สถานที่แห่งนี้คือ ฟาร์มศพ มหาวิทยาลัยเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ที่นี่เป็นศูนย์รวมของศพที่ถูกปล่อยทิ้งให้เน่าเปื่อยสยดสยองอย่างจงใจ แต่แม้จะฟังดูเหมือนเป็นการทิ้งศพอย่างไม่ไยดี จริง ๆ แล้ววัตถุประสงค์ของการทิ้งศพเหล่านี้เป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ เพราะศพเหล่านี้ถูกทิ้งให้เน่าเปื่อยตามธรรมชาติเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญและนักศึกษาได้ศึกษากระบวนการเน่าเปื่อย อันจะเอื้อต่อการนำไปเปรียบเทียบกับสภาพศพคดีฆาตกรรมทั้งหลาย
ฟาร์มศพ มหาวิทยาลัยเทนเนสซี ถูกก่อตั้งขึ้นมาครั้งแรกโดย ดร.วิลเลียม เบส นักมานุษยวิทยานิติเวชและศาสตราจารย์ภาควิชานิติมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2514 เขาตัดสินใจลงมือทำฟาร์มศพแห่งนี้เพื่อศึกษากระบวนการเน่าเปื่อยของศพมนุษย์ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยแวะเวียนมาขอความช่วยเหลือจากเขาในการช่วยวิเคราะห์สภาพศพในคดีฆาตกรรมหลาย ๆ คดี ซึ่งเขาเองก็ต้องกุมขมับเพราะหลายอย่างก็ไม่อาจให้คำตอบได้
เมื่อเริ่มแรก ดร.วิลเลียม มีศพเพียงแค่ร่างเดียวบนพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ๆ แต่ในเวลาต่อมาเขาได้พัฒนาพื้นที่จนมีขนาดกว้างขวางกว่า 12,140 ตารางเมตร และมีศพถูกทิ้งให้เน่าเปื่อยอยู่ทั่วไปอีกกว่า 40 ศพ ฟาร์มศพแห่งนี้เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังจนกระทั่งได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนนิยาย แพทริเซีย คอร์นเวลล์ ที่นำเรื่องสุดแปลกนี้ไปเขียนเป็นหนังสือนิยายในปี 2538 ชื่อ The Body Farm
แล้วศพเหล่านี้มาจากไหนกัน ? ในช่วงเริ่มแรกของการก่อตั้งฟาร์มศพ ดร.วิลเลียมได้นำศพที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้มาจากแล็บนิติเวช หลังจากนั้นผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับงานของเขา และบริจาคร่างกายให้กับฟาร์มศพ อุทิศร่างกายให้กับการศึกษานิติเวชวิทยา
สำหรับแนวทางการศึกษาศพของมหาวิทยาลัยเทนเนสซีนั้น จะมุ่งเน้นทำการศึกษาด้านการเน่าเปื่อยและย่อยสลายตัวของศพมนุษย์ในหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ความแตกต่างของการเน่าเปื่อยในศพมนุษย์ที่ถูกฝังดินและไม่ถูกฝัง การย่อยสลายตัวและเน่าเปื่อยของศพมนุษย์ที่อยู่ในน้ำ หรือแม้แต่ศึกษาการย่อยสลายของศพมนุษย์ที่อยู่ในกระโปรงท้ายรถยนต์ก็มี
โดยทั่วไปแล้ว ก่อนที่นักศึกษาภาควิชานิติมานุษยวิทยาจะนำศพเหล่านี้มาใช้งาน พวกเขาจะแช่ศพไว้ในตู้แช่แข็ง หลังจากนั้นจะต้องมีการวางแผนในการจัดวางศพเหล่านี้อย่างเป็นระบบภายในฟาร์ม โดยตำแหน่งของศพแต่ละร่างจะถูกจัดวางไว้อย่างระมัดระวังที่สุด จากนั้นนักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสืบคดีโดยการโยงหลักฐานในที่เกิดเหตุเข้าด้วยกัน เช่น การสังเกตเวลาการเสียชีวิตจากหนอนแมลงที่ชอนไชบนร่างศพ จากนั้นนักศึกษาจะได้ทดลองการเก็บหลักฐานจากซากศพ และนำมาวิเคราะห์ในแล็บเป็นลำดับต่อไป
ทั้งนี้ การศึกษาจากฟาร์มศพไม่ได้มีแค่ที่มหาวิทยาลัยเทนเนสซีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายแห่งที่หันมาใช้วิธีการศึกษาจากของจริงแบบนี้ด้วย เช่น มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น แคโลไรนา ซึ่งมีพื้นที่ฟาร์มศพราว 18 ตารางเมตร และมีศพให้ศึกษาในคราวเดียวกันราว 6-10 ร่าง มหาวิทยาลัยรัฐเทกซัส มีฟาร์มศพซึ่งมีพื้นที่ราว 20,234 ตารางเมตร
นอกจากนี้ยังพบว่ามีฟาร์มศพที่มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต มหาวิทยาลัยเซาธ์เธิร์น อิลลินอยส์ และมหาวิทยาลัยโคโลราโด เมซา อีกด้วย