เผยภาพ พายุงวงช้าง กลางท้องทะเลสิงคโปร์





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก environmentalgraffiti.com
 
            หลายคนเคยไปเที่ยวทะเลในช่วงหน้าฝน และได้ประสบพบเจอกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หลายคนไม่สามารถอธิบายได้ว่ามันคืออะไร เพราะมันเหมือนพายุทอร์นาโด แต่..มันไม่ได้เกิดขึ้นบนบก มันเกิดขึ้นกลางทะเล รูปร่างของมันคล้ายท่อน้ำขนาดใหญ่ที่บิดเป็นเกลียวเชื่อมต่อระหว่างผืนฟ้าและพื้นน้ำ ซึ่งมองดูแล้วเป็นภาพที่น่าทึ่งปนน่าสะพรึงอยู่ไม่น้อย

            ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า waterspout หรือ ที่ประเทศไทยเรียกว่า พายุนาคเล่นน้ำ หรือ พายุงวงช้าง และภาพพายุงวงช้าง ที่ทุกท่านเห็นนี้ เป็นภาพที่ถ่ายได้จากทางตะวันออกเฉียงใต้ของชายฝั่งประเทศสิงคโปร์ โดยช่างภาพนามว่า เจอร์รี่ หลิว ซึ่งถ่ายได้จากนอกระเบียงอพาร์ทเม้นต์ของเขาซึ่งตั้งอยู่ริมทะเล...หลิวบอกว่า มักมีปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งตามชายฝั่งทะเลในสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ภาพพายุงวงช้างที่เจอรรี่ถ่ายมาได้ พบว่าแกนมันเอียงโค้งมาก และดูเหมือนมันจะเกิดขึ้นท่ามกลางเรือเล็กหลาย ๆ ลำที่จอดอยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายระดับหนึ่งเลยทีเดียว เพราะมันสามารถคว่ำเรือลำเล็ก ๆ ได้อย่างง่ายดาย
 
            สำหรับพายุงวงช้างนั้น เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากลมพัดวนบิดเป็นเกลียว เห็นได้จากเมฆที่มีลักษณะเป็นลำ หรือเป็นกรวยหัวกลับยื่นลงมาจากฐานของเมฆฝนฟ้าคะนอง และเห็นได้จากพวยน้ำที่พุ่งขึ้นมาเป็นพุ่ม ประกอบด้วยหยดน้ำพุ่งเป็นฝอยขึ้นจากผิวพื้นทะเล มีลมแรงพัดเข้าหาบริเวณศูนย์กลางของพวยน้ำ ยอดของพวยน้ำอาจเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่แตกต่างไปจากฐาน ทำให้แกนเอียงหรือบิดเบี้ยวแล้วหลุดออกจากกันและสลายตัวไป เกิดขึ้นได้สองแบบ คือ เป็นพายุทอร์นาโด ที่เกิดขึ้นเหนือผืนน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นทะเล ทะเลสาบ โดยพายุทอร์นาโดจะเกิดขึ้นระหว่างที่ฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก เกิดอากาศหมุนจากบนลงล่าง ส่วนอีกแบบ คือ เกิดจากการที่มวลอากาศเย็น เคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า ทำให้อากาศที่ติดอยู่กับผืนน้ำจะยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้อากาศโดยรอบไหลเข้ามาแทนที่ จากนั้นจึงพุ่งเป็นเกลียวขึ้นไป นั่นคือ อากาศหมุนจากล่างขึ้นบน
 
            ส่วนขนาดของพายุงวงช้างส่วนใหญ่ยาวประมาณ 10-100 เมตร แต่บางครั้งยาวมากถึง 600 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางก็พบได้ตั้งแต่เล็ก ๆ แค่ 1 เมตร ไปจนถึงหลายสิบเมตร โดยในงวงช้างแต่ละอันอาจมีท่อหมุนวนเพียงท่อเดียวหรือหลายท่อก็ได้ โดยแต่ละท่อจะหมุนด้วยอัตราเร็วในช่วง 20-80 เมตรต่อวินาที กระแสลมในตัวพายุเร็วถึง 100-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถคว่ำเรือเล็ก ๆ ได้สบาย






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยภาพ พายุงวงช้าง กลางท้องทะเลสิงคโปร์ โพสต์เมื่อ 5 เมษายน 2555 เวลา 16:34:46 4,239 อ่าน
TOP
x close