ตามหาความหมายชีวิต กับการพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์










เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Youtube โพสต์โดย LadyBimbette

          บ่อยครั้งที่มนุษย์เราตั้งคำถามในทุกสิ่งและทุกเรื่องราวที่ได้ประสบพบพาน เป็นเหตุให้มนุษย์ต้องเสาะแสวงหาคำตอบมาไขความกระจ่าง และวิธีหาคำตอบก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสืบค้นจากในโลกอินเทอร์เน็ต หรือ จากในหนังสือ ไปจนกระทั่งถึงการถามจากผู้รู้ ถึงกระนั้นก็มีบางคำถามที่มนุษย์เราหาคำตอบจากกลวิธีธรรมดาสามัญทั้งหลายไม่ได้ โดยหนึ่งคำถามที่มนุษย์เราต้องการหาคำตอบให้ได้มากที่สุดเป็นเรื่องของความหมายในชีวิต และจากจุดเริ่มต้นนั้นเองที่ทำให้มนุษย์ดั้นด้นออกเดินทางไปไกลแสนไกลเพื่อจะค้นหาให้ได้ว่า ความหมายในชีวิตของตนเองนั่นคืออะไร หากความจริงแล้วคำตอบมันอาจจะอยู่กับเรามาตั้งแต่เริ่มต้น

          วันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอหยิบยกเรื่องราวในรายการพื้นที่ชีวิต ตอน เอเวอร์เรสต์ เส้นทางสู่เป้าหมายที่จากมา ออกอากาศเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ทางโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มาแนะนำให้ทุกคนได้ร่วมค้นหาความหมายชีวิตไปพร้อม ๆ กัน

          เป้าหมายของการเดินทางของรายการในครั้งนี้ คือ การไปเยือนเอเวอร์เรสต์ หรือที่หลายคนเรียกว่า เทือกเขาหิมาลัย เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในปี ค.ศ. 1852 เมื่อมีการค้นพบว่า ยอดสิบห้า ของเทือกเขา ที่มีชื่อในภาษาเนปาลว่า สการะมาตา หมายถึงเทวีแห่งท้องฟ้า เป็น ภูเขาที่สูงที่สุดในโลก อยู่เหนือระดับน้ำทะเลราว 8,848 เมตร ต่อมาจึงมีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า ยอดเขาเอเวอร์เรสต์













          และนับตั้งแต่นั้นมาผู้ที่หลงใหลในการปีนเขาก็ได้มุ่งหน้าสู่เทือกเขา เพื่อพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์แห่งนี้ให้ได้ แต่ด้วยเส้นทางที่ทรหดมากทำให้มีหลายคนต้องจบชีวิตลง และ ไม่มีใครไปถึงยอดได้สำเร็จ จนกระทั่งเวลาผ่านไปถึง 101 ปี ยอดเขาเอเวอร์เรสต์จึงถูกพิชิตลงโดย เซอร์ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี่ ชาวนิวซีแลนด์ และ เทนซิ่ง เนอร์เกย์ ชาวเชอร์ปา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2496 และ กลายเป็นข่าวโด่งดังที่กระตุ้นให้คนจากทั่วโลก ต่างมุ่งหน้าสู่เทือกเขาแห่งนี้มากขึ้น

          เส้นทางการเดินทางเริ่มต้นจากขึ้นเครื่องบินที่กรุงเทพมหานครใช้เวลาประมาณสามชั่วโมงครึ่งจะมาถึงเมืองกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของประเทศเนปาล ซึ่งวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล พิธีกรของรายการเล่าให้ฟังว่า เมื่ออายุประมาณสิบกว่าขวบ เขาเคยเดินทางมาที่นี่กับแม่และยาย แต่ความทรงจำที่มีต่อเนปาล ณ ขณะนั้นเลือนลางมาก จำได้เพียงว่าเป็นประเทศที่มีวัดวาอารามมากมายเท่านั้น เมื่อได้เห็นผู้คนมากมายหลั่งไหลเข้ามาที่นี่เพื่อพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกก็ทำให้หวนคิดว่า ทำไมคนเราต้องมาลำบากเอาเวลาว่าง ทิ้งชีวิตอันสะดวกสบายมากลางหุบเขาที่ไม่มีอะไรเลยเพื่อมาปีนเขาเอเวอร์เรสต์ แทนที่จะเอาเวลาว่างไปนั่งทำอย่างอื่นที่สบายกว่า อะไรเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาเหล่านั้นเอาชีวิตมาเสี่ยงเพื่อแลกกับประสบการณ์ ซึ่งนั่นเป็นคำถามที่เขาตั้งไว้ก่อนจะมาถึงที่นี่

          ในคืนแรกทีมงานของรายการพักกันที่เมืองกาฐมาณฑุเพื่อเตรียมการสำหรับการไปเยือนหิมาลัย อย่างแรกที่ต้องทำ คือ การหาตั๋วเครื่องบิน บินจากกาฐมาณฑุไปยังเมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง เรียกว่า เมืองลุคลา อันดับต่อมาต้องหาไกด์ รวมถึงการทำใบอนุญาตปีนเขาในหิมาลัยด้วย โดยธุรกิจการท่องเที่ยวของที่นี่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลเนปาลค่อนข้างมาก ทำให้ต้องเสียภาษีเยอะอยู่พอสมควร และ เนื่องจากอากาศบนนั้นเบาบางและสภาพร่างกายก็ไม่ฟิตพร้อมจึงจำเป็นต้องจ้างลูกหาบขนของร่วมคณะไปด้วย จากนั้นทีมงานก็ตระเวนหาซื้ออุปกรณ์จำเป็นในการปีนเขา









          วรรณสิงห์ ยังเล่าต่ออีกว่า ในบรรดาบันทึกมากมายที่เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการปีนเขาที่หิมาลัย มีบันทึกอยู่เล่มหนึ่งที่นักปีนเขาทุกคนต้องอ่านก่อนมาที่นี่ นั่นคือ หนังสือ into thin air หรือที่มีชื่อภาษาไทยว่า ไต่ฟ้ากระชากฝัน เนื้อหาในหนังสือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1996 เมื่อผู้เขียน คือ จอห์น คราเคาเออร์ นักเขียนของนิตยสาร  Outside และ เป็นนักปีนเขาสมัครเล่น ได้รับข้อเสนอให้ไปหิมาลัยเพื่อเขียนบทความเกี่ยวกับธุรกิจการนำคนเขาสู่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ จึงได้ร่วมปีนเขาไปกับคณะอื่น ๆ จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่สะเทือนใจคนทั้งโลกในตอนนั้น เพราะที่ความสูงเหนือระดับ 2,500 ฟุตขึ้นไป นอกจากนักปีนเขาจะต้องผจญกับอุณหภูมิต่ำว่าจุดเยือกแข็ง และสภาพอากาศอันเลวร้ายแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปอดบวม สมองบวม เนื่องจากความสูงและโรคหิมะกัด ทำให้หลายคนที่แม้จะพิชิตยอดเขาสำเร็จแต่ก็ต้องถูกตัดนิ้วเท้า ตัดแขน ตัดขา หลังจากที่ลงมา หรือแม้แต่เสียชีวิตตอนอยู่บนยอดเขา

          แม้เรื่องราวในหนังสือจะสร้างความกลัวให้กับทีมงาน แต่ทั้งหมดก็ยังเดินทางไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยขึ้นเครื่องบินเล็กจากกาฐมาณฑุไปสู่เมืองลุคลา ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางไปยังเอเวอร์เรสต์เบสแคมป์ ซึ่งถือเป็นเส้นทางการปีนเขาที่เรียกว่าโหดมากที่สุดเส้นทางหนึ่ง แต่การเดินทางไปสู่เอเวอร์เรสต์เบสแคมป์ ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 วันด้วยกัน ทำให้ทีมงานที่มีเวลาจำกัดตัดสินใจวางแผนไปให้ถึงแค่เมืองนัมเช











          ทั้งนี้วันแรกของการเดินทางต้องออกจากหมู่บ้านลุคลาไปยังหมู่บ้านพาคดิง อยู่ห่างออกไปประมาณ 3 ชั่วโมง ที่นี่มีคนพื้นเมืองเป็นชาวเชอร์ปาซึ่งนับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อเหล่านี้แต่สำหรับนักปีนเขาจากทั่วโลกต่างรู้กันดีว่า ชาวเชอร์ปาคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ทำให้ทุกวันนี้ชาวเชอร์ปากว่าร้อยละ 70 หันมาทำอาชีพเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทางทีมงานเดินทางมาจนถึงพาคดิงและเข้าพักในห้องพักที่ล้วนแต่มีเฟอร์นิเจอร์เพียงเตียง 2 เตียง ไม่มีอย่างอื่นหรือแม้แต่ฮีตเตอร์

          ตลอดเวลาที่อยู่ในที่พักหรือร้านอาหารจะเจอกับโปสเตอร์ ของเซอร์ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี่ และ เทนซิ่ง เนอร์เกย์ สองคนแรกที่ได้ไปถึงยอดเขาเอเวอร์เรสต์ทำให้เกิดคำถามว่าอะไรเป็นสิ่งผลักดันให้เราขึ้นไปยอดเขาเอเวอร์เรสต์เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว ซึ่งสิ่งที่พวกเขาทำได้กลายเป็นตำนาน ที่ส่งผลให้คนอีกจำนวนมากอย่างตามรอยพวกเขาเข้าไปถึงจุดสุดยอดของเอเวอร์เรสต์ให้ได้

          " ตอนเด็ก ๆ ผมเคยเชื่อว่า คนเราต้องเลือกทางเดินทางใดทางหนึ่ง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปเลย หรือไม่ก็ใช้ชีวิตให้มีความหมาย ทิ้งอะไรไว้เบื้องหลังเมื่อเราตายไป สร้างตำนานไว้ให้ตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีความสุขมากก็ได้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าแต่ก่อนเราต้องเลือกระหว่างทางใดทางหนึ่ง แต่พอโตมาเรากลับรู้สึกว่า ถ้าหากไม่มีความสุขในสิ่งที่ทำ มันจะไม่มีแรงทำซะจนสร้างความหมายให้สิ่งที่เราทำได้ สุดท้ายแล้วมันน่าจะไปด้วยกัน พอผมดูโปสเตอร์ของ เซอร์ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี่ และ เทนซิ่ง เนอร์เกย์ คำถามที่ว่า เราต่างกันตรงไหน แล้วเราเหมือนกันตรงไหน จุดที่ต่างก็คือว่า เรามีความสุขจากสิ่งที่ต่างกัน ผมไม่ได้มีความสุขกับการปีนยอดเอเวอร์เรสต์ แต่จุดที่เหมือนกันก็คือ เราทั้งคู่ต่างใช้ชีวิตไปตามหาสิ่งที่เรามีความสุขเช่นเดียวกัน แต่แน่นอนว่าก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งไปเลย คือ กลุ่มที่ไม่สามารถใช้ชีวิตตามความสุขของตัวเองได้ กลับที่ต้องทนกับสิ่งที่ตัวเองทุกข์ทุกวัน ซึ่งผมก็คงเป็นคำถามต่อไปที่ไม่สามารถตอบได้ว่าทำไม บางคนจึงใช้ชีวิตทนทุกข์กับสิ่งที่ไม่อยากทำอยู่ ขนาดที่คนอื่น ๆ ปีนยอดเอเวอร์เรสต์ไปจนสุดได้ "













          ในวันที่ 2 ทีมงานเดินทางจากพาคดิงไปยังหมู่บ้านนัมเช หมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดบนเทือกเขาหิมาลัย ใครที่จะเดินทางไปเอเวอร์เรสต์เบสแคมป์ต้องหยุดพักที่หมู่บ้านนัมเชเป็นปกติ ทั้งหมดออกเดินทางจนถึงหมู่บ้านมอนจู หมู่บ้านที่อยู่ระหว่างหมู่บ้านพาคดิง กับ หมู่บ้านนัมเชก็หยุดพัก กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางก็ใช้เวลาทั้งหมด ประมาณ 7 ชั่วโมงครึ่ง และได้ไปพักในโรงแรมที่อยู่สูงสุดของหมู่บ้าน การไปถึงที่หมายได้ไม่ได้ทำให้รู้สึกโล่งเพียงอย่างเดียว แต่มันทำให้รู้สึกว่า มนุษย์เรามีความสามารถมากกว่าที่คิด อยู่ที่ว่าเราจะงัดมาใช้หรือเปล่า ซึ่งวันที่มาถึงเป็นวันที่ 24 ธันวาคม เป็นช่วงวันคริสต์มาสอีฟ คนต่างชาติจะเฉลิมฉลองกันที่นี่ค่อนมาก ทำให้ทีมงานได้เจอกับคู่รักคู่หนึ่งมาจากประเทศอังกฤษ ชื่อคุณไมค์ กับ คุณแดนนี่ ที่เพิ่งกลับมาจากเอเวอร์เรสต์เบสแคมป์จึงได้พูดคุยกันถึงความประทับใจในการเดินทางมาที่นี่ ซึ่งทั้งคู่ก็พอใจกับการได้ดูพระอาทิตย์ตกทุกวัน เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแคมป์ ลักษณะภูมิประเทศไปถึงการดำเนินชีวิตของคนที่นี่ที่หาความสุขได้ง่าย แตกต่างจากคนในประเทศอังกฤษที่เร่งรีบและกดดันตัวเองแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ

          นอกจากพูดคุยกับสองคู่รักชาวอังกฤษแล้ววรรณสิงห์ยังได้พูดคุยกับไกด์ของทั้งคู่ ไปจนถึงการได้คุยกับ เชาดิน เจ้าของโรงแรม ที่น่าสนใจก็คือ เขาเป็นผู้นำคณะสำรวจขึ้นไปพบเอเวอร์เรสต์ในวันและเวลาเดียวกันกับที่เกิดเหตุการณ์ในหนังสือ into thin air ด้วย โดยเขาเล่าให้ฟังในปี ค.ศ.1996 เขาเดินทางไปยอดเอเวอร์เรสต์แต่คนละคณะกับคณะที่เกิดโศกนาฏกรรม โดยใช้คนละเส้นทางกัน ตอนนั้นอากาศแย่มาก พายุก็มาเร็ว เขาจึงพาลูกทีมของผมเดินทางกลับลงมา ทำให้คณะเขาและคณะอื่น ๆ ไม่มีใครสูญหายหรือเสียชีวิต แม้ว่าลูกทัวร์จะไม่พอใจ แต่เขาคิดว่าการมีชีวิตอยู่ต่อไปนั่นเป็นสิ่งน่ายินดีมากกว่า การมาปีนเขาในเวลานั้นเสี่ยงอันตรายมากแตกต่างจากสมัยนี้ที่มีทุกอย่าง ทั้งการพยากรณ์อากาศและเครื่องมือสื่อสาร







          หลังจากพูดคุยกันทีมงานก็ออกไปสำรวจจุดชมวิวที่อยู่ด้านขวาของหมู่บ้านที่สามารถเห็นทิวทัศน์ 360 องศาที่มีความสวยงามมาก และทำให้พวกเขาได้พบกับคุณเวยน์ นักเดินทางปีนเขาชาวเวลล์จึงได้ขอถามถึงสาเหตุที่ทำให้เขามายืนอยู่ตรงจุดนี้ คุณเวยน์ก็เล่าให้ฟังว่า มีคนมากมายพูดกับเขาว่า อิจฉาที่เขาได้ออกมาเดินทางท่องเที่ยว ขณะที่พวกเขาต้องทำงาน ต้องทำอย่างอื่นก่อน ความจริงแล้วตัวเขาเองก็ไม่ได้พิเศษกว่าใคร แค่อยากเดินทางก็ทำงานเก็บเงิน สุดท้ายก็ทำได้สำเร็จ เขารู้สึกว่า คนที่เอาแต่พูดอิจฉาคนอื่น ความจริงเขาไม่ได้อยากทำหรอก พวกเขาพอใจกับชีวิตในเมืองแล้ว เขาเชื่อว่า คนเราถ้าอยากทำอะไรจริง ๆ สุดท้ายแรงผลักดันนั้นจะส่งผลให้เขามาอยู่ที่จุดนี้เอง

          สุดท้ายเมื่อถึงเวลาที่ต้องเดินทางกลับ ทีมงานก็เดินกลับทางเดิม ได้มีโอกาสดูความสวยงามระหว่างสองข้างทางจนกระทั่งมาถึงเมืองลุคลา ทุกคนก็ดูเหมือนจะหมดแรง เป็นการเดินทางที่เมื่อยล้าและทรมานแต่ได้ทำให้วรรณสิงห์ค้นพบบางสิ่ง

          " เวลาที่เราเริ่มต้นเดินทางจุดหมายยังไม่เป็นภาพที่ชัดเจนมาก เราก็จะรู้สึกว่าทางจะเป็นยังไงก็ได้ เพราะจุดหมายตอนนั้นมันเป็นแค่คอนเซปต์อยู่ในหัว เรารู้ว่าเราต้องไปถึงตรงนี้ แต่มันยังไม่มีผลต่อชีวิตอะไรของเราโดยตรง เราคิดว่าอยากสนุกกับเดินทางมากกว่า อยากอยู่กับเส้นทาง อยากชมวิวมากกว่า แต่พอยิ่งเหนื่อย ยิ่งใกล้ จุดหมายขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งอยากให้ความไม่แน่นอนของการจะขึ้นหรือจะลงมันหายไป อยากให้มันลงอย่างเดียว อยากให้เป็นทางลาดอย่างเดียวเพราะว่าเราเหนื่อยแล้ว คิดดูก็คล้าย ๆ กับคนเราเวลาอายุยังน้อย เหลือที่ให้กับความไม่แน่นอน ค่อนข้างเยอะ ยังผ่านอะไรมาน้อย ยังเหลือทางเลือกอีกหลายอย่างในชีวิต ยังรู้สึกว่ามันเป็นยังไงก็ได้เพราะว่าจุดหมายมันยังไม่อยู่ในหัวเรา มันอยู่ตรงไหน มันเป็นยังไง มันยังไม่ส่งผลต่อเราโดยตรง เรายังคงสนุกกับการเรียนรู้ ความไม่แน่นอน ในชีวิตนั้น ๆ อยู่ พอเราโตมากขึ้น อายุมากขึ้น จุดหมายที่เราเซ็ตไว้ในหัวมันก็จะมากขึ้น เราก็จะคิดว่าทำไมเรายังไม่ถึงซะที นั้นคือสิ่งที่ผมได้จากการสำรวจทางไปสำรวจอนาคต แต่พอขากลับมันกลายเป็นการเดินย้อนไปหาอดีตของตัวเองอย่างตรงไปตรงมามาก ๆ เส้นทางที่เราคิดว่าามันยาวมันเหนื่อยพอกลับไปเดินซ้ำอีกรอบมันก็ไม่ได้ยาวขนาดนั้น ไม่ได้เหนื่อยขนาดนั้น เดินไปปุบเจอสิ่งสวยงามก็กลับรู้สึกว่า เฮ้ยทำไมเราไม่จำสิ่งสวยงามเรานี้ เรากลับไปจำเส้นทางที่ยากลำบาก มากกว่า ทั้งที่ความจริงมันมีสิ่งอื่น ๆ ที่เราจดจำได้มากกว่านั้น แต่จิตใจของเรามองข้ามมันไป "







          วรรณสิงห์ ได้บอกอีกว่า สำหรับการเดินทางไปยังเทือกเขาหิมาลัยในครั้งนี้นอกจากการเดินทางเพื่อสัมผัสธรรมชาติ และได้ชื่อว่าพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจก็คือ การมาที่นี่ทำให้หลายคนได้พบว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่ตัวเองต้องการกลับเป็นสิ่งง่าย ๆ ที่เราล้วนมีกัน อยู่แล้ว แต่พวกเราลืมมองมันไป เช่นเดียวกับ จอหน์ คราเคาเออร์ ผู้เขียนเรื่อง Into Thin Air เองที่ได้เขียนความรู้สึกหลังจากรอดตายจากหุบเขาเอเวอร์เรสต์ไว้ว่า

          ".... ชีวิตพื้น ๆ ที่บ้าน ไม่ว่าการนั่งรับประทานอาหารเช้ากับภรรยา การนั่งดูพระอาทิตย์ตก การสามารถเดินเท้าเปล่าไปเข้าห้องน้ำกลางดึก กลายเป็นความน่ายินดีของชีวิต "

          ขณะที่ โทมัส เอฟ ฮอร์เบียน ผู้พิชิตยอดเขาเอฟเวอร์เรสต์อีกคนหนึ่งก็เขียนบทสรุปในทำนองเดียวกันว่า

          "...มีหลายครั้งที่ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า ข้าพเจ้าได้เดินทางอันยาวไกลเพียงแค่จะได้พบว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าตามหานั้น แท้จริงคือ สิ่งที่ข้าพเจ้าทิ้งไว้เบื้องหลังหรือไม่... "

          หรือจะเป็นนักเขียนชื่อดังของประเทศไทย อย่าง นิ้วกลม สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ก็ยังให้กล่าวถึงประสบการณ์การมาเยือนที่นี่ไว้ว่า " หลายครั้งคนเรา ปีนสู่ที่สูงเพื่อที่จะได้รู้ว่า ความสุขอยู่ ณ พื้นดิน ที่เราพยายามก้าวออกห่างจากมัน"

          ท่ามกลางกระแสแห่งคำถามถึงความหมายของชีวิต การได้ติดตามการเดินทางไปเยือนเส้นทางที่สวยที่สุดบนเทือกเขาหิมาลัย แม้จะค้นพบว่ามันอาจจะไม่ใช่เส้นทางที่ยิ่งใหญ่อย่างที่นักปีนเขาคนอื่นได้ไป แต่เป็นการปีนเขาที่ทำให้มนุษย์เราเข้าใจว่าเสน่ห์ของหิมาลัยเป็นเช่นไร และทำไมมันจึงเป็นเส้นทางที่นักปีนเขาทั่วโลกใฝ่ฝันถึง







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตามหาความหมายชีวิต กับการพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ โพสต์เมื่อ 29 มีนาคม 2555 เวลา 13:49:14 6,512 อ่าน
TOP
x close