นาทีระทึก น้ำท่วมเชียงราย ถ่ายคลิปอยู่กลับทำครูผวา หนีตาย ช้าไปวิเดียว อาจไม่รอด

          ครูถ่ายคลิปนาทีระทึก น้ำป่าไหลหลากมาแบบกะทันหันในพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ เทคโนโลยีมาถึงขนาดนี้ ทำไมเรายังไม่รู้ล่วงหน้าก่อนว่าจะมีน้ำป่ามา !
น้ำท่วมเชียงราย
ภาพจาก TikTok @namkrairawee

          จากกรณีที่จังหวัดเชียงราย เกิดฝนตกหนักสะสมต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2567 เป็นเหตุให้เกิดอุทกภัย ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ อ.เมืองเชียงราย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.แม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.แม่สาย เกิดน้ำท่วมหนักในรอบหลายปีนั้น

          วันที่ 11 กันยายน 2567 ผู้ใช้ TikTok @namkrairawee คุณครูโรงเรียนรัฐราษฎร์วิทยา ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เผยคลิปเหตุการณ์ระทึก นาทีน้ำป่าหลากเข้ามาในโรงเรียน วิ่งช้าวินาทีเดียวถึงชีวิตได้เลย

          จากคลิปจะเห็นว่า สถานการณ์น้ำท่วมเชียงราย ทำให้โรงเรียนนั้นมีดินโคลนไหลมาเป็นจำนวนมาก แต่จู่ ๆ ก็มีมวลน้ำป่าไหลมาด้วยความเร็วจนต้องรีบวิ่งหนีตายขึ้นมาบนที่สูง จากจุดแรกที่ยืนถ่ายคลิปก็เต็มไปด้วยน้ำทันที ได้แต่ยืนมองดูน้ำพัดพารถของตัวเองไหลไปตามกระแสน้ำ

          คุณครูระบุว่า วินาทีหนีตาย ของจริง วิ่งช้าวินาทีเดียวถึงชีวิตได้เลย ตอนนี้ปลอดภัยแล้ว หนีน้ำป่า ปี 2567 โรงเรียนรัฐราษฎร์วิทยา ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โชคดีที่ ผอ. สั่งปิดโรงเรียนก่อนน้ำป่าจะมา ทำให้นักเรียนทุกคนกลับบ้านปลอดภัยกันทุกคน หนักจริง ๆ เสียหายเยอะมากทั้งโรงเรียน กระโดดลงกำแพง วิ่งหนีน้ำ ทุกวินาทีมีค่ามาก ๆ น้ำมาเร็วจริง ๆ ไม่คิดว่าจะมาเจอกับตัวเอง 

น้ำท่วมเชียงราย
ภาพจาก TikTok @namkrairawee

วิเคราะห์บทเรียนราคาแพง คนในพื้นที่หนีน้ำไม่ทัน ไร้มาตรการป้องกันวิกฤต


          ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ในหัวข้อ "วิปโยคแม่สาย แม่อายสะอื้น บทเรียนราคาแพงที่ต้องได้รับการแก้ไข" วิเคราะห์สาเหตุที่แม้จะรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นวิกฤต เพราะหน่วยงานต่าง ๆ ยังขาดแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

          1. ฝนตกหนักมาก จากอิทธิพลของพายุยางิ ขณะที่มีร่องมรสุมความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ทำให้อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงรายน้ำท่วมหนักเสียหายมากที่สุดในรอบ 40 ปีมากกว่าปี 2565 และที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เกิดดินถล่มจากภูเขาทับบ้านเรือนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

          2. บทเรียนราคาแพงที่ทำให้เกิด วิปโยคที่แม่สายและแม่อายสะอื้นในครั้งนี้คืออะไร

          - 2.1. ขาดแผนการเตือนภัยที่ชัดเจน : กรมอุตุนิยมวิทยาและ สทนช. ได้แจ้งเตือนว่าจะเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายในช่วงวันที่ 8-13 กันยายน จะเกิดน้ำท่วมไหลหลากและดินถล่ม แต่การเตือนภัยดังกล่าว อาจลงไปไม่ถึงประชาชนในระดับรากหญ้าและการเตือนภัยดังกล่าว ก็ไม่ได้ระบุถึงความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ทั้งยังไม่ได้ระบุถึงสถานที่ที่เฉพาะเจาะจงว่า น้ำจะท่วมหนักเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง ? บอกแต่เพียงกว้าง ๆ ว่าจะเกิดที่ จ.เชียงราย และจ.เชียงใหม่ เป็นต้น ทำให้ประชาชนที่ได้รับข่าวสารในพื้นที่ไม่สนใจเท่าที่ควร เพราะทุกปีน้ำก็ท่วมประจำอยู่แล้วไม่ได้หนักหนาอะไร

          - 2.2. ขาดการสื่อสารความเสี่ยงที่ให้ประชาชนเกิดความตระหนัก ที่ผ่านมาใช้ช่องสื่อสารทางทีวี วิทยุ เฟชบุ๊ก โดยใช้ภาษาทางวิชาการที่ยากจะเข้าใจทำให้ประชาชนระดับรากหญ้าไม่ค่อยสนใจเท่าที่ควร

น้ำท่วมเชียงราย
ภาพจาก TikTok @namkrairawee

          การสื่อสารหลังจากที่มีการคาดการณ์ว่าน้ำจะท่วมอย่างรุนแรงที่ไหนบ้าง ควรให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือ อปท. สื่อสารถึงตัวประชาชนโดยตรง โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่าสถานการณ์จะเกิดรุนแรงในระดับใดที่ไหน จะต้องเก็บข้าวของขึ้นที่สูงหรือต้องอพยพออกมาและไปพักที่จุดใดบ้าง เป็นต้น

          โดยทั่วไปผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอต้องเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ สั่งการให้ดำเนินการทันที ยิ่งในต่างประเทศจะมีการใช้ระบบ sms สื่อสารเตือนภัยโดยส่งเข้าไปในระบบโทรศัพท์มือถือของที่คนที่อาศัยในพื้นที่โดยตรง

          แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้การเตรียมความพร้อมและยังไม่มีมาตรการป้องกันวิกฤตดังกล่าวเลย ต้องรอให้เกิดวิกฤตก่อน จึงจะประกาศให้พื้นที่เป็นเขตภัยพิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อนำงบประมาณออกมาแก้ไขและเยียวยาได้ ดังนั้น ตามกฎหมายจึงมีแต่เพียงมาตรการบรรเทาทุกข์ แต่ไม่มีมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า

          - 2.3. ขาดแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ดินถล่ม ราชการจะต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ เพื่อนำงบประมาณออกมาใช้บรรเทาทุกข์ให้ประชาชนได้ ซึ่งทำได้ล่าช้ามากเนื่องจากติดที่ระบบราชการต้องมีหนังสือเป็นทางการ ส่งออกไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ? ต้องมีเวลาในการการเตรียม อุปกรณ์และกำลังคน

          กรณีน้ำท่วมที่อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย ประชาชนจำนวนมากติดอยู่บนหลังคา และติดอยู่ในบ้านเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 วัน โดยหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของมูลนิธิ, จิตอาสา, สมาคมและภาคประชาสังคม ส่วนหน่วยราชการยังล่าช้าอยู่เพราะติดระบบราชการยกเว้นหน่วยทหารที่สั่งการและออกปฏิบัติงานได้ทันที

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นาทีระทึก น้ำท่วมเชียงราย ถ่ายคลิปอยู่กลับทำครูผวา หนีตาย ช้าไปวิเดียว อาจไม่รอด อัปเดตล่าสุด 12 กันยายน 2567 เวลา 10:53:32 13,711 อ่าน
TOP
x close