พลังประชารัฐ รอดทุกข้อหายุบพรรค กกต. ตีตกหมด 5 คำร้องจาก เรืองไกร

 

          กกต. ตีตก 5 คำร้อง เรืองไกร กรณี พปชร. เสนอชื่อ บิ๊กตู่ เป็นนายกฯ-ใช้สื่อออนไลน์-ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ-ระดมทุนโต๊ะจีน-อุตตม เป็นหัวหน้าพรรคก่อนเป็นสมาชิก ชี้หากมีหลักฐานใหม่สามารถยื่นร้องเพิ่มได้



          เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 เดลินิวส์ รายงานว่า พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 มิถุนายน 2562 แจ้งผลการพิจารณายกคำร้องใน 5 ประเด็นที่เกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปยังนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติซึ่งเป็นผู้ร้องได้รับทราบ คือ

          1. กรณีที่ขอให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา  เป็นนายกรัฐมนตรีพรรคไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ. 2561 ข้อ 90 และ ข้อ 91 โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า การลงมติเพื่อเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ดำเนินการโดยชอบแล้ว มีการเสนอชื่อ 3 คน ประกอบด้วย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายอุตตม สาวนายน โดยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคพลังประชารัฐแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคมีมติเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ กกต. นั้น มีหนังสือยินยอมของ พล.อ. ประยุทธ์ ให้เสนอชื่อได้ ดังนั้นการเสนอชื่อดังกล่าวจึงเป็นไปตามข้อบังคับพรรคข้อ 90 และข้อ 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 13 และ14 รวมถึงระเบียบกกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ข้อ 114และ 115 แล้ว
              
          2. กรณี พล.อ. ประยุทธ์ เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐซึ่งต้องห้ามมิให้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า กกต. มีมติไปแล้วว่าการประกาศชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญมาตรา 88 และมาตรา 89 รวมถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 13 และ 14 แล้ว 

พลังประชารัฐ

          3. กรณี พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เว็บไซต์ เข้าข่ายเป็นเจ้าของกิจการสื่อ มีผลให้ต้องห้ามเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี นั้น กกต. มีมติแล้วว่ายังไม่ถือว่าเข้าข่ายเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชน จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98(3) รวมถึงมาตรา 264 ด้วย

          4. กรณีพรรคพลังประชารัฐ จัดกิจกรรมระดมทุนด้วยการขายโต๊ะจีนราคา 3 ล้านบาท ก็ไม่เข้าข่ายการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แม้จะกำหนดราคาโต๊ะจีนสูง แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เข้าร่วมกิจกรรมระดมทุน โดยกฎหมายได้จำกัดวงเงินผู้สนับสนุนเอาไว้แล้ว กรณีดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นการขายสินค้าในลักษณะแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน ยังไม่เป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมือง

พลังประชารัฐ
          5. กรณีร้องว่านายอุตตม สาวนายน ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยยังไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เห็นว่า มีการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่การจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง  จัดประชุมตั้งพรรคการเมืองในส่วนของผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรค จากนั้นเมื่อสภาพนิติบุคคลเกิดขึ้น เมื่อนายทะเบียนตามรับการจดจัดตั้ง ก็มีการเปิดรับสมัครสมาชิกในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 โดยนายอุตตม ได้ทำหนังสือแจ้งเรื่องการรับสมัครสมาชิกให้ กกต. รับทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 และในวันดังกล่าวนายอุตตมก็สมัครเป็นสมาชิกพรรคชำระค่าบำรุงตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสำนักงาน กกต. เคยตอบข้อสอบถามพรรคอนาคตใหม่ว่า ผู้ที่เข้าชื่อร่วมกันขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองและได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง จะเป็นสมาชิกต่อเมื่อได้ชำระค่าบำรุงพรรคแล้วดังนั้น การเป็นหัวหน้าพรรคของนายอุตตม จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว และไม่เป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองแต่อย่างไร 

          ทั้งนี้ นายทะเบียนพรรคการเมืองยังแจ้งว่าหากนายเรืองไกร มีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่การพิจารณาซึ่งน่าจะทำให้ผลการพิจารณาของนายทะเบียนพรรคการเมืองเปลี่ยนแปลงไปสามารถแจ้งให้พิจารณาได้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เดลินิวส์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พลังประชารัฐ รอดทุกข้อหายุบพรรค กกต. ตีตกหมด 5 คำร้องจาก เรืองไกร อัปเดตล่าสุด 3 กรกฎาคม 2562 เวลา 11:24:17 20,501 อ่าน
TOP
x close