เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
รัฐบาลเล็งปรับโครงสร้างเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ หลังขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยนัดถกความคืบหน้า 18 กรกฎาคมนี้ เบื้องต้นพบว่า ร่างบัญชีใหม่ที่หลายฝ่ายเสนอให้รัฐพิจารณา เป็นการปรับขึ้น 50-60 เปอร์เซ็นต์
วันนี้ (11 กรกฎาคม 2256) ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เผยว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 107/2556 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อศึกษาทบทวนความเหมาะสมของค่าตอบแทนของผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมทั้งหมด โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น
ล่าสุดมีข่าวว่า วันที่ 18 กรกฎาคม 2556 คณะกรรมการชุดนี้จะประชุมหารือกันเป็นครั้งแรก เพื่อกำหนดแนวทางในการพิจารณาความเหมาะสมของค่าตอบแทนของผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐทั้งระบบ
ดร.ทศพร กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการพิจารณาปรับโครงสร้างเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากแต่ละองค์กรมีกฎหมายจัดตั้งเฉพาะ กำหนดโครงสร้างในการบริหารจัดการในลักษณะที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หลังการหารือในที่ประชุมน่าจะได้แนวคิดและทางเลือกที่เหมาะสม จากนั้นจะเสนอให้กระทรวงการคลังและ ครม. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
เบื้องต้นพบว่า โครงสร้างเงินเดือนรัฐวิสาหกิจมีอยู่ 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 มีกว่า 30 แห่ง คือรัฐวิสาหกิจที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้าง 58 ขั้น ตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ อาทิ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), การประปานครหลวง (กปน.), การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, บริษัท ขนส่ง จำกัด และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 มี 13 แห่ง เป็นรัฐวิสาหกิจที่ ครม. เคยมีมติให้สามารถกำหนดอัตราเงินเดือนค่าจ้างและสวัสดิการเองได้ ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อาทิ บมจ.ปตท., บมจ.กสท โทรคมนาคม, บมจ.ทีโอที, บมจ.อสมท. และ บมจ.การบินไทย เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 มี 16 แห่ง ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างเป็นของตัวเอง อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน เป็นต้น
สำหรับร่างบัญชีอัตราโครงสร้างเงินเดือนใหม่ที่ได้จัดทำขึ้น มีทั้งดำเนินการในนามสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งได้เสนอให้กำหนดอัตราเงินเดือนไว้ที่ 58 ขั้นเท่าเดิม เพียงแต่ปรับอัตราเงินเดือนแต่ละขั้นสูงขึ้นจากอัตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตามมติ ครม. เมื่อ 28 มีนาคม 2554 อาทิ
ขั้น 1.0 ปรับขึ้นจากเงินเดือน 5,780 บาท เป็น 9,040 บาท
ขั้น 1.5 ปัจจุบัน 5,780 บาท เป็น 9,310 บาท
ขั้น 2.0 ปัจจุบัน 5,780 บาท เป็น 9,580 บาท
ขั้น 2.5 ปัจจุบัน 5,780 บาท เป็น 9,870 บาท
ขั้น 3.0 ปัจจุบัน 5,780 เป็น 10,150 บาท
ขั้น 3.5 ปัจจุบัน 5,780 เป็น 10,150 บาท
ขั้น 21.0 ปัจจุบัน 15,000 บาท เป็น 28,980 บาท
ขั้นสูงสุดขั้นที่ 58 ปัจจุบัน 119,200 บาท เป็น 189,330 บาท
ขณะที่ในส่วนของร่างบัญชีโครงสร้างเงินเดือนที่จัดทำโดยกลุ่มประสานงานบุคคลรัฐวิสาหกิจ (กบร.) เสนอให้ปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนจากเดิม 58 ขั้น เป็น 70 ขั้น อาทิ
ขั้นที่ 1.0 จนถึง 4.0 อัตราเงินเดือน 5,780 บาท
ขั้น 4.5 เงินเดือน 5,940 บาท
ขั้น 5.0 เงินเดือน 6,110 บาท
ขั้น 6.5 เงินเดือน 6,630 บาท
ขั้น 21 เงินเดือน 15,000 บาท
ขั้น 21.5 เงินเดือน 15,440 บาท
ขั้น 58.0 เงินเดือน 119,200 บาท
ขั้น 70.0 เงินเดือน 231,280 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่างบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนที่เสนอให้ภาครัฐพิจารณา ส่วนใหญ่มีการปรับขั้นจากอัตราเดิมกว่า 50-60 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ ในฐานะผู้พิจารณาภาพรวมทั้งหมด เผยถึงกรณีนี้ว่า อยู่ระหว่างรอข้อมูลเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจจากกระทรวงการคลัง ซึ่งจะพยายามดำเนินการให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว เบื้องต้นจะกำหนดหลักเกณฑ์และวางแนวทางในการพิจารณาอย่างเป็นระบบ เพราะเกี่ยวโยงถึงหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งหมด
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก