น้อมนำแนวพระราชดำริฯ ส่งเสริมประชาชนปลูกไม้พะยูง




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กรมป่าไม้

          ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ไม้พะยูง เป็นไม้มงคลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงในตลาด จึงทำให้เกิดความต้องการมาก ปัญหาที่ตามมา คือ เกิดการลักลอบตัดไม้พะยูงมากขึ้น และการลักลอบนำไม้พะยูงออกไปในลักษณะของการหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาในปี 2553 – 2555 มีการจับกุมดำเนินคดีผู้ลักลอบตัดไม้พะยูงมากขึ้นทุก ๆ ปี รวมกว่า 1,200 คดีแล้ว
 
          ในการนี้ นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ จึงได้มอบภารกิจเร่งด่วนของกรมป่าไม้ที่เน้นเรื่องการป้องกันการลักลอบตัดไม้พะยูง ซึ่งโดยกฎหมายแล้ว ประเทศไทยห้ามมีการนำเข้าและส่งออกไม้พะยูง ดังนั้น ไม้พะยูงที่ถูกนำเข้าและส่งออกประเทศไทยถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ก็มีพวกลักลอบส่งออกไม้พะยูงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
 


          ทั้งนี้ กรมป่าไม้จึงมีแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงในการตรวจจับกุม ส่งผลให้ผลการมีการจับกุมมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็มีคดีรายใหญ่มากขึ้น ซึ่งหลายคดีเป็นคดีที่มีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง แหล่งข้อมูลในทางลับเป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น เพราะการที่จะสามารถเปิดด่านได้นั้นไม่ใช่ด่านธรรมดาจะต้องผ่านทั้ง ด่านตำรวจ ด่านป่าไม้ สารพัดด่านที่ทำการขนส่งมา โดยที่ภาคใต้นั้นน่าเป็นห่วงที่สุดในการลักลอบส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งสาเหตุที่หลุดลอดออกไปได้ เพราะพอเจ้าหน้าที่เปิดดูตู้ปรากฏว่ามีการจัดเรียงไม้ยางพาราไว้ด้านนอก เจ้าหน้าที่จึงปล่อยให้ผ่านไป โดยหารู้ไม่ว่า ไม้พะยูงได้ถูกจัดเรียงอยู่ด้านใน
 


          ในขณะเดียวกัน ทางกรมป่าไม้เอง ก็ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชดำรัส ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่องไม้พะยูงว่า "ถ้าไม้พะยูงมีค่าจริง คนต้องการจริง ทำไมเราไม่ส่งเสริมให้คนเพาะปลูก" มาดำเนินการโดยการวางแผนงบประมาณให้กรมป่าไม้เพาะกล้าไม้พะยูงจำนวน 10 ล้านกล้า โดยเน้นที่จังหวัดอุบลราชธานี 1 ล้านกล้า จังหวัดในภาคอีสานอีกที่ละสามแสน ห้าแสน กระจายไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม หรือเพื่อให้ชาวบ้านไปปลูกในที่กรรมสิทธิ์ของตัวเอง ซึ่งต่อไปหากชาวบ้านปลูกเองก็ไม่ต้องลักลอบเอาไม้ในป่าแล้ว เอาไม้ในที่กรรมสิทธิ์ของตัวเองมาใช้ได้
 


          เหนือสิ่งอื่นใด กรมป่าไม้ได้น้อมนำพระราชดำรัส พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเรื่องการปลูกป่า ซึ่งพระองค์ท่านบอกอย่างชัดเจนว่า ต้องทำป่าซับน้ำ ป่าที่เราปลูกสมัยก่อน ไม้มันโตช้า โตไม่ทัน จึงมีแนวพระราชดำริให้ปลูกไม้โตเร็วควบคู่กับไม้โตช้า ที่ถึงแม้จะไม่ใช่ไม้เศรษฐกิจอย่างไม้สัก ไม้มะค่า ไม้เต็ง ไม้รัง แต่ก็ช่วยปกป้องให้ไม้โตช้าให้โตขึ้นมาได้เร็วขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อกรมป่าไม้อย่างยิ่ง เพราะหลายครั้งที่กรมป่าไม้จะต่อสู้เพื่อปลูกไม้ โตเร็ว แต่กลับถูกต่อต้านมาโดยตลอดว่า ปลูกไม้ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
 
          อย่างไรก็ตาม นับจากนี้ กรมป่าไม้ จะต้องปลูกไม้โตเร็วอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนไม้โตช้า 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าเรามองแต่ในแง่ของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมก็จะไปไม่รอด ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมถึงจะอยู่ได้ ดิน น้ำ อากาศ ที่เหมาะสม ไม่มีสิ่งรบกวนถึงจะอยู่ได้


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้อมนำแนวพระราชดำริฯ ส่งเสริมประชาชนปลูกไม้พะยูง โพสต์เมื่อ 20 เมษายน 2555 เวลา 17:59:38 2,330 อ่าน
TOP
x close