เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการข่าว 3 มิติ ช่อง 3
ก.เกษตรและสหกรณ์ เร่งหารือแก้ปัญหาซากไก่ โดยมีมติขายซากไก่ถูกกฎหมาย เพื่อเพิ่มรายได้แก่ฟาร์มรายย่อย
หลังจากที่มีข่าวการลับลอบเปิดโรงงานชำแหละไก่เถื่อน เพื่อนำไก่เน่าไปขายต่อในราคาถูกตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น ล่าสุดทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือให้แก้ไขปัญหาการขายไก่ระยะยาว โดยนำซากไก่ตายที่ผ่านการตรวจโรคจากกรมปศุสัตว์ นำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ และส่งไปตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์อื่น ๆ ได้
จากการประชุมหาทางออกสำหรับปัญหาซากไก่นั้น ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ระบุว่า ปัจจุบันซากไก่ตายไม่ว่าจะตายเพราะอ่อนแรง หรือเป็นโรคนั้น ต้องทำการฝั่งกลบสถานเดียว ทำให้ผู้ประกอบการบางราย อาจจะลักลอบนำซากไก่ไปขายเพราะการฝั่งกลบต้องใช้พื้นที่มาก ทางกระทรวงจึงมีมติยินยอมให้ขายซากไก่ตายได้
โดยนางสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ถ้าฟาร์มใดมีไก่ตายเพราะอ่อนแรง หรืออากาศเปลี่ยนแปลง โดยไม่ใช่ไก่เป็นโรคนั้น และผ่านการตรวจจากกรมปศุสัตว์แล้ว สามารถนำไก่ตายดังกล่าวไปขายให้แก่ บ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อเลี้ยงปลา หรือฟาร์มจระเข้ได้ ทั้งนี้จะเพิ่มการขึ้นทะเบียนฟาร์มสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันการลักลอบขายซากไก่ตายให้แก่คน โดยจะประสานไปยังฟาร์มสัตว์น้ำ ว่ารับซากไก่จากฟาร์มไก่ไปจำนวนเท่าใด ก็ให้บันทึกไว้ ทำทุกอย่างให้เป็นระบบ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ
สำหรับโรงงานที่จะแปรรูปซากไก่ด้วยความร้อนสูง เพื่อนำไปทำเป็นอาหารสัตว์นั้น ต้องปรับปรุงโรงงานให้ถูกสุขลักษณะ ถึงแม้ว่าจะเป็นอาหารสัตว์ก็ตาม ถ้าพบโรงงานใดสกปรก และไม่ถูกสุขลักษณะ จะแจ้งให้ปิดสถานเดียว
ส่วนทางด้านนายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ให้ข้อเสนอว่า ควรนำซากไก่ไปป่นให้ละเอียด เพื่อป้องกันการแปรรูปไปเป็นอาหารคนในราคาถูก โดยถ้าพบโรงงานใดส่งซากไก่ที่เป็นตัว ๆ ก็จะได้จับได้เลยในทันที อย่างไรก็ตาม ทางที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะอนุญาตให้ขายซากไก่เพื่อเป็นอาหารสัตว์ได้หรือไม่ จนกว่าจะแน่ใจว่า วิธีการนี้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับฟาร์มเลี้ยงไก่รายย่อย ไม่ใช่เป็นช่องทางให้ลักลอบชำแหละไก่ให้คนกินแบบต้นทุนต่ำ
[16 มิถุนายน] รองผู้ว่าฯ โคราช คาดรู้ผลสอบไก่ชำแหละใน 3 วัน
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 , ครอบครัวข่าว 3, ครอบครัวข่าว 3
รอง ผวจ.โคราช ประธาน สอบข้อเท็จจริง การชำแหละซากไก่ เรียกถกด่วน คณะกรรมการสอบสวน คาด รู้ผลภายใน 3 วัน
นายปิติธรรม ธิติมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีการบุกทลายโรงงานเถื่อนผลิตส่งขายซากไก่เน่าในพื้นที่ อ.ปากช่อง ได้เรียกประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับเรื่องของการนำเอาซากไก่มาชำแหละขาย โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มาประชุมวางกรอบในการที่จะสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด เกี่ยวกับการวางแนวทางการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งผู้กระทำผิด และเจ้าหน้าที่รัฐที่รู้เห็นและพยานแวดล้อม ทั้งนี้จะทำการสอบสวนอย่างตรงไปตรงมาให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
นายปิติธรรม กล่าวว่า หากการตรวจสอบพบมีการกระทำความผิด ก็จะว่ากันไปตามข้อเท็จจริง ไม่สามารถปกป้องใครได้ ทั้งนี้ นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สั่งกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความตื่นตัวกับเรื่องนี้ โดยได้ให้เงื่อนไขการสืบสวนหาข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ เป็นเวลา 3 วัน แต่อย่างไรก็ตาม หากว่ากรอบการทำงานละเอียดซับซ้อน อาจจะต้องขอขยายเวลาเพิ่ม แต่ตนจะพยายามสรุปผลให้ได้ ภายใน 3 วัน
[15 มิถุนายน] จัดหนัก! ตำรวจแจ้งข้อหาโรงงานชำแหละไก่นับสิบข้อหา
นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีข่าวซากไก่เน่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนนายอำเภอปากช่อง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรปากช่อง และปศุสัตว์อำเภอปากช่อง โดยมีคำสั่งให้ย้ายปศุสัตว์อำเภอปากช่อง ไปช่วยราชการที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาเป็นการชั่วคราวแล้ว จนกว่าผลการสอบสวนจะเสร็จสิ้น โดยเท่าที่ทราบขณะนี้ คือ ซากไก่ทั้งหมดถูกขนมาจากพื้นที่ภาคกลาง แล้วมาชำแหละที่อำเภอปากช่อง ก่อนจะลำเลียงไปยังท้องถิ่นชนบทในจังหวัดอื่น เพื่อไปขายให้กับพี่น้องที่อยู่ห่างไกลที่ไม่รู้เรื่อง ซึ่งจากนี้จะสอบสวนหาความคืบหน้าต่อไป
ด้าน พ.ต.อ.วชิรวิชญ์ กฤษณ์ฤทธิศักย์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาได้ตั้งเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนเพื่อสืบหาถึงแหล่งที่มาของไก่ ผู้ที่ร่วมขบวนการ และสถานที่รับซื้อไก่ เพื่อให้สังคมได้คลายข้อสงสัยถึงไก่ที่นำมาชำแหละ ซึ่งเบื้องต้นผู้ต้องหาทั้ง 4 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมไว้นั้น ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเคลื่อนย้ายซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต
จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ซากไก่ตายที่ชำแหละทั้งหมด เฉพาะส่วนที่เป็นชิ้นส่วนไก่ส่วนใหญ่จะนำไปขายเป็นอาหารเลี้ยงปลาในพื้นที่จังหวัดลพบุรี และส่วนที่เป็นเนื้อไก่จะนำไปเป็นอาหารให้กับฟาร์มเลี้ยงจระเข้ในจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังตามดูเส้นทางของซากไก่ที่ชำแหละว่าส่งลงไปในพื้นที่ที่ผู้ต้องหาได้กล่าวอ้างจริงหรือไม่
ส่วนการสืบหานายทุนรายใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังโรงงานชำแหละไก่เถื่อนนั้น จากการสอบสวนเบื้องต้นขณะนี้พบว่า โรงงานที่ใช้ชำแหละไก่เป็นบ้านพักอาศัยของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมเอง อย่างไรก็ตามขณะนี้ ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาได้ประสานการทำงานร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินการกวาดล้างโรงงานชำแหละซากสัตว์เถื่อนทุกพื้นที่ทั้งจังหวัดแล้ว
พ.ต.อ.วชิรวิชญ์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาปัญหาต่าง ๆ คือการไม่เอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่ จึงทำให้เกิดปัญหา ฉะนั้นจะให้ความมั่นใจว่าครั้งนี้เอาจริง และจะไม่มีข้อแก้ตัวอีก ถ้าเกิดเหตุขึ้นอีกนายอำเภอในพื้นที่ต้องรับผิดชอบ ผู้กำกับสถานีตำรวจต้องรับผิดชอบ ปศุสัตว์อำเภอต้องรับผิดชอบ จะมาบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ รวมไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องรับผิดชอบทุกระดับ และจะมาอ้างโน้นอ้างนี่ไม่ได้อีกต่อไป
จากนั้น ในเวลาต่อมา พ.ต.อ.วชิรวิชญ์ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานชำแหละไก่เน่าเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทางตำรวจได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 4 คน และโรงงานชำแหละไก่อีก 4 แห่ง รวมแล้วกว่า 10 ข้อหา ส่วนผู้ต้องหาอีก 7 คน ยังอยู่ในระหว่างการรวบรวมหลักฐานพยานมาดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ต้องหาจะกระทำผิดหลายข้อหา แต่อัตราโทษแต่ละข้อหาไม่หนักมาก ทำให้ผู้ต้องหากล้ากระทำผิดซ้ำซาก เพราะเห็นว่าได้ผลตอบแทนมหาศาล
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการสืบสวนให้รัดกุม เพราะธุรกิจนี้เป็นธุรกิจใหญ่มาก มีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายกลุ่ม
ด้านนายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจับกุมอย่างเด็ดขาด โดยปัญหาดังกล่าวต้องแก้ไขที่ต้นตอ คือ ฟาร์มไก่ที่ขายซากไก่ตาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่าจะเร่งสืบหาแหล่งที่มาของซากไก่โดยเร็ว ส่วนปลายทางที่ส่งซากไก่ไปขายนั้น สืบทราบแล้วว่า ส่วนใหญ่ส่งไปขายให้ฟาร์มปลา และฟาร์มจระเข้ แต่มีบางส่วนที่ส่งขายต่อไปยังที่อื่น โดยต้องตรวจสอบต่อไปว่า ได้ส่งขายให้ร้านอาหารหรือไม่
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ได้สั่งการไปยังหน่วยงานทุกระดับตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อป้องกันการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ทั้งหมดที่ส่งมาจากประเทศไทย แม้จะมีใบรับรองก็ตาม ซึ่งคำสั่งห้ามนำเข้าดังกล่าวของกัมพูชา มีขึ้นหลังมีการรายงานข่าวออกมาว่า เจ้าหน้าที่ไทยบุกค้นโรงชำแหละไก่ ใน จ.นครราชสีมา และสามารถยึดของกลางเป็นซากไก่เน่า 8 ตัน และตรวจสอบพบว่า โรงชำแหละไก่ดังกล่าวมีการนำไก่ตายที่เริ่มเน่าไปแช่ฟอร์มาลีน ก่อนจะมีการนำมาแปรรูปเป็นอาหาร
[14 มิถุนายน] สั่งย้าย! นายอำเภอ-ปศุสัตว์ปากช่อง เซ่นไก่เน่า
ผู้ว่าฯ โคราช ออกโรงขอโทษประชาชน เหตุปล่อยให้มีโรงงานชำแหละไก่เถื่อน พร้อมสั่งเด้งนายอำเภอ-ปศุสัตว์ปากช่อง ขณะที่ตำรวจบุกจับได้อีก 6 โรงงาน
ความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีที่มีโรงงานชำแหละไก่เถื่อนใน ต.กลางดง อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา ที่ได้ซื้อไก่ตายจากฟาร์มต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้ผ่านการตรวจโรคจากกรมปศุสัตว์ นำมาชำแหละขายให้แก่ผู้ซื้อในราคาถูก อีกทั้งโรงงานดังกล่าวยังสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะส่งกลิ่นเหม็นเน่ารบกวนเป็นอย่างมากนั้น
ล่าสุด นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกมากล่าวว่า ตนต้องขอโทษประชาชนทุกคนที่ปล่อยให้มีโรงงานแห่งนี้เกิดขึ้น ซึ่งส่งกลิ่นเหม็นเน่า และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก สำหรับไก่ตายดังกล่าว ทางโรงงานเถื่อนคงจะส่งไปทำไส้กรอก ตามชนบท ไม่เกี่ยวกับไก่ที่ขายอยู่ในตลาดสดแน่นอน ขอให้ประชาชนวางใจ ทั้งนี้ ตนก็ต้องขอขอบคุณไปยังสื่อมวลชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ช่วยเป็นหูเป็นตาคอยให้ข้อมูลแก่ทางราชการ
อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องดังกล่าว ตนได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้แล้ว และจะมีคำสั่งให้นายอภเภอปากช่อง และปศุสัตว์ปากช่อง ออกนอกพื้นที่เป็นเวลา 30 วัน โดยให้ไปช่วยราชการในจังหวัดแทน เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนเป็นไปด้วยความสะดวก นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปบุกจับโรงงานชำแหละไก่เถื่อน ในพื้นที่ ต. กลางดง ได้ 6 แห่ง จากทั้งหมด 14 แห่ง พบซากไก่เน่ากว่า 8 ตัน โดยได้จับกุม นายสุชาติ บุบสาคร นายอินทิรา อินวัน และนายชัชวาล เพ็ชรพรม เพื่อดำเนินคดีต่อไป ส่วนโรงงานอื่น ๆ ไหวตัวทัน ได้ปิดโรงงานหนีไปก่อน
นายระพี ได้กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้น พบการกระทำผิดอย่างชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ จนทำให้เกิดกระบวนการค้าเนื้อไก่เที่ผิดกฎหมาย และตนเชื่อว่า จะต้องมีผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นเจ้าหน้าที่ในภาครัฐอีกหลายระดับ อย่างไรก็ตาม ตนได้ร้องขอให้ พล.ต.ต.ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดตั้งแต่ นายอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. นายก อบต. ที่อยู่ในพื้นที่ว่า มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ หากพบผู้กระทำผิดจริง ต้องดำเนินการเอาผิดทางวินัยและอาญา ฐานปล่อยปละละเลยหรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้อื่นกระทำการโดยผิดกฎหมายต่อไป
ขณะที่ นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการความ ปลอดภัยด้านอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรณีการนำเนื้อสัตว์ต่าง ๆ มาผสมสารฟอร์มาลิน หรือน้ำยาดองศพ เพื่อยืดอายุอาหารให้เก็บได้นานนั้นเป็น เรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้ว แต่ไม่สามารถป้องกันและปราบปรามให้หมดไปได้ เนื่องจากความเห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย และความไม่รู้อันตรายของผู้บริโภค ล่าสุดได้ตรวจพบโรงงานชำแหละซากไก่ผสมฟอร์มาลินที่จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้ได้ดำเนินคดีผู้กระทำผิดตามกฎหมายแล้ว
อย่างไรก็ตาม กรณีที่น่าเป็นห่วงมากที่สุ
"เมื่อเดือนมกราคม 2554 มีการบุกทลายแหล่งขายส่งเนื้อสั
[13 มิถุนายน] สั่งปิดแล้ว! 4 โรงงานชำแหละไก่เน่าส่งขายแม่ค้า
เผยโรงชำแหละเถื่อนที่โคราช ซื้อไก่เน่าตัวละ 3 บาท ก่อนนำมาชำแหละ-ชุบฟอร์มาลีนขายส่งแม่ค้า และแปรรูปเป็น กุนเชียง ไก่หยอง ราคาถูก!!! ล่าสุดสั่งปิดแล้ว 4 โรงงาน
วานนี้ (12 มิถุนายน) รายการข่าว 3 มิติ ได้รายงานว่าโรงงานชำแหละไก่แห่งหนึ่งใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา รับซื้อไก่ตายที่ไม่ผ่านการตรวจโรคของกรมปศุสัตว์ นำมาชำแหละขายต่อ โดยก่อนหน้านี้มีประชาชนในพื้นที่เข้าร้องเรียนกับกรมปศุสัตว์ว่า โรงงานดังกล่าวได้นำไก่ตายซึ่งประมูลขายในราคาถูก จากฟาร์มเลี้ยงไก่หลายแห่งทั้งภาคกลาง และภาคอีสาน โดยซื้อได้ในราคาตัวละ 3 บาท นำมาชำแหละและชุบฟอร์มาลีนก่อนนำไปขายได้ในราคาประมาณ 40 บาท
สำหรับโรงงานดังกล่าว เปิดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ปี โดยมีแรงงานต่างด้าว เป็นชาวกัมพูชากว่า 100 คน คอยรับไก่ตายจากฟาร์ม โดยไม่ผ่านกรมการตรวจโรคของปศุสัตว์ เพราะว่า ถ้าผ่านกรมปศุสัตว์แล้ว ไก่ตายเหล่านี้ จะต้องถูกฝัง ทางฟาร์มจึงได้นำไก่ตายมาขายเพื่อเพิ่มรายได้ โดยแรงงานจะชำแหละอกไก่ขายไปยังตลาด และผู้ซื้อต่าง ๆ ส่วนขาไก่ และปีกไก่ ที่จะเน่าเสียเร็ว ก็จะนำไปผสมดินปะสิว เพื่อทำให้สีเนื้อไก่ไม่เขียว และกลับมาเป็นสีแดงเหมือนเดิม
ทั้งนี้ ผู้รับซื้อไก่เน่ามีทั้งร้านค้าอาหารตามสั่ง ร้านปิ้งย่าง ซึ่งจะนำไปทำกุนเชียง ไก่หยอง ขายในราคาถูก นอกจากนี้โรงงานดังกล่าวยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในละแวกนั้นเป็นอย่างมาก เพราะไก่เน่านั้นส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม ได้มีการสอบถามไปยังผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ภายหลังจากที่จับกุมเจ้าของโรงเชือดไก่เถื่อนดังกล่าวได้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ โดย ผอ.สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กล่าวเพียงว่ายังไม่สามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจนได้ในขณะนี้ ต้องรอทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สอบสวนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน ถึงจะแจ้งผลเรื่องดังกล่าวต่อไป
ต่อมานายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงประเด็นนี้หลังจากได้รับรายงานว่า ได้สั่งปิดโรงงาน 4 แห่งในจังหวัดนครราชสีมาที่นำไก่ตายมาชำแหละขายแล้ว และจากการตรวจสอบพบว่า โรงงานเหล่านี้เคยถูกจับกุมมาแล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังลักลอบเปิดชำแหละไก่ตายอยู่ ซึ่งมีไก่ตายที่รอชำแหละรวมกันอยู่ถึง 9 ตัน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างไก่ตายเข้าห้องแล็บ เพื่อตรวจโรคแล้ว พร้อมกับพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยทราบว่าไก่ดังกล่าวตายโดยธรรมชาติจากการติดเชื้อ ทำให้ท้องเสีย แต่ไม่ได้เป็นเชื้อโรคร้ายแรงเหมือนโรคไข้หวัดนก และสามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยการใช้ความร้อนมากกว่า 70 องศาขึ้นไปปรุงให้สุก
ทางด้าน นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกมาเตือนถึงอันตรายของฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนในไก่ดังกล่าว ว่า ฟอร์มาลินจะมีผลกระทบต่ออวัยวะสืบพันธุ์ ทำลายระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร พร้อมทั้งสั่งเอาผิดผู้ประกอบการทุกรายที่นำฟอร์มาลีนมาใส่อาหารทุกชนิด
นายแพทย์พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ฟอร์มาลินเป็นสารต้องห้ามในอาหาร ทาง อย. ไม่เคยอนุญาตให้มาใส่ในอาหาร เพราะฟอร์มาลีนเป็นยาฆ่าเชื้อ ถ้าเกิดบริโภคเข้าไปก็จะเกิดพิษโดยตรง และถ้าสัมผัสก็จะเกิดอาการผื่นคัน หรือถ้ารับประทานเข้าไป จะส่งผลให้ทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำลายเซลล์สืบพันธุ์ ส่งผลให้เป็นหมันได้ นอกเหนือไปกว่านั้นคือ ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง และระบบทางเดินอาหาร จนทำให้กระเพาะอักเสบเป็นแผล มีอาการอาเจียน และอุจจาระร่วง
ทั้งนี้ ทาง อย. ได้แนะวิธีตรวจสอบไก่ที่ปนเปื้อนฟอร์มาลิน ด้วยการดม เพราะกลิ่นฟอร์มาลินจะติดอยู่ที่อาหารชัดเจน และควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นทันที อย่างไรก็ตาม ถ้าหากทาง อย. ตรวจพบร้านค้า หรือผู้ประกอบการใด ที่นำฟอร์มาลีนมาปนเปื้อนกับอาหาร จะดำเนินการเอาผิดทันที ตาม พรบ. อาหาร โทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
และ รายการข่าว 3 มิติ