รองอัยการสูงสุด เผย ร่างคำฟ้องยึดทรัพย์ "ทักษิณ" 7.6 หมื่นล้านบาทแล้ว รอเสนออัยการสูงสุด คาดสัปดาห์หน้ายื่นฟ้องศาลได้
(12 สิงหาคม) นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะทำงานอัยการสำนวน คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) เปิดเผยถึงการพิจารณาสำนวนคดีร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งให้ทรัพย์สิน 76,000 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นของแผ่นดิน ว่า หลังจากคณะกรรมการร่วมอัยการ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหงชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประชุมหารือกันแล้ว ป.ป.ช. ยืนยันต้องการให้อัยการส่งสำนวนยึดทรัพย์ทั้ง 7.6 หมื่นล้านบาท
ขณะนี้อัยการได้เขียนบรรยายฟ้องในคดีเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเสนอให้นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด พิจารณาลงความเห็น และจะมอบหมายให้นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เป็นผู้นำสำนวนไปยื่นฟ้องศาล คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดียึดทรัพย์ ก่อนหน้าที่ ป.ป.ช. จะรับหน้าที่พิจารณาสำนวนนั้น คตส. เป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานและ คตส. มีความเห็นชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ 76,000 ล้านบาท ซึ่งคตส. ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของบุคคลในตระกูลชินวัตร เป็นบัญชีเงินฝากธนาคาร 16 บัญชี จำนวน 69,000 ล้านบาท ไว้และส่งสำนวนหลักฐานให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งคดี ซึ่งครั้งแรกคณะทำงานอัยการที่อัยการสูงสุดตั้งขึ้นให้พิจารณาสำนวนคดีคตส.นั้นเคยมีความเห็นว่า ควรจะร้องขอยึดทรัพย์ 69,000 ล้านบาทที่ถูกอายัด ส่วนเงินที่เหลืออีกกว่าหมื่นล้านบาทนั้นยังไม่มีหลักฐานถึงแหล่งของเงินว่าอยู่ที่ใด ดังนั้นเมื่อคตส.พ้นการทำหน้าที่เมื่อ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ป.ป.ช. จึงได้เข้ามาทำหน้าที่แทน คตส. และมีการตั้งคณะกรรมการ่วมอัยการ - ป.ป.ช. ดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บัญชีเงินฝาก 16 บัญชีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ ครอบครัวชินวัตร ที่ถูกอายัดไว้ในชั้น คตส.มีดังนี้
ธนาคารกสิกรไทยฯ 36 ล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพ ฯ 18,156 ล้านบาท
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาฯ 2,125 ล้านบาท
ธนาคารทหารไทยฯ 10 ล้านบาท
ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯ 39,634 ล้านบาท
ธนาคารธนชาต 1,476,ธ.นครหลวงไทย 1 ล้านบาท
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 500 ล้านบาท
ธนาคารยูโอบีรัตนสินฯ 492 ล้านบาท
ธนาคารออมสิน ฯ 15,748 ล้านบาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 200 ล้านบาท
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 10,000 ล้านบาท
บลจ.กสิกรไทยฯ 208 ล้านบาท
บลจ.ไทยพาณิชย์ฯ 2,237 ล้านบาท
บลจ.แอสเซทพลัสฯ 172 ล้านบาท
ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์และที่ดิน 2,722 ล้านบาท
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ขอขอบคุณภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต