x close

นาซา เผยภาพถ่าย ดาวพลูโต ระยะใกล้ครั้งแรกแบบชัด ๆ




าพถ่ายดาวพลูโต


                NASA เผยโฉมหน้า ดาวพลูโต แบบชัดแจ๋วเป็นครั้งแรก เตรียมรอชมภาพพื้นผิวที่ชัดเจนสมบูรณ์แบบเร็ว ๆ นี้

                เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 โครงการนิว ฮอไรซันส์  ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ได้เปิดเผยภาพถ่ายดาวพลูโตแบบชัดแจ๋วออกมาให้เห็นกันเป็นครั้งแรก เผยให้เห็นภูมิประเทศรูปหัวใจบนดาวได้อย่างชัดเจน

                ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ยานนิว ฮอไรซันส์ บันทึกได้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ขณะที่นิว ฮอไรซันส์ กำลังเดินทางอยู่ห่างจากดาวพลูโตที่ระยะห่าง 768,000 กิโลเมตร นับว่าเป็นภาพถ่ายโฉมหน้าดาวพลูโตแบบชัดแจ๋วมากที่สุดในขณะนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มนุษย์ไม่เคยรู้เลยว่าพลูโตมีลักษณะหน้าตาเป็นแบบไหน

                อย่างไรก็ดี นิว ฮอไรซันส์ โคจรเฉียดดาวพลูโตในระยะที่ใกล้ที่สุดที่ 12,500 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวดาว เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และแน่นอนว่าได้บันทึกภาพพื้นผิวดาวที่ละเอียดยิบกว่านี้เอาไว้แล้ว แต่ตอนนี้ ภาพถ่ายที่บันทึกได้ในระยะใกล้ที่สุดยังไม่ได้รับการประมวลผล คาดว่าอีก 2-3 วัน เราจะได้รับชมภาพดาวพลูโตที่ชัดแจ๋วที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติไปพร้อม ๆ กัน

world_id:55a4dd404d265a41228b456b

                สำหรับดาวพลูโต เดิมเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะถัดจากดาวเนปจูน ถูกค้นพบโดยบังเอิญโดยนักดาราศาตร์ชื่อ ไคลน์ ทอมบอ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2473 ท่ามกลางการถกเถียงว่าดาวดวงที่อยู่ไกลที่สุดของระบบสุริยะนี้เหมาะสมที่จะเป็นดาวเคราะห์หรือไม่ ก่อนที่ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ที่ประชุมสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก จะมีมติปลดดาวพลูโตออกจากการเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ และให้ถือว่าดาวพลูโตเป็นเพียง "ดาวเคราะห์แคระ" เนื่องจากดาวพลูโตไม่สามารถควบคุมแรงดึงดูดและวงโคจรของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่นอกระบบสุริยะ ทั้งนี้ดาวพลูโต มีดวงจันทร์บริวารอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 5 ดวง ประกอบด้วย ชารอน ไฮดรา นิกซ์ สติกซ์ และเคอร์เบอรอส







            ภารกิจสำรวจดาวพลูโต ของดาวเทียม นิว ฮอไรซันส์

            จากข้อมูลของเว็บไซต์ csironewsblog.com สามารถสรุปภาพรวมของภารกิจ ตลอดจนการส่งข้อมูลภาพดาวพลูโต จากนิว ฮอไรซันส์ มาสู่โลกได้ ดังนี้

            1. ดาวเทียมนิว ฮอไรซันส์ เดินทางออกจากโลกเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 เพียงไม่กี่เดือนก่อนที่ดาวพลูโตจะถูกลดชั้นจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ให้เหลือเพียงดาวเคราะห์แคระ

            2. ดาวเทียมนิว ฮอไรซันส์ ใช้แหล่งพลังงานจากเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยความร้อนจากไอโซโทปรังสี  (radioisotope thermoelectric generator) ซึ่งจะเปลี่ยนความร้อนจากการสลายกัมมันตรังสีทางธรรมชาติของพลูโตเนียมไดออกไซด์ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า

            3. ดาวเทียมนิว ฮอไรซันส์ เป็นยานที่เดินทางได้เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเดินทางไปถึงดาวพฤหัสบดีในปี 2550 ก่อนที่จะอาศัยแรงโน้มถ่วงมหาศาลของดาวพฤหัสบดีช่วยผลักยานให้เดินทางเร็วขึ้นอีก 14,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

            4. ดาวเทียมนิว ฮอไรซันส์ จะทำการสำรวจดาวพลูโตและบริวารในระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะเริ่มภารกิจใหม่ในการมุ่งหน้าต่อไปยังแถบไคเปอร์



            5. ดาวเทียมนิว ฮอไรซันส์ มีอุปกรณ์ 7 ตัวซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูที่ต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์บันทึกภาพ อุปกรณ์ตรวจวัดอนุภาค และหน้าที่อื่น ๆ
   
            6. หลังจากที่รวบรวมข้อมูลและภาพได้เยอะที่สุดแล้ว นิว ฮอไรซันส์จะแปลงสัญญาณข้อมูลทั้งหมดให้กลายเป็นสัญญาณ 01011010 และยิงสัญญาณดังกล่าวด้วยเครื่องวิทยุกลับมายังโลก

            7. จานรับสัญญาณขนาดใหญ่ที่ศูนย์รับสัญญาณอวกาศระดับลึก ในแคนเบอร่า ประเทศออสเตรเลีย จะรับคลื่นวิทยุดังกล่าวซึ่งมีสัญญาณอ่อนกว่าถ่านนาฬิกาถึง 2 หมื่นล้านเท่า เพื่อขยายสัญญาณกลับมาเป็นสัญญาณ 01011010 และส่งต่อกลับมายังนักวิทยาศาสตร์ที่รออยู่ในนาซา เพื่อนำข้อมูลและภาพที่ได้มาใช้ในการศึกษาต่อไป
   
            8. ในบรรดาอุปกรณ์สำคัญทั้ง 7 ตัวของดาวเทียมนิว ฮอไรซันส์ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์อนุภาคฝุ่นนั้นเป็นผลงานของกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐฯ


***หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 11.54 น. วันที่ 15 กรกฎาคม 2558

ภาพจาก เฟซบุ๊ก NASA - National Aeronautics and Space Administrationcsironewsblog.com, ทวิตเตอร์ @NASA, @NASANewHorizons   


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เกาะติด ข่าวดาวพลูโต ล่าสุดทั้งหมด 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นาซา เผยภาพถ่าย ดาวพลูโต ระยะใกล้ครั้งแรกแบบชัด ๆ อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2558 เวลา 11:07:28 147,166 อ่าน
TOP