Google รำลึก 366 ปี มาเรีย ไซบิลลา เมอเรียน





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก artmight.com ,  zeit.de , google.com

          วันนี้กูเกิล โชว์ดูเดิลใหม่บนหน้าเว็บอีกแล้ว คราวนี้มาในรูปของวงจรชีวิตสัตว์ และพืชพันธุ์ ดูแล้วเดาไม่ยากว่าต้องเป็นบุคคลสำคัญในวงการสัตววิทยาแน่ ๆ
กระปุกดอทคอมเลยไม่พลาด นำเรื่องราวของผู้เป็นที่มาของดูเดิลวันนี้มาฝากกัน เธอมีนามว่า มาเรีย ไซบิลลา เมอเรียน นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน ผู้มีชื่อเสียงด้านการค้นคว้าวงจรชีวิตของผีเสื้อนั่นเอง

          มาเรีย ไซบิลลา เมอเรียน เกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1647 ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนี ในครอบครัวนักแกะสลักชาวสวิส และนักโฆษณา ในวัยเด็กเธอเป็นเด็กช่างสังเกต และสนใจเรื่องแมลงมาก ๆ จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสังเกตชีวิตของแมลง โดยเริ่มต้นจากการสังเกตชีวิตหนอนไหมที่บ้าน และพบว่า เจ้าหนอนไหมและหนอนอื่น ๆ ได้กลายเป็นผีเสื้อเมื่อมันเติบโตขึ้น และนั่นทำให้เธอจับหนอนหลายสายพันธุ์มาไว้ที่บ้าน เพื่อสังเกตว่ามันจะพัฒนาเป็นผีเสื้อชนิดไหนต่อไป





          การสังเกตพัฒนาการของหนอน ได้ทำให้เธอมีความรู้เรื่องหนอนผีเสื้อมากกว่าเด็กคนอื่น ๆ เธอจึงเริ่มวาดภาพแมลงต่าง ๆ เมื่อเธออายุได้ 13 ปี และวาดภาพแมลงเรื่อยมา เพื่อเป็นการบันทึกสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการสังเกตแมลง

          ต่อมา เมื่อเธออายุได้ 18 ปี เธอก็ได้แต่งงานกับโจแอน แอนเดรียส กราฟ ลูกชายของผู้อำนวยการโรงเรียนท้องถิ่นชื่อดัง และหลังจากนั้น 2 ปี เธอก็มีลูกสาว 1 คน ชื่อโจแอนนา เฮเลนา และตอนนั้น เธอมีอาชีพเป็นครูสอนวาดรูปให้กับลูกสาวเศรษฐีผู้มั่งคั่ง และทำให้เธอเริ่มจะมีฐานะดีขึ้น ก่อนจะมีสวนสมุนไพรเป็นของตัวเอง

          หลังจากนั้นเธอก็เดินหน้าศึกษาด้านแมลงต่อ โดยเฉพาะวงจรชีวิตของหนอนผีเสื้อ และยังคงวาดภาพบันทึกสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ไว้ ซึ่งบันทึกของเธอ ได้กลายเป็นหนังสือเรียนรู้วงจรชีวิตผีเสื้อในเวลาต่อมา ขณะเดียวกัน เธอก็ได้ให้กำเนิด โดโรธี ลูกสาวคนที่ 2 ในปี ค.ศ. 1678 และย้ายไปอัมสเตอร์ดัมเมื่อโดโรธี เริ่มโตเป็นสาว โดยเธอได้ปลูกฝังให้ลูกสาวคนนี้ รักการเรียนรู้ด้านแมลงเหมือนกับเธอ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอร่วมศึกษาด้านแมลงเพิ่มเติมกับโดโรธีเรื่อยมา และกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงในที่สุด

          ทั้งนี้ มาเรีย เสียชีวิตในอัมสเตอร์ดัม เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1717 หลังจากที่เธอ หลังจากป่วยด้วยภาวะเส้นโลหิตอุดตัน และร่างกายอัมพาตส่วนหนึ่ง ขณะที่โดโรธี ก็ได้ตีพิมพ์ผลงานของแม่ หลังจากแม่เสียชีวิต และชื่อของมาเรีย ไซบิลลา เมอเรียน ก็ยังคงถูกจารึกอยู่ในวงการสัตววิทยามาจนถึงทุกวันนี้ โดยปัจจุบัน โรงเรียนหลาย ๆ แห่งก็ได้ตั้งชื่อตามเธอ เพื่อเป็นการให้เกียรติและระลึกถึงเธอนั่นเอง








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Google รำลึก 366 ปี มาเรีย ไซบิลลา เมอเรียน โพสต์เมื่อ 2 เมษายน 2556 เวลา 09:00:26 1,806 อ่าน
TOP
x close