กทม.จัดโครงการขยะแลกยากำจัดสารอันตราย





กทม.จัดโครงการขยะแลกยากำจัดสารอันตราย (ไทยโพสต์)

          กทม.จัดโครงการตลาดนัดมูลฝอยอันตราย เปิดให้ประชาชนนำขยะอันตรายมาแลกยาสามัญประจำบ้านได้ที่โรงพยาบาลสังกัด กทม. 8 แห่ง เริ่ม 15 ก.ย.นี้ เผย กทม.เก็บขยะอันตรายได้ไม่ถึง 1 ตันต่อวัน จากปริมาณขยะ 24-30 ตันต่อวัน ส่งผลปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม ในดินและแหล่งน้ำมีสารโลหะหนัก  

          เมื่อวันที่ 8 กันยายน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง การจัดโครงการตลาดนัดขยะมูลฝอยอันตรายว่า จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปและผู้ใช้บริการโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร มีความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะอันตรายออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป และมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม สำนักการแพทย์จึงร่วมมือกับสำนักสิ่งแวดล้อมจัดโครงการดังกล่าวขึ้น โดยให้ประชาชนนำขยะอันตรายมาแลกยาสามัญประจำบ้านได้ที่โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม.ทั้ง 8 แห่ง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนคัดแยกขยะอันตรายอย่างถูกวิธีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาต่อสุขภาพประชาชน รวมถึงเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย สำหรับขยะมูลฝอยอันตรายประเภทต่าง ๆ แบ่งเป็นแบตเตอรี่ทั้งรีไซเคิลได้และรีไซเคิลไม่ได้ กลุ่มบรรจุภัณฑ์เคมีอันตราย และกลุ่มอุปกรณ์สำนักงาน 

          พญ.มาลีนีกล่าวว่า ประชาชนที่สนใจสามารถนำขยะอันตรายมาแลกยาสามัญประจำบ้านได้ที่โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม.ทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโรอุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ส่วนการแลกยาขึ้นอยู่กับปริมาณขยะ 

          "ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ปีละ 3 ล้านคน คิดว่าคนกลุ่มนี้จะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะอันตรายปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมได้มาก ในเบื้องต้นถ้านำถ่านไฟฉาย 1 ก้อน แลกได้ยาพาราเซตามอล 1 แผง ถ้ามีปริมาณขยะเยอะก็จะจัดยาชุดสามัญประจำบ้านทั้งยากินและยาทาบรรจุกล่อง" รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

          นายบรรจง สุขดี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.จัดเก็บขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ แบตเตอรี่ กระป๋องฉีดยากันแมลงต่างๆ และผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ ประมาณ 600 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งจัดเก็บได้น้อยกว่าปริมาณขยะอันตรายในแต่ละวันที่มีประมาณ 24-30 ตันต่อวัน ขยะเหล่านี้ไม่ได้รับการกำจัดหรือทำลายอย่างถูกต้อง เพราะประชาชนยังไม่ตระหนักถึงการคัดแยกขยะอันตราย ทิ้งขยะอันตรายรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป ทำให้ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสารพิษที่เป็นโลหะหนักจากแบตเตอรี่ต่าง ๆ เป็นสารก่อมะเร็ง หากตกค้างอยู่ในดินและแหล่งน้ำสาธารณะ ในที่สุดจะย้อนกลับเข้าสู่ร่างกายคนได้   

          "กทม.พยายามรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะอันตราย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เก็บขยะเหล่านี้ได้ไม่ถึง 1 ตันต่อวัน จากปริมาณ 24-30 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มว่าปริมาณขยะอันตรายจะมากขึ้น เพราะประชากรในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขยะประเภทแบตเตอรี่และหลอดไฟมีมากที่สุด" ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมเผย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กทม.จัดโครงการขยะแลกยากำจัดสารอันตราย อัปเดตล่าสุด 9 กันยายน 2554 เวลา 11:45:25 4,149 อ่าน
TOP
x close