บันทึกรากหญ้า ยายไฮ ขันจันทา นักสู้ผู้ยิ่งยง


ยายไฮ ขันจันทา

ยายไฮ ขันจันทา

ยายไฮ ขันจันทา



บันทึก"รากหญ้า" ยายไฮ ขันจันทา นักสู้ผู้ยิ่งยง (มติชน)
รายงานโดย วัชรพล มีสวัสดิ์

          การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างยาวนานถึง 32 ปี ในที่สุด "ไฮ ขันจันทา" หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า "ยายไฮ" วัย 80 ปี แห่งบ้านโนนตาล ต.นาตาล อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี มาถึงปลายทางแห่งความสำเร็จ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้จ่ายเงินค่าชดเชยพื่อเยียวยาผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนห้วยละห้า อ.นาตาลให้กับยายไฮ กับพวกอีก 3 คน รวมวงเงิน 4.9 ล้านบาท

          "ไฮ เคนงาม" กำพร้าพ่อตั้งแต่อายุ 4 ขวบ มีโอกาสเรียนเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากนั้นช่วยครอบครัวทำนาในพื้นที่กว่า 200 ไร่ ร่วมกับพี่น้องอีก 7 คน จนกระทั่งถึงวัยสาวแต่งงานกับ "คำฟอง ขันจันทา" มีลูกด้วยกัน 10 คน แต่ชีวิตไม่ลำบากแม้มีลูกมาก เพราะครอบครัว "ขันจันทา" ขยันขันแข็งมีฐานะเป็นปึกแผ่นเป็นที่อิจฉาของเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน อีกทั้งยังได้รับมรดกเป็นที่นา 61 ไร่ มีไร่ติดฝั่งแม่น้ำโขงอีก 27 ไร่ และที่สวนใกล้บ้านอีก 6 ไร่ วัว 106 ตัว ควาย 12 ตัว ม้า 4 ตัว และลิง อีก 4 ตัว รวมทั้งกิจการโรงสีข้าวอีก 1 โรง

          ปี 2520 ครอบครัว "ขันจันทา" ซึ่งอยู่อย่างเรียบง่ายสงบสุขต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตลูกใหญ่ เมื่อสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ประกาศโครงการก่อสร้างเขื่อนห้วยละห้าที่บ้านโนนตาล กิ่ง อ.นาตาล ผืนดินของนางไฮ นายคำพอง ขันจันทา นายเสือ เคนงาม และเพื่อนบ้านอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างรวมแล้ว 105 ไร่ด้วย

          ระหว่างการก่อสร้าง นางไฮกับพวกรวมตัวคัดค้านโดยทำหนังสือไปยังกิ่ง อ.นาตาล เรียกร้องขอให้ รพช.ระงับการก่อสร้างโดยอ้างเหตุผลน้ำจากเขื่อนท่วมพื้นที่นาทำให้เกิดความเสียหาย

          แต่ไม่เป็นผลโครงการก่อสร้างดำเนินต่อไปจนแล้วเสร็จเมื่อปี 2522


ยายไฮ ขันจันทา



          "ยายมองที่ดินตัวเองจมอยู่ใต้น้ำแล้วเศร้าทำอะไรไม่ได้ ผิดกับผืนนาของเพื่อนบ้านเต็มไปด้วยต้นข้าวเขียวพรืดไปหมด" นางไฮรำลึกอดีต
 
          ขณะนั้นกลุ่มสมัชชาคนจนมี น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นแกนนำ กำลังต่อสู้เรียกร้องสิทธิของคนรากหญ้า นางไฮร่วมขบวนด้วยเมื่อปี 2542

          อีก 4 ปีต่อมา นางไฮเดินทางไปกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มสมัชชาคนจนโดยปักหลักปลูกเพิงและตั้งเป็นหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่หน้าสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ใกล้ทำเนียบรัฐบาล

          เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2546 รัฐบาล "ทักษิณ" เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจนเป็นไปอย่างยืดเยื้อจึงใช้กำลังสลายม็อบทำลายเพิงพัก การต่อสู้ล้มเหลวนางไฮกลับมาบ้านเกิดด้วยมือเปล่า ให้หลังเพียง 2 วัน มรสุมชีวิตพัดกระหน่ำครอบครัว "ขันจันทา" อีกระลอก

          เวลา 16.00 น. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 บ้านของนางไฮเกิดไฟไหม้ พระเพลิงเผาทรัพย์สินที่มีอยู่วอดวายสิ้น

          เหตุการณ์ดังกล่าวนางไฮเชื่อว่ามีคนลอบวางเพลิง เพราะตลอด 2 เดือนที่ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มสมัชชาคนจน ไม่มีใครอยู่ในบ้านและตัดคัตเอ๊าต์กระแสไฟออกแล้ว

          ที่น่าแปลกยิ่งกว่านั้น เมื่อเกิดไฟไหม้ นางไฮแจ้งขอรถดับเพลิง เจ้าหน้าที่บอกว่า "อุปกรณ์ดับเพลิงชำรุด"

          นางไฮส่งจดหมายไปยัง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นระบุว่า

          "ครอบครัวขันจันทาไม่เคยมีความขัดแย้งกับใครยกเว้นกรณีเขื่อนห้วยละห้า ที่ทำให้ข้าราชการ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาลไม่พอใจในการเรียกร้อง"

          จดหมายของนางไฮฉบับนี้ ดูเหมือนเป็นกุญแจไขสู่ความสำเร็จ เพราะหลังจากนั้นไม่นานนัก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับและติดตามการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน เชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่บ้านโนนตาล พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาประชุมปรึกษาที่ทำเนียบรัฐบาล
 
          ในที่ประชุมหาทางแก้ปัญหากรณีเขื่อนห้วยละห้า โดยทางราชการจะชดใช้ความเสียหายให้ชาวบ้านทั้ง 3 รายเป็น 2 ประการคือค่าชดเชยที่ดิน และค่าเสียโอกาสที่ไม่ได้ทำกินในที่ดินดังกล่าวโดยในขณะนั้นได้เห็นชอบให้จ่ายค่าที่ดินเป็นเงิน 4,909,000 บาท และค่าเสียโอกาส 27 ปี เป็นเงิน 4,948,215 บาท

          แม้จะมีข้อสรุปทางออก แต่เส้นทางการต่อสู้ของนางไฮยังไม่สิ้นสุด เพราะไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบกับข้อสรุปดังกล่าว

          ปี 2547 นางไฮระดมลูก ๆ หลาน ๆ ที่กระจัดกระจายไปทำมาหากินในกรุงเทพมหานคร กลับบ้านเกิดเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินที่อยู่ใต้นำ โดยพากันถือจอบเสียมบุกไปทุบเขื่อนห้วยละห้า


ยายไฮ ขันจันทา



          มอญ ขันจันทา อายุ 39 ปี ลูกสาวคนที่ 7 ของนางไฮ เล่าว่า "เมื่อนึกย้อนอดีตแล้วขมขื่นมาก เห็นแม่ต่อสู้เพื่อเอาที่ดินที่เป็นมรดกตกทอดมากว่า 20 ปีคืนจากรัฐ ใจหนึ่งสงสารแม่เพราะอายุมากแล้ว ส่วนอีกใจหนึ่งเราต้องช่วยแม่คัดค้าน เพราะถ้าไม่ทำเหมือนเป็นลูกอกตัญญู ตั้งแต่น้ำท่วมที่ไร่นา พ่อต้องออกไปทำงานหาเงินมาซื้อข้าวสาร และสิ่งของจำเป็นต่าง ๆ คิดดูลูกตั้ง 10 คน ต้องใช้เงินวันละกี่บาทจึงพอยาไส้ พี่น้องทุกคนต้องออกรับจ้างทำงานทุกอย่าง เก็บฝืนขาย ขนขี้ควายใส่ไร่นาชาวบ้าน ถอนต้นกล้า เกี่ยวข้าว หรือสร้างบ้าน งานที่ใช้แรงทุกอย่างทำหมดไม่มีเลือก"

          ระหว่างนั้นกลุ่มสมัชชาคนจนยื่นหนังสือเรียกร้องรัฐบาล "ทักษิณ" เร่งจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐอีกทางหนึ่ง ปรากฎว่าหนังสือเรียกร้องดังกล่าวได้รับการหยิบยกขึ้นมาพิจารณา

          ต่อมาคณะรัฐมนตรี รัฐบาล "ทักษิณ" มีมติให้ระบายน้ำออกจากเขื่อนห้วยละห้าและให้ทุบทิ้ง พร้อมอนุมัติให้ชดเชยค่าเสียหายโดยถือว่ากรณีดังกล่าวรัฐได้ละเมิดสิทธิของประชาชน

          ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณสั่งให้หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 กองบัญชาการทหารสูงสุด นำเครื่องจักรกลหนักขุดสันฝายน้ำล้น ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนห้วยละห้า คืนที่ดินให้ยายไฮพร้อมกับเพื่อนบ้านอีก 21 ราย แม้จะได้คืนที่ดิน แต่ค่าเสียหายเนื่องจากน้ำท่วมเรือกสวนไร่นาของนางไฮ ทางราชการยังไม่ได้จ่าย

          นางไฮเดินหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลชุดต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จ่ายค่าชดเชยความเสียหายดังกล่าวอย่างต่อเนื่องอีกเกือบ 5 ปีเต็มจนกระทั่งมาถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติให้จ่ายเงินค่าชดเชยพื่อเยียวยาผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนห้วยละห้า รวมวงเงิน 4.9 ล้านบาท

          การต่อสู้เป็นไปอย่างยาวนานครั้งนี้ ไม่เพียงจะทำให้ผมสีดำเข้มของนางไฮเปลี่ยนเป็นสีขาว หากทรัพย์สินที่มีอยู่ต้องทยอยขายเพื่อนำเงินมาเลี้ยงชีวิต

          "ช่วงชีวิตการเรียกร้องขอความเป็นธรรมนั้น ครอบครัวลำบากมาก ยายขายที่ดิน 3 แปลง ที่นาอีก 2 แปลง วัว 14 ตัว ควาย 12 ตัว บ้านก็ขายด้วย เหลือไร่ติดริมแม่น้ำโขงจำนวน 27 ไร่ เอาไว้ปลูกพืชผักสวนครัว ส่วนชาวบ้านก็ไม่สนใจไม่นับญาติ หาว่าเราเป็นพวกถ่วงความเจริญ" นางไฮย้อนรำลึกความหลัง

          "นางไฮ" บอกว่า เงินที่ได้รับจากรัฐบาลนั้นไม่คุ้มค่ากับการล่มสลายของครอบครัว แต่ชื่นชมรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กล้าหาญยอมรับความจริงที่เกิดกับคนจน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยรัฐ, เดลินิวส์, มติชน
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บันทึกรากหญ้า ยายไฮ ขันจันทา นักสู้ผู้ยิ่งยง อัปเดตล่าสุด 2 ตุลาคม 2552 เวลา 14:27:45 53,439 อ่าน
TOP
x close