ถวิล เปลี่ยนศรี ประวัติเลขาฯ สมช. หมัดน็อก ยิ่งลักษณ์ พ้นเก้าอี้รักษาการนายกฯ


 ถวิล เปลี่ยนศรี
ถวิล เปลี่ยนศรี


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ถวิล เปลี่ยนศรี 

          ถวิล เปลี่ยนศรี ประวัติเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หมัดน็อกที่ทำให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

          ในที่สุดแล้ว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย ก็มีอันต้องหลุดจากตำแหน่ง เมื่อในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ โยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ เป็นการก้าวก่าย แทรกแซง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงต้องพ้นสภาพรัฐมนตรี และพ้นสภาพนายกรัฐมนตรีไปโดยปริยาย

          ก่อนหน้านี้ คงไม่มีใครคาดคิดว่า คดีถวิล เปลี่ยนศรีฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีนั้น จะเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องตกเก้าอี้ เพราะในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่านางสาวยิ่งลักษณ์จะต้องเผชิญกับมรสุมการชุมนุมทางการเมือง และคดีความต่าง ๆ ที่รุมเร้า แต่นายกรัฐมนตรีก็ยืนยันในความบริสุทธิ์ และประกาศขอตายในสนามประชาธิปไตย แต่แล้วกลับมาถูกหมัดน็อกจากผู้ชายที่ชื่อ "ถวิล เปลี่ยนศรี"

          สำหรับ ถวิล เปลี่ยนศรี ประวัติเกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2496 ที่จังหวัดเพชรบุรี ก่อนจะย้ายตามครอบครัวไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดตรัง จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2518 จากนั้นเรียนต่อปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบการศึกษาในปี 2523 ก่อนจะเล่าเรียนด้านกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อปี 2525

ถวิล เปลี่ยนศรี
ถวิล เปลี่ยนศรี

          นอกจากนี้แล้ว ถวิล เปลี่ยนศรี ยังผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร Senior Executive Course ของ APCSS, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 46, หลักสูตรนักบริหารระดับสูง (นบส.) รุ่นที่ 38 สำนักงาน ก.พ., หลักสูตรวิทยาลัยการทัพบก (วทบ.) หลักสูตรหลักประจำชุดที่ 45, หลักสูตรหนังสือพิมพ์สัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ และหลักสูตรรักษาความปลอดภัยสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

          ในด้านการทำงานนั้น นายถวิล เปลี่ยนศรี ถือว่าเป็นลูกหม้อของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยแท้ เพราะชีวิตการทำงานอยู่ใน สมช. มาโดยตลอด โดยเข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล 3 จากนั้นได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อย ๆ ก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการกองความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ, ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ, ผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงกิจการชายแดนและการป้องกันประเทศ, (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 9 บส), ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 10 ชช) กระทั่งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2549

          ต่อมาในปี 2552 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการโยกย้าย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ ทำให้ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ว่างลง ถวิล เปลี่ยนศรี จึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แทน พล.ท.สุรพล

          ทั้งนี้ ระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สมช. อยู่นั้น นายถวิล เปลี่ยนศรี ก็ได้มีบทบาทเข้าไปร่วมทำหน้าที่ "เลขาธิการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)" ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. เพื่อดูแลสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553

          กระทั่ง รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา เปิดทางเลือกตั้งใหม่ และเป็นพรรคเพื่อไทยที่ได้รับเสียงข้างมาก ส่งให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย สถานการณ์ทางการเมืองจึงเกิดการเปลี่ยนขั้วขึ้นอีกครั้ง
ถวิล เปลี่ยนศรี จึงไม่สามารถรักษาเก้าอี้เลขาธิการ สมช. ได้อีกต่อไป เมื่อในวันที่ 6 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้โยกย้าย นายถวิล ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ระดับ 11 แทน

          ในส่วนของตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ที่ว่างลงนั้น ได้มีการโยกย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แทน ก่อนจะมีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทน พล.ต.อ.วิเชียร

          ด้วยเหตุนี้ ถวิล เปลี่ยนศรี จึงได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอความเป็นธรรม กระทั่งในวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งคณะรัฐมนตรีที่ย้ายนายถวิลไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และให้ นายถวิล กลับมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ตามเดิม เนื่องจากเห็นว่า การรับโอนเป็นไปอย่างเร่งรีบ รวบรับ และไม่ชอบด้วยจริยธรรม ภายหลัง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด โดยระบุว่า การยื่นอุทธรณ์เป็นการดำเนินการตามขั้นตอน

          จนเมื่อในวันที่ 7 มีนาคม 2557 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง สั่งให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่ ถวิล เปลี่ยนศรี ภายใน 45 วัน เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจโดยมิชอบ และไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมรองรับการโยกย้ายดังกล่าว อีกทั้งยังเห็นว่า การดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. สามารถเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้โดยตรง โดยตำแหน่งอยู่แล้ว ต่างกับการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่การจะแสดงความเห็นใด ๆ ต้องผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก่อนจึงจะถึงนายกรัฐมนตรี ดังนั้น จึงไม่สามารถอ้างได้ว่าการโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

          ในที่สุดแล้ว คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 จึงมีมติให้ นายถวิล กลับเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ตามเดิม และ ถวิล เปลี่ยนศรี ก็ได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2557 พร้อมรับผิดชอบหน้าที่เลขาธิการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) โดยตำแหน่งด้วย ตามพระราชบัญญัติความมั่นคงภายใน พ.ศ. 2550 แต่ภายหลังรัฐบาลก็ได้มีคำสั่งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งศูนย์รักษาความสงบ ทำให้ นายถวิล ไม่ได้เข้ามามีบทบาทในศูนย์รักษาความสงบ

          อย่างไรก็ตาม แม้คดีความเรื่องการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ จากการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งทั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ และนายถวิล ก็ได้ไปชี้แจงเรื่องนี้ต่อศาลในวันที่ 6 พฤษภาคม 2557

          และในที่สุด เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติเอกฉันท์ ชี้ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ โยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบ เป็นการขัดต่อคุณธรรม จริยธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นการก้าวก่าย แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำ เพื่อประโยชน์ของตนเอง พวกพ้อง เอื้อประโยชน์ให้เครือญาติ อันเป็นเหตุให้ต้องสถานะความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว และด้วยเหตุดังกล่าวก็ส่งผลให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปโดยปริยาย








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถวิล เปลี่ยนศรี ประวัติเลขาฯ สมช. หมัดน็อก ยิ่งลักษณ์ พ้นเก้าอี้รักษาการนายกฯ อัปเดตล่าสุด 9 พฤษภาคม 2557 เวลา 12:01:58 159,679 อ่าน
TOP
x close