ย้อนเหตุการณ์ หลังรัฐประหารปี 2549 โดนตัดสิทธิ์-ยุบพรรค ไปแล้วกี่ครั้ง ?

          ย้อนมูลเหตุคดี ยุบพรรค-ตัดสิทธิ์ทางการเมือง ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 จากอดีตถึงปัจจุบันโดนไปแล้วเท่าไร เรื่องอะไรบ้าง 


          จากกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้อง กกต. พิจารณาให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จากเหตุที่มีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น โดยให้นายพิธาผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน


อ่านข่าว : ศาล รธน. รับคำร้อง สั่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เจ้าตัวเดินออกจากสภาทันที แต่ยังเป็นแคนดิเดต !



         
ทั้งนี้ หากย้อนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หลังรัฐประหารในประเทศไทยปี 2549 จะพบว่า มีนักการเมือง และพรรคการเมืองไม่น้อย ที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติให้มีการยุบพรรค หรือตัดสิทธินักการเมือง เนื่องจากกระทำผิดกฎหมาย ได้แก่

ย้อนเหตุการณ์ หลังรัฐประหารปี 2549
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย (กำเนิดบ้านเลขที่ 111)     

          ปี 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ในข้อกล่าวหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค รวม 111 คน นาน 5 ปี หรือที่เรียกว่า "บ้านเลขที่ 111" โดยมีนักการเมืองชื่อดังในขณะนั้นถูกเพิกถอนสิทธิเป็นจำนวนมาก

ย้อนเหตุการณ์ หลังรัฐประหารปี 2549
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

ยุบพรรคพลังประชาชน-ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย

          ปี 2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยมีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้ง 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรค พรรคชาติไทย จำนวน 43 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตย จำนวน 29 คน และรวมกับพรรคพลังประชาชนจำนวน 37 คน รวมทั้งหมดถูกเรียกว่า "บ้านเลขที่ 109"


ยุบพรรคไทยรักษาชาติ

          ปี 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ยุบพรรคไทยรักษาชาติ หลังจากที่พรรคไทยรักษาชาติยื่น "ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) พร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี


ยุบพรรคอนาคตใหม่

          ปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และมีมติให้สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กก.บห. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เป็นเวลา 10 ปี ผลจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้กรรมการบริหารพรรค 16 คนถูกตัดสิทธิทางการเมือง

"สมัคร" พ้นนายกฯ

          ปี 2551 นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกฯ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการจัดรายการชิมไปบ่นไป โดยเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใด ๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด


"ยิ่งลักษณ์" พ้นนายก

          ปี 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ได้พ้นจากเก้าอี้รักษาการนายกฯ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคง เป็นการกระทำโดยใช้อำนาจก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย เอื้อประโยชน์ครือญาติ เข้าข่ายขัด รธน. มาตรา 268 มาตรา 266(1), (2) ส่งผลให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะตัว


"ธนาธร" พ้น สส.  

          ปี 2562 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคอนาคตใหม่ พ้นสมาชิกภาพ สส. หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง จากคดีถือครองหุ้นวี-ลัค มีเดีย


"พิธา" หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ชั่วคราว

          ล่าสุดวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง กกต. ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จากเหตุที่มีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น โดยให้นายพิธาผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้เข้ากล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนเหตุการณ์ หลังรัฐประหารปี 2549 โดนตัดสิทธิ์-ยุบพรรค ไปแล้วกี่ครั้ง ? อัปเดตล่าสุด 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 16:36:30 20,977 อ่าน
TOP
x close