แสวงหาความสุขที่เมืองภูฏาน ดินแดนที่มีแต่สุข




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการพื้นที่ชีวิต

          คงปฏิเสธไม่ได้ว่า...ทุกวันนี้ เราดำรงชีวิตเพื่อ "ความสุข" บางคนอาจจะใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อตามหาความสุข บางคนอาจจะใช้ทุกหยาดเหงื่อแรงกายเพื่อแลกมา หรือบางคนอาจจะใช้ทรัพย์สินเงินทอง เพื่อซื้อของนอกกาย ที่คิดว่า มันเป็นตัวแทนของ "ความสุข" ซึ่งความสุขของแต่ละคน ก็มีวิธีแสวงหาแตกต่างกันไป...

          วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ เดินทางยังประเทศ ๆ หนึ่ง  ซึ่งถูกขนานนามว่า เป็นดินแดนแห่งความสุข … เราไปดูกันซิว่า ดินแดนดังกล่าว จะสุขล้นเหมือนที่เขาบอกกันหรือไม่ … แล้วเขามีความสุขกันได้อย่างไร และใช้อะไรเป็นตัววัดความสุขเหล่านั้น … เอาล่ะ! เตรียมเก็บกระเป๋าให้พร้อม แล้วไปลุยกันเลย

          จุดหมายปลายทางในครั้งนี้อยู่ที่ประเทศภูฏาน ประเทศที่เขาว่ากันว่า มีดัชนีความสุขสูงมาก... ประเทศที่เขาว่ากันว่า อยู่อย่างพอเพียง ไม่พึ่งเทคโนโลยี ไม่พึงชอบสิ่งสมัยใหม่ ...แต่ความจริงแล้ว ประเทศนี้เป็นอย่างไร วันนี้เราจะขอตามรายการ พื้นที่ชีวิต ตอน พุทธศาสนากับความสุขมวลรวม ที่มีนักเขียนฝีมือดีอย่าง คุณสิงห์ วรรณสิงห์  มารับหน้าที่เป็นพิธีกร พาเราไปหาคำตอบกันค่ะ



           ประเทศภูฏาน เป็นประเทศที่ค่อนข้างกันดาร เพราะหากวัดจากอันดับความยากจนนั้น ประเทศภูฏาน ติดอยู่ในอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว แต่ความรู้สึกของก้าวแรกที่แตะแผ่นดินภูฏานนั้น คุณสิงห์ บอกว่า รู้สึกสดชื่นมาก ๆ เพราะประเทศนี้มีแต่สีเขียวชอุ่มเต็มไปหมด ...ภาพในหัวที่วาดไว้มาตลอดว่า ชาวเมืองภูฏานต้องอยู่ในกระต๊อบกลางนาเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ในเมืองพาโร แตกต่างจากที่เคยคิดอย่างสิ้นเชิง มีโรงแรมที่ใหญ่ และกว้างขวางมาก มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ร้านรวงโทรศัพท์มือถือรุ่นต่าง ๆ เต็มไปหมด สิ่งเหล่านี้ ทำให้เรารู้ว่า ภาพที่เราเคยคิดไว้ ตอนนี้มันไม่จริงแล้ว

          สถานที่แรกที่คุณสิงห์ ได้พาเราไปเยี่ยมชมนั่นก็คือ "พาโรซอง" หรือป้อมพาโรนั่นเอง พาโรซองเป็นป้อมประจำจังหวัดขนาดใหญ่ ภายในนั้นมีสำนักสงฆ์ และศาลากลางปกครอง อยู่ที่เดียวกัน จะเห็นได้ว่า ประเทศภูฏาน ให้ความสำคัญกับเรื่องศาสนามากพอ ๆ กับ การเมืองการปกครองเลยทีเดียว...

          และเมื่อเข้าไปภายในพาโรซองนั้น ก็จะพบประชาชนนั่งสวดมนต์ และนับลูกประคำกันอย่างมากมาย โดยคุณสิงห์นั้น ได้มีโอกาสคุยกับ ภิกษุเคนโบ พุนท์ชก ทำชิ พระรูปหนึ่งในพาโรซอง ถึงเรื่องความสุขของประชากรภูฏาน ซึ่งภิกษุเคนโบ ได้ให้ข้อคิดว่า... ความสุขของคนที่นี่เดินทางคู่กันมากับศาสนา และศาสนาก็เปรียบเสมือนพันธุกรรมในจิตใจของคน และความสุขก็เกิดจากหลักจริยธรรม  ดังนั้นถ้าเราก้าวเดินตามพุทธปรัชญา มันก็ทำให้คนยิ้มได้และนั่นก็คือที่มาของความสุขนั่นเอง

          แต่ว่า...ความสุขเป็นนามธรรม เป็นสิ่งจับต้องไม่ได้...ประเทศภูฏาน เขาใช้อะไรมาเป็นหน่วยวัดความสุขเหล่านี้ … แล้วหน่วยของความสุขนี้จะเรียกว่าอะไร แล้วอะไรคือ "ความสุขมวลรวม"  แต่ก่อนในยุคที่วิทยาศาสตร์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในชีวิต มีนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งได้บอกเอาไว้ว่า... สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เป็นเรื่องที่เพ้อฝัน ถ้าอะไรที่วัดค่าไม่ได้ อย่าไปใส่ใจมัน  ต่อมาความคิดดังกล่าว ได้กระจายไปสู่ทุกสังคม ทุกสิ่งทุกอย่างวัดค่าจากตัวเงิน  ประเทศหลายประเทศมีเงินมาก แต่ชุมชนแตกสลาย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมีมากขึ้น ส่วนทรัพยากรธรรมชาติร่องหรอลงถึงขั้นวิกฤติ …
      



         ประเทศภูฏานได้ตระหนักถึงความสำคัญกับสิ่งดังกล่าวที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างรวดเร็ว … เลยตั้งคำถามว่า "ดีกว่าไหม ถ้าเราจะอยู่อย่างมีความสุข  โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เพื่อนำมาซึ่งความสุขส่วนตัว" ทางรัฐบาลภูฏาน จึงได้ใช้หลัก GNH  (Gross National Happiness ) ในการบริหารประเทศ  

         โดยปกติแล้ว ประเทศทุกประเทศจะใช้ดัชนีตัวชี้วัดการพัฒนาประเทศเป็น GDP (Gross domestic product ) เป็นการวัดระดับมาตรฐานของประเทศ จากมูลค่าทางการตลาดของมวลรวมสินค้า ทั้งการผลิต การบริโภค และการลงทุน แต่ประเทศภูฏานเป็นประเทศเดียวที่ยังใช้ GNH  หรือดัชนีวัดความสุข เป็นมาตรฐานของประเทศ !!

        คุณสิงห์ได้มีโอกาสไปพักยังบ้านดั้งเดิมตามวิถีที่แท้จริงของชาวบ้านภูฏาน โดยคุณสิงห์ เล่าว่า ประชาชนชาวภูฏาน กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จะปลูกข้าวไว้กินเอง แต่ถ้าเหลือเขาก็จะนำข้าวเหล่านั้นขายออกสู่ตลาด  ส่วนบ้านของเขาเป็นบ้านที่ทำจากดิน คนงานเก่าแก่จะพูดภาษาพื้นบ้าน แต่คนรุ่นใหม่ จะพูดภาษาอังกฤษได้หมด เพราะได้บรรจุเป็นหลักสูตรบังคับ และการมาถึงที่บ้านของชาวบ้านแห่งนี้ พวกเขาก็ต้อนรับอย่างอบอุ่น ได้นำหินเผาไฟแช่น้ำร้อนให้ได้อาบกันด้วย ซึ่งเชื่อกันว่า แร่ธาตุในหินจะช่วยบำรุงร่างกาย พออาบน้ำเสร็จ เจ้าบ้านก็ได้นำอาหารมาเสิร์ฟ ส่วนมากจะมีแต่เมนูผัก เพราะที่ภูฏานเขาไม่ยอมให้มีโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งผิดทั้งกฏหมาย และผิดทั้งกฏศาสนา ทั้งนี้พวกเขาเห็นตรงกันว่า จะไม่ฆ่าสิ่งมีชีวิตเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ส่วนเมนูที่คุณสิงห์ได้ทานในวันนี้ เป็นพริกผัดชีส ซึ่งรสชาติถูกปาก เพราะคล้าย ๆ รสชาติอาหารไทย

        เมื่ออิ่มแล้ว คุณสิงห์ก็ได้นั่งพูดคุยกับเจ้าของบ้าน ซึ่งเจ้าของบ้านวัยประมาณ 40 เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนทุกที่ในประเทศกันดารมาก ไม่มีถนน ไม่มีหมอ สมัยก่อนมีเด็กตายกันเยอะมาก ตอนตนเด็ก ๆ ครอบครัวของตนจนมา จำได้เลยว่า เคี้ยวหมากฝรั่งแล้วแปะไปที่ข้างฝา พอรุ่งขึ้นก็แงะมาเคี้ยวใหม่ แต่ทุกวันนี้ ชีวิตดีขึ้น มีเครื่องอำนวยความสะดวก ทำให้ชีวิตสบายมากกว่าเดิม สำหรับกิจวัตรประจำวันนั้น ถ้าเรามีภารกิจที่ไม่สามารถเดินทางไปไหว้พระที่วัดได้ ก็ต้องสวดมนต์เป็นประจำ คอยภาวนาให้โลกสงบสุข ให้โลกปราศจากสงคราม

       นอกจากนี้ คุณสิงห์ยังได้พูดคุยกับลูกสาวเจ้าของบ้าน ซึ่งอยู่ในวัยรุ่น โดยหญิงสาวได้เล่าให้ฟังว่า ตนเกิดในยุคใหม่ที่ค่อนข้างสบาย เพราะมีทุกอย่างครบ ทุกวันนี้ถึงจะต้องใส่ชุดประจำชาติไปโรงเรียน แต่วันธรรมดา ตนก็อยากใส่ชุดเหมือนดาราในทีวีดูบ้าง ส่วนกิจวัตรประจำวันของตน ก็ช่วยแม่ทำงานบ้าน ไปโรงเรียน ดูทีวี บ้างก็คุยโทรศัพท์มือถือ แล้วก็เล่นอินเทอร์เน็ต ซึ่งตนก็มีเฟซบุ๊กเหมือนวัยรุ่นประเทศอื่น ๆ ด้วย





       ...รุ่งอรุณของวันต่อมา คุณสิงห์ ได้พาเราไปเยี่ยมชมป้อมอีกป้อมหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในเมืองภูฏาน นั่นก็คือ ทาชิโดซอง ลักษณะภายในก็เหมือน พาโรซอง คือ ครึ่งหนึ่งเป็นสำนักสงฆ์ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นศาลาการปกครอง ซึ่งเป็นที่ที่กษัติรย์จิกมี ทรงทำงาน .. ชาวบ้านแถวนั้นเล่าให้ฟังว่า ท่านทรงขี่จักรยานมาทำงานทุกวัน บ้างก็เดินมาด้วยตัวท่านเอง พร้อมทักทายประชาชนข้างทางอย่างเป็นกันเองมาเสมอ ส่วนวังของท่านนั้นอยู่ถัดไปจากทาชิโดซองไม่กี่เมตร ซึ่งเมื่อใครได้เห็นวังต่างก็ต้องอึ้ง ไม่ใช่เพราะความสวยงาม แต่เป็นความเล็กของวังนั้น แสดงออกถึงความสมถะของกษัตริย์พระองค์นี้

        หลังจากที่ได้เยี่ยมชมความงามในทาชิโดซองแล้ว คุณสิงห์ ยังได้พาไปดูแหล่งวัยรุ่นของชาวภูฏานที่เปรียบได้กับสยามบ้านเรา แต่มีขนาดและลักษณะคล้าย ๆ เยาวราช ซึ่งในละแวกนั้น ก็จะมีนักเรียน คู่รัก เดินเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก มีร้านค้ามากมาย ทั้งร้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ พลาซ่า มือถือ ร้านสะดวกซื้อ ถึงแม้ว่า แต่ละร้านค้าจะไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากนัก แต่ก็ทำให้เราได้เห็นว่า ภูฏาน เริ่มเปิดประเทศแล้ว และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของภูฏาน นั่นก็คือ ประเทศนี้ทั้งประเทศมีแยกไฟแดงเพียงแยกเดียว เมื่อคำนวณจากประชากรทั้งหมดราว ๆ 7 แสนคน ถือว่าน้อยมากเลยทีเดียว

       นอกจากนี้ คุณสิงห์ ยังได้รับเกียรติได้พูดคุยกับ กรรมาธิการบริหาร GNH ถึงการนำเอาศาสนาเป็นข้อกำหนดกฎหมาย โดย กรรมาธิการบริหาร GNH ได้กล่าวว่า  GDP ถ้าเอาตัวเลขมาวัดความก้าวหน้า ก็จะสะท้อนถึงการพัฒนาได้ดีกว่า GNH อย่างแน่นอน แต่ตนมองว่า มนุษย์ทุกคนบอกโลกใบนี้ ต่างแสวงหาความสุขด้วยกันทั้งนั้น เราเลยทำนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน จึงได้นำเอาพุทธศาสตร์ มาเป็นเบื้องหลังของกระบวนการสำรวจความคิดเห็นของชาวภูฏาน ซึ่งร้อยละ 90 ของชาวภูฎาน มีความสุขทางจิตใจ คือ ไม่รู้สึกเครียด ไม่มีเรื่องเดือดร้อน ซึ่งความสุขดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลใส่ใจอย่างมาก จะเห็นได้ชัดว่า  GNH เป็นปรัญชาสู่การเมือง นำมาซึ่งนโยบายสาธารณะที่แท้จริง ไม่ใช่คำพูดสวยหรูแบบที่ใคร ๆ คิด ...

       กรรมาธิการบริหาร GNH ยังกล่าวต่อไปว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีพระรูปหนึ่งใช้โทรศัพท์มือถือขณะทำกิจสวดมนต์ ซึ่งในระหว่างนั้น โทรศัพท์ก็ดังขึ้น ทำให้การสวดชะงักไป แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ เราไม่สามารถลงโทษพระในข้อหาใช้มือถือได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ระยะหลังมา สิ่งของพวกนี้ ก็เป็นเพียงแค่วัตถุนอกกายเท่านั้น พระสงฆ์ รวมถึงประชาชนทั่วไป ก็เลิกใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะพวกเขาคิดว่า เราไม่ควรยึดติดกับวัตถุ

       ส่วนสถานที่ต่อไปของคุณสิงห์ คือ ห้องส่งของรายการทีวีรายการหนึ่ง ซึ่งมีผู้ดำเนินรายการที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ ถ้าเปรียบกับเมืองไทยก็คงเหมือน คุณสรยุทธ์ สุทัศนจินดา ซึ่ง ผู้ดำเนินรายการคนนี้ ได้ออกมาเล่าให้ฟังว่า มีคนถามว่า "ทำไมรายการข่าวของประเทศเราน่าเบื่อจัง" ตนก็เลยไม่รู้ว่าจะพูดว่าอย่างไร นอกจากตั้งคำถามกลับไปว่า บ้านเมืองเราตอนนี้ มีสงครามทางการเมืองไหม ? มีข่าวอาชญากรรมไหม ? มีข่าวอุทกภัย หรือคดีร้ายแรงใด ๆ ไหม ? ถ้าคุณตอบว่าไม่มี คุณก็ต้องทำใจให้มีความสุขเสพข่าวแบบน่าเบื่ออย่างนี้ต่อไป 

      ประเทศภูฏาน กำลังก้าวเข้าไปเป็นประเทศกำลังพัฒนา และได้ถูกท้าทายด้วยระบบทุน  ซึ่งพวกเขาจะมีมาตรการอะไรที่จะคงไว้ซึ่งประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยปรับให้ทั้งศาสนา และค่านิยมใหม่ ที่อาจจะดูเหมือนไปในทิศทางเดียวกันไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล ไม่มากไม่น้อยเกินไป  เราก็ต้องรอดูกันต่อไป...

      แต่เท่าที่เห็นภาพรวมของประเทศภูฏานนี้ ถึงแม้ว่า พวกเขาจะไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐบาลมากเท่าไรนัก เพราะเงินของรัฐบาลหาได้จากการปั่นกระแสไฟจากแม่น้ำเท่านั้น แต่พวกเขาก็พอใจกับการหาเช้ากินค่ำ และศาสนาที่อยู่เคียงข้างกับพวกเขามาตลอด เพราะนั่นเป็นรากฐานสำคัญ อันเป็นที่มาของความสุข หรือที่พวกเขาเรียกกันว่า "สุขมวลรวม" นั่นเอง

      ก่อนจะจากกันวันนี้ มีพระรูปหนึ่งได้เล่านิทานพื้นเมืองดี ๆ ให้ฟังว่า

     "...มีคุณปู่คุณหนึ่ง ได้ขุดดินเจอ เทอร์ควอยส์ (Turquoise) ซึ่งเป็นอัญมณีสีเขียว คุณปู่ดีใจมาก และรู้ว่ามันมีค่ามากมายมหาศาลแค่ไหน แต่กระนั้นคุณปู่ก็ไม่ได้นำไปขาย แต่นำไปแลกกับม้า ที่เจอชายคนหนึ่งขี่ข้างทาง ซึ่้งเมื่อเทียบกับราคาเทอร์ควอยส์แล้ว ม้ามีค่าเพียงนิดเดียวเท่านั้น แต่คุณปู่นั้นก็ยอมแลก เพราะต้องการมีความสุขจากการได้ขี่ม้ารอบเมือง จากนั้น คุณปู่ก็แลกม้ากับแพะ แลกแพะกับไก่ แลกไก่กับขลุ่ยที่ชายคนหนึ่งเป่าอยู่อย่างสนุกสนาน โดยคุณปู่คิดเพียงแค่ว่า ... อยากแลกเพื่อความสุขของตัวเองเท่านั้น โดยไม่สนใจว่า สิ่งของเหล่านั้น จะมีค่ามากมายมหาศาลแค่ไหน เพราะความสุข มันไม่ได้วัดกันที่ค่าของเงินตรา..."










ขอขอบคุณข้อมูลจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แสวงหาความสุขที่เมืองภูฏาน ดินแดนที่มีแต่สุข อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2554 เวลา 17:09:09 16,511 อ่าน
TOP
x close