พบตำราพิชัยสงคราม 2 เล่มที่เมืองเพชรบูรณ์ นักวิชาการเชื่ออายุกว่า 200 ปี ชี้เป็นฉบับกลางแปลง ใช้จริงในการทำสงคราม มีรูปภาพการตั้งทัพ ผังกำลังศึก เผยเป็นฉบับภาพที่สมบูรณ์ที่สุดหลังพบมาแล้ว 3 เล่ม เล็งศึกษานำมาใช้ในการศึกใด ยกให้เป็นฉบับ "พรหมบุญ" เป็นเกียรติแก่ตระกูลที่ครอบครอง
นายปริญญา สัญญะเดช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธไทยโบราณและเจ้าของพิพิธภัณฑ์บ้านขุนศึก กรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ว่า ได้พบตำราพิชัยสงคราม ที่คาดว่าเป็นฉบับหลวง อายุประมาณ 200 ปี โดยเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมกับนายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นางธีรพร พรพฤฒิพันธุ์ นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ อดีตนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ที่หอประวัติศาสตร์เพชบุระ อ.เมืองเพชรบูรณ์ กรณีการพบตำราพิชัยสงครามล้ำค่า คาดอยู่ในช่วงยุคสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุเก่าแก่ราว 200 ปี ซึ่งนายมาวิณห์ พรหมบุญ นำมามอบให้ และได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอประวัติศาสตร์เพชบุระ
นายปริญญา กล่าวว่า ตำราพิชัยสงครามที่พบมี 2 เล่ม เป็นฉบับรูปภาพ และฉบับตัวอักษร โดยฉบับรูปภาพมีความสมบูรณ์มาก ถือเป็นเล่มล่าสุดที่เพิ่งถูกค้นพบ รูปเล่มเป็นสมุดข่อยไทดำ หรือสมุดข่อยลงฝุ่นสีดำ ภาพเขียนด้วยสีฝุ่นชอล์ก ส่วนอักขระเป็นอักษรไทยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ลงสีหรดาร ส่วนฉบับตัวอักษรคาดว่าเป็นฉบับคัดลอกในภายหลัง
"ความสมบูรณ์ของตำราพิชัยสงครามฉบับรูปภาพ แบ่งเป็นสองมิติ คือ 1. สมบูรณ์ในเรื่องของการเก็บรักษา ความคมชัดของรูปภาพ 2. สมบูรณ์มากในเรื่องร่องรอยของการเคยถูกใช้งาน ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ค่อยจะเหลือร่องรอยพวกนี้ ที่ผ่านมาตำราพิชัยสงคราม ฉบับรูปภาพที่พบมี 4 ฉบับ แปลเรียบร้อยแล้วมี 3 ฉบับ อีกฉบับมีแค่เพียงเอ่ยถึงเท่านั้น แต่ยังไม่มีใครเห็น ตำราพิชัยสงครามประกอบด้วยตำราหลายๆ เล่ม เป็นศาสตร์แต่ละอย่างเพื่อรวบรวมไว้ใช้ในการทำสงคราม" นายปริญญากล่าว และว่า ตำราพิชัยสงครามเล่มนี้คือ ฉบับผังกองทัพ การจัดผังกำลังศึก และการจัดเข้ารูปในการตั้งทัพ ใช้ภาษาปัจจุบันคือ การบอกพิกัดทัพ ซึ่งถ้าศึกษาในเชิงลึกแล้วจะรู้กองทัพนี้ตั้งอยู่ที่ไหน
นายปริญญา กล่าวอีกว่า หากจะมีการศึกษาต่อไป ไม่ใช่เพียงแค่การอ่านและแปลอย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรค้นคว้าต่อไปว่า ตำราพิชัยสงครามเล่มนี้มาตกอยู่ที่นี่ได้อย่างไร และถูกนำมาใช้ในการศึกไหน เพราะดูจากสภาพรูปเล่มหรือวิธีการใช้แสดงว่าเป็นพิชัยสงครามฉบับกลางแปลง ซึ่งหมายถึงการนำมาใช้จริงๆ ในการบัญชาการศึก ส่วนเล่มอื่นๆ ที่มีอยู่ที่อื่นส่วนใหญ่เพียงแต่จะถูกนำมาใช้เพื่อการท่องในลักษณะเป็นตำราคู่มือ
นายปริญญา กล่าวด้วยว่า ตำราพิชัยสงครามฉบับนี้น่าจะเป็นฉบับหลวง ไม่ใช่ฉบับที่คัดลอกทั่วไป ปัจจุบันฉบับคัดลอกทั่วไปที่อยู่ในมือของบุคคล เช่น ตำราพิชัยสงครามฉบับพัทลุง เป็นการคัดลอกมาอีกชั้นหนึ่ง อยู่ในตระกูลของเกจิอาจารย์ทั้งหลายแต่ยังไม่ชัดเจนและงดงามเท่านี้ จึงอยากเรียกตำราพิชัยสงครามฉบับนี้ในเบื้องต้นว่า ตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ฉบับพรหมบุญ เพื่อยกย่องและให้เกียรติแก่ตระกูลพรหมบุญ ที่เก็บรักษาตำราพิชัยสงครามเล่มนี้ไว้อย่างดี และได้นำมามอบให้ทางหอประวัติศาสตร์เพชรบูรณ์ เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้า
"เอกสารชิ้นนี้มีคุณค่ามาก และเป็นสิ่งที่ชาวเพชรบูรณ์ควรจะภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะแผ่นดินเมืองไหนจะมีอะไรก็ได้ แต่การจะพบ หรือมีตำราพิชัยสงครามถือเป็นเรื่องยากและเป็นสิ่งมงคลอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่จะบ่งชี้ได้ว่าในอดีตอาจมีพระมหากษัตริย์หรือแม่ทัพนายกองที่เป็นบุคคลสำคัญ นำทัพมาทำศึกที่เมืองเพชรบูรณ์" นายปริญญากล่าว
ด้าน นายมาวิณห์ กล่าวว่า ตำราพิชัยสงครามเล่มนี้เป็นสมบัติของตระกูล ตกทอดมาหลายชั่วอายุคน หลังจากปู่นพ หรือครูเคลิ้มเสียชีวิต ญาติผู้ใหญ่จึงได้มอบถุงเอกสารให้มาเก็บรักษาไว้โดยมีเอกสารตำราสำคัญราว 5 เล่ม โดยคุณย่าที สั่งกำชับให้รักษาไว้ให้ดี เพราะเป็นสมบัติเก่าแก่ที่ได้รับตกทอดมาจากหลวงพรหม ซึ่งเป็นปู่ทวดอีกชั้น พร้อมเล่าให้ฟังว่าในอดีตตระกูลพรหมบุญ เป็นตระกูลเก่าแก่ที่อยู่อาศัยที่เมืองเพชรบูรณ์ เจ้านายโบราณได้มอบให้ไว้ใช้ประโยชน์ในการทำศึกหรือสนับสนุนการจัดส่งเสบียงยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพในอดีต
"ตำราทั้ง 5 เล่ม มี 2 เล่ม ที่เป็นตำราพิชัยสงคราม โดยเล่มหนึ่งมีรูปภาพประกอบ ซึ่งดูเก่าแก่มากและมีร่องรอยเคยถูกใช้งานมาก่อน ส่วนอีกเล่มมีแต่อักษรไทยล้วนๆ แต่สภาพไม่เก่าแก่เหมือนเล่มรูปภาพ นอกจากนี้ ก็มีตำราดูลักษณะสัตว์ที่เป็นมงคล อาทิ แมว นกกระทา ฯลฯ ที่นำมามอบให้หอประวัติศาสตร์ เพราะต้องการให้อนุชนคนรุ่นหลังมีโอกาสศึกษาค้นคว้าวิจัยต่อไป" นายมาวิณห์กล่าว
ขณะที่ นายวิศัลย์ กล่าวว่า หลังได้รับมอบก็เพียงเก็บรักษาไว้ แม้จะรู้ว่าเป็นตำราพิชัยสงคราม แต่ไม่คาดคิดว่าจะมีความสำคัญถึงเพียงนี้ หลังจากนายปริญญาได้มาพบเห็นพร้อมเขียนบันทึกทิ้งไว้ให้ จึงให้เจ้าหน้าที่และทีมงานช่วยเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ พร้อมหารือกับนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อหาแนวทางจะดำเนินการเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ ตอนนี้คำนึงถึงการเก็บรักษาตำราพิชัยสงครามให้คงสภาพเดิมให้มากที่สุด ซึ่งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์พร้อมจัดสรรงบฯสนับสนุน ทุกคนเห็นพ้องว่าไม่อยากให้นำตำราพิชัยสงครามฉบับนี้ออกไป แต่ขาดผู้เชี่ยวชาญเรื่องตำราพิชัยสงคราม ซึ่งนายปริญญารับปากว่าพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ