หลังเหตุปะทะกันจนเสียชีวิต มีการกล่าวถึงแกนนำและผู้ที่เคยขึ้นเวทีแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น นปช. โดยเติมคำว่า "แห่งชาติ" เข้าไป "คม ชัด ลึก" นำประวัติบรรดาแกนนำเหล่านี้มาเสนอ
1. ชินวัฒน์ หาบุญพาด เกิดวันที่ 22 พฤษภาคม 2496 เป็นแกนนำสมาคมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับรถแท็กซี่ เป็นนักจัดรายการคลื่นวิทยุชุมชน เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมือง สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 และร่วมกับกลุ่มคาราวานคนจนที่สวนจตุจักร เข้าปิดล้อมอาคารเนชั่นทาวเวอร์ ที่ตั้งบริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) จาก นั้นในเดือน พ.ค. 2549 ร่วมกับพวก 10 คนเข้ารื้อเต๊นท์ เวที และเครื่องขยายเสียง ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่อาคารศรีจุลทรัพย์
นอกจากเป็นแกนนำม็อบคาราวานคนจนแล้ว ยังมีบทบาทอยู่ใน "ชมรมคนรักชาติ" ของ ประยูร ครองยศ เจ้าของรายการวิทยุ "เมืองไทยรายวัน" ที่รู้กันดีกว่าเป็นหน่วยสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย ในช่วงการต้านรัฐประหาร 2549 - 2550 เขาเข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในแกนนำชุดที่ 2
ต่อมาเข้าร่วมเป็นแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่ต่อต้าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ชินวัฒน์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม หรือเพียง 2 วันก่อนเหตุปะทะกันระหว่าง นปช.กับกลุ่มพันธมิตร ว่า นปช. จะชุมนุมแบบอหิงสาของจริง ยืนยันว่าจะไม่เคลื่อนไปเผชิญหน้ากับกลุ่มพันธมิตร
2. เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ หรือ ผศ.ดร.เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ เกิดวันที่ 17 พฤศจิกายน 2509 จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ปัจจุบันเป็นข้าราชการประจำ โดยเป็นอาจารย์ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รับหน้าที่เป็นประธาน นปช. คนใหม่ หลังจากชุดเก่าถูกจับ นอกจากนี้ยังเคยเป็นแกนนำเคลื่อนไหวให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เคลื่อนไหวต่อต้าน คมช. ผ่านเวทีเสวนาต่างๆ รวมถึงบนเวทีปราศรัยที่สนามหลวง
3.สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ แซ่ด่าน เกิดวันที่ 24 ธันวาคม 2501 พื้นเพเป็นคน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช จบการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีอาชีพเดิมเป็นช่างซ่อมวิทยุ โทรทัศน์ ก่อนเข้าสู่แวดวงการเมือง เป็นสมาชิกพรรคความหวังใหม่ และสมาชิกพรรคไทยรักไทย โดยการชักนำของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เริ่มเข้ามาเคลื่อนไหวกับกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550
4.ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เกิดวันที่ 9 สิงหาคม 2495 เป็นประธานมูลนิธิดวงประทีป และเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เป็น นปช. รุ่นแรก
5.ก่อแก้ว พิกุลทอง เกิดเมื่อ 27 มีนาคม 2508 พื้นที่เขตยานนาวา กทม. ประวัติไม่ค่อยเคลื่อนไหวทางการเมืองมากนัก แต่มาลงชื่อเป็นกลุ่มคนรักทักษิณไม่เอาเผด็จการ
6.สมบัติ บุญงามอนงค์ เกิดวันที่ 24 มกราคม 2511 เป็นชาวเชียงราย ทำกิจกรรมเป็นประธานมูลนิธิกระจกเงา ได้รับรางวัลฮโชก้าเฟลโล เยาวชนนักพัฒนาดีเด่น รางวัลนวัตกรรมดีเด่นธนาคารโลก จากการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ชุมชนบ้านนอกทีวี เข้าร่วม นปช. โดยเป็นแกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ และเป็น บก.ลายจุดของเว็บไซต์ กลุ่ม 19 กันยา ต้านรัฐประหาร
7.สมยศ พฤกษาเกษมสุข เกิดวันที่ 20 กันยายน 2504 จนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นประธานสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย มีประวัติเคลื่อนไหวด้านแรงงานเรื่อยมา โดยเป็นคนคุมแรงงานออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลในหลายครั้ง
8.สุชาติ นาคบางไทร หรือ วราวุธ ฐานังกรณ์ เกิดวันที่ 4 มิถุนายน 2501 เป็นชาว กทม. เป็นเจ้าของร้านเกี่ยวกับการทำเว็บไซต์ในพันธุ์ทิพย์พลาช่า และประตูน้ำเซ็นเตอร์ โดยเป็นเจ้าของเว็บไซต์ http://www.thaiclass.com/ ซึ่งอยู่ในกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ที่เริ่มจากการรวมตัวในเว็บไซต์ http://www.pantip.com/ โดย นายสุชาติทำหน้าที่ให้ข้อมูล และสื่อสารทางการเมืองทางเว็บไซต์
9. ประยูร ครองยศ เจ้าของร้านอาหารอีสานครัว แหลมทอง ย่านหมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง บางกะปิ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานนักจัดรายการประจำวิทยุชุมชนคนรักชาติ เอฟเอ็ม 94.25 เมกะเฮิรตช์ เปิดเพลงลูกทุ่งและปรับผังเพิ่มเรื่องการเมืองเข้าไปช่วงที่มีความขัดแย้ง จึงตั้งชมรมคนรักชาติ ประสานกับ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ ประธานชมรมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
10. จรัล ดิษฐาอภิชัย เกิดที่ จ.พัทลุง เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่ถูกบีบให้ออก เพราะไปขึ้นเวที นปช.ต่อด้าน คมช. และไม่เห็นด้วยกับแนวทางคืนพระราชอำนาจ จน สนช.ล่าชื่อเปิดอภิปรายและมีมติให้ถอดถอน
11. อดิศร เพียงเกษ เกิดวันที่ 6 กันยายน 2495 ชื่อเล่น "ตุ๊" ลูกชายของ ทองปักษ์ เพียงเกษ อดีต ส.ส.ขอนแก่น เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ได้เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในฐานะแนวร่วมพร้อมครอบครัวทั้งหมด เริ่มเล่นการเมืองปี 2526 แต่มาเป็น ส.ส.เมื่อปี 2531 อยู่มาหลายพรรคทั้ง พรรคมวลชน พรรคพลังธรรม พรรคนำไทย และพรรคไทยรักไทย เป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง
12. วีระ มุสิกพงศ์ เคยเป็นนักเขียนและนักข่าวของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เริ่มเส้นทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ พ.ศ.2518 วัยฉกรรจ์ วีระมีบทบาททางการเมืองโดดเด่นในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสุลานนท์ ได้เป็นรัฐมนตรีถึง 3 สมัย แต่มาต้องคตีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในช่วงที่เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ต้องโทษ 4 ปี ที่เรือนจำบุรีรัมย์ติดคุกราว 1 เดือน ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
หลังขัดแย้งกันภายในพรรคประชาธิปัตย์ วีระออกไปตั้งพรรคประชาชน แต่ก็ยุบพรรคในเวลาต่อมา จึงไปอยู่กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในพรรคความหวังใหม่ ก่อนเข้ามาอยู่พรรคไทยรักไทย เพราะถูกรวบรวมพรรค และเข้าเป็นแกนนำ นปช.เมื่อปี 2550
13. จตุพร พรหมพันธุ์ เกิดวันที่ 5 ตุลาคม 2508 ที่ จ.สุราษฏร์ธานี จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นอดีตโฆษกพรรคไทยรักไทย และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ แจ้งเกิดทางการเมืองจากการเป็นผู้นำนักศึกษาช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 เป็น 1 ใน 8 แกนนำ นปช. ต่อต้าน คมช.
14. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เกิดวันที่ 4 มิถุนายน 2518 ที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เป็นนักโต้วาทีตั้งแต่มัธยมศึกษา แต่คนรู้จัก เพราะเป็นดาราในสภาโจ๊กเลียนเสียงไตรรงค์ สุวรรณคีรี เข้าร่วมไทยรักไทยในทีมปราศรัยล่วงหน้าของ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยลง ส.ส. แต่ไม่ทันทำหน้าที่ก็เกิดปฏิวัติ จึงมาเป็นแกนนำ นปช. และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- politicalbase.in.th
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต