เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
รมช.พาณิชย์ ขอชื่อแล็บที่มูลนิธิตรวจพบสารตกค้างในข้าว มั่นใจกระบวนการตรวจสอบ ด้านกรมวิทย์ฯ ยันข้าวไร้สารตกค้างตามที่ประกาศไว้ ชี้สารจะระเหยเมื่อนำไปประกอบอาหาร ส่วนบิ๊กซี-โลตัสยันตรวจสอบข้าวก่อนจำหน่ายเข้มงวด
สืบเนื่องจากกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถีได้แถลงผลการเก็บตัวอย่างข้าวถุง พบว่ามีข้าวถุงมากถึง 34 ยี่ห้อจาก 46 ยี่ห้อมีการตกค้างของสารเมทิลโบรไมด์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการรมควันข้าว โดยข้อมูลนี้ขัดแย้งกับข้อมูล อย. และกรมวิทยาศาสตร์ฯ ที่ได้ออกมาชี้แจงก่อนหน้านี้ ตามที่ได้รายงานข่าวไปนั้น
ล่าสุดวานนี้ (16 กรกฎาคม 2556) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขอให้ตรวจสอบว่าข้าวที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตรวจสอบดำเนินการจากแล็บใด เพราะปัจจุบันแล็บที่ได้มาตรฐาน ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมวิทยาศาสตร์บริการ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) โดยการตรวจสอบนั้นต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ
โดยขณะนี้ยังมีกระแสโจมตีข้าวไทยจำนวนมาก จึงสั่งการให้กรมการค้าภายใน ตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการค้าข้าวเสื่อมคุณภาพ (ศปขส.) โดยมีหลายหน่วยงานเข้าร่วมทั้งกรมการข้าว กรมวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันการศึกษาที่มีห้องแล็บตรวจสอบมาตรฐานข้าว ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะรับแจ้งปัญหาคุณภาพข้าว และประสานหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยเบื้องต้นร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 ซึ่งหากผ่านการตรวจสอบจะติดสัญลักษณ์ตรามือพนมที่ถุงข้าว เพื่อการันตีคุณภาพและกู้ชื่อเสียง โดยจะเน้นหลักที่ตลาดในประเทศด้วย นอกจากนี้หากพบบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าวทำงานหย่อนยาน จะขึ้นบัญชีดำและถอนใบอนุญาต
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา ได้พิจารณาเรื่อง การตรวจสอบข้าวที่มีสารปนเปื้อนและการสุ่มตรวจข้าวบรรจุถุงสำเร็จที่วางขายในท้องตลาด ตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยเชิญตัวแทนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาให้ข้อมูล
โดย นางกนกพร อภิสุข ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงว่า ได้สรุปผลการเก็บตัวอย่างกว่า 50 ตัวอย่าง และผลการตรวจได้ตรวจสารที่ใช้รมข้าว และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตรวจสารพิษจากเชื้อรา และสิ่งแปลกปลอม ผลปรากฏว่า ไม่มีสารฟอสฟินและสารเมธิลโบรไมด์ตกค้างในทุกตัวอย่างตามมาตรฐานประกาศของกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้
ส่วนความกังวลใจเรื่องสารตกค้างยืนยันได้ว่าไม่มี เพราะทั้งสารฟอสฟิน และสารเมธิลโบรไมด์เป็นแก๊ส จะระเหยออกและเป็นอันตรายต่อเมื่อมีการสูดดมเท่านั้น หากนำไปประกอบอาหารสารเหล่านี้จะหายไป ส่วนสารพิษตัวอื่น ถ้าเป็นยาฆ่าแมลง ก็ทำลายได้ด้วยความร้อน อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังไม่เคยพบอาการป่วยที่มีสาเหตุมาจากการได้รับสารพิษจากข้าว
ขณะที่ทางด้าน นายกุฎาธาร นาควิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวยืนยันถึงมาตรการการตรวจสอบข้าวเพื่อความมั่นใจของผู้บริโภคว่า ที่ผ่านมาบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ มีมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าทุกชนิด โดยเฉพาะมาตรฐานเบื้องต้น ISO และ GMP โดยเฉพาะข้าวที่เป็นกระแสข่าวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะมีการตรวจสอบล็อตการบรรจุข้าวอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งเป็นมาตรฐานการตรวจสอบหาสารรมมอด รวมถึงผลการตรวจสารเมธิลโบรไมด์ตกค้างในข้าว และสารอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย
อีกทั้งผู้ประกอบการที่จะนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในบิ๊กซีฯ จะต้องมีเอกสารกำกับในการตรวจสอบสารพิษ หรือสารตกค้างในข้าวแต่ล็อต หากไม่มีเอกสารดังกล่าวทางบิ๊กซีฯ ก็จะไม่รับสินค้ามาจำหน่าย นอกจากนี้ ยังมีการสุ่มตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเป็นประจำและสม่ำเสมอ และหากมีการตรวจพบก็จะดึงสินค้าออกจากระบบทันที
นอกจากนี้ทางด้านบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด ผู้บริหารเทสโก้ โลตัส ออกหนังสือชี้แจงกรณีสารตกค้างในข้าวถุงว่า เทสโก้ โลตัส ได้ทำการสุ่มตรวจข้าวสารบรรจุถุงตราเทสโก้ทุกรายการเพิ่มเติม รวม 12 รายการ โดยได้ส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า ข้าวสารบรรจุถุงตราเทสโก้ทุกรายการปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก