เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เรื่องเล่าเช้านี้ , ครอบครัวข่าว 3
กรมศิลปากรสั่งเปลี่ยนสีโบสถ์วัดพายทองกลับดังเดิม หลังเจ้าหน้าที่รุดคุยชาวบ้านที่ทาสีโลสถ์ฉูดฉาด จนเข้าใจดีแล้ว ขณะที่ชาวบ้านเผยไม่คิดว่าเป็นการทำลายความเก่าแก่ เพียงอยากให้วัดดูใหม่ และสวยงามเท่านั้น
วานนี้ (26 กุมภาพันธ์) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ต.สายทอง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ว่า มีอุโบสถเก่าแก่ของวัดพายทองอายุกว่า 100 ปี ได้ถูกชาวบ้านทาสีฉูดฉาด และระบายสีทับลวดลายจนไม่เหลือคราบความเก่าแก่ และเมื่อผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าว พบว่า อุโบสถดังกล่าวมีสภาพที่เก่าแก่มาก แต่บริเวณกำแพงนั้นถูกทาสีใหม่ด้วยสีที่ฉูดฉาด ทั้งสีแดง สีเหลือง สีชมพูสด และเมื่อเดินเข้าไปยังหน้าอุโบสถ พบเสมาถูกทาด้วยสี 4 สี ทั้งสีแดง ชมพู เขียว และส้ม ซึ่งแต่ละสีเป็นสีที่สด และทาระบายเข้มมาก
ส่วนที่สะดุดตาที่สุดนั้นเป็นบริเวณซุ้มประตูพระอุโบสถด้านหลัง ที่มีตัวสิงห์ตั้งอยู่ ถูกทาสีเหลืองเข้ม และตกแต่งลวดลายบริเวณใบหน้าด้วยสีขาวและแดง แถมบริเวณก้นของสิงห์นั้นก็ถูกแต้มด้วยสีแดง คล้ายตัวการ์ตูน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง พระกฤษณะ ธัมมสาโร อายุ 30 ปี พระลูกวัด ผู้ที่ดูแลพระอุโบสถ ท่านได้กล่าวว่า ตนเป็นผู้ดูแลและอาศัยอยู่ในพระอุโบสถหลังนี้ ซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 100 ปี สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อปีที่ผ่านมา วัดถูกน้ำท่วม จนทำให้สภาพวัดและอุโบสถมีสภาพเก่าแก่อยู่แล้ว ทรุดโทรมมากขึ้นไปกว่าเดิม ทางวัดจึงได้ประชุมปรึกษาว่า จะบูรณะวัดโดยการทาสีใหม่ โดยการเรี่ยไรเงิน และลงมือทำกันเอง
ขณะที่ นางทองชุบ ชื่นผกา อายุ 66 ปี ชาวบ้านในย่านดังกล่าว กล่าวว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดประจำหมู่บ้าน ช่วงเย็น ๆ ก็จะมีชาวบ้านมานั่งสวดมนต์ทุกวัน ส่วนเรื่องที่ทาสีใหม่ให้วัดนั้น ตนก็คิดว่าดี เพราะว่าอยากให้อุโบสถดูใหม่ และมีสีสันที่สวยงาม และการที่ใช้สีฉูดฉาดนั้น เป็นเพราะว่าชาวบ้านอยากให้สีดูคงทน ไม่ซีดง่าย และอยู่ได้นานหลายปี โดยตนไม่คิดว่าจะไปทำลายความเก่าแก่ของอุโบสถแห่งนี้ เนื่องจากได้ไปขออนุญาตกับเจ้าอาวาสแล้ว และทางเจ้าอาวาสก็ยินยอม แต่ทั้งนี้ก็มีชาวบ้านบางคนไม่เห็นด้วยกับการทาสีดังกล่าว
ส่วนทางด้าน นายเฉลิม ช่วยชู อายุ 38 ปี กล่าวว่า การบูรณะวัดก็เป็นเรื่องดี แต่ตนไม่เห็นด้วยที่จะมาทาสีสันฉูดฉาดเช่นนี้ และคิดว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากจะไปทับรอยเก่าแก่ที่เป็นประวัติศาสตร์ของวัดไป แต่ทำอย่างไรได้ในเมื่อเป็นมติของทางวัด ตนจึงว่าอะไรไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อไปตรวจสอบไม่เจอเจ้าอาวาสวัดดังกล่าว เนื่องจากติดกิจนิมนต์นอกวัด จึงได้โทรศัพท์เพื่อสอบถามถึงเหตุผลของการทาสีฉูดฉาด ซึ่งทางเจ้าอาวาสไม่ยอมให้ข้อมูล เพียงแต่บอกว่า ถ้าหากอยากรู้รายละเอียดให้ไปคุยกันที่วัด จากนั้นท่านก็ปิดโทรศัพท์ไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย
ขณะที่ในวันนี้ (27 กุมภาพันธ์) นายพิชัย บุญแจ้ง หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้เดินทางไปสำรวจโบสถ์ที่ตกเป็นข่าว พร้อมกับระบุว่า จากการสืบค้นการสร้างโบสถ์เบื้องต้น ทราบว่า วัดพายทองมีอายุไม่ต่ำกว่า 104 ปี และเป็นวัดที่สร้างตามศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งน่าเสียดายมากที่มีการนำสีมาทาใบเสมาซึ่งมีอายุเก่าแก่ จนสีน้ำซึมเข้าไปในเนื้อหินแล้ว
นายพิชัย กล่าวต่อว่า การเดินทางมาวันนี้เพื่อชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจ และขอให้ทุกคนเห็นความสำคัญของโบราณสถานที่ต้องคงคุณค่าเอาไว้ โดยขณะนี้ ชาวบ้านเข้าใจดีแล้ว และจะมอบหมายให้ทางกรมศิลปากรเข้ามาซ่อมแซม ล้างสี ให้กลับเป็นดังเดิม หรือทาสีขาวทับลงไป ซึ่งยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะให้โบราณวัตถุกลับคืนสู่สภาพเดิม เพราะมีความเสี่ยงต่อการสึกหรอ
ด้าน พ.ท.วิเชียร ผาไท ไวยาวัจกรวัดพายทอง กล่าวว่า ทางชาวบ้านได้เรี่ยไรเงินกันมาได้ 4 หมื่นกว่าบาท แล้วนำเงินจำนวนหนึ่งไปทาสี เจตนาคือเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้พระอุโบสถทรุดโทรม โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านก็เข้าใจดีแล้ว และไม่ติดใจอะไรอีก แต่สำหรับเรื่องที่จะขึ้นทะเบียนวัดเป็นโบราณสถานนั้น ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะหากขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กรมศิลปากรจะมีอำนาจเด็ดขาดในการเข้ามาทำงาน เข้ามาบูรณะซ่อมแซม ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถดำเนินการดูแลวัดเองได้ เพราะจะถูกดำเนินคดีฐานทำลายโบราณสถาน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก