นิทานพื้นบ้านภาคใต้ รวมเรื่องเล่าจากแดนใต้แดนสยาม ซึ่ง นิทานพื้นบ้านภาคใต้ วันนี้เป็นเรื่องสั้น ๆ แต่แฝงด้วยข้อคิด
นิทานพื้นบ้าน นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เนื่องจากเป็นเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมาช้านาน ซึ่งถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลังด้วยมุขปาฐะ โดยในแต่ละท้องที่ของประเทศไทยต่างก็มีเรื่องเล่าและนิทานพื้นบ้านที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ลักษณะภูมิประเทศ วัฒนธรรม ธรรมเนียม และขนมธรรมเนียมประเพณี
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นิทานพื้นบ้านก็มีจุดมุ่งหมายคล้าย ๆ กันนั่นคือ เพื่อเป็นการปลูกฝังและสั่งสอนคุณธรรมจริยธรรมให้แก่คนรุ่นหลัง นอกจากนี้ ยังรับรู้ถึงวัฒนธรรม ความเชื่อที่แฝงอยู่ในนิทานด้วยเช่นกัน และในวันนี้กระปุกดอทคอมก็ได้นำ นิทานพื้นบ้านภาคใต้ สนุก ๆ มาฝากเพื่อน ๆ ที่รับรองเลยว่า เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี อ่านได้ทุก ๆ วัย แน่นอนค่ะ
นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง นายดั้น (จ.นครศรีธรรมราช)
นิทานเรื่อง นายดั้น เขียนบันทึกลงในสมุดข่อย ต้นฉบับเป็นของวัดท่าเสริม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะเวลาที่แต่งนิทาน คงอยู่ในระยะรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 แต่งด้วยกาพย์ 3 ชนิดคือ กาพย์ยานี 11, กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิง สวดอ่านนิทานในยามว่าง โดยนิทานเรื่องนายดั้นมีเนื้อเรื่องดังนี้
นายดั้น เป็นคนตาบอดใส อยากได้นางริ้งไรเป็นภรรยา จึงส่งคนไปสู่ขอและนัดวันแต่ง โดยฝ่ายนางริ้งไรไม่รู้ว่าตาบอด เมื่อถึงวันแต่งงานนายดั้นพยายามกลบเกลื่อนความพิการของตนโดยใช้สติปัญญาและไหวพริบต่าง ๆ แก้ปัญหา เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าภาพขึ้นบนบ้าน นายดั้นกลับนั่งตรงนอกชาน เมื่อคนทักนายดั้นจึงแก้ตัวว่า "ขอน้ำสักน้อย ล้างตีนเรียบร้อย จึงค่อยคลาไคล ทำดมทำเช็ด เสร็จแล้วด้วยไว แล้วจึงขึ้นไป ยอไหว้ซ้ายขวา"
ขณะอยู่กินกับนางริ้งไร วันหนึ่งนางริ้งไรจัดสำรับไว้ให้แล้วลงไปทอผ้าใต้ถุนบ้าน นายดั้นเข้าครัวหาข้าวกินเองทำข้าวหกเรี่ยราดลงใต้ถุนครัว นางริ้งไรร้องทักว่าเทข้าวทำไม นายดั้นจึงแก้ตัวว่า "เป็ดไก่เล็กน้อยบ้างง่อยบ้างเพลีย ตัวผู้ตัวเมีย ผอมไปสิ้นที่ อกเหมือนคมพร้า แต่เพียงเรามา มีขึ้นดิบดี หว่านลงทุกวัน ชิงกันอึ่งมี่ กลับว่าเรานี้ ขึ้งโกรธโกรธา"
วันหนึ่งนางริ้งไรให้นายดั้นไปไถนา นายดั้นบังคับวัวไม่ได้ วัวหักแอกหักไถหนีเตลิดไป นายดั้นจึงเที่ยวตามวัว ได้ยินเสียงลมพัดใบไม้แห้งชายป่า เข้าใจว่าเป็นวัว จึงวิดน้ำเข้าใส่เพื่อให้วัวเชื่อง นางริ้งไรมาเห็นเข้าจึงถามว่าทำอะไร นายดั้นได้แก้ตัวว่า "พี่เดินไปตามวัว ปะรังแตนแล่นไม่ทัน จะเอาไฟหาไม่ไฟ วิดน้ำใส่ตายเหมือนกัน ครั้นแม่บินออกพลัน เอารังมันจมน้ำเสีย"
อยู่มาวันหนึ่งนายดั้นจะกินหมาก แต่ในเชี่ยนหมากไม่มีปูน จึงร้องถามนางริ้งไร นางบอกที่วางปูนให้ แต่นายดั้นหาไม่พบ ได้ร้องถามอีกหลายครั้งแต่ก็ยังหาไม่พบ นายดั้นจึงร้องท้าให้นางริ้งไรขึ้นบ้านมาดู หากปูนมีตามที่บอก จะยอมให้นางริ้งไรเอาปูนมาทาขยี้ตา นางริ้งไรจึงเอาปูนมาทาขยี้ตานายดั้น นายดั้นถือโอกาสจึงร้องบอกว่าตาบอดเพราะปูนทา นางริ้งไรจึงต้องหายามารักษาจนตาหายบอดได้บวชเรียน
นิทานเรื่องนายดั้น ให้แนวคิดดังนี้
1. สะท้อนภาพของสังคมชนบทนครศรีธรรมราช ที่ชาวบ้านยึดถือความมีน้ำใจต่อกัน คอยช่วยเหลือกันโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย
2.ลักษณะความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชนบทที่เน้นความเรียบง่ายไม่มีพิธีรีตองให้ยุ่งยากถือเอาความสะดวกง่ายเป็นหลักมีการเล่นหัวหยอกล้อกันโดยไม่ถือสา
3. ผู้มีปัญหาและปฏิภาณไหวพริบดี จะเป็นผู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆได้สำเร็จแม้จะประกอบกิจการงานใดก็จะสำเร็จด้วยดี
นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง กินเหล้าแล้วอายุยืน (จ.นครศรีธรรมราช)
นานมาแล้วมีเรื่องเล่าว่า ชายคนหนึ่งชอบกินเหล้าเป็นชีวิตจิตใจ งานการก็ไม่เคยนำพาเรื่องบุญกุศลก็ไม่เคยทำ แต่การทำบาปแกก็ไม่เคยทำเช่นกัน ครอบครัวของแก มีอยู่ด้วยกันสามคน คือ ตัวแกเองพร้อมด้วยเมียและลูกอีกคนหนึ่ง ชายคนชอบกินเหล้าผู้นี้คิดอยู่เสมอว่าก่อนที่แกจะตายลงนั้นก็ขอให้ลูกชายได้บวชเสียก่อน เพราะแกอยากเห็นชายผ้าเหลืองของลูก แต่ชายคนนั้นก็ได้ตายลงเสียก่อนที่จะได้บวชลูก เมื่ออายุของแกได้ห้าสิบปีพอดี ก่อนที่จะตายนั้น แกได้สั่งให้ลูกเมียของแก เอาเหล้าใส่โลงไปด้วยสักสองสามขวดเผื่อหิวเหล้าขึ้นมาก็จะได้กินในปรโลก
เมื่อชายคนนั้นได้ลงไปอยู่ในเมืองนรกแล้ว ยมบาลก็ถามว่า "ทำไมถึงได้ชอบกินเหล้านักล่ะ เหล้านั้นมันเอร็ดอร่อยมากหรือไรกัน" แกก็ตอบออกไปว่า "อันเหล้านั้น ถ้าได้กินมันเข้าไปแล้ว ก็จะ .รู้รสชาติทันทีว่า ไม่มีอะไรแล้วในโลกมนุษย์จะอร่อยเท่า บอกไม่ถูกอธิบายไม่ได้ว่ามันมีรสชาติอย่างไร ต้องกินดูเองถึงจะ รู้" ยมบาลจึงพูดว่า "ในเมืองนรกของเรานี้ไม่มี ไม่งั้นแล้วเราจะลองชิมดูว่ามันจะเอร็ดอร่อยเหมือนดังคำกล่าวของท่านจริงหรือไม่"
ชายผู้ชอบกินเหล้าคนนั้นจึงบอกกับยมบาลว่า แกได้นำมันมาด้วย ถ้ายมบาลจะลองชิมดูก็มีให้ลอง ยมบาลจึงได้ชิมเหล้าของชายคนนั้นเข้าไป ชิมไป ๆ ยมบาลก็ชักติดใจในรสชาติของมัน จึงได้ขอเหล้าชายคนนั้นกินจนหมดขวด ยมบาลจึงได้เมาขึ้นมาทันที เพราะไม่เคยกินเหล้ามาก่อนหรือเพราะคอยังอ่อนอยู่นั่นเอง
ในเวลาต่อมา ยมบาลก็ได้ชอบพอกันกับชายคนนั้น จนกระทั่งสัญญาเป็นเพื่อนเกลอกัน แล้วบอกชายคนนั้นว่า "ถ้าแกต้องการอะไรที่พอผ่อนปรนกันแล้วก็ขอให้บอกมาเถิดเราจะช่วยเหลือ" ชายคนนั้นจึงบอกยมบาลว่า "ในชีวิตของแกไม่เคยได้ทำบุญอะไรเลย แกจึงอยากเห็นชายผ้าเหลืองของลูกชายสักครั้ง" แล้วแกจึงขอร้องต่อยมบาลว่า "ขอมีอายุต่อไปอีกแค่ปีเดียวเท่านั้น เพื่อบวชลูกชายได้หรือไม่" ด้วยความรักใคร่สงสารต่อชายผู้นั้นเป็นพิเศษ ยมบาลก็อนุญาตด้วยการต่ออายุให้ แล้วลงไว้ในบัญชีของยมโลก โดยยมบาลเพิ่มอายุให้อีกหนึ่งปี จึงได้เขียนเลข 1 ต่อจากเลข 50 ซึ่งเป็นอายุขัยของชายผู้นั้นลงในบัญชีทันที แต่ด้วยความเมาของยมบาลเอง จึงเลยลืมลบเลข 0 ออกเสียก่อน จึงกลายเป็นว่าชายคนนั้นมีอายุไปจนถึง 501 ปี
เมื่อยมบาลต่ออายุให้แล้ว ชายผู้ชอบกินเหล้าคนนั้นก็ได้ฟื้นกลับมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง แกก็ได้จัดการบวชลูกชาย จนได้เห็นชายผ้าเหลืองสมความตั้งใจแล้ว แกก็รอวันตายของแกเรื่อยมาแต่ก็ไม่ตายสักที จนกระทั่งเมีย ลูก หลาน เหลน ได้พากันตายไปแล้วเกือบทุกคนแต่แกก็ยังไม่ตายอยู่นั่นเอง ทำให้ชายผู้นั้นมีชีวิตอยู่อย่างทรมานใจเป็นอย่างยิ่งที่จำเป็นต้องอยู่ และเห็นคนที่แกรักตายจากไปทีละคนสองคนอยู่เสมอ
นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง ตากใบ (จ.นราธิวาส)
เมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว ในราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีพ่อค้าจีนคนหนึ่งล่องเรือสำเภามาจากประเทศจีน เพื่อไปขายสินค้ายังแหลมมลายู ในเรือสำเภานั้นได้บรรทุกสินค้า เครื่องปั้นดินเผามาเต็มลำเรือ เช่น เครื่องลายคราม ชามเบญจรงค์ โอ่ง ไห ลายมังกร เป็นต้น สินค้าเหล่านี้มีลวดลายสีสันงดงามมาก
วันหนึ่งขณะที่เรือสำเภาแล่นอยู่กลางทะเลใกล้ปากอ่าวทางตอนใต้ของไทยได้บังเกิดลมพายุ คลื่นลมแรงจัดมาก จนในที่สุดเรือกำลังจะจม พ่อค้าจีนจึงได้สั่งให้ปลดใบเรือลง จากนั้นเรือค่อย ๆ จมลงในท้องทะเล
พ่อค้าจีน ไต้ก๋ง พร้อมลูกเรือทุกคนได้พยายามช่วยเหลือตัวเอง จนสามารถขึ้นเกาะที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งได้ทุกคน เมื่อคลื่นลมสงบทุกคนจึงพากันไปกู้เรือและนำสินค้าขึ้นฝั่งได้สำเร็จ จากนั้นจึงเอาใบเรือเสื้อผ้า ขึ้นไปตากตามต้นไม้และกิ่งไม้
มีแขกมลายูคนหนึ่งมีอาชีพตัดไม้ไปขาย ได้มาตัดไม้ใกล้บริเวณที่พ่อค้าจีนตากใบเรือและเสื้อผ้า เมื่อเห็นสิ่งเหล่านั้น แขกมลายูจึงคิดที่จะขโมย จึงไปตัดต้นไม้ที่มีเสื้อผ้าตากอยู่ แต่พ่อค้าจีนและลูกเรือกลับมาเห็นเสียก่อนจึงร้องตะโกนขึ้นว่า เจ๊ะ .เฮ้ ๆ ๆ ๆ เอาเสื้อผ้าอั้วคืนมา แขกมลายูตกใจมาก จึงกล่าวขอโทษและรักปากว่าจะไม่ทำอย่างนี้อีก พ่อค้าจีนและลูกเรือทั้งหมดจึงยกโทษให้ และได้อาศัยทำมาหากินบนเกาะนี้อย่างมีความสุข
ต่อมาได้มีพ่อค้าสำเภาจีนลำอื่นล่องเรือมาค้าขายบนเกาะนี้มากขึ้น สินค้าส่วนใหญ่ที่นำมาขายมีชามเบญจรงคฺ์ โอ่ง ไหลายมังกร เครื่องลายคราม จนทำให้ชาวเกาะแห่งนี้มีเครื่องใช้เหล่านี้ทุกครัวเรือน นับเป็นการนำศิลปะ ประติมากรรมมาเผยแพร่ในประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งสามารถไปชมได้ที่วัดชลธาราสิงเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง เขาทะนาน (จ.สตูล)
เขาทะนานตั้งอยู่ชายฝั่งอันดามัน ที่บ้านมะหงัง ตำบลทุ่งบุหลัง อำเภอทุ่งหว้า เนินเขาสูงชั้น มีธรรมชาติสวยงดงาม มีสำนักสงฆ์และสุเหร่า สำหรับปฏิบัติธรรมของชาวไทย และชาวไทยมุสลิมภูเขาแห่งนี้ มีตำนานเล่ากันมา มีตายาย 2 คน นับถือศาสนาพุทธ ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านพระม่วง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีลูกชายหนึ่งคนเป็นบุคคลที่ลักษณะดี
อยู่มาวันหนึ่งมีเรือสำเภาของพ่อค่าต่างชาติได้นำสินค้ามาขายท่าเรือกันตัง ทั้ง 3 คนไปชมสินค้า ขณะชมอยู่นั้น นายสำเภาได้เห็นลูกชายตายายน่ารักและสงสาร ขอเป็นบุตรบุญธรรม สองตายายจึงยกให้เพราะเห็นลูกชายจะได้อยู่สุขสบาย นายสำเภาขายสินค้าหมดจึงออกเรือพร้อมบุตรบุญธรรม จำหน่ายสินค้าไปยังที่ต่าง ๆ จนร่ำรวยเป็นเศรษฐี เด็กชายที่นำมาเลี้ยงมีความสุขในกองเงินกองทองจนลืมคิดถึง 2 ตายาย ไม่ได้กลับบ้านมานาน เล่าเรียนหนังสือให้สมได้ดี ครั้นโตขึ้นก็แต่งงานกับลูกสาวนายสำเภา อยู่กินอย่างมีความสุข
ฝ่ายภรรยาคิดถึงพ่อสามี รบเร้าให้ไปหา สามีพยายามบ่ายเบี่ยงหลายครั้ง แต่ทนรบเร้าของภรรยาไม่ไหว จึงส่งข่าวให้สองตายายทราบล่วงหน้าฝ่ายสองตายายทราบข่าวดีใจมาก บอกเพื่อนบ้าน ญาติมิตรให้ทราบจัดที่รับรอง พอใกล้ถึงเวลากลับ สองตายายฆ่าหมู 1 ตัว เพื่อเลี้ยงรับรองครั้นถึงเวลาที่ลูกชายกลับ สองสามีภรรยานำเรือมาจอดท่าเรือกันตัง ส่งลูกเรือไปสืบดูว่าสองตายายมาหรือไม่ จึงชวนภรรยาขึ้นไปหา ลูกชายเห็นสองตายายยากจนก็ไม่ยอมรับว่าเป็นบิดามารดา จึงหันหลังกลับ ฝ่ายยายพยายามดึงแขนลูกไว้ ลูกชายดิ้นรนหนีไม่ได้ แม่เกิดความเสียใจมากถึงกับสาปแช่งว่า หากเป็นลูกชายของตนแล้ว ขออย่าให้ออกจากฝั่งไปได้ ขอให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา แต่ไม่ลืมหมูย่างไปวางไว้ที่เรือสำเภา
ขณะที่ชุมชนวุ่นวายอยู่นั้น เกิดพายุใหญ่พัดมา ทำให้เรือสำเภาแตก สิ่งของกระจัดกระจายลอยไปในทะเล ในที่สุดมีผู้เฒ่าเล่าว่า เรือสำเภากลายเป็นเกาะเภตรา สายสมอเป็นหินสายสมอ ตะบัน (ผ้าโพกหัวมุสลิม) เป็นภูเขาบัน หมูย่างเป็นเกาะสุกร เครื่องตวงสินค้าในเรือ เป็นภูเขาป้อย ภูเขาแล่ง ภูเขาทะนาน เมื่อ 70 ปีที่ผ่านมาภิกษุรูปหนึ่งมาจากพัทลุงมาปักกลดและสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นและสร้างรูปปั้นไว้รูปหนึ่ง
นิทานเรื่องเขาทะนาน ให้แนวคิดดังนี้
เป็นคติเตือนใจชนรุ่นหลัง เรื่องความกตัญญูและความกตเวที การได้ดิบได้ดีแล้วลืมบ้านเกิดเมืองนอนการเป็นลูกเนรคุณไม่รู้จักค่าน้ำนม การที่ผู้ใหญ่สาปแช่งถือเป็นเรื่องจริง
นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง ตำนานเขาช้าง (จ.พังงา)
เดิมมีพี่น้อง 2 คน พี่ชื่อยมดึง เป็นชาย น้องชื่อยมโดย เป็นหญิง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ประจวบคีรีขันธ์ ต่อมานางยมโดยเสียชีวิต ตายมเศร้าโศกมากจึงละทิ้งถิ่นเดิมไปตามยถากรรมจนมาถึงปลายคลองแสง ในเขตอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฏร์ธานี และอาศัยอยู่กับตาโจงโดงในละแวกบ้านไกรสร ซึ่งมีอาชีพหาน้ำมันชันจากต้นยาง เนื่องจากตายมดึงเป็นคนขยันจนตาโจงโดงพอใจมาก ถึงกับยกนางทองตึงให้แก่ตายมดึง
ครั้นอยู่มาวันหนึ่งมีโขลงช้างป่าเข้ามาทำลายไร่ข้าวและผักผลไม้ของตายมดึง ไล่ไปแล้วก็กลับมากินอีกเป็นหลายคราวจนนายยมดึงโกรธแค้น จะฆ่าช้างทั้งโขลงนั้นให้ได้ ยังมีตางุ้ม เป็นชาวบ้านพุมเรียง อำเภอไชยามีอาชีพค้าขายเดินทางไปต่างเมืองอยู่เสมอ ตางุ้มมีช้างอยู่ 2 เชือก เป็นช้างพังและช้างพลายเพื่อเป็นพาหนะในการบรรทุกสินค้า คราวนั้นตางุ้มเดินทางจากไชยาไปค้าขายถึงเขาพนมและจะต่อไปยังตะกั่วป่า ขณะตางุ้มพักช้างอยู่นั้น โขลงช้างที่ตายมดึงไล่วิ่งผ่านมา ช้างพลายของตางุ้มเห็นช้างพังงามเข้าก็กระชากปลอกขาดออกวิ่งติดตามนางช้างพังป่านั้นไป ได้อาละวาดต่อสู้กับช้างพลายป่าจนฝูงช้างแตกกระจัดกระจายหนีไปคนละทิศละทาง จนเป็นเหตุให้ตายมดึงสำคัญผิดติดตามล่าช้างของตางุ้มเชือกหนึ่งด้วย
ตายมดึงสะกดรอยล่าช้างกับหมาตัวหนึ่ง ตามมาจนถึงคลองสก ซึ่งน้ำเชี่ยวมาก ช้างพังเชือกหนึ่งกำลังท้องแก่ตกใจวิ่งหนี จนพลาดตกลงไปในคลองนั้น แรงกระแทกทำให้ตกลูกออกมา ลูกช้างตัวนั้นกลายเป็นหินอยู่กลางคลองสก จึงเรียกว่า "หินลูกช้าง" มาจนบัดนั้นตายมดึงยังคงติดตามรอยช้างต่อไป โดยลากหอกตามไปเรื่อย ๆ ทางที่ลากหอกไปนั้น ทำให้ดินและหินแยกเป็นทางน้ำอยู่ในเขตอำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียกหมู่บ้านแถบนั้นว่า "บางลากหอก" หรือบางตาม จนมาถึงทุกวันนี้
ตายมดึงตามช้างไปจนถึงช่องเขาในป่าลึก ในตำบลคลองสก ณ ที่นั้นมีม้าตัวหนึ่งเหลียวมาดูตายมดึง เขาช่องนั้น จึงได้ชื่อว่า "ช่องม้าเหลียว" ครั้นไล่ต่อไปจนเกือบจะทันตายมดึงได้เอาดินปืนใส่กระบอกปืนจ้องยิง แต่กระสุนพลาดไปจึงเรียกสถานที่ที่กระสุนตก ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บ้านบางหมานว่า "ช่องลูกปลาย" และด้วยความโกรธที่ยิงช้างไม่ถูกตายมดึง จึงโยนปืนทิ้ง ปืนไปตกบนภูเขาตรงหน้าวัดสองพี่น้อง ตำบลคลองสก จึงเรียนภูเขานั้นว่า "เขาโยน"
ตายมดึงเหนื่อยมาก จึงปล่อยให้หมาที่ตามมาด้วยไล่ช้างไปก่อน หมาไล่ไปพบแลน (ตัวเงินตัวทอง) แลนวิ่งหนีลงรู ซึ่งอยู่บนเขาตรงหน้าถ้ำวราราม แต่แลนถูกหมาตะครุบได้ตรงส่วนหาง หางแลนจึงหลุดคารูนั้นอยู่ จึงเรียกสถานที่นั้นว่า "แลนคารู" ครั้นแลนหลุดไปได้หมาได้แต่แหงนดู จึงเรียกที่บริเวณนั้นว่า "ย่านหมาแหงน" ฝ่ายตายมดึงได้ใช้พร้าขว้างแลนพลาดไปถูกภูเขา พร้าหัก จึงเรียกสถานที่นั้นว่า "เขาพร้าหัก" ครั้นไล่ต่อไปอีกเกิดฝนตกหนักจำเป็นต้องเอาดินปืนทิ้งไว้ในถ้ำ จึงเรียกถ้ำนั้นว่า "ถ้ำดินปืน" ช้างพลายของตางุ้มถูกตายมดึงตามล่าไม่ลดละต้องเตลิดหนีไปจนถึงแดนเมืองตะกั่วป่า ไปหยุดนอน ณ ป่าแห่งหนึ่งในเขตอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา จึงได้ชื่อว่า "บ้านช้างนอน"
พอตายมดึงตามมาเกือบทันช้างก็หนีต่อไปจนผ่านช่องเขาซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอท้ายเหมืองกับอำเภอตะกั่วทุ่ง ตายมดึงเห็นแผ่นหินใหญ่วางอยู่จึงยืนลับหอกกับแผ่นหินนั้น ที่นั่นจึงได้ชื่อว่า "เขาหินลับ" สืบมาจนถึงทุกวันนี้
ตายมดึงตามล่าจนเข้าเขตเมืองพังงา ก็เป็นที่ป่ารกและฝนตกหนัก จึงปืนขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่ง แล้วชะโงกดูช้างเชือกนั้น ปัจจุบันบริเวณนั้นจึงเรียกว่า "ทุ่งคาโง่ก" พอตายมดึงเห็นช้างก็รีบลงมาใช้หอกแทงช้างนั้นทันที หอกปักเข้าที่ขาข้างหนึ่ง ทำให้ขาช้างเป็นแผลใหญ่ และพิการเดินไม่ถนัด เรียกบริเวณที่ช้างถูกแทงขานั้นว่า "บ้านแผล" (อยู่ในเขตอำเภอเมืองพังงา)
ช้างยังกระเสือกกระสนหนีต่อไปจนหมดแรงก็หมอบนอนอยู่กลางแดด ปัจจุบันเรียกบริเวณนั้นว่า "บ้านตากแดด" ตายมดึงได้ใช้หอกแทงตรงท้องของช้างเลือดไหลทะลักออกมาในที่สุดก็สามารถล้มช้างพลายของตางุ้มได้สำเร็จช้างนั้นกลายเป็นหินเรียกว่า "เขาช้าง" ตรงส่วนที่เป็นท้องของช้าง ซึ่งมีเลือดไหลทะลักออกมานั้น กลายเป็นน้ำตก และท้องช้างกลายเป็นถ้ำใหญ่เรียกว่า "ถ้ำพุงช้าง" และด้วยความแค้นของตายมดึงได้ผ่าท้องช้างล้วงเอาตับไตไส้พุงออกมาต้มแกงกินเป็นอาหาร พอกินเสร็จก็ยกหม้อข้าวหม้อแกงเหวี่ยงลงในวังน้ำใกล้ ๆ นั้น ปัจจุบันเรียกบริเวณนั้นว่า "วังหม้อแกง" ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับตลาดพังงา และต่อมาคำว่า "พิงงา" นี้เอง ได้กลายมาเป็น "พังงา"
ฝ่ายตางุ้มเจ้าของช้างเที่ยวตามหาช้างของตนไม่พบ ตามมาจนถึงพังงา จึงรู้ว่าช้างของตนถูกฆ่าเสียแล้วก็เสียใจจนขาดใจตายตามช้างไป แล้วร่างของตางุ้มกลายเป็นภูเขาเรียกว่า "เขาตางุ้ม" นั่งเฝ้าอยู่ใกล้ ๆ ซากช้าง คือ "เขาช้าง" นั้นเอง บางตำนานเล่าว่าช้างของตางุ้ม เป็นช้างพังและมีงาเล็ก ๆ เมื่อถูกงาออกจึงเรียกว่า "พังงา"
และบางตำนานเล่าว่า ช้างที่ถูกฆ่านั้นเป็นช้างของตายมดึงที่ขี่ไปแต่งงาน แล้วช้างหลุดไปทำลายพืชไร่ของเขา จึงถูกฆ่าตำนานที่เกี่ยวกับเขาช้างนี้ เนื่องจากมีมานานผู้เล่าจึงมักนำเอาสถานที่อื่น ๆ ในบริเวณนั้นมาเชื่อมโยงเสริมต่อ จึงพิสดารออกไปมากมาย ดังเช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128 ว่า "เขาช้างที่กล่าวมาแล้วนั้นมีเรื่องเล่ามาว่า ตายมดึงได้ผูกช้างไว้จะไปช่วยการแต่งงานลูกสาวตาม่องล่าย แต่ช้างได้ไปเหยียบข้าวในนาของตายมดึงเสียไปมาก แล้วก็หนี ตายมดึงไล่ช้างมาตั้งแต่ตะกั่วป่ามาทันเข้าที่นี่ แล้วฆ่าช้างนั้นตาย ตายมดึงถอนงาช้างไปพิงไว้ที่เขาลูกหนึ่ง จึงมีชื่อว่า "เขาพิงงา" อยู่เหนือเขาช้าง เล่ากันต่อไปว่าเมืองนี้เดิมเรียกว่า "เมืองพิงงา" มาภายหลังจึงเพี้ยนไปเป็น พังงาแทน ส่วนช้างที่ตายมดึงฆ่าตายนั้น ที่ผูกอยู่บนหลังช้างได้ตกลงมาคว่ำอยู่ทางท้ายช้าง แล้วกลายเป็นเขาอยู่ต่อท้ายเขาช้างบัดนี้"
นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง ตำนานพระขวาง (จ.ชุมพร)
พระขวางเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ประดิษฐานอยู่ในวัดพระขวาง ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ ณ ต.ขุนกระทิง อ.เมือง จ.ชุมพร ตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยตามน้ำมาจากพม่าจนมาติดขวางอยู่หน้าวัดร้างแห่งนี้ ชาวบ้านจึงใช้เชือกลากเพื่อนำไปไว้ในวัดแต่ลากไม่ขึ้น ตกกลางคืนพระองค์นี้ได้เข้าฝันชาวบ้านว่าให้
สร้างที่อยู่ให้เรียบร้อยและเอาสายสิญจน์เจ็ดเส้นพันรอบองค์พระแล้วจะขึ้นเอง
วันรุ่งขึ้นจึงมีการปฏิบัติตามและสามารถนำพระขึ้นมาประดิษฐานได้ จึงมีการขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระขวาง" และเป็นที่มาของชื่อไว้ด้วยเมื่อพระขวางเป็นพระพุทธรูปประจำวัดแล้ว ปรากฏเหตุการณ์ประหลาดกล่าวคือ พระและสามเณรในวัดค่อย ๆ หายไปเรื่อย ๆ ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่ชาวบ้านและพระภิกษุในวัดเป็นอย่างยิ่ง จนตกกลางคืนวันหนึ่งมีชาวบ้านแอบดูพระพุทธรูปองค์นี้และพบเห็นพระกินเด็กและสามเณร จึงนำความไปแจ้งต่อเจ้าอาวาสวัด เจ้าอาวาสจึงใช้ยันต์ปิดไว้และได้นำ "ปรอท" ซึ่งบรรจุอยู่ในองค์พระออก นับแต่นั้นเป็นต้นมาก็ไม่ปรากฏว่ามีใครหายไปอีกเลย
นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง เกาะหนูเกาะแมว (จ.สงขลา)
นานมาแล้วมีพ่อค้าจีนคนหนึ่งคุมเรือสำเภาจากเมืองจีนมาค้าขายที่เมืองสงขลา เมื่อขายสินค้าหมดแล้ว จะซื้อสินค้าจากสงขลากลับไปเมืองจีนเป็นประจำ วันหนึ่งขณะที่เดินซื้อสินค้าอยู่นั้น พ่อค้าได้เห็นหมากับแมวคู่หนึ่งมีรูปร่างหน้าตาน่าเอ็นดู จึงขอซื้อพาลงเรือไปด้วย
หมากับแมวเมื่ออยู่ในเรือนาน ๆ ก็เกิดความเบื่อหน่ายและอยากจะกลับไปอยู่บ้านที่สงขลา จึงปรึกษาหาวิธีการที่จะกลับบ้าน หมาได้บอกกับแมวว่าพ่อค้ามีดวงแก้ววิเศษที่ใครเกาะแล้วจะไม่จมน้ำ แมวจึงคิดที่จะได้แก้ววิเศษนั้นมาครอบครอง จึงไปข่มขู่หนูให้ขโมยให้และอนุญาตให้หนูหนีขึ้นฝั่งไปด้วย
ครั้นเรือกลับมาที่สงขลาอีกครั้งหนึ่ง หนูก็เข้าไปลอบเข้าไปลักดวงแก้ววิเศษของพ่อค้าโดยอมไว้ในปาก แล้วทั้งสาม ได้แก่ หมา แมว และหนู หนีลงจากเรือว่ายน้ำจะไปขึ้นฝั่งที่หน้าเมืองสงขลา ขณะที่ว่ายน้ำมาด้วยกัน หนูซึ่งว่ายน้ำนำหน้ามาก่อนก็นึกขึ้นได้ว่าดวงแก้วที่ตนอมไว้ในปากนั้นมีค่ามหาศาล เมื่อถึงฝั่งหมากับแมวคงแย่งเอาไป จึงคิดที่จะหนีหมากับแมวขึ้นฝั่งไปตามลำพัง ดวงแก้วจะได้เป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียวตลอดไป แต่แมวที่ว่ายตามหลังมาก็คิดจะได้ดวงแก้วไว้ครอบครองเช่นกัน จึงว่ายน้ำตรงรี่เข้าไปหาหนู ฝ่ายหนูเห็นแมวตรงเข้ามาก็ตกใจกลัวแมวจะตะปบจึงว่ายหนีสุดแรงและไม่ทันระวังตัวดวงแก้ววิเศษที่อมไว้ในปากก็ตกลงจมหายไปในทะเล
เมื่อดวงแก้ววิเศษจมน้ำไปทั้งหนูและแมวต่างหมดแรงไม่อาจว่ายน้ำต่อไปได้ สัตว์ทั้งสองจึงจมน้ำตายกลายเป็น "เกาะหนูเกาะแมว" อยู่ที่อ่าวหน้าเมืองสงขลา ส่วนหมาก็ตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงฝั่ง แต่ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจึงขาดใจตายกลายเป็นหินเรียกว่า "เขาตังกวน" เป็นภูเขาตั้งอยู่ริมอ่าวสงขลา ส่วนดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนูก็แตกแหลกละเอียดเป็นหาดทราย เรียกสถานที่นี้ว่า "หาดทรายแก้ว" ตั้งอยู่ทางเหนือของอ่าวสงขลา
นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง แก่นข้าว (จ.สงขลา)
ในสมัยก่อนมนุษย์เราไม่รู้จักกินข้าว คงกินแต่รำข้าว เมื่อทำนาได้ข้าวก็จะฝัดเอาแต่รำมากินส่วนเมล็ดข้าวซึ่งเรียกว่า "แก่นข้าว" จะทิ้งเป็นกอง ๆ อยู่ทั่วไป ต่อมามีครอบครัวหนึ่งลูกเล็กคนหนึ่งไม่ยอมกินรำข้าว เมื่อพ่อแม่จะต้มรำข้าวให้กินเหมือนลูกคนอื่นทั่วไป เด็กคนนั้นจะไม่ยอมกินและร้องขึ้นทุกครั้ง จนพ่อแม่รู้สึกรำคาญจึงพูดประชดว่า "หมึงอีกินอ้ายไหรหา ร้อง ๆ เดี๋ยวกูต้มแก่นข้าวให้กินให้ตาย ๆ ไปเสียแหละ"
พอพ่อแม่พูดเช่นนั้น ลูกคนนั้นก็หยุดร้อง แต่อยู่สักครู่ก็ร้องอีก พ่อแม่จึงพูดด้วยอารมณ์เสียอีกว่า "ทีนี้กูเอาแก่นข้าวมาต้มให้กินจริง ๆ แหละ ร้องไปตะ" ลูกคนนั้นก็หยุดร้องอีก พ่อแม่จึงไปเอาแก่นข้าวต้มให้กินจริงปรากฏว่า ลูกคนนั้นดีอกดีใจ กินข้าวได้มาก และเมื่ออิ่มก็นอนหลับ ฝ่ายพ่อแม่ตกใจมากนึกว่าลูกตายแล้ว เพราะกินแก่นข้าวซึ่งคนเขาไม่กินกันเข้าไปมาก พ่อแม่ก็ได้แต่ร้องห่มร้องไห้
ฝ่ายลูกนอนหลับสักครู่ก็ตื่นขึ้นมายิ้มแล้วหัวเราะอย่างสุขใจ พ่อแม่เห็นเช่นนั้นก็ดีใจจึงต้มแก่นข้าวให้ลูกกินเรื่อยมา จนข่าวนี้ลือไปทั่ว คนจึงได้หันมากินแก่นข้าวแทนรำข้าวกันตั้งแต่มาจนทุกวันนี้
นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง หมาป่ากับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ (จ.ปัตตานี)
นานมาแล้ว มีหมาป่าผอมโซตัวหนึ่ง ไปบนบานกับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ขอเป็นวัวบ้านตัวอ้วนพี เมื่อกลายร่างเป็นวัวถูกชาวบ้านใช้ไถนา เกิดความเหนื่อยเมื่อยล้า จึงไปบนบานกับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ว่าขอเป็นม้า แต่กลับถูกพระราชาผู้ครองนครสั่งให้ทหารจับตัวไปเป็นพาหนะ เกิดความเบื่อหน่ายอีก จึงไปบนบานกับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ว่าขอเป็นพระราชาเสียเอง
เมื่อได้เป็นพระราชาสมใจแล้วเขายังมีความต้องการเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ จึงสั่งทหารให้ไปตัดต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เพื่อต่อเรือ ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์โกรธมากที่ทำคุณไม่ขึ้น จึงบอกให้ทหารไปตามพระราชามาตัดเอง เมื่อพระราชามาถึงต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ได้กล่าวตำหนิในความไม่รู้จักพอ และสาปให้กลายร่างกลับเป็นหมาป่าผอมโซเช่นเดิม
นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง ปลาแก้มช้ำ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีครอบครัวอยู่ครอบครัวหนึ่ง มีอยู่ด้วยกัน 4 ชีวิต ได้แก่ ตา ยาย หมา และแมว ยายนั้นมีแหวนอยู่วงหนึ่งงามมาก หมาเมื่อได้เห็นแหวนของยายแล้วก็นึกชอบอยู่ในใจของมันยิ่งนัก
ต่อมาไม่นาน หมาก็ได้ลักแหวนของยายไปเสีย ตายายจึงใช้ให้แมวตามไปเอาแหวนคืนมาจากหมาให้ได้ แมวก็ได้ตามไปทันหมาที่สะพานแห่งหนึ่งซึ่งหมากำลังข้ามอยู่บนสะพานนั้นพอดี แมวจึงได้ร้องถามหมาขึ้นว่าได้ลักแหวนของยายมาบ้างไหม หมาจึงอ้าปากจะพูดโต้ตอบกับแมวเลยทำให้แหวนที่มันคาบอยู่นั่นหล่นลงไปในคลองเสีย และก็บังเอิญในคลองนั้นได้มีฝูงปลาฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ แหวนวงนั้นจึงได้ถูกปลาตัวหนึ่งคาบเอาไป
เมื่อแหวนได้ตกลงไปในคลองเสียเช่นนั้นแล้ว หมากับแมวก็ได้หันหน้าเข้าหากันเพื่อปรึกษาหารือที่จะงมแหวนจากคลองนั้นให้ได้ โดยหมาได้รู้สึกนึกผิดที่ได้ลักเอาของมีค่าของผู้มีพระคุณของมันมา มันจึงได้บอกกับแมวว่า มันจะต้องเอาแหวนนั้นไปคืนยายให้ได้ มิฉะนั้นแล้วมันก็จะไม่กลับไปบ้านของตายายอีกเป็นอันขาด หมาจึงได้ลงไปดำว่ายอยู่ในคลองเพื่อหาแหวนแต่ก็ไม่พบแต่อย่างใด มันจึงคิดที่จะวิดน้ำในคลองนั้นให้แห้งเสียเลย หมาจึงได้ลงไปในคลองนั้นแล้วก็ขึ้นมาสะบัดน้ำ ออกจากตัวมันได้ทำอยู่เช่นนั้นทั้งวันทั้งคืน
ฝ่ายปลาที่อาศัยอยู่ในคลองนั้นต่างก็ตกใจกลัวว่าน้ำจะแห้งแล้วพวกตนก็จะพากันตายหมด หัวหน้าฝูงปลาจึงได้มาพูดขอร้องกับหมาทันทีโดยให้หมายุติการวิดคลองเสีย แล้วตนก็อาสาเอาแหวนมาคืนให้ หัวหน้าฝูงปลาจึงได้พาบริวารออกค้นหาปลาตัวที่คาบแหวนนั้นไปจนพบ แล้วก็ได้ขอแหวนคืนให้หมาแต่โดยดี แต่ปลาตัวนั้นก็ ไม่ยอมคืนให้ ปลาทั้งฝูงโกรธปลาตัวนั้น จึงพากันเข้าตบตียื้อแย่งเอาแหวนวงนั้นมา และได้นำไปให้หมาได้ในที่สุด
ในการยื้อแย่งเอาแหวนจากปลาด้วยกันครั้งนั้น ปลาตัวที่มีแหวนอยู่ในครอบครองก็ได้ถูกเพื่อน ๆ ปลาตบตีเอาจนแก้มทั้งสองช้ำชอกยิ่งนัก ปลาตัวนั้นจึงได้แก้มช้ำมาตั้งแต่บัดนั้นและมันก็ได้มีเผ่าพันธุ์ต่อมา ปลาทุกตัวที่สืบเชื้อสายมาจากปลาตัวนี้ก็ล้วนแต่มีลักษณะคล้ายกับแก้มช้ำเหมือนกันหมด จึงได้เรียกชื่อปลาชนิดนี้ตามลักษณะของมันว่า "ปลาแก้มช้ำ" มาจนทุกวันนี้
นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง งูน้ำ
นิทานเรื่องงูน้ำเป็นนิทานประเภทอธิบายความว่าเหตุใดงูจึงไม่มีพิษ เล่ากันว่าแต่เดิม งูน้ำเป็นงูชนิดเดียวที่มีพิษและมีพิษร้ายแรงมากเพียงแต่กัดรอยเท้าของใครเข้าเจ้าของรอยเท้านั้นก็จะถึงแก่ความตาย อยู่มาวันหนึ่งงูน้ำได้กัดชายคนหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า "อ้ายไม่ตาย"
หลังจากนายอ้ายไม่ตายถูกงูน้ำกัดตายแล้วชาวบ้านก็ลือกันว่า "งูน้ำกัดนายอ้ายไม่ตายเสียแล้ว" บางก็พูดว่า "งูน้ำกัดนายอ้ายไม่ตายแล้ว" เมื่องูน้ำรู้ข่าวนี้ก็เสียใจและเจ็บใจตัวเองว่าพิษร้ายของตนเองเสื่อมถึงที่สุดแล้วเพราะแต่ก่อนเพียงกัดแค่รอยเท้าใครผู้นั้นก็ตาย มาคราวนี้กัดถูกเท้าจริง ๆ กลับไม่ตาย งูน้ำน้อยใจมากจึงไปสำรอกพิษทิ้งทั้งหมด พิษที่สำรอกออกมานั้นไปติดอยู่ที่ต้นรังทังช้างรังทังไก่ หมามุ่ย
พวกงูชนิดอื่น ๆ พากันไปอมพิษนั้นไว้ งูที่ไปถึงก่อนก็ได้แก่ งูจงอาง งูเห่า งูกะปะ เป็นต้น พวกนี้จึงมีพิษร้ายแรง ส่วนงูและสัตว์อื่น ๆ ที่ไปทีหลังจะได้พิษลดน้อยลงเรื่อย ๆ เช่น งูเขียว ตะขาบ ส่วนต้นรังทังช้าง รังทังไก่ หมามุ่ย ก็มีพิษเหลืออยู่บ้างใครไปถูกก็โดนพิษดังที่เป็นอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ในปัจจุบันงูน้ำจึงไม่มีพิษร้ายแรง
นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง ลูกเนรคุณ
มียายแก่คนหนึ่งอยู่กินกับลูกชายและลูกสะใภ้ แก่มากแล้ว ทำอะไรก็ไม่ค่อยได้ ลูกสะใภ้จึงไม่ชอบ เที่ยวด่าว่าแม่ยายอย่างนั้นอย่างนี้ ในตอนที่รับประทานข้าวก็จะเอาน้ำที่อยู่ในบ่อใส่น้ำแกง ทำให้น้ำแกงจืดรับประทานไม่ได้ บางครั้งแกงเผ็ดจนเกินไป แต่ตอนที่ทำให้สามีรับประทานก็จะทำอาหารดี ๆ
พอถึงเวลาลูกชายกลับมาบ้าน แม่ก็บอกลูกชายว่าสะใภ้ทำแกงรับประทานไม่ได้ บางครั้งเผ็ด บางครั้งเค็ม บางครั้งจืด ข้างฝ่ายลูกเห็นว่าแม่พูดเรื่อย ๆ ก็หาว่าแม่แก่ปากเปียก เพราะแกงที่เมียทำไว้ให้สามีนั้นอร่อยดี ลูกชายก็โกรธจึงชวนกันสองคนสามีภรรยา เอาแม่ห่อเสื่อไว้ว่าจะพาไปเผาในป่าช้า พอถึงป่าช้าก็ลืมไม้ขีดไฟและก็ใกล้ค่ำแล้วด้วย ฝ่ายสามีก็ใช้ภรรยาไปเอาไม้ขีดที่บ้าน ภรรยาก็ไม่กล้าไป สามีจะมาเอาเอง ภรรยาก็ไม่กล้าอยู่คนเดียว ก็เลยชวนกันกลับบ้าน ทั้งสองคนปล่อยให้แม่อยู่ในป่าช้า ฝ่ายแม่เมื่อลูกกลับไปบ้านแล้วก็คลานออกจากเสื่อไปในป่าพอดี
ในป่านั้นก็มีโจรไปปล้นบ้านเขามา และนั่งแบ่งเงินกันอยู่ แต่ยายแก่ไม่รู้เรื่องว่าโจรปล้นเงินมา พอคลานไปถึงก็พูดขึ้นว่า "ไอ้คนเนรคุณ" โจรได้ยินก็ตกใจหนีหมด ทิ้งเงินไว้มากมายยายแก่ก็เก็บเงินนั้นแล้วก็พาไปบ้าน ฝ่ายลูกเห็นแม่พาเงินมามากก็พูดว่า เราทิ้งแม่ไว้ในป่าช้า แม่ได้เงินมากมายแต่แม่ก็ไม่ให้ใช้ ฝ่ายแม่ได้ยินก็บอกว่าเงินนั้นแม่ให้ทั้งหมด แต่ให้เอาเงินนั้นไปซื้อแม่มาให้คนหนึ่ง ซื้อแม่ใครก็ได้ที่เขาขาย ลูกชายก็พาเงินนั้นเดินไปทั่วทุกเมืองก็หาซื้อไม่ได้ก็เลยต้องกลับบ้าน
แต่พอมาถึงบ้านแม่ก็บอกให้ลองไปหาซื้อเมียดูบ้าง พอให้ไปหาซื้อเมียมาก็ปรากฏว่าซื้อได้ นี่แหละเขาว่าซื้ออื่นซื้อได้แต่ซื้อแม่ซื้อไม่ได้ ฝ่ายเมียเมื่อเห็นว่าตนเองและสามีพาแม่ไปปล่อยในป่าช้าได้เงินมามากมาย ก็ใช้สามีพาตนเองไปเผามั่ง สามีก็เอาเสื่อม้วนพาไปในป่าช้า และก็จุดไฟเผาภรรยา ภรรยาก็ถูกไฟคลอกตาย
เป็นยังไงกันบ้างล่ะคะสำหรับนิทานพื้นบ้านภาคใต้...เชื่อว่านอกจากผู้อ่านจะได้รับความสนุกแล้ว ยังได้รับแง่คิดดี ๆ อีกด้วย นับได้ว่ามีประโยชน์มาก ๆ จริงไหมคะเพื่อน ๆ :)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- นิทานพื้นบ้าน.whitemedia.org
- blog.eduzones.com
- bunnarak.com
- rakpaktai.wordpress.com