สะกิดความคิด หลากมุมมองในสังคม กับความหนาวสั่นบนยอดสูง












เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ geekhousechannel สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

          เป้าหมายในชีวิตของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันออกไป แต่ในยุคแห่งทุนนิยม ทำให้ผู้คนในสังคมล้วนมีมุมมองเป้าหมายในชีวิตใกล้เคียงกันอย่างไม่รู้ตัว นั่นคือ การมีเงินทอง ทรัพย์สิน ได้ใช้ชีวิตหรูหรา โดยลืมมองไปว่าคุณค่าของชีวิตนั้นยังมี "ความดีงาม" ที่ทำได้ยากและควรรักษาไว้ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด หลายคนมุมานะทำงานหนัก เพื่อหาเงินทอง ชื่อเสียง และค่อย ๆ ก้าวขึ้นสู่ยอดเขาอย่างช้า ๆ จนลืมไปว่า ยิ่งก้าวขึ้นไปสูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งหนาวเย็นจับใจมากเท่านั้น รายการ จัง-หวะ-จะ-เดิน (17 มีนาคม) ตอน "ยิ่งสูงยิ่งหนาว" จึงขออาสาเตือนสติผู้คนในสังคม ผ่านความรู้สึกลึก ๆ ของคนเหล่านี้ ที่อาจจะสะกิดใจให้หันกลับมามองมุมใหม่ได้บ้าง ..

          ภาณุ มณีวัฒนกุล (บาฟ) นักเขียนและช่างภาพสารคดี เปิดใจถึงมุมมองของเขาถึงค่านิยมสมัยใหม่ ที่มองเห็นว่าความสะดวกสบายที่มีมากขึ้นทำให้ผู้คนมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวน้อยลง บัตรเครดิตคือปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คนในปัจจุบันไปเสียแล้ว


          สันโดษ สุขแก้ว (โดษ) และ เกษริน สุขแก้ว (เกษ) สองสามีภรรยาจาก จ.แม่ฮ่องสอน บอกว่า หากอยากให้เปลี่ยนค่านิยมของคนในสังคมปัจจุบัน ก็ต้องเปลี่ยนกันตั้งแต่รากเหง้า อย่าเอาคอมพิวเตอร์มาให้เด็กเรียนรู้ตั้งแต่เล็ก ๆ เพราะอีกหน่อยจะทำอะไรไม่เป็น ถ้าคอมพิวเตอร์ไม่ทำงาน ตัวเองก็ไม่ทำงานเหมือนกัน ต่างจากคนสมัยก่อนที่มีมีดเล่มเดียว เขาก็สร้างบ้านได้ ทำนา ทำไร่ ปลูกข้าวกินได้

          "สิ่งที่เราใช้ร่วมกันในปัจจุบัน ก็คือกฎที่ใครสักคนสร้างขึ้น เรียกว่า ทุนนิยม ซึ่งจะนำพาความต้องการ การแก่งแย่งแข่งขัน เพื่อให้ได้เงินมาบำเรอในสิ่งที่อยากได้" ชายผู้รักความสันโดษสมชื่อ กล่าวปิดท้ายอย่างมีแง่คิด



          "เราต้องการให้คนอื่นยอมรับ ทุกคนอยากมีบ้านใหญ่ มีรถดี เพื่อให้คนอื่นยอมรับแค่นั้นเอง ตกลงว่าชีวิตเรานี่อยู่กับความคาดหวังของคนอื่นเลย มันไม่เข้าท่าแล้วล่ะ ที่เราเสียเวลาไปเกือบครึ่งชีวิต เพื่อให้คนอื่นยอมรับ" เซน ศิลปินอิสระ จาก จ.ภูเก็ต กล่าวเพียงสั้น ๆ แต่สามารถครอบคลุมความหมายได้ทั้งหมด

          อ.วุฒิไกร เลื่อนแป้น จากโรงเรียนวัดเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งนั่งอยู่กับลูกชายอีก 3 คน เปิดใจว่า คนเราโตขึ้นแล้วก็ตายไปในที่สุด คงไม่มีอะไรเหลือ นอกจากคุณงามความดี หากเป็นสิงสาราสัตว์อย่างควาย หรือช้าง อาจจะพอมีเขาและงาหลงเหลือเอาไว้ในยามสิ้นใจ ดังนั้นหากคนเราไม่มีคุณงามความดี ก็คงจากไปอย่างไม่มีอะไรเหลือทิ้งไว้เลย

          "ทุกอย่างมันมีขึ้นมีลง อย่าไปหลงกับมันมาก ถ้าเราประสบความสำเร็จ เราก็ต้องมองลงไปข้างล่างว่าเรามาจากไหน สุดท้ายแล้วเราอาจจะต้องลงไปในจุดที่ต่ำที่สุดก็ได้ สิ่งที่ยากที่สุดก็คือ การรักษาสถานภาพ ณ เวลานั้น ว่าเราจะอยู่อย่างนั้นได้นานแค่ไหน" นันทภพ พิณทอง (พี่อ๊อด) นักดนตรีอาชีพ ที่พิการทางสายตา บอกเล่าถึงมุมมองของเขา




          เช่นเดียวกันกับ ป้าจาย พูลทรัพย์ เจตลีลา ศิลปินหญิงที่เป็นทั้งนักวาดภาพประกอบ และนักเขียน ป้าจายบอกว่า เราอย่าทำความฝันชิ้นเดียวใหญ่ ๆ แต่ลองทำความฝันชิ้นเล็ก ๆ หลาย ๆ ชิ้น เพราะมันจะไม่ค่อยยาก แต่ก็สามารถมารวมเป็นความฝันใหญ่ ๆ ได้เช่นกัน
               
          สุดท้ายทุกคนก็ร่วมกันร้องเพลง ยิ่งสูงยิ่งหนาว ของ เรวัติ พุทธนันทน์ คลอไปกับคำคม ของ Dr. Bob Moorehead ที่ให้แง่คิดอีกมากมาย ที่ทางรายการอยากให้ผู้คนในสังคม เก็บนำไปคิดและไตร่ตรอง เช่น

          "เราเรียนรู้และดิ้นรนเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ แต่เราไม่ได้เรียนรู้ชีวิต"

          "เราใช้จ่ายมากขึ้น แต่กลับมีสมบัติน้อยลง"

          "เราถูกสอนให้เร่งรีบ แทนที่จะถูกสอนให้รอคอย"

          "เรามีบ้านหลังใหญ่ขึ้น ในขณะที่ครอบครัวเล็กลง"

          "เราสามารถไปถึงดวงจันทร์และกลับมาโดยไม่มีอุปสรรค แต่มีอุปสรรคมากมายที่ขวางเราไว้จากการเดินข้ามถนนเพื่อไปคุยกับเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้าม"

          "เราเพิ่มเวลาเข้าไปในชีวิต แทนที่จะเพิ่มชีวิตเข้าไปในเวลาที่เหลืออยู่" เป็นต้น







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สะกิดความคิด หลากมุมมองในสังคม กับความหนาวสั่นบนยอดสูง โพสต์เมื่อ 19 มีนาคม 2556 เวลา 11:45:16 2,670 อ่าน
TOP
x close