ดับสลด คนงานจีนทำงานต่อเนื่อง 104 วัน หยุดพักแค่วันเดียว สุดท้ายป่วยตาย อวัยวะล้มเหลว ศาลลั่นบริษัทมีส่วนรับผิดชอบต่อการตาย สั่งจ่ายชดเชย 1.9 ล้าน
วันที่ 7 กันยายน 2567 เว็บไซต์เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า การเสียชีวิตของชายวัย 30 ปี เนื่องจากอวัยวะล้มเหลว หลังทำงานหนักต่อเนื่อง 104 วัน โดยมีวันหยุดพักเพียง 1 วัน กลายมาเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์สนั่นในสังคมจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทางบริษัทออกมาโต้แย้ง อ้างว่าการเสียชีวิตของชายคนดังกล่าวมีสาเหตุจากอาการเจ็บป่วยที่มีอยู่ก่อน ไม่เกี่ยวกับการทำงาน จึงยิ่งเป็นการจุดชนวนให้เกิดความไม่พอใจในวงกว้าง และเกิดการถกเถียงกันถึงสิ่งที่บริษัทปฏิบัติต่อพนักงานของตัวเอง
รายงานเผยว่า อาเป่า ชายวัย 30 ปี เซ็นสัญญาทำงานเป็นช่างทาสีให้บริษัทแห่งหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยมีกำหนดสิ้นสุดสัญญาในเดือนมกราคม 2567 จากนั้นเขาได้รับมอบหมายให้ไปทำงานในเมืองโจวซาน มณฑลเจ้อเจียง
นับตั้งแต่เซ็นสัญญา อาเป่าก็ทำงานติดต่อกันทุกวัน เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 104 วัน โดยมีวันหยุดพักแค่วันเดียวคือวันที่ 6 เมษายน จนกระทั่งวันที่ 25 พฤษภาคม อาเป่าลาป่วยเพราะรู้สึกไม่สบาย และใช้เวลาทั้งวันพักผ่อนที่หอพัก
ระหว่างการสอบสวนเบื้องต้นเรื่องการเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ประกันสังคมอ้างว่าช่วงเวลาที่อาเป่าเริ่มป่วยกับตอนที่เสียชีวิต มีระยะเวลาห่างกันเกิน 48 ชั่วโมง จึงไม่อาจจัดเป็นการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ดังนั้นทางครอบครัวของอาเป่าจึงยื่นฟ้องเรียกค่าชดเชย โดยชี้ว่าการเสียชีวิตของเขาเกิดจากการละเลยของนายจ้าง
เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหานี้ ทางบริษัทออกมาอ้างว่าการทำงานหนักของอาเป่าเป็นสิ่งที่สามารถจัดการได้ อีกทั้งเขายังอาสาทำงานล่วงเวลาเอง บริษัทยังโต้แย้งด้วยว่าการเสียชีวิตของพนักงาน เป็นผลจากปัญหาสุขภาพที่เขามีอยู่ก่อนแล้ว และการที่ไม่ได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างทันท่วงที จึงเป็นสาเหตุให้สภาพอาการแย่ลง
ต่อมาศาลในมณฑลเจ้อเจียง ทำการไต่สวนและพิจารณาคดีความที่เกิดขึ้น โดยศาลพบว่าอาเป่าเสียชีวิตจากภาวะอวัยวะล้มเหลวหลายส่วน เนื่องจากโรคนิวโมคอคคัส อันเป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ นอกจากนี้ศาลพบว่าการที่อาเป่ามีวันทำงานต่อเนื่อง 104 วันนั้นถือเป็นเรื่องฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานอย่างชัดเจน เนื่องจากตามกฎหมายจีนได้กำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดไว้ที่ วันละ 8 ชั่วโมง หรือเฉลี่ยง 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ด้วยเหตุนี้ศาลจึงตัดสินว่า การที่บริษัทฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน มีส่วนสำคัญทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของอาเป่าเสื่อมสภาพและทำให้เขาเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นทางบริษัทจึงมีส่วนรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมดังกล่าว 20% โดยศาลมีคำตัดสินให้ทางบริษัทจ่ายเงินชดเชยแก่ครอบครัวของอาเป่า รวมเป็นเงิน 400,000 หยวน (ราว 1.69 ล้านบาท)
ทางบริษัทยื่นอุทธรณ์คำตัดสินนั้นทันที แต่ในการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ในเดือนสิงหาคม 2567 ได้พิพากษายืนคำตัดสินเดิมของศาลชั้นต้น ขณะที่คดีความดังกล่าวนำมาสู่การถกเถียงและความเดือดดาลในสังคมจีน โดยมีชาวเน็ตมากมายออกมาคอมเมนต์ถึงคดีนี้
"การทาสีคืองานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ด้วยอายุเพียง 30 ปี เขาเสียชีวิตและครอบครัวก็ใจสลาย ขณะที่ศาลตัดสินให้ชดเชยแค่ 400,000 หยวนเท่านั้น สิ่งที่น่าขุ่นเคืองยิ่งกว่านั้นคือบริษัทที่อุทธรณ์คำตัดสิน แสดงให้เห็นความไร้ความเห็นอกเห็นใจและไร้มนุษยธรรม"
"มันน่าเศร้าที่ต้องเจอคดีแบบนี้ การทำงานแบบนี้คือการนำชีวิตคนคนหนึ่งไปแลกกับเงินอย่างแท้จริง"
"บริษัทจ่ายน้อยเกินไปสำหรับการฝ่าฝืนกฎหมาย ดูเหมือนกฎหมายแรงงานมีไว้เพื่อควบคุมคนงานเท่านั้น"
ทั้งนี้ การเสียชีวิตของอาเป่าไม่ใช่ครั้งแรกที่เกี่ยวข้องกับการทำงานหนัก โดยในจีนมีคดีที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังเช่นเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 พนักงานชื่อ จูปิน เสียชีวิตกะทันหันขณะกลับบ้านหลังเลิกงาน ซึ่งต่อมาพบว่าเขาต้องทำงานตลอดทั้งเดือนกรกฎาคมโดยไม่มีวันหยุด หรือเท่ากับทำงานล่วงเวลาไปถึง 130 ชั่วโมง ศาลจึงตัดสินให้นายจ้างมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเขา โดยต้องจ่ายเงินชดเชย 360,000 หยวน (ราว 1.7 ล้านบาท)
ติดตามอ่าน ข่าวต่างประเทศ ที่น่าสนใจได้ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก SCMP