กันตรึม...จิตวิญญาณชีวิตของครูเลือดอีสานใต้


กันตรึม...จิตวิญญาณชีวิตของครูเลือดอีสานใต้

แจ๊ค ธนบดี หรือ ครูกันตรึม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ทีวีไทย


          "ความฝัน" จะไม่มีทางเป็น "ความจริง" ได้ หากเราไม่พยายามก้าวไปข้างหน้า เพื่อไขว่คว้าความฝันนั้นไว้ ซึ่งก็มีหลายคนที่ยังกล้า ๆ กลัว ๆ ไม่กล้าจะเดินไปตามเส้นทางหวัง แต่โชคดีที่ "แจ๊ค" ธนบดี ถนอมเมือง หนุ่มเลือดอีสานวัย 29 ปี ไม่ใช่คนประเภทนั้น เพราะเขากล้าที่จะก้าวออกไป และเอื้อมมือไปทำความฝันของเขาให้เป็นจริง ด้วยการเดินหน้าสืบสาน "กันตรึม" ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวอีสานใต้อย่างเต็มตัว

          เสียงจังหวะดนตรี "กันตรึม" ดังขึ้น พร้อม ๆ กับเสียงของ "แจ๊ค ธนบดี" หรือที่ชาวบ้านในชุมชนตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ยกให้เป็น "ครูกันตรึม" ผู้ที่คอยฝึกหัดเยาวชนรุ่นใหม่ให้เล่น "กันตรึม" 

กันตรึม...จิตวิญญาณชีวิตของครูเลือดอีสานใต้   กันตรึม...จิตวิญญาณชีวิตของครูเลือดอีสานใต้

          "แรงบันดาลใจของผมมาจากว่า เวลาเราได้ยินเสียงดนตรีกันตรึมแล้วมันเกิดความรักมาก คือได้ฟังแล้วมีความสุข เลยปลูกฝังมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจว่า ถ้าเรามีโอกาสต้องเรียน ต้องเป็นตรงนี้ให้ได้" ครูหนุ่มบอกถึงความฝันของเขา 

          แจ๊ค เล่าถึงชีวิตของเขาว่า หลังจากเรียนจบชั้น ม.6 เขาได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่จังหวัดสุรินทร์ และพบศิลปินคนหนึ่งที่เล่นซอเก่งมาก จึงสมัครเป็นลูกศิษย์ และฝึกฝนทุกวันจนเล่นซอเป็นเพลง หลังจากนั้น เขาก็เริ่มคิดต่อไปว่า สมัยนี้หาดูหาฟังวงดนตรีพื้นบ้านได้ยาก เพราะเหลือน้อยเต็มที แล้วจะทำอย่างไรล่ะ ถึงจะสานต่อดนตรีพื้นบ้านต่อไปได้ จึงนำไปสู่ความฝันที่จะปั้นเด็กขึ้นมา

          เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้ว แจ๊ค จึงเริ่มลงมือเดินหน้าสานความฝันนั้น ด้วยการเริ่มฝึกหัดเด็ก ๆ ในตำบลให้หัดกันตรึม และพาออกงานแสดงเปิดหมวกตามที่ต่าง ๆ เพื่อหาเงินไปสร้างศูนย์ดนตรีนาฏศิลป์พื้นบ้านไว้สำหรับใช้จัดแสดงกันตรึม แม้ว่าบางครั้งเขาจะต้องพบกับอุปสรรคบ้างก็ตาม

          "เคยไปเล่นเปิดหมวกที่พนมรุ้ง แต่เขาไม่ให้เล่น ตอนนั้นเสียใจมาก ร้องไห้ด้วย เสียใจว่าทำไมเขาไม่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ทำไมเขาต้องปิดกั้นเราไม่ให้เล่น เขาอาจจะมองว่าเป็นธุรกิจอย่างนี้มั้ง" ครูหนุ่มตัดพ้อ

          แต่โชคดีที่หลังจาก แจ๊ค พาเด็ก ๆ ตระเวนแสดงกันตรึมมานานนับสิบปี ขาก็สามารถสร้างศูนย์ดนตรีนาฏศิลป์พื้นบ้านเขาพนมรุ้งได้สำเร็จ โดยใช้ที่แห่งนี้เป็นสถานที่จัดแสดง และเป็นสำนักงานของนักแสดงกันตรึม ทำให้มีเด็ก ๆ เข้ามาเรียนกันตรึม ณ ศูนย์แห่งนี้มากขึ้น โดยครูแจ๊คก็สอนวิชาให้ฟรี ๆ ไม่เก็บเงินแม้แต่บาทเดียว 

กันตรึม...จิตวิญญาณชีวิตของครูเลือดอีสานใต้   กันตรึม...จิตวิญญาณชีวิตของครูเลือดอีสานใต้

          "เราอยากให้เด็กเล่น อยากให้เด็กเขาเป็น ถ้าเอาเงิน คิดเป็นเงินเกินไปก็ไม่ดี เหมือนกับต้องมาตั้งใจเรียนเพราะเสียเงิน แต่นี่เราเลือกมา เพราะว่าคนที่ใจรัก เราฝึกเด็กได้ เราก็มีงานด้วย ถ้าทำอะไรเหมือนธุรกิจมากไป มันก็ไม่มีความสุข เราอยากทำตรงนี้ ถ้าเรามีเงินเราก็จะสืบสานงานตรงนี้ เท่ากับขยายผลงานของเรา"

          นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมครูแจ๊คจึงต้องเดินทางไปสอนลูกศิษย์ตัวเล็กตัวน้อยตามโรงเรียน เพื่อฝึกฝนวิชานาฏศิลป์ให้พวกเขา และแม้ว่าจะต้องเหนื่อย และลำบากเพียงใด แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นศิลปินกันตรึมเต็มตัว ครูแจ๊คก็ยังยิ้มสู้เสมอ และยิ่งเห็นเด็ก ๆ ทุ่มเท และยิ้มไปกับการฝึกฝน เขาก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจขึ้นหลายเท่าที่ตัวเองมีส่วนช่วยให้เด็ก ๆ รักศิลปะพื้นบ้านที่เป็นรากเหง้าของพวกเขาได้

          "รากเหง้ามันเป็นอย่างนี้ไง ปู่ย่าตายายเขาได้ยินได้ฟังมาก่อน มันเป็นของเราอย่างนี้ เราก็ต้องปลูกฝังใหม่ ใครจะว่าเชยก็ช่าง แต่ว่าบางทีเราก็ประยุกต์ขึ้นมา ดีใจที่เด็ก ๆ ไม่คิดว่ามันเชย แล้วมีความสุขที่ได้ทำ เพราะเขาใจรักแล้ว"

          และเมื่อมีงานแสดงเมื่อใด ครูแจ๊คก็เร่งฝึกซ้อมให้พวกเด็ก ๆ อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้การแสดงออกมาสมบูรณ์ที่สุด กระทั่งในวันแสดงจริง บรรดาผู้ปกครอง มิตรสหายต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันมาช่วยเหลือคนละไม้คนละมือ ไม่ว่าจะช่วยทำข้าวปลาอาหารมาแจก ช่วยแต่งตัว แต่งหน้า ทำผม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นแรงขับเคลื่อนกำลังใจให้เขาและลูกศิษย์เดินหน้าไปอย่างเต็มที่

กันตรึม...จิตวิญญาณชีวิตของครูเลือดอีสานใต้   กันตรึม...จิตวิญญาณชีวิตของครูเลือดอีสานใต้

          "สิ่งที่คาดหวังคือ อยากให้เด็ก ๆ ทำให้เต็มที่ทุกครั้งที่ขึ้นแสดง เพราะซ้อมกันมาหนักมาก และอีกสิ่งที่อยากเห็นก็คือ รอยยิ้มของคนที่มาชม เหมือนกับเป็นแรงบันดาลใจให้เขาจากการแสดงตรงนี้ไป เพื่อเขาจะได้ไปบอกเล่าต่อไป..."

          ความสำเร็จของการแสดงคือ การที่ผู้แสดงและผู้ชมมีความสุข แต่ความสุขของครูแจ๊คก็คือ การได้เห็นกันตรึม ศิลปะพื้นฐานแขนงนี้ยังดำรงอยู่ โดยเขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน "กันตรึม" ให้อยู่ในวิถีชีวิตของคนในสังคมต่อไป

          "มันเหมือนเป็นปริญญาชีวิต เราจะขอตายเพื่อกันตรึมเลย เราเลือกแล้วและจะสืบสานต่อไปเรื่อย ๆ แล้วแต่ว่าใครจะคิดยังไง มันเลิกไม่ได้ เราเคยคิดเลิก ออกไปทำงานนะ สุดท้ายมันก็ไม่ใช่เรา ก็จะทำต่อไปจนเล่นไม่ได้ แต่ถ้ายังพูดได้ ก็ยังสามารถถ่ายทอดได้ต่อไป เพราะการสร้างวัฒนธรรมจะต้องปลูกฝังไปเรื่อย ๆ เหมือนกับเราปลูกผัก วันหนึ่งผักโตก็เก็บมากิน ปลูกพืชมันก็ต้องหวังผล ตอนนี้ผลเยอะแยะเลย ผลจากที่เราสอน ภูมิใจมาก ๆ ที่มีคนที่ชอบเหมือนกันมาช่วยสืบสาน เป็นอีกหนึ่งแรงช่วยเรา เพราะเราไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีลูกศิษย์และคนจำนวนมากช่วยเราอยู่ ทำให้เรามีกำลังใจที่จะทำต่อไป..." ครูแจ๊ค ยืนยันด้วยความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่

          เพราะความกล้าที่จะให้ กล้าที่จะทำ ทำให้ครูแจ๊ค ธนบดี สามารถเดินตามความฝันสืบสาน "กันตรึม" ต่อไปได้ ซึ่งชายหนุ่มคนนี้ก็ประกาศไว้เลยว่า อย่างไรเสีย เขาก็คงไม่สามารถแยกขาดจากกันตรึมได้ นั่นเพราะกันตรึมคือจิตวิญญาณของเขาที่จะดำรงอยู่ตราบจนสิ้นลมหายใจ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กันตรึม...จิตวิญญาณชีวิตของครูเลือดอีสานใต้ อัปเดตล่าสุด 27 กันยายน 2554 เวลา 07:33:57 26,442 อ่าน
TOP
x close