย็นล้างเหงื่อคราบไคลออกจากตัว นอนลอยตัวปล่อยวางทุกอย่าง ให้ลำน้ำและขุนเขา โอบกอดเอาไว้


บันทึกของหมออาสา

          ในอาคารเรียนใหญ่ช่วงบ่าย หลังจากกิจกรรมทุกอย่างเสร็จสิ้น ชาวคณะกำลังจัดเตรียมกองเสื้อผ้า เสื้อหนาว ผ้านวม เสื้อผ้าเด็ก ที่ถูกแยกออกมาจากลังกระดาษ มาแยกชนิดเพื่อให้แต่ละครัวเรือนได้ของกระจาย ๆ กันไปอย่างทั่วถึง


บันทึกของหมออาสา

          เมื่อของพร้อม ครูยุทธประกาศออกเสียงตามสาย เรียกชาวบ้านทั้งหมดมารับของบริจาคที่โรงเรียน พวกเราชาวคณะส่งต่อความตั้งใจในการให้ของทุกคน ถึงมือชาวบ้านแต่ละครัวเรือน ที่มารับของด้วยสีหน้ายิ้มแย้มดีใจ
 

บันทึกของหมออาสา

          หลังจากนั้นมีลุงคนไข้ที่เพิ่งเดินเท้ามาจากอีกหมู่บ้านมาถึงเกือบเย็นแล้ว จึงได้ตั้งเก้าอี้ตรวจกันกลางลานอีกรอบ


บันทึกของหมออาสา

          จากนั้นก็จะเป็นกิจกรรมรอบกองไฟ ที่หน้าอาคารเรียน ชาวคณะสรุปผลการทำกิจกรรมทั้งวันในวันนี้ เราตรวจคนไข้ไปได้ 136 คน ปัญหาหลักที่พบในเด็กคือน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ เจริญเติบโตช้า ฟันผุ และขาดสารอาหาร ก็ได้พยายามให้ความรู้เรื่องการกินอาหาร แต่อย่างที่บอกไปว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหารหลักของที่นี่แต่เลี้ยงเพื่อขายซะมากกว่า

          จากที่คุย ๆ กับครูยุทธ ได้ข้อคิดเห็นว่าอยากให้มีองค์กรหรือบริษัทมาให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่เพื่อเป็นอาหารในชุมชนในหมู่บ้านครับ ถ้าใครมีความรู้หรือทำงานในบริษัทที่เกี่ยวข้องอยากจะช่วยเหลือลองติดต่อให้จะเป็นพระคุณกับชาวบ้านและเด็ก ๆ มาก


บันทึกของหมออาสา

          ระหว่างนั้นคนไข้สองคนสุดท้ายก็เดินเท้ามาถึง เราตรวจกันอีกครั้ง โดยมีเจษฎานักเรียน ป.6 คนเก่งของทีผะแหล่มาช่วยเป็นล่ามให้


บันทึกของหมออาสา

          ปิดท้ายด้วยการแสดงของชาวคณะอาสาด้วยความประทับใจ จากนั้นครูยุทธเปิดหนังให้เด็ก ๆ ดูเรื่อง Transformer ซึ่งถือเป็นโอกาสพิเศษ เพราะนาน ๆ ทีจะได้ใช้ไฟฟ้าเยอะแบบนี้ ไฟจากที่นี่ใช้โซลาร์เซลล์ครับ 


บันทึกของหมออาสา

          เช้าวันสุดท้ายทุกคนตื่นกันแต่เช้ามืด ล้างหน้า แปรงฟัน จัดแจงภารกิจส่วนตัว เก็บของ พร้อมออกเดินทางกลับสู่โลกภายนอกที่วุ่นวาย ทุกคนมารวมตัวกันถ่ายรูปหมู่ ร่ำลาครูยุทธผู้แข็งแกร่งและเป็นแรงบันดาลใจ ลาเด็ก ๆ ชาวบ้านและครูคนอื่น ๆ


บันทึกของหมออาสา

          ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนจะได้กลับมาที่นี่ หรือจะได้กลับมาอีกหรือเปล่า หลังจากพวกเรากลับไป ชาวบ้านและเด็ก ๆ ก็คงมีชีวิตอยู่ตามวิถีแบบเดิม ๆ เราไม่ได้เข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรหรอก แต่เราแน่ใจว่าเราเข้ามาเพื่อให้เท่าที่ให้ได้ พาน้ำใจของคนที่ไม่สามารถเข้ามาได้ทุกคน มาให้ชาวบ้านจากมือถึงมือ มีเพียงความทรงจำเท่านั้นที่เราพากลับออกไป


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
คุณ megamovie สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ที่สุดในชีวิต ! บันทึกของหมออาสาที่อมก๋อย..ไกลแค่ไหนก็คุ้ม อัปเดตล่าสุด 26 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 14:02:11 33,851 อ่าน
TOP
x close