เตือน! อีก 15 ปี มีสึนามิผู้เฒ่า ประชานิยมพัง





เตือน!อีก  15ปี มี สึนามิผู้เฒ่า ประชานิยมพัง (ไทยโพสต์)


           นักวิชาการเตือนรับมือสึนามิคนแก่ อีก 15 ปีข้างหน้าเพิ่มเป็น 14 ล้านคน ประชากรวัยแรงงาน 3 คนต้องดูแลผู้ชรา 1 คน  จี้ตั้งกองทุนออมให้คนชราก่อนกระเทือนภาระการคลังของประเทศ จับตานโยบายประชานิยมเพื่อคนแก่ก่อปัญหาในอนาคต

           เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาอุปสรรคของการร่วมกำหนดนโยบายสวัสดิการสังคมโดยภาคประชาชน วิเคราะห์ผ่านนโยบายสังคมว่าด้วยปัญหาผู้สูงวัย จัดโดยแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

           โดย รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีประชากรสูงอายุเกิน 60 ปี มีจำนวน 7 ล้านคน หรือคิดเป็น 15% ของประชากรทั้งหมด เทียบได้เท่ากับ 1 ใน 10 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุเพิ่มอีกเท่าตัว เท่ากับจะมีประชากรสูงอายุ 14 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากร และยังพบว่าปัจจุบันประชากรที่อายุเกิน 80 ปี เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2543 มีผู้สูงอายุเกิน 80 ปีขึ้นไปมีราว 6 แสนคน และคาดว่าในปี 2568 จะมีผู้สูงอายุเกิน 80 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านคน สาเหตุที่กลุ่มผู้สูงอายุมีอายุยืนขึ้นเพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ดีขึ้น และประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งประชากรกลุ่มดังกล่าวจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงมากกว่าปกติ เนื่องจากมีโรคเรื้อรัง โรคประจำตัว พิการ และอัตราการนอนป่วยบนเตียง มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น

           เขาบอกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือประชากรวัยแรงงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะมีภาระสูงขึ้นจากสัดส่วนผู้สูงวัยที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันวัยแรงงาน 8 คน จะรับภาระผู้สูงวัย 1 คน แต่ในอนาคตประชากรวัยแรงงาน 3 คน จะดูแลผู้สูงวัย 1 คน ประกอบกับสังคมไทยมีอัตราบุตรต่อครอบครัวลดลงจาก 4-5 คน เหลือ 1-2 คน ทำให้ผู้สูงวัยถูกทอดทิ้งมากขึ้น การที่ยังไม่มีระบบการดูแลผู้สูงวัยในระยะยาว จะเหมือนคลื่นสึนามิที่โถมเข้าใส่สังคมไทย ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยยังไม่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีและกองทุนสวัสดิการเพื่อใช้ดูแลค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุในอนาคต" รศ.ดร.วิพรรณ กล่าว

           รศ.ดร.สกล วรัญญูวัฒนา รองคณบดีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า การจำแนกข้อมูลผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการจำแนกความต้องการ เพราะช่วงอายุ 60-69 ปี อาจต้องการเรื่องอาชีพ เพราะยังแข็งแรงพอที่จะเลี้ยงตนเองได้ แต่หากเป็นช่วงวัย 70 ปีขึ้นไป อาจต้องการเรื่องการบริการทางการแพทย์ ซึ่งนโยบายรัฐบาลในปัจจุบันยังทำให้เกิดความขัดแย้งกับท้องถิ่นจนทำให้ความร่วมมือไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งการกำหนดนโยบายต้องยึดถือความต้องการของท้องถิ่นและทำให้เกิดความตระหนัก เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับท้องถิ่น มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาเดิม ๆ คือท้องถิ่นคิดว่าไม่ใช่หน้าที่จึงไม่ปฏิบัติตาม

           ด้าน รศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การกำหนดนโยบายด้านผู้สูงอายุจำเป็นต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้ และควรใช้นโยบายแบบผสมผสานระหว่างประเทศตะวันตก ซึ่งมีรูปแบบของสวัสดิการผู้สูงอายุในรูปแบบกองทุนและหลักประกันอย่างดี บวกกับทุนทางสังคมไทยที่ใช้การเอื้ออาทร พึ่งพากันในชุมชน ซึ่งรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุจะต้องไม่ถูกผูกขาดด้วยภาครัฐ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งชุมชน ซึ่งประกอบด้วย ประชาชน ผู้นำศาสนาในท้องถิ่น หรือเอ็นจีโอ เข้ามามีส่วนร่วมด้วยกัน ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายด้านผู้สูงอายุจะต้องประกอบด้วยทุกมิติ ทั้งหลักประกันสุขภาพ การสร้างรายได้ การส่งเสริมให้เกิดการช่วยเหลือกันเอง โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนเพื่อให้การทำงานเป็นไปได้ด้วยดี

           ขณะที่ รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากผลการศึกษาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อมาตรการสร้างเสริมสุขภาพประชากรสูงวัยในสังคมไทย สังคมผู้สูงวัยหมายถึงสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% การจัดตั้งกองทุนการออมจะมีผลในอีก 20-30 ปีข้างหน้า หากรัฐบาลไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ จะส่งผลต่อภาระการคลังของประเทศ คาดว่าในปี 2559 ก็จะเริ่มเห็นผลบ้างแล้วจากการใช้นโยบายประชานิยมที่ไม่มีการจำแนกประเภทผู้สูงอายุ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือน! อีก 15 ปี มีสึนามิผู้เฒ่า ประชานิยมพัง อัปเดตล่าสุด 22 มิถุนายน 2554 เวลา 15:29:13 3,357 อ่าน
TOP
x close