เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์ลักษณะคล้ายโลก อยู่ห่างไป 22 ปีแสง เชื่อมีน้ำบนนั้นและอาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่ด้วย
โดยดาวเคราะห์ดวงนี้ มีชื่อว่า GJ 667Cc หรือ กลีซ 667 ซีซี เป็นดาวเคราะห์หินที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกราว 4.5 เท่า อยู่ห่างจากโลกออกไป 22 ปีแสง โคจรอยู่ในระบบสุริยะ GJ 667 C ซึ่งมีดาวสมาชิกพี่น้องทั้งหมด 3 ดวง และมีดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง โดยจะโคจรรอบดาวฤกษ์ของมัน 1 รอบในเวลาเพียง 28.15 วัน ด้วยระยะห่างมากพอที่จะทำให้พื้นผิวดาวไม่ร้อนไม่เย็นเกินไป อยู่ในเขตเอื้อต่อการมีชีวิต (habitable zone) หรือก็คือเขตที่น้ำสามารถดำรงอยู่ในสภาวะของเหลวได้บนพื้นผิวดาวนั่นเอง
รายงานระบุว่า ดาวเคราะห์ GJ 667Cc ถูกค้นพบจากการส่องกล้องโทรทรรศน์จากหอสังเกตการณ์ยูโรเปียนเซาเทิร์น และเมื่อศึกษาถึงรายละเอียดเบื้องต้นพบว่ามันอาจเป็น "ซูเปอร์เอิร์ธ" หรือดาวเคราะห์คล้ายโลกที่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งอาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนนั้นก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ดี นั่นเป็นเพียงการคาดเดาจากนักดาราศาสตร์เท่านั้น ดาวเคราะห์ดวงนี้ยังคงต้องได้รับการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับรายละเอียดของดาวต่อไป
ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการสำรวจดาวมา ดาว GJ 667Cc นับเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 4 ที่นักดาราศาสตร์พบว่ามีลักษณะคล้ายโลกมากที่สุด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีลักษณะคล้ายโลกไปแล้ว 3 ดวง ได้แก่ กลีซ 581 ดี (ห่างจากโลก 20 ปีแสง), เอชดี 85512 บี (ห่างจากโลก 36 ปีแสง), และเคปเลอร์ 22 บี (ห่างจากโลก 600 ปีแสง)