อดีต ปธ.หอการค้าอินโดฯ-ไทย แจ้งจับ สุภา ปิยะจิตติ ปปช.ไทย ติดสินบนคดีปาล์ม


          อดีตประธานหอการค้าอินโดฯ-ไทย แจ้งความจับ สุภา ปิยะจิตติ อดีต ปปช.ไทย และพวก ร่วมกันติดสินบนพยาน เพื่อสร้างหลักฐานเท็จ คดีปาล์มอินโดฯ

         เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 มีรายงานว่า นางแนนซี่ มาร์ตาสุตา (Nancy Martasuta) อดีตประธานหอการค้าอินโดฯ-ไทย ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ Depok ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ของไทย ทั้ง นางสาวสุภา ปิยะจิตติ, นายอัครกิตติ์ กีรติธนาไชยยศ, นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ, นายสิญภพ รูปเตี้ย นางสาววิไลลักษณ์ ศรีสุขใส และนางรสยา เธียรวรรณ ผู้บริหาร บริษัท PTTGE ในข้อหาให้สินบนพยาน เพื่อสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ และสอบพยานที่ประเทศอินโดนีเซียโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สุภา ปิยะจิตติ
         นางแนนซี่ เปิดเผยสืบเนื่องจากวันที่ 4 สิงหาคม 2560 นางรสยา เธียรวรรณ ได้เข้าพบ นายเบอร์ฮันนุดดิน (Burhanuddin) ผู้ร่วมลงทุนในโครงการ พีทีเคพีไอ (PT.KPI)  มีการนำส่งถุงสินบนมามอบ ก่อนที่ ป.ป.ช.ประเทศไทย จะเข้าสอบสวนอย่างเป็นทางการเพียง 48 ชั่วโมง ซึ่งเหตุการณ์วันดังกล่าวนางแนนซี่ รู้เห็นเหตุการณ์แต่เพียงผู้เดียว

         นางแนนซี่ กล่าวต่อว่า พฤติกรรมของนางรสยา ที่มีวัตถุประสงค์ในการติดสินบน โน้มน้าว จูงใจ ให้นายเบอร์ฮันนุดดิน ให้ถ้อยคำในการสอบสวนเพื่อเป็นไปตามแผน ความต้องการ เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของนางรสยา เพื่อใส่ร้ายป้ายสี และใส่ความบุคคลอื่นโดยปราศจากหลักฐานที่ถูกต้อง ซึ่งนางรสยา ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไปพบนายเบอร์ฮันนุดดิน แต่อย่างใด เนื่องจากบริษัท พีทีทีจีอี ได้ขายโครงการ PT.KPI ให้กับนายเบอร์ฮันนุดดิน เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วในเดือนสิงหาคม 2558 โดยเจ้าตัวยืนยันว่า มีหลักฐานที่นางรสยา เดินทางมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ประเทศไทย คือนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ, นายสิญภพ รูปเตี้ย และนางสาววิไลลักษณ์ ศรีสุกใส หลังจากการสอบสวนในอินโดนีเซีย วันที่ 7-8 สิงหาคม 2560 ในเที่ยวบินเดียวกัน TG434 เส้นทางจาการ์ตา-กรุงเทพฯ วันที่ 11 สิงหาคม 2560 แสดงให้เห็นว่า การให้สินบนในวันที่ 4 สิงหาคม 2560 และวันทำการสอบสวน ได้ถูกวางแผนไว้แล้วล่วงหน้า โดยนางรสยา และคณะทำงาน รวมถึงนางสาวสุภา ปิยะจิตติ และคณะทำงานด้วย โดยมีการวางแผนจัดเตรียมการสอบสวนทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลปลอมและเป็นเท็จ และนำพยานหลักฐานเท็จไปใช้ในกระบวนการศาลของไทย

         ทั้งนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่ามีพยานหลักฐานว่ารายงานการสอบสวนที่ถูกเก็บรวบรวมมาทั้งหมด ประกอบไปด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ และข้อมูลที่ผิดพลาดซึ่งได้ถูกทำขึ้นผ่านการกระทำที่ละเมิดกฎหมายโดยเจตนา ในอินโดนีเซีย โดยนางสาวสุภา ปิยะจิตติ และพวกเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ประเทศไทย และนางรสยา เธียรวรรณ และผู้บริหาร ปตท. PTTGE การกล่าวหาผู้บริสุทธิ์โดยปราศจากหลักฐานที่ถูกต้องเพื่อที่จะช่วยเหลือและปกป้องผู้บริหาร ปตท. PTTGE จากการลงโทษทางคดีอาญาของศาลประเทศไทย

         และยังอ้างว่านายอัครกิตติ์ กีรติธนาไชยยศ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโส ป.ป.ช.ประเทศไทย ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนนายเบอร์ฮันนุดดิน ในการสอบสวนวันที่ 7-8 สิงหาคม 2560 แล้วยังมาพบอีกโดยลำพังเพื่อมาหานายเบอร์ฮันนุดดิน โดยปราศจากการรับรู้รับทราบจากสำนักงาน ป.ป.ช.อินโดนีเซีย (KPK) และได้ขอให้นายเบอร์ฮันนุดดิน ซึ่งเป็นประชาชนอินโดนีเซีย เซ็นเอกสารโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.อินโดนีเซีย อยู่ด้วย

         ในส่วนของประเด็นสุดท้าย คือเรื่องสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ โดยอ้างว่า จดหมายที่ทำขึ้นมา PT.KPI เลขที่ 044/KI/2013 วันที่ 14 มกราคม 2556 และจดหมายรายงานจาก ปตท. เลขที่80000001/91 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 ได้ถูกส่งถึงสำนักงาน ป.ป.ช. ประเทศไทย มีเนื้อหาและข้อความอันเป็นเท็จ

         โดยจดหมายที่ทำขึ้นมา PT.KPI ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าถูกทำขึ้นโดยผู้บริหาร ปตท. PTTGE ภายหลังนายเบอร์ฮันนุดดิน ได้ลงลายมือชื่อในจดหมายภายใต้การถูกบีบบังคับในข้อแลกเปลี่ยน แต่ท้ายที่สุด จดหมาย PT.KPI ได้ถูกใช้อ้างอิงในรายงานผ่านจดหมาย ปตท. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 และถูกส่งถึงสำนักงาน ป.ป.ช.ประเทศไทย มีชื่อของนางแนนซี่ ได้ถูกระบุไว้ในจดหมายฉบับดังกล่าวในฐานะเป็นผู้ถูกกล่าวหา, ผู้ถูกใส่ความ และถูกรายงานโดยเรื่องราวอันเป็นเท็จและข้อมูลเท็จโดยปราศจากหลักฐานที่ถูกต้อง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก anticorruption.in.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อดีต ปธ.หอการค้าอินโดฯ-ไทย แจ้งจับ สุภา ปิยะจิตติ ปปช.ไทย ติดสินบนคดีปาล์ม อัปเดตล่าสุด 8 สิงหาคม 2562 เวลา 17:51:51 20,426 อ่าน
TOP
x close