x close

เราจะเตรียมรับมือกันอย่างไร? ..... สังคมผู้สูงอายุ













เราจะเตรียมรับมือกันอย่างไร? ..... สังคมผู้สูงอายุ  (มติชนออนไลน์)

         เมื่อประเทศใดมีประชากร อายุ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อสัดส่วนดังกล่าว เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และร้อยละ 14 ตามลำดับ

         ประชากรโลกจะเพิ่มจาก 6,705 ล้านคน ในปี 2551 เป็น 8,000 ล้านคนในปี 2568 และ 9,352 ล้านคนในปี 2593 โลกโดยรวมก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2583

         ประชากรของประเทศไทยจะเพิ่มจาก 66.48 ล้านคนในปี 2551 เป็น 70.65 ล้านคนในปี 2568 แล้วจะเริ่มลดลงเป็น 70.63 ล้านคนในปี 2573 ประชากรวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) จะลดลงจาก 15.95 ล้านคนในปี 2533 เป็น 9.54 ล้านคนในปี 2573 ขณะที่ประชากรวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นจาก 4.02 ล้านคน เป็น 17.74 ล้านคน ในช่วงเดียวกัน

         ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2547 และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2567 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า

         การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับมหภาค ได้แก่ ผลต่อ GDP รายได้ต่อหัวประชากร การออม การลงทุน งบประมาณของรัฐบาลและการคลัง ผลิตภาพแรงงานและการจ้างงาน และในระดับจุลภาคได้แก่ ผลต่อตลาดผลิตภัณฑ์และบริการด้านต่างๆ  โดยเฉพาะด้านการเงินและด้านสุขภาพ

ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อม ทั้งด้านบุคลากรและระบบ โดยจะต้องเร่งดำเนินการดังนี้ 

         -ปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้ทันสมัย
         -สร้างหลักประกันด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล
         -สนับสนุนการดูแลระยะยาว และแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแล
         -สร้างหลักประกันด้านรายได้และส่งเสริมการออมเพื่อวัยหลังเกษียณ 
         -ส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุและขยายกำหนดการเกษียณอายุ 
         -สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบครอบครัวและชุมชน 

         การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นผลจากความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะสาขาการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดลดลง สัดส่วนของผู้สูงอายุจึงมากขึ้นเป็นลำดับ 

         ตามนิยามของสหประชาชาติ เมื่อประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเกินร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 7 ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และ 14 ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยเกณฑ์การเกษียณอายุโดยทั่วไปคือ 60 ปี และใน พรบ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ก็ให้คำนิยามไว้ว่าผู้สูงอายุคือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 

         การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากทั้งในระดับชาติและในระดับโลก เพราะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งในระดับมหภาค ได้แก่ ผลต่อผลผลิตรวมของประเทศ (GDP) รายได้ต่อหัวของประชากร การออมและการลงทุน งบประมาณของรัฐบาล การจ้างงานและผลิตภาพของแรงงาน และในระดับจุลภาค ได้แก่ ผลต่อตลาดผลิตภัณฑ์และบริการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเงินและด้านสุขภาพ การเตรียมพร้อมเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องเริ่มตั้งแต่บัดนี้ เพราะมาตรการเกือบทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลก

         มีการประมาณการประชากรโลกว่าจะเพิ่มจาก 6,705 ล้านคน ณ กลางปี 2551 เป็น 8,000 ล้านคนในปี 2568 และ 9,352 ล้านคนในปี 2593 โดยอินเดียจะแซงหน้าจีนขึ้นเป็นอันดับหนึ่งด้วยจำนวนประชากร 1,755.2 ล้านคน ในปี 2593 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 52.7 ในขณะที่ประชากรของจีนจะเพิ่มเพียงร้อยละ 8.5 เป็น 1,437.0 ล้านคน สัดส่วนของประชากรโลกที่มีอายุระหว่าง 0-14 ปี จะลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 28.3 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 20.4 ในปี 2588 

         ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจากร้อยละ 10.3 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 20.4 ในปี 2588  และสัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจากร้อยละ 7.3 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 14.3 ในปี 2583 แสดงว่าโลก 

         โดยรวมจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในเวลาเพียง 35 ปีเท่านั้น ขณะที่กลุ่มประเทศที่เป็นคลื่นละลอกแรกของสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว จะใช้เวลาค่อนข้างนาน เช่น ฝรั่งเศสใช้เวลา 115 ปี สวีเดน 85 ปี ออสเตรเลีย 73 ปี สหรัฐอเมริกา 69 ปี เป็นต้น ทำให้มีเวลาปรับตัวและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างเพียงพอ ขณะที่กลุ่มประเทศที่เป็นคลื่นละลอกที่สอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ใช้เวลาสั้นกว่ามาก เช่น ชิลี 27 ปี จีน 26 ปี ไทย 22 ปี บราซิล 21 และสิงคโปร์ 19 ปี เป็นต้น ทำให้มีเวลาเตรียมตัวน้อย

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย

         สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.48 ล้านคนในปี 2551 เป็น 70.65 ล้านคนในปี 2568 และจะค่อย ๆ ลดลง (Depopulation) เป็น 70.63 ล้านคนในปี 2573 จำนวนประชากรวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) จะลดลงอย่างสม่ำเสมอจาก 15.95 ล้านคนในปี 2533 เหลือเพียง 9.54 ล้านคนในปี 2573 

         เมื่อคิดเป็นสัดส่วนจะลดลงจากร้อยละ 29.23 เหลือเพียงร้อยละ 13.50  ประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) จะเพิ่มจาก 34.59 ล้านคนในปี 2533 เป็น 46.34 ล้านคนในปี 2560 จากนั้นจะลดลงเป็นลำดับ เหลือ 43.35 ล้านคนในปี 2573 เมื่อคิดเป็นสัดส่วนจะเพิ่มจากร้อยละ 63.40 เป็นร้อยละ 67.67 แล้วลดลงเป็นร้อยละ 61.38 

         ส่วนประชากรวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจาก 4.02 ล้านคนในปี 2533 เป็น 17.74 ล้านคนในปี 2573 เมื่อคิดเป็นสัดส่วนจะเพิ่มจากร้อยละ 7.36 เป็นร้อยละ 25.12 และตามนิยามของสังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2547 เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2567 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 

         การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว ทำให้อัตราส่วนภาระพึ่งพิงหรือภาระโดยรวมที่ประชากรวัยทำงานจะต้องเลี้ยงดูประชากรวัยเด็กและวัยสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยที่ยังมิได้คำนึงถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูซึ่งสูงขึ้นตามอายุ อัตราส่วนภาระพึ่งพิงของประชากรวัยเด็ก ลดลงจากร้อยละ 46.11 ในปี 2533 เหลือร้อยละ 21.99 ในปี 2573 

         ขณะที่อัตราส่วนภาระพึ่งพิงของประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.61 เป็นร้อยละ 40.93 ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้อัตราส่วนภาระพึ่งพิงรวมลดลงจากร้อยละ 57.72 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 47.78 ในปี 2554 จากนั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นร้อยละ 62.92 ในปี 2573

สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย

         ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินงานด้านผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2494 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญพอสรุปได้ดังนี้

         2494 ตราพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ พ.ศ.2494 เพื่อเป็นหลักประกันด้านรายได้ของข้าราชการเมื่อถึงวัยเกษียณ

         2496 กรมประชาสงเคราะห์สร้างบ้านบางแคให้แก่ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งหรือยากจน

         2522 กรมประชาสงเคราะห์เปิดศูนย์บริการผู้สูงอายุ

         2525 ตั้งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ
                 - จัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2525-2544) 
                 - มีมติ ครม. เมื่อ 14 ธ.ค. ให้วันที่ 13 เม.ย. ของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ

         2540 กำหนดภารกิจของรัฐต่อประชากรสูงอายุไว้เป็นครั้งแรก ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 54 และ 80

         2542 ประกาศปฏิญญาผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2542

         2545 จัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2546)

         2546 ตราพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2547

         2550 รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ยังคงบทบัญญัติเกี่ยวกับภารกิจของรัฐต่อประชากรสูงอายุไว้ในมาตรา 53 และ 80 (1) 

         จากการสำรวจประชากรสูงอายุโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 71.4 อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล อีกร้อยละ 28.6 อยู่ในเขตเทศบาล ร้อยละ 62.5 เป็นผู้ที่สมรส ร้อยละ 34.8 เป็นม่าย หย่าหรือแยกกันอยู่ และอีกร้อยละ 2.7 เป็นโสด  ด้านการศึกษา ผู้สูงอายุส่วนใหญ่คือร้อยละ 68.9 เรียนจบชั้นประถมศึกษา มีเพียงร้อยละ 9.5 ที่เรียนจบสูงกว่าระดับประถมศึกษา อีกร้อยละ 21.6 ไม่เคยเรียนหนังสือหรือจบต่ำกว่าชั้นประถมศึกษา  อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุ 3 ใน 4 คน หรือร้อยละ 76.1 สามารถอ่านออกเขียนได้ 

         ด้านสุขภาพ พบว่า กลุ่มโรคที่ผู้สูงอายุป่วยมาก 3 อันดับแรก คือ กลุ่มโรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ และกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนสาเหตุการตายของผู้สูงอายุที่สำคัญ คือ โรคมะเร็งทุกชนิด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ  นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มพิการมากขึ้น จากร้อยละ 5.8 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 15.3 ในปี 2550 โดยความพิการที่พบมาก คือ สายตาเลือนรางทั้งสองข้าง หูตึงสองข้าง และอัมพฤกษ์

         ด้านสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ผู้สูงอายุได้รับสวัสดิการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สูงถึงร้อยละ 97 ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีสวัสดิการค่ารักษาประเภทบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง รองลงมาเป็นสวัสดิการข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนสวัสดิการที่จัดโดยนายจ้างมีน้อย 

         ด้านการทำงาน ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงานมากขึ้น โดยร้อยละ 51.0 ให้เหตุผลว่าต้องทำงานเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว ร้อยละ 36.5 เห็นว่าตนยังแข็งแรง ทำงานได้ อีกร้อยละ 12.5 ต้องส่งเสียบุตร เป็นอาชีพประจำไม่มีผู้ทำแทน และมีหนี้สิน

         แหล่งรายได้หลักในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ คือ บุตร ร้อยละ 52.3 รายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง ร้อยละ 28.9 คู่สมรส ร้อยละ 6.1 เงินบำเหน็จบำนาญ ร้อยละ 4.4 ส่วนในด้านการออมพบว่าผู้สูงอายุมีการออมหรือสะสมเงินทองและทรัพย์สิน ร้อยละ 68.7  และไม่มีการออม ร้อยละ 31.3

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร

         การที่ประชากรวัยทำงานจะลดลงตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะส่งผลให้ผลผลิตรวมของประเทศลดลง หากจะรักษาปริมาณผลผลิตไว้ให้ได้ต้องเพิ่มผลิตภาพของแรงงานให้สูงขึ้น เพิ่มปัจจัยการผลิตอื่น ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น นำเข้าแรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศหรือขยายเกณฑ์การเกษียณอายุเป็น 65 ปี หรือ 70 ปี การที่มีแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง 

         ขณะที่แรงงานต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการออมทั้งในระดับครัวเรือนและระดับประเทศ ผู้เกษียณอายุเองไม่มีรายได้ต้องนำเงินออมออกมาใช้ อีกประการหนึ่ง พ่อแม่รุ่นใหม่นิยมมีลูกน้อยลงหรือไม่มีเลย จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องออมมาก  ส่วนความต้องการลงทุนของประชาชนจะลดลงไปพร้อมกับการออมด้วย 

         ด้านผลกระทบต่องบประมาณของรัฐบาล เกิดจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 25,315 ล้านบาทในปี 2523 เป็น 434,974 ล้านบาทในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้น 17.2 เท่าในช่วง 25 ปี เฉพาะค่าใช้จ่ายของภาครัฐ เพิ่มจาก 7,576 ล้านบาทเป็น 143,775 ล้านบาทในช่วงดังกล่าว
 

         และผลการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังพบว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า (2553-2562) ภาระทางการคลังเฉพาะที่จะเกิดจากโครงการประกันสังคมและโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีจำนวนถึงปีละ 142,071-251,607 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.4-7.8 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 

         ผลกระทบด้านแรงงานเกิดจากสมรรถนะทางกายภาพที่ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ผลิตภาพแรงงานสามารถเพิ่มให้สูงขึ้นได้โดยการพัฒนาคุณภาพแรงงาน ทั้งโดยตรงผ่านการศึกษา การฝึกอบรม การสร้างแรงจูงใจ และโดยผ่านการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การขยายเวลาการเกษียณอายุออกไปก็ช่วยบรรเทาผลกระทบได้

เราจะเตรียมรับมือกันอย่างไร?

         ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า จึงมีเวลาค่อนข้างน้อยในการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านบุคลากรและระบบต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างหลักประกันทางสังคมขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ มาตรการที่ต้องรีบดำเนินการมีดังต่อไปนี้

         •การปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้ทันสมัยเพื่อที่จะได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึงและตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง

         •การสร้างหลักประกันด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องโรงพยาบาลที่ให้เลือกใช้บริการมีจำกัด และไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือด้านคุณภาพการบริการ  นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการส่งต่อในกรณีฉุกเฉิน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการปรับปรุงและควบคุมคุณภาพของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลทุกแห่งให้ได้มาตรฐาน

         •การดูแลระยะยาวและการแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแล ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสังคม ทำให้รูปแบบและขนาดของครัวเรือนเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันภาวะการเจ็บป่วยและพิการของผู้สูงอายุก็มีมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาด้านการดูแลระยะยาว และการขาดแคลนผู้ดูแล จึงมีการเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานผู้สูงอายุแห่งชาติ เร่งจัดทำนโยบาย แผนการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นทางการ 

         •การสร้างหลักประกันด้านรายได้ โดยส่งเสริมการออมเพื่อวัยหลังเกษียณ ผ่านเครื่องมือหรือระบบการออมประเภทต่าง ๆ ได้แก่ กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว การประกันชีวิต และกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

         •การส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ รวมถึงการขยายเกณฑ์กำหนดเกษียณอายุจาก 60 ปี เป็น 65 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้และได้ใช้ประสบการณ์และศักยภาพอย่างเต็มที่ รวมถึงเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้วย
         
         •การสร้างเสริมความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน เพื่อให้สามารถดูแลปัญหาผู้สูงอายุได้ด้วยตัวเองให้มากที่สุด





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

โดย ไพโรจน์ วงศ์วุฒิวัฒน์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เราจะเตรียมรับมือกันอย่างไร? ..... สังคมผู้สูงอายุ อัปเดตล่าสุด 28 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 16:03:57 53,804 อ่าน
TOP