x close

ม.ศิลปากร ตอบปมพระพุทธรูปที่พบแม่น้ำโขง ตกลงอายุกี่ปีกันแน่ เผยมีสิ่งหนึ่งน่าเสียดาย

 
          ม.ศิลปากร ตอบแล้วปมพระพุทธรูปที่พบแม่น้ำโขง ตกลงอายุกี่ปีกันแน่ เป็นศิลปะของอะไร พร้อมบอกมีสิ่งหนึ่งที่น่าเสียดาย

พระพุทธรูปแม่น้ำโขง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ขัตตยะบารมี ขัตติยะบารมี 

         เรื่องฮือฮาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการพบพระพุทธรูปกลางแม่น้ำโขง อายุประมาณ 600 ปี อย่างไรก็ตาม ก็มีนายพยุงศักดิ์ อัครเกื้อกูล หรือ อาจารย์ต๋อง หรือ ฉายา ครูบาทอง  นักโลหะวิทยาจากฝั่งไทยแย้งว่า ไม่น่าถึง เพราะพระพุทธรูปดูเหมือนของใหม่เกินไป ทั้งที่จมน้ำมานานมาก ควรจะมีสนิมหรือร่องรอยของการชำรุด

          จากความเห็นดังกล่าว ทำให้ทัวร์ลงนักวิชาการคนดังกล่าว จนของดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก

          อ่านข่าว : นักโลหะวิทยา เฉลยให้ พระพุทธรูปกลางแม่น้ำโขง อายุจริงเท่าไร รู้แล้วตบเข่าฉาด ! 

          วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 เฟซบุ๊ก ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มีการลงข้อมูลแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธรูปศิลปะล้านนามาอย่างต่อเนื่อง ให้ความเห็นว่า ภาพรวมของกลุ่มพระพุทธรูปเป็นศิลปะล้านนาสกุลช่างเชียงแสน แบ่งเป็น 2 กลุ่มกว้าง ๆ ได้แก่

          1. กลุ่มที่มีพระพักตร์กลม พระวรกายอวบอ้วน กำหนดอายุได้ในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 หรืออยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2001 ถึง พ.ศ. 2100 หรืออายุอย่างน้อย 566-467 ปีมาแล้ว

          2. กลุ่มที่พระพักตร์ออกเสี้ยมยาว พระวรกายเริ่มแข็งกระด้าง มีอายุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งกลุ่มหลังนี้อาจมีอิทธิพลต่อศิลปะล้านช้างต่อไปด้วย

พระพุทธรูปแม่น้ำโขง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ขัตตยะบารมี ขัตติยะบารมี 

พระพุทธรูปแม่น้ำโขง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ขัตตยะบารมี ขัตติยะบารมี 

          สำหรับพระพุทธรูปที่ค้นพบมาก่อนในเดือนมีนาคม 2567 พิจารณาจากรูปแบบและบริบทร่วมเป็นหลักฐานชั้นต้น อาจจะเกิดจากการพังทลายของวัด ด้วยการกัดเซาะของแม่น้ำโขงและถูกทับถมในชั้นทราย

          ส่วนพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ ที่พบในเดือนพฤษภาคม 2567 พุทธศิลป์มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปล้านนาปลายพุทธศตวรรษที่ 21 แต่ส่วนฐานมีรูปแบบน่าสงสัยเพราะเป็นการประดับเสาอิงเรียงเป็นแถว ไม่เคยพบในระเบียบพระพุทธรูปล้านนาหรือล้านช้างมาก่อน อาจเป็นไปได้ว่า ถูกเคลื่อนย้ายจากแห่งอื่นหรือไม่ และรัศมีซึ่งมักหล่อแยกชิ้นกับองค์พระก็เป็นโลหะต่างสีชัดเจน

          ว่าด้วยเรื่องวัด อาจมีการใช้งานในพุทธศตวรรษที่ 21 เรื่อยมาถึงพุทธศตวรรษ 22-23 เนื่องจากมีรูปแบบศิลปกรรมหลายสมัย เช่น เสาวิหารที่มีปูนปั้นประดับลวดลายมีเค้าของศิลปะพม่า หรือแม้แต่จารึกที่พบล่าสุดมีผู้ปริวรรต อ่านได้ศักราชตรงกับช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 แสดงว่าแม้เมืองเชียงแสนตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าหรือทิ้งร้างไปแล้ว ชุมชนทางฝั่งดินแดนประเทศลาวยังมีการอยู่อาศัยกันสืบมา

          อย่างไรก็ตาม การค้นพบพระพุทธรูปครั้งสำคัญแบบนี้ เป็นการขุดหาโดยไม่มีกระบวนการโบราณคดีมารองรับ ทำให้ขาดบริบทในการวิเคราะห์ตีความอย่างน่าเสียดาย

พระพุทธรูปแม่น้ำโขง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ขัตตยะบารมี ขัตติยะบารมี 

พระพุทธรูปแม่น้ำโขง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ขัตตยะบารมี ขัตติยะบารมี 

พระพุทธรูปแม่น้ำโขง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ขัตตยะบารมี ขัตติยะบารมี 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ม.ศิลปากร ตอบปมพระพุทธรูปที่พบแม่น้ำโขง ตกลงอายุกี่ปีกันแน่ เผยมีสิ่งหนึ่งน่าเสียดาย อัปเดตล่าสุด 23 พฤษภาคม 2567 เวลา 17:06:23 21,885 อ่าน
TOP