ประวัติศาสตร์ที่จริงใจ แห่ชื่นชมพระธาตุขามแก่น เขียนเล่าเรื่องราวสุดเรียล อะไรบอกว่าแต่งใหม่ก็คือแต่งใหม่ ไม่มาเสริมสร้างตำนานเอง อ.เจษฎา ร่วมแสดงความเห็น
ภาพจาก เฟซบุ๊ก วัดพระธาตุขามแก่น
วันที่ 24 สิงหาคม 2567 เฟซบุ๊ก Narongsak Rawarindra มีการโพสต์ป้ายที่กำลังเป็นไวรัล คนแชร์ 800 ครั้ง โดยเป็นป้ายที่เขียนรายละเอียดการเชิญชวนท่องเที่ยวพระธาตุขามแก่น อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น พร้อมกับคอมเมนต์กันสั้น ๆ ว่า "ป้ายที่จริงใจ"
เมื่ออ่านรายละเอียดในป้าย พบว่า จะมีการเล่าประวัติของพระธาตุขามแก่น เดิมเรียกพระธาตุบ้านขาม แต่ไม่มีประวัติหรือจารึกระบุการสร้าง ต่อมาพระราชสารธรรมมุนี (กัณหา ปภสฺสโร) เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ดำริว่า ขอนแก่นควรมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด จนกระทั่งมาพบพระธาตุบ้านขาม ที่บ้านขามธาตุใหญ่ จึงเกิดความสนใจ
ทว่าเมื่อสืบเสาะประวัติความเป็นมากลับไม่พบ จึงให้ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าประวัติแล้วเรียบเรียงใหม่ มีหลายสำนวน แต่สำนวนที่เป็นตำนานในปัจจุบันคือสำนวนของนายสมควร พละกล้า เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบแล้วมีความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ มีการรณรงค์ให้ชื่อเมืองขอนแก่น เพี้ยนมาจากขามแก่น แต่จากการศึกษาประวัติจากเอสาร ไม่เคยมีว่าเมืองขามแก่น มีเพียงชื่อ เมืองขอรแก่น, ขรแก่น, แขนแกน และขอนแก่น ดังนั้นสรุปได้ว่า แต่แรกเริ่มชื่อเมืองขอนแก่นอยู่แล้ว ไม่ได้เพี้ยนมาจากขามแก่นแต่อย่างใด
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Narongsak Rawarindra
ชาวเน็ตที่ได้อ่านประวัติพระธาตุขามแก่น ต่างยอมรับในความจริงใจ เป็นประวัติศาสตร์ที่มีมิติ ถ้ามีข้อมูลไม่แน่นอนก็ไม่ได้ฟันธงไปทางใดทางหนึ่ง เล่าทุกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ประวัติศาสตร์จุดไหนแต่งใหม่ก็บอกว่าแต่งใหม่
ขณะที่ นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการคอมเมนต์ถึงเรื่องนี้ว่า ตัวอย่างของ "ประวัติศาสตร์ อย่างที่ควรจะเป็น" คือ รู้จักถกเถียงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ด้วยข้อมูลต่างๆ ที่หาเพิ่มไม่ใช่แค่เชื่อในตำนานที่สร้างขึ้น
ภาพจาก เฟซบุ๊ก วัดพระธาตุขามแก่น
ภาพจาก เฟซบุ๊ก วัดพระธาตุขามแก่น
ภาพจาก เฟซบุ๊ก วัดพระธาตุขามแก่น
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant