สภาผู้แทนฯสหรัฐไฟเขียว ร่างกฎหมายเลี่ยงภาวะหน้าผาการคลังแล้ว


Fiscal Cliff


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา มีมติผ่านร่างกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะหน้าผาการคลัง หรือ Fiscal Cliff แล้ว หลังจากที่วุฒิสภาสหรัฐ ได้มีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา

          วันนี้ (2 มกราคม) ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แถลงขอบคุณหลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ต่างเห็นชอบกับร่างกฎหมายยืดเวลาการจัดเก็บภาษีคนชั้นกลาง ด้วยคะแนนเสียง 257 ต่อ 167 คะแนน โดยนายโอบามาจะลงนามอนุมัติร่างกฎหมายนี้ทันที

          ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา วุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยคะแนนเสียง 89 ต่อ 8 เสียง ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่เรียกว่า หน้าผาการคลัง ได้อย่างหวุดหวิด เนื่องจากมาตรการลดหย่อนภาษีที่รัฐบาล นายจอร์จ ดับเบิ้ลยู.บุช อนุมัติใช้มาตั้งแต่ปี 2546 เพื่อช่วยเหลือชาวอเมริกันที่มีรายได้ปานกลางและกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ครบกำหนดในเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2555 อีกทั้ง รัฐบาลสหรัฐฯ ยังหลีกเลี่ยงการเผชิญกับมาตรการปรับลดลงประมาณรายได้ หรือการขาดดุลภาครัฐแบบอัตโนมัติ (Sequestration) ในวันที่ 2 มกราคม 2556 ด้วย

          ดังนั้น เมื่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็จะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันในตลาดการเงิน ทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีเวลา 2 เดือน ในการหารือเพื่อแก้ปัญหา ทั้งด้านการเพิ่มภาษี และตัดลดงบประมาณรายจ่าย ทั้งงบท้องถิ่น และด้านการทหาร กว่า 109 พันล้านเหรียญ

          สำหรับการขยายเวลาการจัดเก็บภาษีอีก 2 เดือนนั้น จะส่งผลดีกับชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำกว่า 4 แสนเหรียญสหรัฐฯ ส่วนผู้มีรายได้ส่วนบุคคลสูงกว่า 5 ล้านเหรียญและเมื่อรวมคู่สมรส มีรายได้สูงกว่า 10 ล้านเหรียญ จะต้องเสียภาษี35-40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังเป็นผลดีกับผู้ว่างงานจำนวนกว่า 2 ล้านคนด้วย

          อย่างไรก็ตาม สำหรับ ภาวะหน้าผาการคลัง หรือ Fiscal Cliff ที่หลายคนอาจเคยได้ยินผ่านหูอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากประธานาธิบดีโอบามาเองก็เคยใช้คำนี้ในการกล่าวหาเสียงว่า "จะเร่งแก้ปัญหามาตรการปรับขึ้นภาษีหรือ Fiscal Cliff ทันทีหากชนะเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจถดถอย" จนกระทั่งมีข่าวการผ่านร่างกฎหมายออกมาในครั้งนี้ แต่เชื่อว่าคงยังมีหลายคนที่ยังไม่ทราบว่า Fiscal Cliff คืออะไร และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร เรามีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกันค่ะ

            คำว่า Fiscal Cliff หรือแปลเป็นไทยได้ว่า "หน้าผาการคลัง" เป็นคำที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เบน เบอร์นันเก้ ใช้เรียกสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฐานะทางการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ โดยเหตุการณ์ที่สำคัญ 2 เหตุการณ์ ได้แก่


1. การสิ้นสุดของมาตรการลดหย่อนภาษีหลาย ๆ มาตรการ


            ในส่วนของมาตรการลดหย่อนภาษีนั้น ในสิ้นปีนี้ จะมีมาตรการลดหย่อนภาษีหลายมาตรการสิ้นอายุลง โดยมาตรการภาษีที่สำคัญที่สุด คือมาตรการการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งได้บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2546 ในสมัยประธานาธิบดีจอร์ช บุช เพื่อปรับลดอัตราภาษีที่บุคคลธรรมดาจะต้องเสียลง ทำให้ประชาชนมีรายได้คงเหลือเพิ่มขึ้น และช่วยให้เกิดการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น แต่เมื่อมาตรการนี้หมดอายุลง จะทำให้อัตราภาษีของคนอเมริกันทุกคนเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะมีรายได้เท่าใด

            โดยทางพรรครีพับลิกันต้องการให้ยืดเวลาการใช้มาตรการลดภาษีนี้ออกไปสำหรับคนอเมริกันทุกคน แต่ทางประธานาธิบดีโอบามาไม่ต้องการให้ผลประโยชน์นี้ครอบคลุมถึงคนอเมริกันฐานะร่ำรวย คือครอบครัวที่มีรายได้เกิน 250,000 ดอลลาร์ต่อปี และดูเหมือนทั้งสองพรรคยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องนี้ ทำให้เกิดภาวะชะงักงันทางการเมือง

2. การเริ่มต้นของมาตรการการปรับลดงบประมาณของภาครัฐฯ


            นอกเหนือจากมาตรการภาษีแล้ว ยังมีมาตรการทางด้านการปรับลดงบประมาณรายจ่าย หรือการขาดดุลของภาครัฐบาลอีกด้วย เนื่องจากในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯประสบกับปัญหาภาระหนี้ชนเพดานหนี้ (วงเงินสูงสุดที่รัฐบาลจะกู้ได้) ทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเติม โดยเงื่อนไขหนึ่งที่ต้องทำเพื่อการปรับเพิ่มเพดานดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องมีการดำเนินการปรับลดรายจ่ายของภาครัฐลงมาด้วย และหากไม่สามารถทำได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ ก็จะมีการปรับลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐแบบอัตโนมัติ (Sequestration) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า

            ดังนั้น Fiscal Cliff จึงหมายถึง การที่เศรษฐกิจของประเทศสูญเสียแรงขับเคลื่อนทางการคลังอย่างฉับพลันและรุนแรง เนื่องจากมาตรการด้านการคลังชั่วคราวที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่เกิดวิกฤตินั้นสิ้นสุดลง ยิ่งมาตรการนั้น ๆ มีขนาดใหญ่มากเท่าไร เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของมาตรการก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจสูญเสียแรงส่งมากขึ้นเท่านั้น และนั่นหมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจถูกฉุดให้ลดต่ำลงหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอยก็เป็นได้ ดังนั้นเหตุการณ์เช่นนี้จึงเปรียบเสมือนกับว่าเศรษฐกิจ "ตกหน้าผาการคลัง"


ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการทั้งสอง

            ผลจากมาตรการ 2 มาตรการ ทั้งการสิ้นสุดการปรับลดภาษี ประกอบกับการตัดลดงบประมาณด้านรายจ่ายของภาครัฐฯ แม้ว่าจะทำให้รายได้ของรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็จะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในภาวะเปราะบางเป็นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะในส่วนของมาตรการภาษี หากสิ้นสุดลง ก็จะทำให้ประชาชนต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น และมีเงินคงเหลือเพื่อใช้จ่ายน้อยลง

            ในขณะมาตรการด้านงบประมาณที่จะต้องปรับลดลงมา ก็จะทำให้รัฐบาลนำเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุการณ์ทั้งสองอย่างนี้เลย ก็มีสิทธิ์ที่เศรษฐกิจจะหยุดชะงัก หรือหดตัวลงรุนแรง หรือเปรียบเสมือนกับการตกหน้าผานั่นเอง

            ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์กันว่า หากเกิด Fiscal Cliff ขึ้นมาเต็มจำนวนทั้ง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปีหน้า หดตัวลงถึง 1.00% และจะทำให้อัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 10% จากระดับปัจจุบันที่ 8.30% แต่หากปัญหา Fiscal Cliff ไม่ได้เกิดขึ้นเต็มจำนวนอย่างที่คาดไว้ ความรุนแรงก็จะลดน้อยลงมาตามลำดับ แต่ก็จะมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแน่นอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


อุปสรรคในการแก้ปัญหา Fiscal Cliff

            อุปสรรคในการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff หลัก ๆ แล้วเกิดจากเหตุผลทางการเมือง เนื่องจากก่อนหน้านี้สหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงระยะเวลาของการเลือกตั้งใหม่ ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง ส่งผลทำให้การตัดสินใจใช้นโยบายต่าง ๆ เป็นไปอย่างล่าช้า และในท้ายที่สุดแล้ว สภาคองเกรสอาจไม่สามารถดำเนินมาตรการเพื่อหลีกเลี่ยงการตกหน้าผานี้ได้ทันเวลาหลังจากการเลือกตั้งเพียง 2 เดือน อีกทั้งพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรค (เดโมแครต และรีพับลิกัน) ต่างก็มีนโยบายทางการคลังที่แตกต่างกัน ดังนั้นในขณะนี้จึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงมาตรการรองรับที่จะออกมา

            อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ล่าสุดในเรื่องของทางด้านมาตรการภาษี ทางสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) ได้มีมาตรการอนุมัติต่ออายุการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างการส่งต่อให้กับสภาสูง (สภาคองเกรส) ทำการอนุมัติเพื่อประกาศใช้ต่อไป จึงทำให้ความเสี่ยง และความกังวลในเรื่องของ Fiscal Cliff เริ่มคลี่คลายลงไปบ้าง แต่ก็ยังไม่หมดสิ้นไปเสียทีเดียว

            นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จากสำนักต่าง ๆ ต่างก็ได้คาดการณ์ว่าในท้ายที่สุด รัฐบาลสหรัฐฯ ก็คงจะต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดภาวะการตกหน้าผาทางเศรษฐกิจ เพราะจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างมหาศาล และอาจจะเป็นการจุดชนวนเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ต่อจากปัญหาหนี้ในยุโรป


ผลกระทบในประเทศไทย

            สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ในเบื้องต้นคาดว่าอาจมีผลทำให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ดังนั้นผู้ประกอบการส่งออกของไทยควรเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ในขณะที่การลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศไทย คาดว่าอาจจะมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดการเงินของไทยมากขึ้นทั้งในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และสุดท้ายอาจเป็นผลเสียต่อภาคการส่งออกของไทยได้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, voathai.com, kasikornasset.com, scbeic.com





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สภาผู้แทนฯสหรัฐไฟเขียว ร่างกฎหมายเลี่ยงภาวะหน้าผาการคลังแล้ว อัปเดตล่าสุด 5 พฤศจิกายน 2557 เวลา 18:21:05 6,662 อ่าน
TOP
x close