13 ข้อผิดพลาดตอนสัมภาษณ์งาน ที่เผลอทำกันเป็นประจำ




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          การสัมภาษณ์งานนั้นสามารถทำให้เรารู้สึกประหม่า และตื่นเต้นได้เสมอ จากการที่ต้องเผชิญความกดดันจากบรรยากาศตึงเครียด และความกลัวที่จะถูกปฏิเสธ จนทำให้เราเผลอทำเรื่องผิดพลาดได้โดยไม่รู้ตัวบ่อย ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เราเสียงานที่ควรจะได้ไปก็ได้
 
          เพราะฉะนั้น วันนี้กระปุกดอทคอม จึงขอนำข้อผิดพลาดที่ไม่ควรทำระหว่างสัมภาษณ์งานมาฝาก เพื่อให้เพื่อน ๆ ทุกคนได้อ่านเตือนตัวเองว่ามีอะไรบ้างที่ไม่ควรทำ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ได้งานที่ต้องการ ลองไปอ่านดูเลย...
 
1. ผิดเวลานัด
 
          แน่นอนว่าถ้าคุณมาสายกว่าเวลาที่นัดไว้ คนสัมภาษณ์ก็ต้องมองคุณในแง่ลบอยู่แล้ว ก็ถ้าขนาดเวลาสัมภาษณ์ยังมาสาย ต่อไปได้งานแล้วจะไม่เข้าสายทุกวันหรอกหรือ เพราะฉะนั้นควรพยายามไปเช้ากว่าเวลานัดและพกที่อยู่ที่จดเอาไว้ไปด้วย ทั้งนี้ หากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ทำให้คุณไม่สามารถไปได้จริง ๆ ก็ควรโทรขอเลื่อนเวลานัดเสียใหม่ ไม่ใช่เงียบหายไปเฉย ๆ
 
2. แต่งตัวไม่ถูกกาลเทศะ
 
          การแต่งตัวนั้นมีส่วนช่วยในการตัดสินใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคุณมีความเป็นผู้ใหญ่ และให้เกียรติสถานที่ที่คุณไปมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่ไม่สุภาพเช่นกางเกงยีนส์ แล้วเลือกสวมเสื้อผ้าสุภาพสีเรียบ ๆ แทน นอกจากนี้ ก็ไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับมากนัก แค่เพียงต่างหู หรือนาฬิกาดีไซน์เรียบ ๆ ก็พอแล้ว
 
3. ประหม่าจนผิดสังเกต
 
          เข้าใจดีว่าคุณรู้สึกกดดันจากบรรยากาศตึงเครียดในห้องสัมภาษณ์ แต่ถึงอย่างนั้นก็อย่าแสดงออกให้เขาเห็นความกังวลของคุณมากนัก เขาจะมองว่าคุณเป็นคนขาดความมั่นใจ และไม่สามารถทนรับความกดดันได้เสียเปล่า ๆ เพราะฉะนั้นควรพยายามข่มความตื่นเต้นของคุณเอาไว้ แล้วพยายามสบตา และพูดจาด้วยน้ำเสียงมั่นใจให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
 
4. อมลูกอม หรือหมากฝรั่ง
 
          หากคุณเป็นคนติดการทานขนมจนเป็นนิสัย เช่น ทานลูกอม หรือหมากฝรั่งเป็นกิจวัตร ก็ควรงดเว้นตอนสัมภาษณ์บ้าง เพราะมันแสดงถึงการไม่ให้เกียรติคนสัมภาษณ์เอาเสียเลย แถมยังทำให้คุณพูดคุยได้ลำบากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นพยายามอย่าทานของจุกจิกระหว่างสัมภาษณ์เด็ดขาด นอกจากนี้ ก่อนและระหว่างสัมภาษณ์ก็ไม่ควรสูบบุหรี่ให้มีกลิ่นติดตัวอีกด้วย
 
5. ไม่ทำการบ้านมาให้ดี
 
          ก่อนจะไปสัมภาษณ์งานที่บริษัทไหน คุณควรศึกษาข้อมูลของบริษัทนั้น ๆ ให้ดีก่อน ไม่ว่าจะเป็นประวัติ เป้าหมาย หรือผลงาน เพราะส่วนใหญ่แล้วบริษัทต่าง ๆ มักจะถามรายละเอียดในส่วนนี้ เพื่อทดสอบดูว่าคุณสนใจที่จะทำงานกับเขามากแค่ไหน ดังนั้นถ้าหากคุณต้องการงานนั้นจริง ๆ ก็ควรศึกษาข้อมูลของบริษัทดูให้ดีก่อนไปสัมภาษณ์
 
6. บอกข้อดี-ข้อเสียของตัวเองไม่ได้
 
          ถ้าแม้แต่คุณเองยังไม่สามารถบอกข้อดีและข้อเสียของตัวเองได้ ก็คงไม่มีใครสามารถตอบแทนคุณได้อีก ดังนั้นคุณควรบอกข้อดีและข้อเสียของตัวเองตามความเป็นจริง และเสริมไปด้วยว่าคุณกำลังวางแผนแก้ไขข้อเสียของตัวเองเพื่องานของคุณอย่างไร เขาจะได้เห็นถึงความจริงใจและความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขของคุณ
 
7. เว้นช่วงตอบคำถามนานเกินไป
 
          เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คุณอาจต้องเจอกับคำถามที่ไม่ได้เตรียมคำตอบเอาไว้ก่อนโดยไม่ทันตั้งตัว แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ควรแสดงความประหม่าของตัวเองออกมา และคิดคำตอบนานจนเกินไป พยายามตอบออกไปอย่างมั่นใจให้มากที่สุด การทำเช่นนี้จะทำให้คุณดูเป็นคนมีไหวพริบ และความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้คนสัมภาษณ์รู้สึกประทับใจได้แน่ ๆ
 
8. พูดไม่รู้จักหยุด
 
          บางคนอาจเลือกที่จะปิดบังความตื่นเต้นของตัวเองด้วยการพูดเยอะ ๆ เข้าไว้ ซึ่งอาจทำให้เผลอตัวพูดแทรกระหว่างคำถาม หรือตอบคำถามสั้น ๆ ง่าย ๆ ยาวจนเกินไป แถมยังไม่ได้ใจความโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นควรพยายามรวบรวมสติเข้าไว้ และตอบคำถามเท่าที่ควรตอบโดยไม่พูดแทรกระหว่างที่ถูกถาม จะทำให้คุณดูใจเย็นและสุขุมมากขึ้น
 
9. ตอบไม่ได้ว่าคุณเหมาะกับงานอย่างไร
 
          หากคุณเองยังตอบไม่ได้ว่าคุณควรได้งานนี้เพราะอะไร คนสัมภาษณ์ก็คงไม่สามารถมองหาเหตุผลให้คุณได้เช่นกัน ดังนั้นมั่นใจเข้าไว้ แล้วบอกเขาไปเลยว่าคุณเหมาะสมกับงานนี้อย่างไร เช่น เรียนจบสาขาที่เกี่ยวข้อง เคยฝึกงานมาก่อน มีความถนัด หรือมีความสนใจในงานด้านนี้ คุณจึงควรสมควรได้รับงานตำแหน่งนี้มากกว่าใคร ๆ
 
10. ถามคำถามเกินพอดี
 
          คุณควรถามคำถามแต่พอดี ไม่ถามมากจนเกินไป และไม่ถามเรื่องที่ไม่สมควรถาม เช่นเรื่องอื่นนอกเหนือขอบเขตการทำงาน หรือเรื่องที่ทางบริษัทไม่สามารถเปิดเผยได้ อย่างไรก็ตาม การเลี่ยงที่จะถามคำถามก็ไม่ถกเช่นกัน คุณควรถามคำถามออกไปบ้าง เพื่อให้เขาเห็นว่าคุณนั้นสนใจงานนี้อยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุด คุณควรศึกษาข้อมูลของบริษัทและเนื้องานที่คุณสมัครให้ดี เพื่อจะได้ตั้งคำถามได้ถูก
 
11. ว่าร้ายคนอื่น (บริษัทเดิมที่เคยทำงาน)
 
          หากคุณเคยทำงานอื่นมาก่อน บริษัทส่วนใหญ่ก็มักจะถามถึงเหตุผลที่คุณเลือกจะเปลี่ยนงานเสมอ ทั้งนี้ หากเจอกับคำถามแบบนี้ ห้ามพูดถึงที่ทำงานเก่าหรือเพื่อนร่วมงานในแง่ร้ายเด็ดขาด ควรบอกว่างานที่ผ่านมาไม่เหมาะกับตัวเอง หรือเพราะการเดินทางไม่สะดวกจะดีกว่า เพราะเมื่อคุณว่าร้ายบริษัท หรือเจ้านายเก่า คนสัมภาษณ์จะมองคุณในแง่ลบทันที เพราะเขาจะมองได้ว่าคุณเป็นคนที่ชอบพูดถึงคนอื่นในทางไม่ดี และวันหนึ่งที่คุณลาออก คุณก็คงไปพูดถึงบริษัทของเขาในแง่ร้ายแบบที่เคยทำกับบริษัทเก่าเช่นกัน
 
12. ถามเรื่องสวัสดิการเร็วเกินไป
 
          คุณควรให้คนสัมภาษณ์เป็นคนบอกคุณเรื่องสวัสดิการ และวันหยุดต่าง ๆ เองจะดีกว่า เพราะถ้าหากรีบร้อนถามด้วยตัวเอง เขาจะมองว่าคุณเป็นคนที่ใส่ใจแต่ผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าจะสนใจตัวงานเสียเปล่า ๆ อย่างไรก็ตาม หากคนสัมภาษณ์ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย คุณก็มีสิทธิ์จะถามในช่วงสุดท้ายก่อนสิ้นสุดการสัมภาษณ์เช่นกัน เพราะคุณมีสิทธิ์ที่จะรู้ เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบมากจนเกินไป
 
13. แสดงความสนใจตัวงานน้อยเกินไป
 
          สิ่งที่คุณควรแสดงความสนใจ และถามในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์งานมากที่สุด คือเรื่องเกี่ยวกับตัวงาน เช่น หน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบของงาน รวมถึงความสามารถที่จำเป็นต้องมีในการทำงานด้วย การทำเช่นนี้จะทำให้คนสัมภาษณ์ประทับใจในตัวคุณมากขึ้น เพราะทำให้เขารู้สึกได้ว่าคุณสนใจที่จะทำงานนี้จริง ๆ
 
          เพียงแค่หมั่นฝึกซ้อมเพื่อสร้างความมั่นใจของตัวเองก่อนสัมภาษณ์ และหลีกเลี่ยงทั้ง 13 ข้อที่กล่าวมานี้ ก็จะช่วยให้คุณสัมภาษณ์งานผ่านได้อย่างง่ายดายแล้วล่ะ ....โชคดีนะทุกคน


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
13 ข้อผิดพลาดตอนสัมภาษณ์งาน ที่เผลอทำกันเป็นประจำ โพสต์เมื่อ 25 เมษายน 2555 เวลา 16:07:51 10,590 อ่าน
TOP
x close