x close

เผยรายชื่อ ครม.ยิ่งลักษณ์ พร้อมประวัติ ครม ปู 1



ครม.ยิ่งลักษณ์

นายกฯ นำ ครม.ร่วมถ่ายภาพหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายกฯ นำ ครม.เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก พรรคชาติไทยพัฒนา, ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย, พรรคเพื่อไทย, ไทยโพสต์, สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, กองทัพอากาศ

        เมื่อวันที่ 9 ส.ค. มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครม.ใหม่ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี (พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2554 แล้วนั้น

       บัดนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบไปแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา171 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้





  ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคม

       ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อายุ 63 ปี จบปริญญาเอกด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยดำรงตำแหน่งเป็น รมว.มหาดไทย ในรัฐบาลพลังประชาชน ก่อนที่จะมีบทบาทสำคัญในการชูนโยบาย "พาทักษิณกลับบ้าน"




        พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีความมั่นคง

       พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตตำรวจชายแดนที่รับใช้สมเด็จย่าฯ และได้นั่งในตำแหน่ง ผบ.ตร.ช่วงรัฐประหาร ได้เข้าร่วมกับคณะ คมช. ก่อนที่จะกลับมาเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทย


รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี




       นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์

       นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ จบการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต จาก ม.เชียงใหม่ เริ่มเล่นการเมืองเป็น ส.ส.ชัยภูมิตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 และดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง ส่วนปัจจุบันเป็นเลขานุการภาคอีสานพรรคเพื่อไทย




       น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์

       น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ อดีตนักการเมืองและนักธุรกิจท้องถิ่นที่ จ.อุตรดิตถ์ เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มวังบัวบาน


กระทรวงมหาดไทย




       นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

       นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เคยดำรงตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข เข้ารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2551

          


       นายชูชาติ หาญสวัสดิ์  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

       นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธุการ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย, ผช.เลขานุการ รมว.กระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย




       นายฐานิสร์ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
 
       นายฐานิสร์ เทียนทอง เป็นหลานของนายเสนาะ เทียนทอง ปัจจุบันเป็น ส.ส.สระแก้ว พรรคเพื่อไทย เคยได้รับตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย ที่ปรึกษารองนายกฯ และ รมว.ศึกษาธิการ


กระทรวงศึกษาธิการ




       นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

       นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อายุ 52 ปี เคยดำรงตำแหน่งเป็น รมว.วัฒนธรรม และเป็นคนสนิทของ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภริยานายกฯ สมชาย




       นางบุญรื่น ศรีธเรศ  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

       นางบุญรื่น ศรีธเรศ ภรรยาของนายสังข์ทอง ศรีธเรศ อดีต รมช.ศึกษาธิการ หลังสามีเสียชีวิต ได้เริ่มเล่นการเมืองพรรคไทยรักไทย มีฉายาว่า ป้ารื่น เพราะเป็น ส.ส.ที่อาวุโส และเป็นคนสนิทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร




       นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

        นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล อายุ 54 ปี จบปริญญาโท จาก ม.ธรรมศาสตร์ เคยเป็นสมาชิกสภา จ.ปทุมธานี 2 สมัย และเป็นนายก อบจ.ปทุมธานี เริ่มเข้าเล่นการเมืองเมื่อปี พ.ศ.2544


กระทรวงการคลัง




       นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

      นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ที่อังกฤษ เริ่มงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเป็นรองผู้ว่าฯ ธปท. ก่อนเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. เมื่อปี พ.ศ.2546




       นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

        นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อายุ 51  ปี ลงเล่นการเมืองครั้งแรกในพรรคไทยรักไทยเมื่อปี พ.ศ.2544 และเป็นคนสนิทของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภริยาของนายกฯ สมชาย



 
       นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

       นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ เคยดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก เป็นที่กล่าวขานกันว่าเป็นนายทุนทางการเมือง


กระทรวงกลาโหม




       พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

        พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยฯ ในปี พ.ศ.2504 สมัยราชการดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และเมื่อเกษียณลงเล่นการเมืองพรรคไทยรักไทย


กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา




       นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกฯรัฐมนตรี และรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา

        นายชุมพล ศิลปอาชา จบการศึกษานิติศาสตร์ จาก ม.ธรรมศาสตร์ เคยเป็น ส.ส.สุพรรณบุรี มาหลายสมัย และเคยดำรงตำแหน่งเป็น รมว.ศึกษาธิการ อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย


กระทรวงคมนาคม

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต

        พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

       พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 เคยเป็นผู้ช่วยบัญชาการทหารอากาศ และเป็นคนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อยากให้เป็น ผบ.ทอ. แต่ไม่สำเร็จ




       พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

       อดีตดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และเคยเป็นรองเลขาธิการนายกฯ และที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์มหาประชาชน ฉบับความจริงวันนี้




       นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

         นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ จบการศึกษาระดับปริญญาโท จาก ม.ธรรมศาสตร์ เป็น ส.ส. ครั้งแรกในปี พ.ศ.2522 จ.อุดรธานี และเป็น ส.ส.ต่อเนื่องถึง 12 สมัยที่ จ.หนองบัวลำภู


กระทรวงพาณิชย์


กิตติรัตน์ ณ ระนอง

       นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

       นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงิน การลงทุน จนได้เป็นกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ข่าววงในว่ากันว่าเป็นกุนซือที่ให้คำแนะนำแก่นายกรัฐมนตรี




       นายภูมิ สาระผล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

      นายภูมิ สาระผล อายุ 56 ปี เป็น ส.ส.ขอนแก่น มา 5 สมัย เคยดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกฯ รมว.ต่างประเทศ, เลขานุการ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย




       นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

      นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ เป็นบุตรชายของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ จบปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต จากอเมริกา เริ่มเล่นการเมืองในปี พ.ศ.2544 เป็น ส.ส. พิจิตร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์




       นายธีระ วงศ์สมุทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

        นายธีระ วงศ์สมุทร  เริ่มราชการในกระทรวงเกษตรฯ เคยเป็นอธิบดีกรมชลประทาน




       นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

        นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ เป็น ส.ส.หลายสมัยใน จ.ศรีสะเกษ ชาวบ้านเรียกกันว่า "เสี่ยลาว" และเคยดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายก


กระทรวงสาธารณสุข




       นายวิทยา บุรณศิริ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

         นายวิทยา บุรณศิริ อายุ 51 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท จาก ม.รามคำแหง เป็น ส.ส.พรรคไทยรักไทยในปี พ.ศ.2544 เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานวิปรัฐบาลในสมัยนายกฯ สมัคร สุนทรเวช



       นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

         นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น บุตรของนายประจวบ ไชยสาส์น อดีตหัวหน้าพรรคเสรีธรรม จบปริญญาตรีจากสหรัฐอเมริกา และเริ่มเล่นการเมืองเป็น ส.ส.อุดรธานี เมื่อปี พ.ศ.2544


กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์




       นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

        นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นนักอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เล่นการเมืองครั้งแรกเป็น ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคความหวังใหม่ หลังจากที่ยุบพรรคแล้วได้ทำงานกับพรรคไทยรักไทย และเป็นแกนนำ ส.ส.ภาคเหนือ


กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม




       นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

        นายปรีชา เร่งสมูบรณ์สุข อายุ 54 ปี จบปริญญาโทศิลปศาสตร์ ม.ราชภัฎเลย อดีตเป็น ส.ส.มาแล้วถึง 9 สมัย และเคยเป็น รมช.มหาดไทย ในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์


กระทรวงพลังงาน


นายพิชัย นริพทะพันธุ์

       นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

        นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อัญมณี และเคยรับตำแหน่งเป็น รมช.การคลัง ในสมัยรัฐบาลนายกฯ สมัคร สุนทรเวช   




        พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

       พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รับราชการในพื้นที่ภาคอีสานจนได้ฉายาว่าเป็น อินทรีอีสาน และเป็น ผบ.ตร. คนแรก ก่อนที่จะลาออกมารับตำแหน่ง รมว.แรงงาน


กระทรวงการต่างประเทศ




        นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

        นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล จบปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา ลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2539 ในพรรคประชาธิปัตย์


กระทรวงวัฒนธรรม



        นางสุกุมล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

       นางสุกุมล คุณปลื้ม เป็นภรรยาของ นายสนธยา คุณปลื้ม อดีต ส.ส.ชลบุรี แกนนำพรรคพลังชล


กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี





        นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

         นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมประมงและปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ เริ่มเล่นการเมืองสังกัดพรรคพลังประชาชน


กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร




        น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

          น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เริ่มเล่นการเมืองเมื่อปี พ.ศ.2550 ในสังกัดพรรคพลังชล ระหว่างรับราชการเป็นผู้บังคับฝูงบินขับไล่เอฟ 16


กระทรวงอุตสาหกรรม




        นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

          นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งเป็น รมว.แรงงาน และ รมว.พลังงาน




        นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

        นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ จบปริญญาตรีจากสหรัฐอเมริกา เป็นผู้กว้างขวางใน จ.นครปฐม เริ่มเล่นการเมืองเมื่อปี พ.ศ.2531 และเคยดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม


           ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

           ประกาศ ณ วันที่ 9 ส.ค. พุทธศักราช 2554




[9 สิงหาคม] โผ ครม.ยิ่งลักษณ์ เปิดโผ คณะรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ มีใครบ้าง ไปดูกัน

        โผ คณะรัฐมนตรี หลังโปรดเกล้าฯนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม - พล.ต.อ.โกวิท นั่งรองนายกฯ ยงยุทธ รองนายกฯควบ รมว.มหาดไทย ด้าน พล.อ.ยุทธศักดิ์ คุม กลาโหม

          ความคืบหน้าในการจัดทำโผคณะรัฐมนตรีหลังมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ล่าสุดมีรายงานว่า ยังมีบางตำแหน่งที่มีปัญหาและจนถึงขณะนี้ยังมีการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง ขณะที่ตำแหน่งที่ชัดเจนแล้วคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

          ส่วนรองนายกรัฐมนตรี ประกอบไปด้วย ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง, พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ, นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ที่จะนั่งควบในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เช่นเดียวกับ นายชุมพล ศิลปอาชา ที่จะนั่งควบในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายธีระชัย วรนาทธนานุบาล ที่จะนั่งควบในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

            รองนายกรัฐมนตรี
          1. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ
          2. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง 
          3. พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ 
          4. พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย 
          5.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง 
          6.นายชุมพล ศิลปอาชา

            รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
          7.น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์

            กระทรวงกลาโหม
          8.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา

            กระทรวงการคลัง
          9.นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 
          10.นายบุญทรง เตรยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 
          11.นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

            กระทรวงต่างประเทศ
          12.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล

            กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
          13.นายสันติ พร้อมพัฒน์

            กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
          14.นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
          15.นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์

            กระทรวงคมนาคม
          16.พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
          17.พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม 
          18.นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม

            กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          19.นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข

            กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
          20.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

            กระทรวงพลังงาน
          21.นายพิชัย นริพทะพันธุ์

            กระทรวงพาณิชย์
          นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง
          22.นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
          23.นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

            กระทรวงมหาดไทย
          นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ
          24.นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 
          25.นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

            กระทรวงยุติธรรม
          26.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก

            กระทรวงแรงงาน
          27.นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์

            กระทรวงวัฒนธรรม
          28.นางสุกุมล คุณปลื้ม

            กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
          29.นายปลอดประสพ สุรัสวดี

            กระทรวงศึกษาธิการ
          30.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
          31.นางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
          32.นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

            กระทรวงสาธารณสุข
          33.นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
          34.นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

            กระทรวงอุตสาหกรรม
          35.น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล

            กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
          นายชุมพล ศิลปอาชา



ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


 [5 สิงหาคม] เปิดโผ ครม.ยิ่งลักษณ์ อย่างไม่เป็นทางการ

          กำลังโดนจับตามองและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ถึงการจัดโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำทีมของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี หรือ ครม.ยิ่งลักษณ์ หลายคนสงสัยว่าจะเป็น ครม.พี่น้อง ครม.เสื้อแดง หรือ ครม.ทักษิณสั่งหรือเปล่า? พร้อม ๆ กับกระแสข่าวการเปิดศึกแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ กันอย่างสุดฤทธิ์ รวมถึงการทวงถามโควต้าที่พรรคของตนเองควรได้รับ

          งานนี้ทำให้ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ต้องออกมาชี้แจงว่า ณ ขณะนี้ ครม.ยิ่งลักษณ์ เรียบร้อยไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่นิ่ง คงต้องรอพิจารณาที่เหลืออีกครั้ง ซึ่งจะเสร็จเรียบร้อยเร็ว ๆ นี้ ยืนยันว่าเมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมตรีอย่างเป็นทางการแล้ว จะสรุปให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ย้ำชัดว่าเธอ และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้พิจารณาจัดโผ ครม.ร่วมกัน โดยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

          เพราะฉะนั้น วันนี้กระปุกดอทคอม จึงนำเอาโผ ครม.ยิ่งลักษณ์ ที่หลายสำนักข่าวคาดการณ์ไว้ โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล จะได้โควตาทั้งหมด 30 ตำแหน่ง ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลได้ 5 ตำแหน่ง ดังนี้...

          นายกรัฐมนตรี ได้แก่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

          รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ได้แก่ พล.ต.ท.ชัจช์ กุลดิลก

          รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ นายวีรพงษ์ รามางกูร หรือนายโอฬาร ไชยประวัติ

          รองนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายชุมพล ศิลปอาชา ,นายวิชิต สุรพงษ์ชัย

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ (ควบตำแหน่งรองนายกฯ) หรือ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก หรือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ หรือ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข หรือ นายชูชาติ หาญสวัสดิ์

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แก่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดิมทีวางตัว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เอาไว้ แต่มีการโยกตำแหน่งกับเก้าอี้กระทรวงสาธารณสุข ทำให้พรรคเพื่อไทยน่าจะเลือก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก มาคุมเก้าอี้นี้แทน

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แก่ นายวิชิต สุรพงษ์ชัย อดีตประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แต่อีกกระแสข่าวรายงานว่า นายวิชิตได้ขอถอนตัวจากตำแหน่งนี้แล้ว

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนหน้านี้ สื่อหลายสำนักคาดการณ์กันว่า ตำแหน่งนี้น่าจะเป็นของนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ หรือ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ แต่โผล่าสุด เก้าอี้นี้น่าจะเป็นของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แก่ นายวิกรม คุ้มไพโรจน์ หรือ นายจุลพงษ์ โนนศรีไชย เอกอัครราชทูตไทยประจำนอร์เวย์ และเป็นเพื่อนร่วมรุ่น พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้แก่ นายต่อพงษ์ ไชยสานต์

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้แก่ นางอุไรวรรณ เทียนทอง หรือ นางบุญรื่น ศรีธเรศ

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเป็นของนายวิชาญ มีนชัยนันท์ หรือ นายอุดมเดช รัตนเสถียร แต่ชื่อของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ถูกโยกมาจากกระทรวงยุติธรรม สอดแทรกมาภายหลังกำลังเป็นที่จับตามองมากที่สุด

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ นพ.เหวง โตจิราการ

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ นายเสนาะ เทียนทอง หรือนายธีระ วงศ์สมุทร

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นนายสันติ พร้อมพัฒน์ หรือ นายประภัสร์ จงสงวน แต่ล่าสุดกลับมีชื่อของ พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี เพื่อนร่วม ตท. 10 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เบียดมาแรงแซงโค้ง

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แก่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ หรือ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แก่ นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ หรือนายปลอดประสพ สุรัสวดี

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่า จะเป็นของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ แต่ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย น่าจะได้เก้าอี้นี้ปลอบใจที่สละสิทธิ์ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ นางบุญรื่น ศรีธเรศ (หากพลาดตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม)

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้แก่ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หรือ นายชุมพล ศิลปอาชา (ควบรองนายกฯ)

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แก่ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอทีซี ได้แก่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล หรือ นายพิชัย นริพทะพันธ์

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ หรือ นายชญานินทร์ เทพาคำ

          รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านสื่อ ได้แก่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล หรือ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

          โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หรือ นางฐิติมา ฉายแสง

          เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายบัณฑูร สุภัควณิช 

          ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์, นายเจริญ จรรย์โกมล เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 และ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ เป็นรองประธานสภาคนที่ 2


          ทั้งนี้ สำหรับรายชื่อ ครม.ยิ่งลักษณ์ คาดว่าจะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว ภายในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ในท้ายที่สุดแล้ว โฉมหน้า ครม.ปู 1 จะออกมาตรงใจหลาย ๆ คนหรือไม่




ครม. ยิ่งลักษณ์


[14 กรกฎาคม]สะพัด! โผ ครม.เฉลิม นั่งยุติธรรม-มิ่งขวัญ ไม่มีสักเก้าอี้

          สะพัด "หญิงอ้อ" โผล่ตึกชินฯ 3 จัดโผ ครม.ด้วย หึ่งดัน "เจ้าสัวโบนันซ่า" นั่ง มท.3-รมช.คลัง "เฉลิม" นั่งยุติธรรม แต่ "มิ่งขวัญ" ถูกรุมสกัดไม่มีสักเก้าอี้ "ทรงกิตติ" ปัดถูกทาบนั่งกลาโหม ยันไม่เล่นการเมือง

          เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งความคืบหน้าในการคัดสรรผู้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ 1" ว่า วันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับนายไพวงษ์ เตชะณรงค์ ประธานบริษัท โบนันซ่า กอล์ฟ แอนด์ คันทรี คลับ จำกัด ที่อาคารชินวัตร 3 เพื่อทาบทามและสอบถามความเห็นของ นายไพวงษ์ ว่าใครที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงใดบ้าง

          และต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม ได้มีการหารือกันอีกครั้งที่อาคารชินวัตร 3 โดยมีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน และนายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ คนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ร่วมวงสนทนาด้วย

          ทั้งนี้ เบื้องต้นมีรายงานว่า นายไพวงษ์มีรายชื่ออยู่ในโผผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย โดยอาจจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยนั้น จะได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

          ส่วน นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยนั้น วงสนทนาไม่เห็นด้วยที่จะให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตามที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้

          มีรายงานด้วยว่า สำหรับโควตารัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดยพรรคชาติไทยพัฒนานั้นจะได้ทั้งหมด 3 เก้าอี้ โดยเป็น 1 เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ และ 2 เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการ แต่จะไม่ใช่เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอย่างแน่นอน เนื่องจากจะมอบเก้าอี้ดังกล่าวให้เป็นโควตาของพรรคพลังชล

          ขณะที่ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศติมอร์ถึงกระแสข่าวการ นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า ไม่รู้เรื่อง และก่อนหน้านี้ก็ให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่าจะไม่เล่นการเมือง เพราะเล่นการเมืองไม่เป็น อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่เคยมาทาบทามหรือพูดคุยกันตามที่เป็นข่าว

          "ไม่มีใครเขามาสนใจผมหรอก ผมทำงานตามหน้าที่ของผม ไม่ต้องถามว่าสนในเรื่องการเมืองหรือไม่ เพราะทุกอย่างผมพูดไปหมดแล้วว่าผมยืนยันได้ว่าไม่มีใครมาพูดกับผมในเรื่อง นี้ การเมืองผมทำไม่เป็น เล่นไม่เป็น เราทำเป็นอย่างเดียวคือการเป็นทหาร และไม่ทราบสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ปวดหัว ทั้งนี้คนไทย 66 ล้านคนผมไม่เป็นห่วง เพราะทุกคนมีสติปัญญา" พล.อ.ทรงกิตติ ระบุ 



ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี 
ถ่ายภาพกับแกนนำพรรคการเมือง ภายหลังแถลงการจัดตั้งรัฐบาลผสม 5 พรรค 299 เสียง


[5 กรกฎาคม] โผ ครม.ปู 1 ฝุ่นตลบ-ยังไม่ลงตัว หน้าเดิมโผล่พรึ่บ

          ครม.ชินวัตรฝุ่นตลบหน้าเดิมโผล่พรึ่บ ทาบ "บิ๊กหมง" นั่ง รมว.กลาโหมเชื่อม "ป๋าเปรม" จับตา "ดร.เหลิม" ว่าการยุติธรรม มหาดไทยแย่งกันนัวแต่ "ประชา" เต็ง

          ขอให้ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและมีการแต่งตั้งจากสภาฯ ก่อน รวมทั้งให้การหารือของแต่ละพรรคเป็นการภายในแล้วเสร็จก่อน สำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น หลักการต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในแต่ละกระทรวง โดยเราจะดูผลงานเป็นหลัก

          ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยถึงการจัดตั้งรัฐบาล "ปู 1" ที่มี 5 พรรคร่วมรัฐบาล รวม 299 เสียง ว่า พรรคการเมืองที่ถูกติดต่อให้เข้าร่วมรัฐบาล และกลุ่มการเมืองภายในพรรคได้เคลื่อนไหวต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกันอย่างคึกคัก โดยแกนนำทั้งหมดพยายามติดต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์, นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภรรยานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นผู้เคาะโผรัฐมนตรีครั้งสุดท้าย โดยทั้ง 3 คน มีการติดต่อกันตลอดเวลา เพื่อสอบถามความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ในเพื่อไทย เช่น กลุ่มอีสาน, กลุ่มเสื้อแดง, กลุ่ม นปช., กลุ่มทุน เพื่อไม่ให้การจัดโผ ครม.เกิดปัญหาภายในพรรคและกับพรรคร่วมรัฐบาล

  ประธานสภาผู้แทนราษฎร


          สำหรับตำแหน่งหลัก ๆ สำคัญที่น่าจับตานั้น ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏว่ากลุ่มต่าง ๆ พยายามผลักดันคนของตัวเองเข้ารับตำแหน่ง โดยมีกระแสข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณวางตัว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อเอาไว้ เนื่องจากเก๋าเกมทางการเมือง มีอาวุโสและสามารถรับมือพรรคประชาธิปัตย์ในที่ประชุมสภาฯ ได้ ขณะที่กลุ่มของ ร.ต.อ.เฉลิม ต้องการเป็นรัฐมนตรีมากกว่า แต่ต้องพบปัญหาที่กลุ่มต่าง ๆ ในภาคอีสานต่อต้านไม่ให้เข้ามาเป็น รมว.มหาดไทย ทำให้ต้องถูกวางตัวให้เป็น รมว.ยุติธรรม

          นอกจากนี้ ยังมีแคนดิเดตประธานสภาฯ อีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะอดีตรองประธานสภาฯ ที่ได้กำลังภายในสนับสนุนจากคนเสื้อแดงและว่าที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของเพื่อไทย รวมถึง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ว่าที่ ส.ส.ขอนแก่น ในฐานะอดีตรองประธานสภาฯ ที่ต้องการเข้ามานั่งตำแหน่งนี้ในโควตาภาคอีสาน ขณะที่ภาคกลางได้เคลื่อนไหวต้องการผลักดันนายวิทยา บุรณศิริ ว่าที่ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ทำให้ตำแหน่งประธานสภาฯ ยังไม่นิ่ง

  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

          แกนนำของพรรคเห็นด้วยที่จะให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ นั่งตำแหน่งดังกล่าวในโควตาภาคอีสาน เพราะ ส.ส.อีสานภายในพรรคให้การยอมรับ และมีภาพที่สานต่อกับขั้วอำนาจฝ่ายตรงข้ามได้ด้วย แต่มีข่าวว่าทางกลุ่มเทียนทองได้พยายามขอเก้าอี้รมว.มหาดไทย หรือ รมว.เกษตรฯ จาก พ.ต.ท.ทักษิณ โดยอ้างว่าทางกลุ่มตัดสินใจมาช่วย พ.ต.ท.ทักษิณในช่วงสถานการณ์สำคัญ และนายเสนาะก็มีความสำคัญกับพรรค

  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

          หนึ่งในกระทรวงด้านความมั่นคง ได้มีการวางตัว พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี รองหัวหน้าพรรคไว้ เพราะมีบทบาทในการวางระบบรักษาความปลอดภัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่เริ่มเดินสายปราศรัยเวทีต่างๆ ทั่วประเทศ และยังมีบุคลิกปรองดอง ประสานงานกับบิ๊กกองทัพได้หลายสายด้วย ที่สำคัญยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ช่วยงานทักษิณมานาน  รวมถึงมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก

          ขณะเดียวกัน บุคคลภายนอกที่น่าจับตาว่าอาจได้รับการทาบทามให้มารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม ก็มีหลายคน อาทิ พล.อ.มงคล อัมพรพิศิษฏ์ อดีต ผบ.ทหารสูงสุด ที่เคยมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เคยทาบทามให้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เพราะมีความสัมพันธ์อันดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่พลเอกมงคลหรือบิ๊กหมง ปฏิเสธไป โดยที่ผ่านมารู้กันในพรรคเพื่อไทยว่า พล.อ.มงคลเคยไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณที่ต่างประเทศ และรู้กันดีว่า พล.อ.มงคล เป็นหนึ่งในกลุ่มลูกป๋าของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

  มิ่งขวัญ จ่อนั่ง รมว.ต่างประเทศ

          ถูกจับตาอย่างมากสำหรับตำแหน่งนี้กับการจะเข้ามาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชา และต้องคอยประสานสถานทูตของไทยในประเทศต่าง ๆ เพื่อเบิกทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศไทยนั้น ขณะนี้ยังหาตัวไม่ได้ แต่แหล่งข่าวระดับสูงในเพื่อไทยที่เป็นคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณระบุว่า กระแสข่าวว่า รมว.ต่างประเทศ อาจเป็น นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ

          ในส่วนของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรค ล่าสุดเริ่มนิ่งที่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 ที่จะคุมความมั่นคง ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


          ส่วนทางด้านกลุ่ม กทม.ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้ผลักดัน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ว่าที่ ส.ส.กทม. เป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ หรือ รมว.สาธารณสุขแทนนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ว่าที่ ส.ส.กทม. หรือเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ดูแลด้านสื่อ แต่ปรากฏว่าพ.ต.ท.ทักษิณได้วางตัวนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตผู้บริหารไอทีวี เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ดูแลด้านสื่อ เพราะมีสายสัมพันธ์กับสื่อหลายสำนัก และผลักดันนายดนุพร ปุณณกันต์ หรือนายยุรนันท์ ภมรมนตรี อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 62 และ 63 ตามลำดับเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

  กระทรวงทางเศรษฐกิจ


          มีการวางตัว นายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เป็น รมว.การคลัง หรือนายศุภวุฒิ สายเชื้อ ผู้บริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมอร์ริลลินช์ ภัทร จำกัด บุตรของนายเชาว์ สายเชื้อ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่สนิทกับ พ.ต.ท.ทักษิณ มานานและเคยถูก พ.ต.ท.ทักษิณทาบทามให้เล่นการเมืองมาหลายครั้ง แต่นายศุภวุฒิ ปฏิเสธมาโดยตลอด หากนายศุภวุฒิได้เป็น รมว.การคลัง นายโอฬารจะขยับขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจ

          ในส่วน รมว.แรงงานนั้น ได้วางตัว นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และอดีตปลัดกระทรวงแรงงานไว้ ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ได้วางตัวนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค ในฐานะอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ

          สำหรับนายสันติ พร้อมพัฒน์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถูกวางตัวให้เป็น รมว.คมนาคมนายสันติ พร้อมพัฒน์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถูกวางตัวให้เป็น รมว.คมนาคม และนายวัฒนา เมืองสุข ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถูกวางให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งระหว่าง รมว.พาณิชย์ หรือ รมว.อุตสาหกรรม นายคณวัฒน์ วศินสังวร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถูกวางตัวให้เป็น รมว.ไอซีที หรือ รมช.ศึกษาฯ ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ว่าที่ ส.ส.สัดส่วน เป็น รมว.ศึกษาฯ หรือ รมว.ไอซีที นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถูกวางตัวให้เป็น รมช.พาณิชย์ หรือ รมช.การคลัง

          ส่วนทางพรรคพลังชลได้เสนอขอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 1 และรัฐมนตรีช่วยว่าการ 1 หากได้ตามที่เสนอทางพรรคพลังชลได้วางตัวนายวิทยา คุณปลื้ม นายก อบจ.ชลบุรี น้องชายนายสนธยา คุณปลื้ม เป็น รมว.การท่องเที่ยวฯ และนางสุกุมา คุณปลื้ม ภรรยานายสนธยา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ แต่เพื่อไทยยังไม่ชัดเจนอาจจะให้แค่หนึ่งรัฐมนตรีว่าการ

          ขณะที่พรรคพลังชลเองที่ได้ ส.ส.7 คน ได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า สนใจเก้าอี้ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา โดยอ้างว่าเป็นงานที่ถนัด และแกนนำพรรคเองก็เคยดูแลงานกระทรวงการท่องเที่ยวฯ รวมถึงเป็นนโยบายของพรรคที่ใช้ตอนหาเสียง ในการส่งเสริมงานด้านการกีฬาและการท่องเที่ยว

          ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาที่ตอบรับแล้ว คือ เก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี, รมว.เกษตรฯ และ รมช.คมนาคม ขณะที่ พล.ต.สนั่น ได้แจ้งกับนายบรรหารว่า จะไม่ขอรับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ แต่จะผลักดัน นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ บุตรชาย ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งแทน

          นอกจากนี้ หากพรรคชาติไทยพัฒนาได้คุมกระทรวงเกษตรฯ ชื่อของ นายธีระ วงศ์สมุทร ยังจะคงเป็นแคนดิเดต ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่า นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา อาจจะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

          อย่างไรก็ตาม ยังมีความพยายามของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่จะต่อรองแลกตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเป็น 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการแทน โดยพรรคชาติไทยพัฒนาได้โควตาเป็น 1 รัฐมนตรีว่าการ กับ 3 รัฐมนตรีช่วยว่าการ



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
       






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยรายชื่อ ครม.ยิ่งลักษณ์ พร้อมประวัติ ครม ปู 1 อัปเดตล่าสุด 11 สิงหาคม 2554 เวลา 18:09:41 615,579 อ่าน
TOP