ระยองโมเดล ต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว


ระยองโมเดล

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เหลียวมอง มาบตาพุด

          จากกรณีที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่เพื่อไปยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุต อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อสั่งให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เดินหน้าสร้างระยองโมเดล เพื่อเป็นต้นแบบแก่จังหวัดอื่น โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อมสีเขียวในโรงงานอุตสาหกรรม

          ทั้งนี้ หลาย ๆ คน อาจจะยังไม่ทราบว่า ทำไมต้องให้ "นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ จ. ระยอง" เป็นต้นแบบสำหรับนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ วันนี้กระปุกดอทคอม ขอรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากค่ะ

          ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคบุกเบิกที่กำลังจะก้าวเข้าไปสู่ยุคแห่งความโชติช่วงชัชวาล เนื่องจากมีการขุดพบก๊าซธรรมชาติ กลางอ่าวไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งในครั้งนี้นี่เอง ที่ทางภาครัฐมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ โดยกำหนดให้เป็นฐานการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมหนัก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อหวังจะทำเงินให้กับประเทศ

          สำหรับจังหวัดที่ทางภาครัฐเพ่งเล็งเพื่อเป็นฐานในการผลิตนั้น มีด้วยกัน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่มีจุดมุ่งหมายจะทำให้ 3 จังหวัดดังกล่าวกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญ และเป็นแหล่งที่ตั้งอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ภายใต้ชื่อ "โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก"

          และแน่นอนเมื่อโครงการดังกล่าว ดำเนินการได้ระยะหนึ่ง ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ก็เป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมกระจัดกระจายไปทั่ว แต่ที่มีโรงงานมากที่สุด คงจะเป็นในตำบลมาบตาพุต ทางภาครัฐจึงได้ให้ตำบลดังกล่าว เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอุตสาหกรรม และเกิดเป็นนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหรรมแห่งแรกของประเทศไทย

          โดยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นความหวังแรก และความภาคภูมิใจของคนในพื้นที่ว่า จะนำความเจริญมาสู่ลูกหลานในหมู่บ้าน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือผลกระทบที่ตามมา ... แต่หลังจากนั้นไม่นานฝันร้ายค่อย ๆ มาเยือนชาวมาบตาพุต เนื่องจากมีมลพิษตลบอบอวลไปทั่วทั้งเมือง บรรดาโรงงานในนิคมอุตสาหรรมดังกล่าว ปล่อยมลพิษ และของเสียสู่ธรรมชาติ

          ด้านชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ก็ออกมาร้องเรียนกันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบนำกากของเสีย ของอันตราย และสารเคมีไปทิ้งในพื้นที่ของประชาชน, ปล่อยน้ำเสียสู่ทะเล มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นรบกวน และจากสถิติในปีนั้น ชาวบ้านเป็นโรคมะเร็ง โรคผิวหนัง และอัตราคลอดก่อนกำหนดเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมากจากผลกระทบที่น่ากลัวจากสิ่งแวดล้อมในละแวกนี้

ระยองโมเดล

          อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ยังไม่หมดไป และดูเหมือนว่าจะทวีความรุนแรงหนักขึ้นกว่าเดิม ทางภาคประชาชนก็ได้ร้องเรียนถึงปัญหาไปยังภาครัฐหลายต่อหลายครั้ง ล่าสุด ทางด้าน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้เดินหน้าดูแล "นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด" ในเชิงลึก เพื่อเป็นต้นแบบให้กับนิคมอุตสาหรรมอื่น ๆ

          โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ว่า ปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ตนได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องปัญหามลพิษและคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงอยากให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงจังหวัด ได้ร่วมมือกันทำแผนปฏิบัติการสร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียว เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งการบำบัดน้ำเสีย และกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งโครงการในครั้งนี้ก็จะทำให้ประชาชนในพื้นที่รัก และใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

          นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนยังอยากให้ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น ๆ และอยากให้ทุกฝ่ายเคร่งครัดโรงงานที่ไม่ได้คุณภาพ และชี้แจงกับโรงงานเปิดใหม่ ถึงกติกาที่ชัดเจน เนื่องจากขณะนี้พบว่า มีโรงงานที่เสี่ยงไม่ได้มาตรฐานถึง 50 โรงงาน และใน 50 โรงงาน มีความเสี่ยงสูงถึง 19 โรงงาน จึงสั่งให้จัดทำระบบให้เรียบร้อย พร้อมกันนี้ได้มอบให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าไปดูแลการจัดโซนนิ่งสีเขียวในผังเมือง แบ่งพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม กับพื้นที่ชุมชนอย่างเหมาะสม และแผนดูแล ป้องกันสิ่งแวดล้อมและทัศนียภาพ
 
          พร้อมกันนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากที่กล่าวมานั้น ตนอยากให้ประยุกต์แผนดังกล่าวเข้ากับเหตุอุทกภัย และภัยธรรมชาติด้วย เนื่องจากเรามีบทเรียนน้ำท่วมจากโรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามาแล้ว จึงได้ตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูล และแผนช่วยชีวิตประชาชน รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรอุตสาหกรรมออกจากพื้นที่

          นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ตนได้สั่งการให้ทางจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวทั้งหมดแล้ว รวมไปถึงแผนระยะยาว เช่น การสำรวจประเมินความเสี่ยงของโรงงาน, การจัดอบรมผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน, การแจกจ่ายเอกสารให้ความรู้แก่ประชาชน และการซักซ้อมแผนการเตือนภัยฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ

          ...หวังว่า "ระยองโมเดล" แห่งนี้ จะเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์ แก่นิคมอุตสาหกรรมทั้งหลาย ซึ่งถ้าหากดำเนินการได้สำเร็จตามที่ตั้งไว้ ก็น่าดีใจแทนชาวระยอง ที่จะได้เป็นเมืองต้นแบบแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมปลอดมลพิษ และทำให้ชาวบ้านมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดีขึ้นค่ะ 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

- เหลียวมอง มาบตาพุด
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระยองโมเดล ต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว โพสต์เมื่อ 18 มิถุนายน 2555 เวลา 16:38:04 3,393 อ่าน
TOP
x close