จากไข้กระต่ายถึง แท้งติดต่อ ภัยใกล้ตัวคนรักสัตว์เลี้ยง

ไข้กระต่าย

ไข้กระต่าย

ไข้กระต่าย

ไข้กระต่าย



          คงไม่ใช่เรื่องดีแน่… ถ้าเจ้าตูบที่คุณรัก จะเป็นตัวการที่ทำให้คุณต้องเผชิญกับโรค !!

          สุนัขกับคนมีความผูกพันกันมานาน ชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไปเรียน วุ่นวายกับการทำงาน กลับมาบ้านได้พบกับเสียงเห่า หน้าตาที่ดีใจ หางที่สั่นกระดิกไปมา ยืนรอต้อนรับแสดงความดีใจกับการกลับมาของเราทุกครั้ง ก็ทำให้ชีวิตที่เคร่งเครียดได้ผ่อนคลายลงได้บ้าง เมื่อได้เล่น จับ สัมผัสและทักทายกัน

          ตลอดชีวิตที่ไม่เคยโกรธ ไม่เคยแสดงอาการรังเกียจ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร มีฐานะอย่างไร เจ้าตูบก็ยังคงจงรักภักดีไม่มีเสื่อมคลาย นี้เป็นเพียงบางส่วนของความรู้สึก ซึ่งแต่ละคนต่างมีความประทับใจ "เจ้าตูบ" สัตว์เลี้ยงที่คุ้นเคยในมุมมองที่แตกต่างกัน

          แต่บางครั้งโรคที่ไม่คาดฝันก็อาจเกิดขึ้นกับสุนัขตัวโปรดของเราได้และที่ ร้ายไปกว่านั้น สามารถติดต่อสู่คนได้ด้วย อย่างโรคที่เรียกว่า "โรคแท้งติดต่อ" ซึ่งกำลังเป็นข่าวสร้างความวิตกกังวลให้แก่คนรักเจ้าตูบอีกระลอก หลังจากที่ก่อนหน้านี้เพิ่งตื่นตระหนกกับ "โรคไข้กระต่าย" ภัยจากสัตว์ป่าฟันแทะได้ไม่นาน

          รศ.สพญ.ดร.เกษกนก  ศิรินฤมิตร ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับ "โรคแท้งติดต่อ" หรือที่รู้จักกันในชื่อของ "โรคหมาแท้ง" ให้ฟังว่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่าบรูเซลล่า (Brucella) ในสุนัขจะเรียกว่า บรูเซลล่า เคนิส (Brucella canis) โดยชื่อหลังนั้นจะใช้เรียกเชื้อตามชนิดของสัตว์ที่เกิด เช่น บรูเซลล่า อะบอตัส (Brucella Abortus) เป็นเชื้อที่เกิดในวัว บรูเซลล่า ซูอิส (Brucella Suis) พบในสุกร หรือ บรูเซลล่า เมลลิเทนซิส (Brucella Mellitensis) ที่พบในแพะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อโรคที่สามารถติดต่อสู่คนได้ โดยทำให้เกิดการแท้งหรือผสมไม่ติด จึงเรียกว่า โรคแท้งติดต่อ

          โรคนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณ ปี พ.ศ. 2509 เนื่องจากฟาร์มสุนัขแห่งหนึ่งมีปัญหาว่า ผสมพันธุ์ไม่ติด และมีสุนัขเกิดอาการแท้งลูก เมื่อแยกเชื้อออกมาพบว่าเป็นเชื้อแบคทีเรีย บรูเซลล่า มีการตั้งชื่อเชื้อนี้ว่า บรูเซลล่า เคนิส หลังจากที่พบในอเมริกาแล้ว ยังพบในประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกาใต้ ประเทศบราซิล เม็กซิโก ในยุโรป ประเทศนิวซีแลนด์ และในแถบเอเชีย พบในประเทศจีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น

          ในเมืองไทยเคยมีนักวิชาการพยายามตรวจว่ามีโรคชนิดนี้ในเมืองไทยหรือไม่แต่ ไม่มีหลักฐานยืนยัน จึงสันนิษฐานกันว่า เชื้อชนิดนี้เข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2537-2540 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐ กิจของไทยดี มีการนำเข้าสุนัขกันมากและหลากหลายสายพันธุ์ และนิยมพัฒนาในแต่สายพันธุ์ รวมทั้งการนำเข้ามาไม่ได้มีการตรวจเชื้อโรคชนิดนี้

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2541-2542 ฟาร์มสุนัขแห่งหนึ่งในเมืองไทย มีปัญหาเรื่องของสุนัขแท้งลูกและมีการแท้งติดต่อกันในแม่พันธุ์หลายตัว จากนั้นนำสุนัขมาตรวจที่ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน โดยทีมงานคือ สพญ. จันทร์จิรา ภวภูตานนท์ และ ผศ.นสพ.ดร.ธวัชชัย ศักดิ์ภู่อร่าม ที่ทำการตรวจและสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ แต่เนื่องจากเมืองไทยไม่เคยมีโรคนี้มาก่อน จึงทำการแยกเชื้อนี้ส่งไปที่องค์การอนามัยโลกประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งก็ยืนยันกลับมาว่าเป็นโรคบรูเซลล่า เคนิส ตามที่สันนิษฐานไว้ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่พบในเมืองไทย

          หลังจากนั้น มีการระบาดไปทั่ว เนื่องจากคนเลี้ยงเมื่อรู้ว่าสุนัขของตนเองที่ผสมพันธุ์ไม่ติดหรือว่ามีการ แท้งลูก เป็นโรคนี้และสามารถติดต่อสู่คน จึงขายต่อในราคาที่ต่ำมากหรือหลอกขาย ส่วนเจ้าของใหม่ที่ซื้อมา เมื่อเลี้ยงไปสุนัขเกิดผสมพันธุ์ไม่ติด แท้งลูก ตรวจแล้วพบว่าเป็นโรคชนิดนี้ จึงนำไปปล่อย หรือขายต่อ ส่งต่อเป็นทอดๆ ทำให้โรคนี้ไม่สามารถควบคุมได้

         
ต่อมาเมื่อสุนัขติดสัดผสมพันธุ์ใหม่ก็จะพบกับปัญหาเดิมอีก การติดต่อของโรคนี้ คือ การผสมพันธุ์ ถ้าตัวเมียเป็นโรคนี้ในเลือดจากช่องคลอดจะมีเชื้อโรคอยู่ ขณะที่ตัวผู้ที่ไม่เป็นเมื่อมีการผสมพันธุ์กันโรคนี้จะติดต่อไปยังตัวผู้ ด้วย

          ในทางกลับกันเมื่อตัวผู้เป็น ในน้ำอสุจิของตัวผู้จะมีเชื้อโรคนี้อยู่ ในขณะที่ตัวเมียไม่เป็น เมื่อมีการผสมพันธุ์กันเชื้ออสุจิจะถูกปล่อยลงไปในช่องคลอดของตัวเมียทำให้ เกิดการติดเชื้อ นี่คือการนำโรคจากภายนอกเข้ามาในบ้าน

          อีกกรณีหนึ่งที่สำคัญมาก คือ การเลียและการกิน ซึ่งหลายคนจะมองข้ามไป เมื่อบ้านหลังหนึ่งนำสุนัขตัวเมียไปผสมพันธุ์กับที่อื่นแล้วไม่ติดหรือติด แต่แท้ง สุนัขตัวอื่นในบ้านอาจจะมากินรก น้ำคร่ำจากการแท้งที่หลุด ออกมา หรือมีการเลีย ก็ติดเชื้อนี้ต่อไปอีก การติดจากการผสมพันธุ์ เป็นแค่ 1 ต่อ 1 แต่   การเลียและกิน ทุกตัวในบ้านสามารถมีโอกาสติดหมด ฉะนั้นต้องระวังในเรื่องนี้ให้มากเพื่อเป็นการป้องกันโรคจากภายนอก

          จากการเพาะเชื้อเดิมมีอยู่ 8 สายพันธุ์ที่พบ คือ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์, บัสเซท ฮาวด์, เซนต์ เบอร์นาร์ด, ดัลเมเชี่ยน, โกลเด้น รีทรีฟเวอร์, ชิทสุ, พูเดิล และ พิตบูล มีการตรวจพบเพิ่มอีกหนึ่งสายพันธุ์ คือ ไซบีเรียน ฮัสกี ซึ่งในความเป็นจริงน่าจะมีมากกว่านี้ เพราะบางบ้านจะเลี้ยงสุนัขไว้หลายสายพันธุ์ ถ้าไม่มีการผสมพันธุ์ก็จะไม่รู้ แต่ถ้ามีสายพันธุ์หนึ่งเป็นโรคและไม่ได้รับการตรวจก็จะไม่รู้อีกเช่นกัน เพราะสุนัขไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น และบางสายพันธุ์ไม่นิยมพามาตรวจ ทำให้ไม่ทราบว่ามีการเกิดโรคขึ้นในสายพันธุ์นั้น ๆ ซึ่งมีโอกาสเกิดได้ทั้งเพศผู้และเพศเมียเท่าๆ กัน

          "ถ้าสุนัขเป็นโรคมาเลียแขน ขา โดยที่คนไม่เป็นแผลก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าคนมีบาดแผลอยู่แล้วสุนัขมาเลียมีโอกาสที่เชื้อจะเข้าไปได้ หรือในขณะที่สุนัขแท้งลูกแล้วเข้าไปช่วยทำคลอด โดยไม่ได้ใส่ถุงมือหรือล้างมือไม่สะอาด เมื่อหยิบจับอาหารเข้าปาก จะเป็นการรับเชื้อเข้าไปได้"

          ลักษณะอาการในคนคือ เป็นไข้ เป็นๆ หายๆ คล้ายเป็นหวัด เมื่อกินยาลดไข้ หายแล้วอีกไม่นานก็กลับมาเป็น อีกรวมทั้งมีอาการปวดศีรษะ ตัวสั่น หนาวโดยไม่ทราบสาเหตุ สำหรับผู้ชายบางคนจะมีอาการอัณฑะบวมได้ อาการเหล่านี้จะคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อที่มาจากสุนัข โค รวมทั้งแพะ ซึ่งจะมีอาการเหมือนกันทั้งคนและสัตว์ โดยในเมืองไทยยังไม่เคยมีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขว่ามีคนติดโรคนี้จาก สุนัข รวมทั้งในคนยังไม่มีการตรวจเชื้อชนิดนี้ด้วย

          เมื่อได้รับเชื้อโรคชนิดนี้เข้าไป จากรายงานขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับโรคนี้ สำหรับคนมีข้อดี คือ เป็นแล้วสามารถรักษาได้ โดยการกินยาปฏิชีวนะหรือฉีดยาไปพร้อม ๆ กัน ในระยะเวลา 1-2 เดือน แต่ยามีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนใหญ่ 80-90% จะหายขาด ในกลุ่มคนที่ยังไม่หายจะมีการเปลี่ยนยาชุดใหม่ให้ก็จะหายในที่สุด

          แต่การรักษาในสุนัขจะไม่มียารักษาให้หายขาดหรือไม่มีวัคซีนป้องกันได้ จะเป็นไปตลอดชีวิต เนื่องจากว่ามีคนพยายามทำวัคซีนในสุนัขพอนำมาใช้จริงกลับไม่ค่อยมี ประสิทธิภาพ ยกเว้น โค ที่มีวัคซีนป้องกันเรื่องโรคแท้ง

         ด้านการป้องกัน ในต่างประเทศจะใช้วิธีการฉีดยาให้หลับหรือทำให้ตายนั่นเอง แต่ในเมืองไทยเจ้าของจะไม่เลือกวิธีนี้ เพราะทำใจไม่ได้ ทำไม่ลง มีความผูกพัน ทำให้ทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การทำหมัน เพราะเชื้อจะหลบอยู่ที่ระบบสืบพันธุ์ ในต่อมน้ำเหลือง เมื่อทำหมันแล้วเท่ากับเป็นการควบคุมเชื้อในร่างกายของสุนัข ถึงจะมีเชื้ออยู่แต่ก็น้อยลง เมื่อทำหมันเสร็จแล้วจะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยในการควบคุมเชื้อนี้ไว้ด้วย และเริ่มมีการวิจัยในการรักษาโรคนี้อยู่

          สำหรับคน ป้องกันได้โดยหลังจากจับ ลูบ สุนัข ล้างมือให้สะอาด เพียงเท่านี้ก็ป้องกันโรคได้แล้ว ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าโรคชนิดนี้เป็นอย่างไร ติดต่อได้โดยวิธีใด จะทำให้รู้วิธีป้องกันได้ ก็สามารถอยู่ร่วมกับสุนัขได้

          ส่วนคนที่ตั้งครรภ์ ไม่สามารถยืนยันได้และในต่างประเทศก็ยังไม่ชัดเจนว่า คนตั้งครรภ์มีการแท้งจากการติดเชื้อโรคนี้ เพราะสาเหตุของการแท้งมีได้หลายสาเหตุ เพียงแต่ว่ามีโอกาสเพราะเป็นเชื้อที่อยู่ในกลุ่มที่ทำให้แท้งได้

          อยากฝากกลุ่มผู้เลี้ยงสุนัข วิธีป้องกันที่ดีที่สุดที่จะไม่ให้โรคนี้มาสู่สุนัขของเราได้ คือ ก่อนที่จะนำสุนัขมาผสมพันธุ์กันควรจะมีการตรวจโรคนี้เสียก่อนทั้งตัวผู้และ ตัวเมียกรณีต่อมา คือ ถ้ากังวลว่าสุนัขจะเป็นโรคนี้หรือไม่สามารถนำสุนัขมาตรวจที่โรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตรฯ หากสุนัขเกิดเป็นโรค ไม่ต้องกลัว วิตก และที่สำคัญไม่อยากให้ใช้วิธีให้คนอื่นต่อหรือขายต่อหรือนำไปปล่อย สามารถมาปรึกษาหมอได้ จะได้ควบคุมการแพร่กระจายของโรค เพราะมิฉะนั้นเมื่อโรคมีการแพร่กระจายบางครั้งด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โรคนี้ก็อาจจะย้อนกลับมาหาเราได้

          คงไม่มีใครอยากให้โรคนี้เกิดขึ้นกับสุนัขที่เราเลี้ยง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องยอมรับและอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจ...อย่าทิ้งกัน... เพราะสุนัขเองก็คงไม่รู้ว่ามันทำผิดอะไร?

          ในส่วนของโรคติดต่อสู่คนอื่นๆ อย่างโรคไข้กระต่าย หากดูสภาพของภูมิประเทศแล้วไม่น่าจะมีในเมืองไทย กระต่ายในบ้านเราที่เลี้ยงกันอยู่นั้นเป็นอีกสายพันธุ์ เพราะเชื้อโรคนี้เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในสัตว์ป่า อาทิ กระต่าย สัตว์ฟันแทะ อย่างกระ รอก ที่อยู่ในป่า ส่วนใหญ่จะพบในแถบยุโรปและอเมริกา โดยพาหะ คือ สัตว์ที่ดูดเลือด เช่น เห็บ หมัด โดยผู้ที่มีโอกาสติดโรคนี้ คือ นายพราน ผู้ที่ชอบล่าสัตว์ หรือคนที่เข้าไปเที่ยวในป่า จะโดนสัตว์ดูดเลือดกัดทำให้ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

          ผู้ที่ได้รับเชื้อชนิดนี้ ส่วนใหญ่จะไม่เสียชีวิต สามารถรักษาได้ อาการเหมือนกับมีไข้ เกิดบาดแผลบริเวณที่ถูกกัด ต่อมน้ำเหลืองจะบวม ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ถ้ามีการเสียชีวิตเกิดขึ้น แสดงว่ามีการติดเชื้ออย่างรุนแรง เกิดอาการปอดบวม แต่เมื่อเริ่มเป็นไข้ กินยาปฏิชีวนะก็มักหายเป็นปกติ

         ส่วนโรคหวัดแมวหรือหัดแมวนั้นไม่ติดคน โดยมีวัคซีนป้องกันโรคในแมว บางครั้งบางบ้านเลี้ยงแมวไม่ได้พาแมวไปฉีดวัคซีน โดยที่หวัดและหัดแมวจะเป็นวัคซีนที่อยู่ในเข็มเดียวกัน ถ้ามีการฉีดวัคซีนป้องกันก็จะไม่เป็นโรค ที่มีปัญหาคือ ไม่มีการฉีดวัคซีน เมื่อตัวหนึ่งเป็นโรคนี้เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายไปสู่แมวตัวอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว



ข้อมูลและภาพประกอบจาก
 
จุฑานันทน์ บุญทราหาญ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จากไข้กระต่ายถึง แท้งติดต่อ ภัยใกล้ตัวคนรักสัตว์เลี้ยง อัปเดตล่าสุด 10 มิถุนายน 2551 เวลา 11:30:26 7,968 อ่าน
TOP
x close