ค้นชีวิต 2 ข้าราชการไทย ผู้ขัดเกลาชีวิตใหม่ให้สังคม







เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ก่อนหน้านี้ รายการคนค้นฅน เคยนำเสนอแบบอย่างที่ดีของข้าราชการไทยในหลากหลายเรื่องราว ทั้งข้าราชการหัวใจประชาชน หมออนามัยชายแดน ข้าราชการหัวใจเกินร้อย และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่ทางรายการคนค้นฅน หยิบเอาชีวิตของ 2 ข้าราชการดีเด่น ผู้เสียสละและอุทิศตนเพื่อแผ่นดิน มาตีแผ่ให้คนไทยทุกคนร่วมกันยกย่องความดีของพวกเขา..."นภินทร์ จอกลอย" และ "ครูพีระพงษ์ วงศ์ศรีจันทร์"

          ภายในรั้วที่สูงและหนาทึบของเรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานีที่แน่นขนัดไปด้วยนักโทษหญิงและชายเกือบ 3,000 คน ที่นี่อยู่ในความดูแลของ "นภินทร์ จอกลอย" ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี ที่ปกครองหลายพันชีวิตได้อย่างสันติสุข





          ในช่วงที่ผ่านมา เราอาจจะเคยได้ยินข่าวนักโทษก่อจลาจลบ้าง นักโทษทำร้ายกันเอง หรือผู้คุมทุบตีนักโทษบ้าง แต่ไม่มีสักครั้งที่ข่าวคราวทำนองนี้จะปรากฎให้เห็นว่าเหตุเกิด ณ  "เรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี" เพราะความที่ ผบ.นภินทร์ คอยเอาใจใส่ดูแลผู้ต้องขังในฐานะ "เพื่อนมนุษย์" ด้วยกัน และยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักโทษทุกคนด้วยแสงแห่งธรรม จึงไม่แปลกใจที่นักโทษทุกคนจะเรียกผู้บัญชาการเรือนจำแห่งนี้ว่า "พ่อ" และ ผบ.นภินทร์ ก็เรียกนักโทษว่า "ลูก"

          ผบ.นภินทร์ บอกว่า หลักการในการดูแลเรือนจำแห่งนี้ คือ ต้องปกครองตัวเองเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่ปกครองผู้อื่นเพื่อตัวเอง และผู้ปกครองต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี ขยัน ทุ่มเท ให้คนอื่นเห็นเป็นแบบอย่าง และมุ่งเยียวยาคนที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแก้วที่แตก ให้กลับมาปะติดปะต่อกัน แม้ว่าจะไม่เหมือนเดิม แต่อย่างน้อยก็ทำให้ชีวิตหลังพ้นสถานะนักโทษไปแล้วนั้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่เลวร้ายจนเกินไป

          ทุก ๆ เช้า ผบ.นภินทร์ จะออกเดินทางจากบ้านด้วยรถ 2 ล้อคู่ใจ ที่อาศัยกำลังขาปั่นดูความเรียบร้อย และความสะอาดรอบ ๆ เรือนจำ ก่อนจะนำรถจักรยานไปจอดตรงหน้าป้าย "ที่จอดรถผู้บัญชาการเรือนจำ" และเข้าไปประจำการสั่งงาน ตรวจงานทุกซอกทุกมุมทุกจุดด้วยตัวเอง โดยถือคติว่า "หากไม่เห็นกับตาจะไม่ไว้ใจ" และก่อนที่จะปั่นจักรยานกลับบ้าน ผู้บัญชาการท่านนี้ก็ยังเดินมาตรวจอีกรอบ ทุกซอกทุกมุมเช่นเดิม ไม่เว้นแม้แต่ห้องน้ำเล็ก ๆ เพื่อเป็นการฝึกลูกน้องให้มีระเบียบวินัยไปในคราวเดียวกัน





          "ผมพยายามจะลบคำสบประมาทที่ประชาชนมีต่อข้าราชการ คือ ใต้โต๊ะ เรือเกลือ เช้าชามเย็นชาม ผมเกลียดที่สุดคือเรื่องผักชีโรยหน้า เหมือนกับการทำความสะอาดในคุก ผมเคยท้าผู้บังคับบัญชาให้ส่งคนมาตรวจได้เลย 24 ชั่วโมง เพราะที่นี่ทำความสะอาดตลอดเวลา ผมไม่มีผักชีเด็ดขาด ถ้าอยากทำต้องทำไปเลย" ผบ.นภินทร์ บอก

          แม้ว่าภารกิจหลักของ ผบ.นภินทร์ คือการตรวจดูแลความเรียบร้อยภายในเรือนจำ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ ผบ.นภินทร์ ทำเป็นประจำคือ หาโอกาสให้ผู้ต้องขังได้เข้าวัดเข้าวา ร่วมทำบุญตักบาตร ฟังธรรม และใกล้ชิดพระสงฆ์

          "สิ่งเหล่านี้เป็นการระบายความเครียด เพราะทุก ๆ วันเขาจะเห็นบรรยากาศแต่ประตูรั้วที่กั้นดำทึบ กุญแจมือ และที่เราทำอย่างนี้ เพราะไม่อยากให้ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่มีช่องว่างห่างกันเกินไป เพราะจะทำให้ปกครองยาก นี่เป็นหลักอย่างหนึ่ง"

          นอกจากการทำบุญตักบาตรแล้ว ผู้บัญชาการนภินทร์ ยังนำเอาหลักธรรมมาใช้ขัดเกลาจิตใจผู้ต้องโทษ เพื่อทำให้พวกเขามีจิตใจอ่อนโยน รู้จักเสียสละ และพบกับความสุขที่แท้จริง เพื่อที่จะได้กลับออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณค่า

          "ท่านให้ความเมตตา เป็นธรรม ใช้หลักพ่อปกครองลูก ให้สิ่งที่ถูกต้องทุกอย่าง ท่านใช้หลักธรรมะ หลักบริหารทางโลกมาประยุกต์การบริหารจัดการ ทำให้ผู้ต้องขังมีความรักใคร่ และเคารพนับถือท่านเป็นอย่างมาก" เสียงหนึ่งจากผู้ต้องขัง บอกเล่าถึงความรู้สึกที่เคารพรัก "พ่อ" คนนี้

          กว่า 33 ปีที่ทำงานอยู่กับผู้ต้องขัง ท่านนภินทร์ บอกว่า สิ่งที่ภูมิใจคือ การที่ตัวเองทำงานด้วยความสะอาด ไม่เคยเบียดเบียนใคร เพราะไม่เคยทำอะไรแล้วหวังผลตอบแทน




          หากผู้บัญชาการนภินทร์ คือผู้ที่ขัดเกลาผู้ที่มีชีวิตตกอยู่ในอบายให้กลายเป็นความสว่าง อีกมุมหนึ่งในโรงเรียนเล็ก ๆ ณ จังหวัดชัยภูมิ ยังมีครูศิลปะคนหนึ่ง นามว่า ครูพีระพงษ์ วงศ์ศรีจันทร์ หรือที่เด็ก ๆ เรียกกันว่า "ครูเอ" ก็ทำหน้าที่ขัดเกลา "ผ้าขาว" ที่ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องให้เติบโตมีวิชาความรู้นำไปต่อยอดในสังคมอนาคต

          โรงเรียนซับมงคลวิทยา ณ พื้นที่ไกลปืนเที่ยงของอำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นสถานที่ทำงานที่ "ครูเอ" วัย 41 ปี เลือกมาประจำที่นี่นับสิบปีแล้ว โดยครูเอให้เหตุผลว่า เด็กอีสานเป็นเด็กที่ขาดโอกาสมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา จึงคิดว่าในเมื่อเขาสามารถช่วยเรื่องการศึกษาได้ ก็อยากจะมาทำงานที่นี่ และเลือกสอนวิชาศิลปะ เพราะคิดว่า ศิลปะจะทำให้ความสุนทรีย์เกิดขึ้นในจิตใจของเด็ก ๆ ชั้นประถม ณ ดินแดนไกลปืนเที่ยงแห่งนี้ และเปิดทางทางการศึกษาให้พวกเขาได้

          "พ่อผมเป็นครู เห็นพ่อสอนเด็กก็เลยฝังใจ เมื่อเราเติบโตมา ได้เจอครูที่ดี ๆ มากมาย คอยสนับสนุน ช่วยเหลือ เปิดโอกาสให้เรามากมาย ชี้แนวทางสว่างให้ เราก็เกิดความประทับใจ และคิดว่าเมื่อโตขึ้นเราก็น่าจะเป็นครูได้" ครูเอ บอก

          นอกเหนือจากการสอนศิลปะในชั่วโมงเรียนแล้ว ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ครูเอ ก็ยังพาเด็ก ๆ ออกไปศึกษาวิชาศิลปะยังนอกสถานที่ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สนุกสนาน เพลิดเพลินไปพร้อม ๆ กับการเติมความรู้ใหม่ ๆ นอกเหนือจากบทเรียน



          "แรก ๆ ก็มีปัญหากับผู้ปกครองบ้างที่พาลูกออกมาหัดวาดรูปนอกสถานที่ เพราะเสาร์-อาทิตย์ เด็ก ๆ หลายคนต้องไปทำงานในไร่ ช่วยพ่อแม่หากิน พ่อแม่เขาไม่เข้าใจก็จะบอกว่า พาลูกฉันมาทำไม วาดรูปจะหากินได้เหรอ เราก็ต่อสู้อยู่พักหนึ่ง พยายามอธิบายว่า ศิลปะมันประยุกต์ไปทำอะไรได้บ้าง นำผลงานไปขายทำรายได้ก็ได้ ตอนนั้น ลำบากเหมือนกัน เด็กบางคนร้องไห้ไม่ได้มากับเรา ก็มีครูผู้หญิงไปช่วยกราบอ้อนวอนพ่อแม่ให้เด็กได้มาเรียนศิลปะ"

          หลายสิบปีที่ผ่านมา "ครูเอ" สร้างลูกศิษย์ที่มีฝีมือด้านศิลปะมาแล้วมากมาย บางคนสร้างผลงานได้รับรางวัล ขณะที่บางคนยังได้รับการส่งเสียจาก "ครูเอ" ให้ได้ไปเรียนต่อด้านศิลปะในมหาวิทยาลัย และหากมีเวลาว่าง ๆ รุ่นพี่เหล่านี้ ก็จะกลับมาช่วยสอนน้อง ๆ รุ่นหลัง ณ โรงเรียนแห่งนี้อีกด้วย

          ลูกศิษย์คนหนึ่งของครูเอที่ได้ไปร่ำเรียนในมหาวิทยาลัย เผยถึงความรู้สึกที่มีต่อครูคนนี้ว่า "เราเหมือนคนในบ้านของเขา เหมือนเป็นลูกของเขา อาจารย์เขาดีทุกอย่าง เปรียบเสมือนพ่อคนหนึ่ง หากวันหนึ่งเราเรียนจบมา ก็จะดำเนินรอยตามครูพีระพงษ์ ถึงจะไม่ได้เท่าเขา ก็จะทำให้ดีที่สุด"

          ครูเอ บอกว่า ที่ผ่านมาถือว่าเขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานส่วนหนึ่งแล้ว เพราะลูกศิษย์หลายคนนำงานศิลปะไปสร้างรายได้ บางคนได้รับรางวัล บางคนไปเป็นนายช่าง บางคนเป็นครูสอนศิลปะ ลูกศิษย์ทุกคนก็เหมือนลูกที่เราอยากให้เขาได้ดี เพราะรู้สึกผูกพันไปแล้ว




          "ผมเป็นศิลปินประเภทที่ไม่ได้จะสร้างผลงานทางศิลปะบนเฟรมผ้าใบ แต่เฟรมของผมคือชีวิตของเด็ก ผมต้องรับผิดชอบสิ่งที่ผมเขียน ซึ่งก็คือชีวิตคน" ครูเอ บอกถึงคำนิยามของคำว่าศิลปินในตัวของเขา

          เมื่อถามถึงความคาดหวังของครูเอ เขาบอกว่า ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะนี่คือความสุขของเรา แค่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาแก้ไขอะไรอีก แม้ว่าเขาอาจจะเสียโอกาสกับอาชีพที่ก้าวหน้า เงินทองก้อนโต แต่การที่ลงมาทำอย่างนี้ ทำให้เขามีความสุขทุกวัน และยิ่งเห็นเด็กมีอาชีพ มีความสุข มันคือสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ และเป็นความสุขที่สุดของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น "ครู" แล้ว

          "ถามว่าข้าราชการคืออะไร ข้าของแผ่นดิน ข้ารับใช้ของประชาชน เงินที่เราได้มาเป็นอยู่ทุกวันนี้คือเงินของประชาชน เราต้องทำงานให้เต็มกำลัง ผมสอนเด็กเสมอว่า ถ้าเขาจ้างเราให้แบกของไปสัก 3 กิโล เราควรแบกสัก 4 กิโล คือทำให้มากกว่า ไม่ใช่แค่หมดเวลาตอกบัตรกลับบ้าน เราควรเป็นข้าราชการ 24 ชั่วโมง"

          ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมผู้สร้างแดนธรรมในแดนคุก อย่าง "ผบ.นภินทร์ จอกลอย" และครูผู้ทุ่มเททั้งชีวิตให้เด็ก ๆ อย่าง "ครูพีระพงษ์ วงศ์ศรีจันทร์" จึงได้รับรางวัลข้าราชการผู้ที่เสียสละ ทุ่มเท จาก ป.ป.ท. เพราะทั้งสองท่านล้วนมีส่วน "สร้าง" และ "เปลี่ยน" ชีวิตผู้อื่นให้ดำเนินอยู่ในเส้นทางแห่งความถูกต้อง และได้รับโอกาสทางสังคมทางสังคมมากขึ้น














   ร่วมปลุกพลังบวก เปลี่ยนประเทศไทย ได้ที่นี่ค่ะ    




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ค้นชีวิต 2 ข้าราชการไทย ผู้ขัดเกลาชีวิตใหม่ให้สังคม อัปเดตล่าสุด 29 กันยายน 2554 เวลา 11:25:25 38,392 อ่าน
TOP
x close