กรมเจ้าท่า ติดตั้งไฟเขียว-ไฟแดง ป้องกันเรือล่มซ้ำ










       กรมเจ้าท่า ติดไฟแดง-ไฟเขียว และติดไฟบนตอม่อที่สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หวั่นเกิดเรือล่มซ้ำ ขณะที่บริษัทเจ้าของเรือยินดีจ่ายค่าเสียหายทั้งหมด

        หลังจากเกิดเหตุเรือน้ำตาล ชนสะพานตอม่อเป็นเหตุให้เรือดังกล่าวล่ม ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน และทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นอย่างมาก โดย นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมเจ้าท่า และขนส่งทางน้ำ ได้ติดตั้งไฟเขียว-ไฟแดง จำนวน 2 อัน ไว้บนตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำอยุธยา อีกทั้งทาสีเสาตอม่อช่วงกลางสะพานทั้งสองด้าน เพื่อเป็นจุดสังเกตุให้เรือต่าง ๆ ระมัดระวัง พร้อมทั้งติดตั้งไฟบนตอม่อ เพื่อช่วงส่องสว่างในการเดินเรือตอนกลางคืน

        นายถวัลย์รัฐ  ได้กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าเรื่องค่าความเสียหายในครั้งนี้ มีข้อสรุปออกมาแล้ว เป็นเงินจำนวนไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยแบ่งค่าใช้จ่ายในการกู้เรือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันเรือ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าจัดทำเขื่อนถาวร  โดยได้เจรจากับบริษัท เจเอ็นพี จำกัด  เจ้าของเรือดังกล่าว และทางบริษัทยินดีที่จะจ่ายค่าเสียหายให้ทั้งหมด  อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่จะสรุปยอดความเสียหายทั้งหมดให้ทราบอย่างละเอียดอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (15 มิถุนายน)




เรือน้ำตาลล่ม เกาะติด ข่าวเรือน้ำตาลล่ม เรือน้ำตาลล่ม ที่อยุธยา กู้สำเร็จแล้ว!


เรือน้ำตาลล่ม


[12 มิถุนายน] เรือน้ำตาลล่ม ที่อยุธยา กู้สำเร็จแล้ว!


          ภารกิจกู้เรือน้ำตาลล่มสำเร็จแล้ว! เจ้าหน้าที่ลากเรือน้ำตาลทรายขึ้นฝั่งแล้ว พร้อมซ่อมรอยรั่ว คาดเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ได้ในเย็นนี้ 

          วันนี้ (12 มิถุนายน) กรมเจ้าท่า และทหารจากหน่วยกรมสรรพาวุธ ทหารเรือ และผู้ประกอบการเรือน้ำตาลทราย ประสบความสำเร็จในการกู้เรือน้ำตาลล่ม ในเจ้าพระยา จ.พระนครศรีอยุธยาได้แล้ว หลังนำกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 50 ชีวิต เริ่มภารกิจกู้เรือน้ำตาลโดยใช้เวลานานถึง 16 ชั่วโมง

          
โดยปฏิบัติการกู้เรือน้ำตาล ที่เป็นไปอย่างระทึก ท่ามกลางชาวบ้านนับ 100 ที่มาร่วมให้กำลังใจ ทั้งนี้ ผู้ควบคุมการกู้เรือได้อัดแรงลมเข้าไปยังพอนทูนเพื่อพยุงเรือน้ำตาลขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนัก 500 ตัน ยาว 40 เมตร กว้าง 6 เมตร ลึก 5 เมตร ให้เรือลอยขึ้น โดยได้ใช้วิทยุสื่อสาร สั่งการให้เรือยนต์จำนวน 4 ลำ ลากท้ายเพื่อให้พ้นตลิ่งประมาณ 10 เมตร ชาวบ้าน 2 ฝั่ง ตะโกนส่งเสียงร้องด้วยความดีใจ แต่พอสิ้นเสียงเฮ ปรากฏว่า เรือ 4 ลำ ไม่สามารถลากไปได้ จึงได้เสริมเรือเพิ่มอีก 2 ลำ รวมเป็น 6 ลำ ลากทวนน้ำไปยังจุดกู้เรือที่เตรียมไว้ ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร และก็ทำได้สำเร็จ 

          ด้าน นายประยุทธ ทวีลาภ หน้าหน้าทีมชุดกู้เรือน้ำตาล ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ เรือน้ำตาลที่ล่ม ได้ใช้เรือยนต์ลากมายังที่เตรียมไว้ ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 500 เมตร เพื่อทำการซ่อมแผลแตก จากการชนตอกหม้อสะพาน บริเวณด้านขวาของหัวเรือ เป็นรู ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  50 เซนติเมตร การซ่อม ให้นักประดาน้ำนำเหล็กขอบยางมา 2 แผ่น ประกบรอยแผลแตก ทั้งด้านนอกและด้านในของเรือ โดยเจาะน็อตและยึดไว้ติดกัน จากนั้น ใช้ท่อพญานาค สูบน้ำออกจากเรือ ให้ลอยขึ้นเหนือน้ำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเวลา 18.00 น. ของวันนี้ โดยจะลากไปที่ บริษัท อัลฟ่า มารีน ซัพพลาย จำกัด ที่ จ.ปทุมธานี ทำการซ่อมแซมเพื่อใช้งานต่อไป

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของฝั่งจุดเรือล่ม ทางเจ้าหน้าที่กันไว้เป็นเขตพื้นที่อันตรายห้ามเข้า และอพยพเจ้าของบ้านพร้อมผู้อาศัยออกทั้งหมด พ้นรัศมีอันตราย เพราะเกรงว่าระหว่างการกู้เรือ ต้องใช้เชือกขนาดใหญ่ เรือยนต์กำลังสูงถึง 6 ลำ หากเชือกขาดอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ขณะที่นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ทำการบวงสรวงเพื่อขอให้การกู้เรือบรรทุกน้ำตาลที่ล่มให้เป็นไปอย่างราบรื่น

          ด้านายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวถึงการกู้เรือน้ำตาลล่มเมื่อวานนี้ (11 มิถุนายน) ว่า เจ้าหน้าที่ได้พยายามนำพอนทูน หรือโป๊ะลอยน้ำจำนวน 2 ตัว น้ำหนัก 100 ตัน สอดเข้าไปใต้ท้องเรือสินค้าที่จมน้ำในบริเวณหัวเรือและท้ายเรือ เพื่อยกเรือให้ลอยขึ้นมา แต่กระแสน้ำสูงและไหลแรงมาก ทำให้การทำงานค่อนข้างลำบาก ประกอบกับเรือน้ำตาล ที่มีความยาวถึง 40 เมตร สูง 5 เมตร หัวเรือทิ่มไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้การกู้เรือน้ำตาลทรายเสี่ยงต่ออันตรายมาก เจ้าหน้าที่ต้องใส่เสื้อชูชีพทุกคน ในขณะเดียวกัน กองทัพบกเพื่อประชาชนของทหารราบที่ 11 ได้ระดมกระสอบทรายทำแนวกันตลิ่งเพิ่ม ทำให้น้ำไหลกัดเซาะเป็นบริเวณกว้างขึ้น แต่อย่างไรแล้ว การกู้เรือก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จ

           อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย กรมเจ้าท่าได้ออกประกาศเพื่อปิดการจราจรทางน้ำชั่วคราว บริเวณพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา สะพานหัวดุมตำบลภูเขาทอง ไปจนถึงสะพานวัดกษัตราธิราช โดยกำหนดให้เรือลำเลียงเรือลากจูง เดินเรือเฉพาะกรณีเร่งด่วนและมีความจำเป็นเท่านั้น







[10 มิถุนายน] กทม.ยันคุณภาพน้ำปกติแล้ว เล็งใช้บอลลูนกู้เรือน้ำตาล

        กทม.เผยคุณภาพน้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ระดับปกติแล้ว เตรียมใช้บอลลูนกู้เรือ 4 ลูก กู้เรือน้ำตาลล่ม ขณะที่รัฐทุ่ม 10 เยียวยาผู้เลี้ยงปลา พร้อมเร่งสอบสองบริษัทให้ร่วมรับผิดชอบ

        จากกรณีที่เรือบรรทุกน้ำตาลทรายแดง 2,400 ตัน มูลค่า 200 กว่าล้านบาท พุ่งชนตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ จ. พระนครศรีอยุธยานั้น ส่งผลให้ปลาเน่าตายและประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ความคืบหน้าเกี่ยวกับล่าสุดกรณีดังกล่าว ทางนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมกำหนดแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวว่า ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่วนทางผู้เลี้ยงปลากระชังนั้น ทางรัฐจะให้เงินเยียวยาตามระเบียบการคลังไปชดเชยร้อยละ 60 ของต้นทุน ซึ่งคาดว่า จะใช้งบประมาณไม่เกิน 10 ล้านบาท

        ขณะที่นายเกื้อกูล  ด่านชัยวิจิตร   รมช.คมนาคม กล่าวว่า ทางกรมเจ้าท่าและหน่วยงานที่เกียวข้อง จะเร่งกู้ซากเรือ โดยจะทำโป๊ะบอลลูนยกเรือขึ้น ทางด้านผู้ประกอบการเรือนั้น จะสร้างบ้านใหม่ให้ผู้ที่เสียหายพร้อมสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันตลิ่งพัง ส่วนเรื่องเงินเยียวยา ทางรัฐจะเป็นผู้ออกให้ก่อนเพราะการฟ้องร้องทางคดีใช้เวลานาน และเมื่อได้เงินจากการฟ้องร้องจะนำเงินมาใช้คืนรัฐ

         ทางด้าน นายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ได้กล่าวว่า เรือที่จมหนักถึง 500 ตัน ต้องใช้บอลลูนขนาดใหญ่ถึง 4 ลูก แต่ละลูกยกน้ำหนักได้ 150 ตัน พร้อมนำเรือเครนขนาดใหญ่ของกรมเจ้าท่า และเรือโป๊ะกองทัพเรือ มาช่วยกู้ โดยเอาบอลลูนยักษ์ผูกติดท้องเรือ 4 ด้าน จากนั้นอัดอากาศเพื่อยกเรือขึ้น โดยยจะเริ่มกู้เรือในวันที่ 11 มิถุนายน และใช้เวลาดำเนินการ 2 วันให้แล้วเสร็จ

        ส่วนทาง บริษัท อัลฟ่า มารีน  ซัฟพลาย จำกัด เจ้าของเรือและรับจ้างขนน้ำตาล ติดต่อว่าจะให้การช่วยเหลือ แต่อ้างว่า บริษัทไม่มีความผิด เพราะเป็นเพียงผู้รับจ้างเท่านั้น โดยกล่าวโทษบริษัท JNP จำกัด ถือว่า ทั้งสองบริษัทโยนความผิดต่อกัน และไม่แสดงเจตนารับผิดชอบ ทางกรมเจ้าท่าจึงจะเรียกทั้งสองบริษัทมาชี้แจงและหาข้อสรุป พร้อมทั้งทำเงื่อนไขและรายละเอียดในการช่วยเหลือต่อไป
  
         ด้านนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้กล่าวว่า จากการที่เรือน้ำตาลล่ม ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้น้ำตาลละลายออกมาจนทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำลดลงจากประมาณ 2.5 มิลลิกรัมต่อลิตร เหลือเพียง 0.6 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นเหตุให้ปลาและสัตว์น้ำตาย  ซึ่งทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้สำนักสิ่งแวดล้อม ช้อนปลาขึ้นมาจากแม่น้ำ และได้ติดตั้งเครื่องเติมออกซิเจนบริเวณวัดสร้อยทองจำนวน 4 เครื่อง พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนอีก 7 จุด ซึ่งในขณะนี้คุณภาพของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มเข้าสู้ภาวะปกติ





[7 มิถุนายน] มติ ครม. ชดเชยผู้เลี้ยงปลา - เอกชนจ่าย 6 ล้านบาท


           ที่ประชุม ครม. มีมติเยียวยา ผู้เลี้ยงปลา จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะ กรมเจ้าท่า ชี้ กู้เรือน้ำตาล 10 มิ.ย. เจ้าของเรือ ชดใช้ค่าเสียหาย ร่วม 6 ล้านบาท

           นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ว่า กรณีเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม ที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติในการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกร ผู้เลี้ยงปลาที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ในส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น จะให้ภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการเดินเรือดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

           นายเกื้อกูล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนการกู้ซากเรือนั้น ยังคงดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งเชื่อว่า จะสามารถนำซากเรือ ออกจากพื้นที่ได้ภายในวันเสาร์นี้

           ทางด้าน นายวันชัย สอนศิริ อดีตเลขาธิการสภาทนายความ กล่าวแสดงความคิดเห็น กรณีเรือน้ำตาลล่มที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทางแพ่ง และต่อสิ่งแวดล้อมที่สูญเสียไป จากเหตุเรือน้ำตาลล่ม ทำให้ตลิ่งพัง และปลาที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ตายจนหมดนั้น นอกเหนือจากคนขับเรือเจ้า ของเรือ และผู้ว่าจ้างเรือแล้ว ทางกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นส่วนราชการ มีหน้าที่ควบคุมเรือ ไม่ให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือ ขับเรือเร็วเกินไป จะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย

           ทั้งนี้ อดีตเลขาธิการสภาทนายความ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า สภาทนายความ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่พิทักษ์รักษาสิทธิ์ของประชาชน ดังนั้น ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถเข้ามาร้องทุกข์ที่สภาทนายความได้ ในส่วนของคดีอาญา จะมีทนายความเป็นที่ปรึกษากฎหมาย และเป็นทนายความโจทก์ร่วม ในส่วนของคดีทางแพ่ง ก็จะเป็นทนายว่าความให้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะสภาทนายความ ได้รับงบประมาณจากการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งคดีนี้ เป็นคดีสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา ศาลจะงดเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้ ดังนั้น ชาวบ้านจึงไม่ต้องวิตกกังวลว่า จะไม่มีเงินจำนวนมากมาวางศาล เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียม


 

เรือน้ำตาลล่ม



[6 มิถุนายน] เรือน้ำตาลล่ม รัฐจ่อถกติด GPS เจ้าพระยา คุมน้ำหนักเรือสินค้า


          รัฐบาลเตรียมหารือติด GPS ในแม่น้ำเจ้าพระยา ควบคุมน้ำหนักเรือบรรทุกสินค้าผ่าน ป้องกันเกิดอุบัติเหตุ เรือน้ำตาลล่ม ซ้ำ

          คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงกรณีเรือบรรทุกน้ำตาล ที่ล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า ในขณะนี้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ระดมการช่วยเหลือในการบำบัดน้ำเสียจากจุดที่เกิดเหตุ เนื่องจากปริมาณออกซิเจน ในน้ำลดลงไปมาก ส่งผลให้ปลาในกระชังของประชาชน ได้รับความเสียหาย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลนำเหตุการณ์ดังกล่าว มาพิจารณาในส่วนของการติดตั้ง GPS เพื่อความปลอดภัย เมื่อเรือขนส่งสินค้าผ่าน และการควบคุมน้ำหนักของการบรรทุกสินค้า เนื่องจากกรณีดังกล่าว อาจส่งผลในระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมของน้ำ และอาจขยายเป็นวงกว้าง

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกระชังปลา ทางรัฐบาลจะมีการเยียวยาช่วยเหลือ โดยจะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด





[4 มิถุนายน] ปลากระเบนราหู ตายเพิ่ม - กู้กากน้ำตาลหมด





          ชาวประมงพบกระเบนราหู เพศเมีย เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ตัว ใกล้จุดพบตัวแรกที่ จ.ปุทมธานี ทางด้านผู้ว่าฯ อยุธยา เผย เจ้าหน้าที่ สามารถกู้น้ำตาลในเรือที่ล่มได้หมดแล้ว ขณะระดับออกซิเจนในน้ำ ที่ อ.บางไทร เพิ่มขึ้นแล้ว ขณะที่ผลพวงเรือบรรทุกน้ำตาล ล่ม ทำปลาลอยเน่า ส่งกลิ่นเหม็นเต็มแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขต จ.ปทุมธานี  

          
เหตุเรือ "พลังมิตร" ที่บรรทุกน้ำตาล ล่ม ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา กระทั่ง มีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ต้องร่วมมือเข้ากู้เรือและขนถ่ายน้ำตาลที่คงเหลือออกจากเรือลำดังกล่าวนั้น ล่าสุดวันนี้ (4 มิถุนายน) นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า การกู้กากน้ำตาลออกจากเรือได้หมดแล้ว และทำการตรวจสอบวัดค่าความหวาน พบว่า มีค่าน้อยกว่าเมื่อคืนเหลือ อยู่ที่ 18% โดยส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าตรวจสอบค่าความหวานทุก ๆ ชั่วโมง จนกลับมาอยู่ในระดับที่พอใจ ถ้าพบมีติดค้างเพิ่มขึ้นจะมีการสูบน้ำต้นเรือ ซึ่งยังลำเลียงต่อไป 

 

เรือน้ำตาลล่ม

เรือน้ำตาลล่ม

 

เรือล่มส่งผลปลากระเบนราหูตายเพิ่มอีก 1 ตัว 
 
         วันนี้ (4 มิถุนายน) นายทะนง ทแกล้วทศพล ประมงจังหวัดปทุมธานี ได้รับแจ้งจาก นายประทีป ปทุมรัฐวราคุณ อยู่บ้านเลขที่ 7/1 ม.1 ต.บ้านปทุม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ว่า ได้พบปลากระเบน หรือ ปลาราหู เสียชีวิตในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้โผล่ส่วนหางขึ้นมา และได้ช่วยกันลากขึ้นฝั่งไว้แล้ว จึงได้ไปตรวจสอบพบว่า เป็นปลากระเบนราหู มีความกว้าง 2.90 เมตร ความยาว 3.50 เมตร น้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม

         ซึ่งจุดที่พบปลา ห่างจากจุดที่พบปลากระเบน เมื่อวานนี้ (3 มิถุนายน) เพียง 25 เมตร ซึ่งตัวที่ตายเมื่อวานนี้ เป็นเพศผู้ วันนี้เป็นเพศเมีย ส่วน นายสมศักดิ์ แสงน้ำ ชาวบ้านอยู่ใกล้กันได้บอกว่าน่าจะมีปลากระเบนอีก 1 ตัว เนื่องจากชาวบ้านได้ใช้ฉมวกแทง เมื่อสองวันที่แล้ว ทำให้ปลาดิ้นหลุดไปได้ และคาดว่าน่าจะจมอยู่ใต้น้ำยังไม่ลอยขึ้นมา

         ทางด้าน นายทะนง ทแกล้วทศพล ประมงจังหวัดปทุมธานี ได้กล่าวว่า ขณะนี้ได้พบปลากระเบนราหูเสียชีวิตในพื้นที่ปทุมธานี จำนวน 3 ตัวแล้ว และยังคาดว่าน่าจะยังมีปลาเสียชีวิตจมอยู่ใต้น้ำ ที่ยังไม่ได้ลอยขึ้นมาอีกหลายตัว ส่วนที่พบในวันนี้ได้ให้สถานีประมงน้ำจืดบางไทร มานำไปเก็บที่สถานีดองไว้เพื่อการศึกษาต่อไป

 



กู้กากน้ำตาลหมดแล้ว หลังเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม

         ส่วนค่าออกซิเจนในแม่น้ำเจ้าพระยา สถานีตรวจสอบกรมควบคุมมลพิษ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่าค่าออกซิเจน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.7 อยู่ในเกณฑ์ปกติของสัตว์น้ำอาศัยอยู่ ส่วนที่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี วัดค่าออกซิเจน อยู่ที่ 0.8 มิลลิกรัมต่อลิตร

         ทางด้านพระครูปทุมวราคุณ วัดหงษ์ปทุมาวาส และ นายทนง ทแกล้วทศพล ประมงจังหวัด พร้อมหน่วยงานของเทศบาลเมืองปทุมธานี ได้ช่วยกันตักปลาตายลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปลาอุก ปลาเค้าดำ ปลากดคัง ปลาตะเพียน ปลาตะเพียนทอง ตายลอยตามแม่น้ำมาจากทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าปทุมธานี ส่วนสภาพน้ำที่หน้าวัดหงษ์ปทุมาวาส วัดได้ค่าน้ำ 2.00 มิลิกรัม

         ส่วนที่วัดน้ำวน วัดได้แค่ 1.75 มิลิกรัม ซึ่งยังถือว่าปลายังไม่ปลอดภัย ค่าออกชิเจนยังน้อยกว่าปกติ และทางศูนย์ประมงบางไทร ได้มาตั้งจุดช่วยเหลือปลาหน้าวัดหงส์ แล้ว โดยพระครูปทุมวราคุณ เจ้าอาวาสวัดหงส์ ได้กล่าวว่า หลังจากน้ำขาดออกชิเจน สาเหตุมาจากเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม ทำให้น้ำในแม่น้ำค่าออกชิเจน ลดน้อยลง เป็นเหตุให้ปลาขาดออกชิเจนตายลงจำนวนมาก ซึ่งจะต้องช่วยกันหาพันธุ์ปลามาปล่อยแหล่งน้ำต่อไป

         ขณะที่เมื่อคืนที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย อาสาสมัครมูลนิธิพุทไธศวรรย์ และเจ้าท่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับแจ้งจากคนงานประจำเรือพลังมิตร ที่มาช่วยถ่ายน้ำตาล จากเรือวีเอ็ม 6 ที่จมอยู่ ว่าเรือยนต์ลากจูงไม้ ชื่อ เรือธวัชชัย ซึ่งมาช่วยลากจูงเรือพลังมิตร ที่ขนถ่ายน้ำตาล เพื่อขยับทิศทางในการจอด ถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวพัดจนน้ำเข้าไปในลำเรือจนจมลงไปทั้งลำ ปรากฏว่า คนงานที่อยู่ในเรือยนต์ดังกล่าว จำนวน 3 คน สามารถว่ายน้ำขึ้นบนฝั่งได้อย่างปลอดภัย

       ขณะที่ นายกบ หรือ เจกบ ซึ่งเป็นนายท้ายเรือ ลำดังกล่าว ได้หายไปกับสายน้ำ กระทั่ง ช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 3 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถค้นหาจนพบศพของนายกบแล้ว







[3 มิถุนายน] กรมประมงจ่อฟ้องเรือน้ำตาล หลังน้ำเน่าขยายวงกว้าง

          เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายสมหวัง พิมลบุตร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อฟ้องร้องบริษัทเรือขนส่งน้ำตาลที่ล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งยังไม่มีการประเมินความเสียหาย แต่ในเบื้องต้นได้สร้างความเสียหายให้ปลาที่เลี้ยงในกระชังแล้ว ประมาณ 5 ล้านบาท

          นอกจากนี้ กรมประมง ยังได้ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวประมงที่เลี้ยงปลากระชัง และระดมเรือ เครื่องจักร เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ และประสานกับกรมชลประทาน เพื่อให้ระบายน้ำจากเขื่อนเพิ่ม เพื่อรักษาระบบนิเวศ

          ขณะที่ นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้สั่งการให้เร่งกู้เรือให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อการจราจรทางน้ำและสัตว์น้ำ เนื่องจากพบว่าขณะนี้มีปลาลอยน้ำและตายจำนวนมาก  โดยได้ประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติแล้ว เพื่อง่ายต่อการประสานขอเงินชดเชยช่วยเหลือผู้เลี้ยงปลาในกระชัง พร้อมกันนี้มีรายงานด้วยว่า เรือลากจูงที่จะเข้าไปช่วยกู้เรือน้ำตาลเกิดล่ม มีผู้สูญหาย 1 คน คือ นายธวัชชัย ภาวิไล เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างให้ความช่วยเหลือ

          ส่วนสถานการณ์น้ำเน่าเสียจากเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ได้ไหลเข้าเขตอำเภอสามโคก และเข้าตัวเมืองปทุมธานี จนทำให้ปลาลอยตายเป็นจำนวนมาก และบางส่วนต้องลอยคอขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกับในเขต อ.บางไทร และบางปะอิน

          นอกจากนี้ มีรายงานว่า พบ ปลาราหู ขนาดกว้างกว่า 3 เมตร ยาวกว่า 6 เมตร น้ำหนักกว่า 300 กิโลกรัม ก็ลอยเกยตื้นริมแม่น้ำด้วยเช่นกัน ชาวบ้านจึงช่วยกันนำขึ้นมา และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ประมงบางไทร มารับปลาราหูไปอนุบาล แต่ต่อมาปลาก็ตายในที่สุด




 


[2 มิถุนายน] เตือน! คุณภาพแม่น้ำเจ้าพระยาเสื่อม หลังเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม

        กรมควบคุมมลพิษ ออกประกาศเตือนคุณภาพแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเสื่อมโทรม หลังเรือบรรทุกน้ำตาลทรายแดงล่ม ทำปลาตายเกลื่อน-น้ำเน่า

        เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ ออกประกาศเตือนคุณภาพแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเสื่อมโทรม หลังเกิดเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลทรายกว่า 7 พันตันล่ม ในลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่บริเวณหน้าพระราชวังบางปะอินเรื่อยไปจนถึงบริเวณท่าน้ำวิชัยยุทธ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยชาวบ้านเชื่อว่า จากการที่เรือบรรทุกน้ำตาลล่มก่อให้เกิดมลภาวะน้ำขาดออกซิเจนอย่างฉับพลัน เพราะจากการตรวจวัดค่าออกซิเจนละลายน้ำจากเดิมตรวจวัดได้ 3.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ลดลงเหลือ 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งส่งผลให้ปลาน้อยใหญ่ลอยขึ้นมาหายใจเหนือน้ำ เช่น ปลาบึก ปลากรด ปลาสวาย ปลาค้าว ปลาเนื้ออ่อน ปลาเกล็ดขาวทุกชนิด

        ทั้งนี้ยังพบว่า ชาวบ้านพบว่า ปลากระชังที่เลี้ยงไว้ตามริมแม่น้ำ ทนต่อสภาพน้ำไม่ไหวลอยหัวหายใจ และตายลอยเป็นแพในที่สุด นอกจากนี้ ชาวบ้านยังบอกอีกว่า แม้แต่ปลาลิ้นหมาซึ่งปกติอาศัยอยู่ก้นแม่น้ำที่ลึก ยังลอยขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ เป็นการส่งสัญญาณว่าน้ำมีความผิดปกติจึงทำให้ปลาเหล่านี้ต้องลอยขึ้นมาหายใจผิวน้ำ



          มาร่วม คืนชีวิตให้แม่น้ำ Save the River ด้วยตัวคุณเองได้ที่นี่ 






อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
       

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมเจ้าท่า ติดตั้งไฟเขียว-ไฟแดง ป้องกันเรือล่มซ้ำ อัปเดตล่าสุด 26 พฤศจิกายน 2554 เวลา 11:05:31 104,029 อ่าน
TOP
x close