x close

อิริเดียมแฟลร์ ปรากฏการณ์แสงสีส้มโผล่เหนือฟ้า กทม.

สมาคมดาราศาสตร์ ชี้แจงปรากฏการณ์ แสงสีส้มเหนือท้องฟ้า

สมาคมดาราศาสตร์ ชี้แจงปรากฏการณ์ แสงสีส้มเหนือท้องฟ้า


           อิริเดียมแฟลร์ ปรากฏการณ์แสงวูบคล้ายดาวตก โผล่เหนือท้องฟ้าบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ชาวเน็ตสุดฉงน-แชร์ภาพว่อน สมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุเป็นแสงจากดาวเทียมอิริเดียม 

           วันนี้ (3 มีนาคม 2558) รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ได้แชร์ภาพเหตุการณ์ประหลาดที่มีคนบันทึกภาพได้แล้วนำไปลงในโลกโซเชียล เมื่อมีแสงคล้ายลูกไฟ ส่องสว่างวาบ พุ่งแบบดาวตก ในช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา (2 มีนาคม) เหนือท้องฟ้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล จนชาวเน็ตแสดงความเห็นกันแพร่หลายว่า น่าจะเป็นปรากฏการณ์ของ "ไฟเออร์บอล" หรือไม่

           ต่อมาทางด้านของสมาคมดาราศาสตร์ไทย ก็ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ในช่วงเวลาหัวค่ำ กทม. มีโอกาสเห็นแสงสว่างวาบของดาวเทียมอิริเดียม ซึ่งเกิดมาจากสายอากาศทำมุมสะท้อนกับดวงอาทิตย์ โดยดาวเทียมดังกล่าวมีอยู่หลายดวง ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นหนนี้เป็นดาวเทียมอิริเดียม 30 ซึ่งจะมีความสว่างที่สุดในช่วงใกล้ ๆ 20.00 น. (19.53 น.) บนท้องฟ้าทางทิศใต้ มุมเงย 36 องศา

สมาคมดาราศาสตร์ ชี้แจงปรากฏการณ์ แสงสีส้มเหนือท้องฟ้า


           สำหรับแสบสว่างวาบจากดาวเทียมอิริเดียม หรือ ปรากฏการณ์ อิริเดียมแฟลร์ (Iridium flare) เกิดจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของดาวเทียมอิริเดียมทำมุมสะท้อนแสงดวงอาทิตย์ในตำแหน่งที่พอดี จนเกิดเป็นแสงวาบดังกล่าว โดยเราจะเห็นแสงวาบเป็นแสงกะพริบเคลื่อนที่เป็นเส้นตรง และค่อย ๆ สว่างเพิ่มขึ้นแล้ววูบดับไปในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 2-3 วินาที มีความสว่างก็มีหลายระดับจนบางครั้งสว่างพอ ๆ กับดวงจันทร์

           อิริเดียมแฟลร์ มักจะเกิดในช่วงรุ่งเช้าหรือหัวค่ำ เพราะเป็นจังหวะดีที่สุดในการสะท้อนแสงของดวงอาทิตย์ โดยนอกจากดาวเทียมอิริเดียมปรากฏการณ์ดังกล่าวยังสามารถเกิดขึ้นกับดาวเทียมดวงอื่นได้เช่นกัน แต่ความสว่างจะน้อยกว่า สำหรับ อิริเดียมแฟลร์ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเพราะสามารถคำนวณช่วงเวลาในการเกินได้อย่างแม่นยำ แต่จะพบเห็นได้ยากเพราะมักจะเกิดแสงวาบให้เห็นเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น 

           ทั้งนี้ ดาวเทียมอิริเดียม เป็นดาวเทียมสื่อสารที่บริษัทเอกชนของสหรัฐผลิตขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีโครงการที่จะสร้างดาวเทียม 77 ดวง แต่สร้างดาวเทียมสำเร็จเพียง 66 ดวงเท่านั้น เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาด้านเงินทุน รัฐบาลสหรัฐจึงซื้อดาวเทียมเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ ดาวเทียมอิริเดียมอยู่สูงจากพื้นโลก 800 กิโลเมตร โคจรรอบโลกจากขั้วโลกเหนือวนลงไปขั้วโลกใต้และกลับไปที่ขั้วโลกเหนือภายในเวลา 100 นาที โดยมีดาวเทียมอิริเดียมบางดวงที่เคลื่อนผ่านประเทศไทยตลอดเช่นกัน

***หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 10.52 น. วันที่ 3 มีนาคม 2558






ภาพจาก  รายการ เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร , เฟชบุ๊ก สมาคมดาราศาสตร์ไทย





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อิริเดียมแฟลร์ ปรากฏการณ์แสงสีส้มโผล่เหนือฟ้า กทม. อัปเดตล่าสุด 3 มีนาคม 2558 เวลา 10:55:33 52,508 อ่าน
TOP