วิจัยเผยวัยรุ่นไทย 91% ติดสมาร์ทโฟน เกือบลงแดงถ้าไม่ได้เช็ก

 



          เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2556 เว็บไซต์ cisco ได้เปิดเผยรายงานเทคโนโลยี "Connected World" ซึ่งได้ทำการสำรวจกลุ่มคน Gen Y ทั่วโลก พบว่ากว่า 91% ของคนกลุ่ม Generation Y (คนที่เกิดระหว่างปี 2523-2540 ซึ่งถือเป็นยุคที่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเจริญรุดหน้า) ในประเทศไทย เช็กสมาร์ทโฟนเพื่อดูข่าวคราวอัพเดทในอีเมล ข้อความ และโซเชียลมีเดียก่อนจะลุกจากเตียง และรู้สึกกระวนกระวาย ถ้าไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนเพื่อเชื่อมต่อทุกที่ทุกเวลา 

          โดยการสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อดังกล่าวจัดทำโดย InsightExpress บริษัทวิจัยตลาดอิสระในสหรัฐฯ ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาและคนทำงานอายุ 18-30 ปี จำนวน 1,800 คนใน 18 ประเทศ โดยมุ่งศึกษาพฤติกรรมของคนรุ่น Gen Y ในการใช้อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์พกพาเพื่อเชื่อมต่อโลก 

          สำหรับข้อมูลสำคัญจากรายงาน Connected World ของซิสโก้ พบว่า กิจวัตรยามตื่นนอนตอนเช้าของคน Gen Y ไม่ต้องการพลาดการส่งหรือโพสต์ข้อความ อีเมล และอัพเดทโซเชียลมีเดียบนอุปกรณ์พกพา และสำหรับพนักงานถือเป็นกิจกรรมที่มีความหมาย เพราะแสดงให้เห็นว่าบุคลากรในอนาคตจะมีความคล่องตัวมากขึ้น รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น และตอบสนองอย่างฉับไวมากกว่าคนรุ่นก่อน คนเหล่านี้ใช้ชีวิตในการเชื่อมต่อเพื่อการสื่อสารเป็นหลัก

          นอกจากนี้ยังพบว่าคนรุ่น Gen Y จะเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่อง โดย 
 
           29% เช็กสมาร์ทโฟนครั้งแล้วครั้งเล่าจนไม่อาจนับครั้งได้ ขณะที่ 1 ใน 5 คนเช็กสมาร์ทโฟนเพื่อดูอีเมล ข้อความ และอัพเดทโซเชียลมีเดียอย่างน้อยทุก 10 นาที
           60% เช็กอีเมล ข้อความ และอัพเดทโซเชียลมีเดีย บนสมาร์ทโฟนเนื่องจากจิตใต้สำนึกหรือแรงจูงใจ โดยผู้หญิงมีแรงจูงใจในการเชื่อมต่อมากกว่า คิดเป็น 85% ขณะที่ผู้ชาย 63% 
           40% มีอาการลงแดงและรู้สึกกระวนกระวายเหมือนกับว่ามีอะไรบางอย่างขาดหายไปจากชีวิต หากไม่สามารถเช็กสมาร์ทโฟนได้อย่างสม่ำเสมอ 
 
          เมื่อสอบถามเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่น พบว่า

           70% ระบุว่าโมบายแอพพลิเคชั่นมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งใช้โมบายแอพพลิเคชั่นสำหรับเกมและความบันเทิงเป็นหลัก ขณะที่ 27% ระบุว่าใช้โมบายล์แอพพลิเคชั่นสำหรับการทำงานเป็นหลัก 
           70% ยอมรับว่ามีการใช้งานโปรแกรมบนสมาร์ทโฟนเป็นประจำไม่ถึง 10 แอพพลิเคชั่น
           40% ใช้เวลาในการเชื่อมต่อออนไลน์กับเพื่อนมากกว่าการพบปะสังสรรค์กันเป็นการส่วนตัว
 
          ทั้งนี้ การติดต่อพูดคุยทางออนไลน์ช่วยขยายโอกาสในการสร้างตัวตน ภาพลักษณ์ และบุคลิกใหม่ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นรากฐานที่นำไปสู่การโกหกหลอกลวง ซึ่งกว่า 81% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าแต่ละคนมีภาพลักษณ์ออนไลน์และออฟไลน์ที่แตกต่าง และเมื่อถามเกี่ยวกับตัวเอง พบว่ามีเพียง 44% เท่านั้น ที่ตอบว่าภาพลักษณ์ออนไลน์ของเขาเหมือนกับภาพลักษณ์ออฟไลน์ในโลกแห่งความจริง

          ขณะที่ข้อมูลกลุ่ม Gen Y ในประเทศไทย ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาและคนทำงาน 50 คน อายุตั้งแต่ 18-30 ปี โดยบริษัท พีซีแอนด์แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง พบว่า 

           98% เช็กสมาร์ทโฟนเพื่อดูข่าวคราวอัพเดทในอีเมล ข้อความ และโซเชียลมีเดีย ก่อนที่จะลุกจากเตียง และ 9 ใน 10 ยังระบุด้วยว่าพวกเขาเช็กสมาร์ทโฟนครั้งแล้วครั้งเล่าจนไม่อาจนับครั้งได้ 
           91% จะมีอาการลงแดงและรู้สึกกระวนกระวาย เหมือนกับว่ามีอะไรบางอย่างขาดหายไปจากชีวิตถ้าหากไม่สามารถเช็กสมาร์ทโฟนได้อย่างสม่ำเสมอ 
           100% ใช้สมาร์ทโฟนบนเตียงนอน และ 1 ใน 3 ใช้สมาร์ทโฟนในห้องน้ำ
           98% มีพฤติกรรมส่งข้อความ อีเมล และตรวจสอบโซเชียลมีเดียระหว่างรับประทานอาหารกับครอบครัวและเพื่อนฝูง
           98% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าตนเองใช้เวลาเท่ากันหรือมากกว่าสำหรับการติดต่อเพื่อนฝูงทางออนไลน์ เมื่อเทียบกับการพบปะพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว โดย 9 ใน 10 เชื่อว่าแต่ละคนมีภาพลักษณ์ออนไลน์และภาพลักษณ์ออฟไลน์ที่แตกต่างกัน
           97% รู้สึกว่านายจ้างไม่ควรตรวจสอบติดตามกิจกรรมออนไลน์ของพนักงาน เพราะไม่ใช่ธุระอะไรของนายจ้าง 
           87% ยอมรับว่าออนไลน์เฟซบุ๊กตลอดเวลา
           97% มีการอัพเดทเฟซบุ๊กวันละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิจัยเผยวัยรุ่นไทย 91% ติดสมาร์ทโฟน เกือบลงแดงถ้าไม่ได้เช็ก โพสต์เมื่อ 22 เมษายน 2556 เวลา 15:13:55 5,685 อ่าน
TOP
x close