เปิดตัว 4 เทพเจ้าถิ่น หลัง ปลาหมอคางดำ ระบาดลงทะเล เจอเมื่อไหร่โดนกินเรียบ ตัวใหญ่แค่ไหนก็ไม่รอด ด้าน อ.เจษฎ์ ชี้ ดูแลตัวเองให้ดีก่อนไปกินปลาอื่น
ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
วันที่ 9 สิงหาคม 2567 ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เล่าถึงปัญหาที่หลายพื้นที่เจอ ปลาหมอคางดำ แพร่พันธุ์ลงไปในชายฝั่งทะเล อย่างไรก็ดี ในทะเลบางแห่งนั้นมีผู้ล่าอยู่แล้ว ดังนั้นแม้ปลาหมอคางดำจะระบาดยังไงก็ไม่รอด พร้อมกระตุ้นให้ผู้คนใส่ใจดูแลไม่ทิ้งขยะลงทะเลเพื่อช่วยเหลือผู้ล่าเหล่านี้
- โลมาอิรวดี
- โลมาหัวบาตรหลังเรียบ
- โลมาปากขวด
- โลมาหลังโหนก (สีชมพู)
ภาพจาก Thon Thamrongnawasawat
คำถามสำคัญคือโลมากินปลาหมอคางดำหรือไม่ ? ยังไม่มีข้อมูลวิชาการยืนยันแน่ชัด ทว่า พี่ ๆ คนเรือที่ทีมคณะประมงลงไปสำรวจ บอกเช่นนั้น ลงมาเมื่อไรโลมากินหมด ปลาหมอคางดำผู้รุกราน จึงอาจเจอผู้ล่าทางธรรมชาติท้องถิ่นเป็นครั้งแรก แถมยังไม่จำกัดขนาด โคตรปลาหมอก็ไม่รอดหากโลมาจะกิน ขนาดไม่ใช่เรื่องสำคัญ
เผย 4 นักล่าแห่งท้องทะเล เป็นเพียงสมมุติฐาน อาจารย์เจษฎา เผย โลมาอาจต้องดูแลตัวเองก่อนไปกินปลาหมอคางดำ
นั่นคือสมมติฐานในเรื่องนี้ เรายังต้องติดตามดูว่า ทะเลที่มีโลมาหากินเยอะ ปลาหมอจะมีน้อยกว่าทะเลปราศจากโลมาหรือไม่ ? มีการกินจริงไหม ? เป็นต้น แต่อย่างน้อยถือว่าคือความหวัง และยังอาจเป็นคำตอบว่า สัตว์ทะเลหายากสำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ
มันอาจดูเหมือนไม่มีประโยชน์ แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา เมื่อมนุษย์ได้แต่ทำตาปริบ ๆ 4 เทพโลมาจะปรากฏตัว หมายเหตุ เราช่วยเทพโลมาได้ด้วยการลดขยะทุกชนิด อย่าสนับสนุนปลาหมอด้วยการฆ่าโลมาทางอ้อม
ในขณะเดียวกัน อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ความเห็นในเรื่อิงนี้ว่า "ผมว่า สถานการณ์ของ 4 เทพนี้ดูแลให้พวกมันเอาตัวให้รอด ไม่ให้สูญพันธุ์หรือลดจำนวนประชากรลง น่าจะเหนื่อย น่ากังวล ไม่แพ้การกำจัดปลาหมอคางดำนะครับ"