แผ่นดินไหว รับมือให้พร้อม เอาตัวรอดอย่างปลอดภัย



วิธีรับมือแผ่นดินไหว

             แผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง มาดูคำแนะนำของ ปภ. ในการเตรียมพร้อมรับมือเหตุแผ่นดินไหว พร้อมวิธีปฏิบัติตนให้ปลอดภัย

             จากข่าวแผ่นดินไหวใน จ.พังงา และจังหวัดใกล้เคียง เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ได้ทำให้ประชาชนในพื้นที่ตื่นตระหนก และหวั่นเกรงว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทาง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงมีคำแนะนำเพื่อให้ทุกคนเตรียมพร้อมรับมือ และรู้เท่าทันว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้น

             นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว แต่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีปัจจัยจากภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่านรวม 14 รอยเลื่อน ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

             โดยล่าสุดได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลาง บริเวณอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และทางตอนใต้ของเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา แม้จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง แต่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ซึ่งแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ช่วงเวลา สถานที่เกิดและระดับความรุนแรงได้ล่วงหน้า เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการเตรียมพร้อมรับมือและการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ดังนี้

วิธีรับมือแผ่นดินไหว

วิธีรับมือแผ่นดินไหว

             การเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว

              ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนให้มีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรง รวมถึงสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ ไม่ต่อเติมอาคาร

              ยึดติดสิ่งของและเครื่องเรือนกับพื้นหรือผนังบ้านอย่างแน่นหนา

              ไม่วางสิ่งของที่มีน้ำหนักมากไว้บนหลังตู้หรือที่สูง  เพื่อป้องกันสิ่งของหล่นทับกรณีเกิดแผ่นดินไหว

              กำหนดจุดนัดพบที่ปลอดภัยและซักซ้อมการปฏิบัติตนกรณีเกิดแผ่นดินไหว

              จัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดภัยพิบัติอย่างน้อย 3 –7 วัน

             การปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

              ให้ปฏิบัติตามหลัก "หมอบ ป้อง เกาะ" โดยหมอบใต้โต๊ะหรือหลบในจุดที่มีโครงสร้างแข็งแรง ยึดเกาะโต๊ะหรือที่กำบังให้แน่นและเคลื่อนตัวไปตามทิศทางของแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว จะช่วยป้องกันศีรษะและลำคอได้รับบาดเจ็บ

              หาที่หลบกำบังในบริเวณที่ปลอดภัย อยู่ให้ห่างจากประตูและหน้าต่างที่เป็นกระจกหรือสิ่งของที่อาจตกลงมากระแทก รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถล้มลงมาได้ หากไม่มีที่หลบกำบัง ให้หมอบราบกับพื้นหรือก้มต่ำ โดยใช้แขนหรือมือกำบังศีรษะและลำคอ เพื่อป้องกันสิ่งของตกกระแทก

วิธีรับมือแผ่นดินไหว

              กรณีอยู่ในที่โล่งแจ้งให้อยู่ห่างจากสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่อาจพังถล่มหรือล้มทับ

              กรณีกำลังขับรถ ห้ามหยุดรถบริเวณใต้สะพานและทางด่วน ให้จอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย และรอจนกว่าแผ่นดินไหวสงบจึงค่อยขับรถไปต่อ

              กรณีอยู่ในอาคาร ควรรอให้แผ่นดินไหวสงบค่อยออกจากอาคาร ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพออกจากอาคาร เพราะหากกระแสไฟฟ้าดับจะติดค้างภายในลิฟต์ ทำให้เสียชีวิต

              ไม่กลับเข้าไปในอาคารสูงหรือบ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการทรุดตัวหรือพังถล่ม

             หลังแผ่นดินไหวสงบ

              ให้ติดตามรับฟังข่าวสารสถานการณ์แผ่นดินไหว พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำและประกาศเตือนภัยของหน่วยงานภาครัฐอย่างเคร่งครัด

              แจ้งวิศวกรหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสำรวจโครงสร้างอาคาร หากอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง จึงสามารถกลับเข้าไปอาศัยได้

              กรณีได้กลิ่นก๊าซ ให้เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายก๊าซออกสู่ภายนอกและห้ามทำให้เกิดประกายไฟ เพราะจะทำให้เกิดเพลิงไหม้

              ตรวจสอบท่อน้ำ สายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า หากได้รับความเสียหาย ควรซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปลอดภัยก่อนนำมาใช้งาน

             ทั้งนี้ การเรียนรู้การเตรียมพร้อมรับมือและการปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว จะช่วยลดผลกระทบและสามารถเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหวได้อย่างปลอดภัย


ภาพจาก thaiembassy.jp

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แผ่นดินไหว รับมือให้พร้อม เอาตัวรอดอย่างปลอดภัย อัปเดตล่าสุด 8 พฤษภาคม 2558 เวลา 17:06:00 11,668 อ่าน
TOP
x close