ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประวัติ ผบ.ทบ. นายกฯ คนที่ 29



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

            ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประวัติ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้นำประกาศกฎอัยการศึก สู่การทำรัฐประหาร 2557 และได้รับการเสนอชื่อจาก สนช. ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 29

            ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองอันร้อนแรง ชื่อของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นบุคคลหนึ่งที่ปรากฏในกระแสข่าวอยู่บ่อยครั้ง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เน้นย้ำถึงความเป็นกลางของทหาร และยืนยันว่ากองทัพพร้อมดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกฝ่ายหากเกิดสถานการณ์คับขันขึ้น

            กระทั่งสถานการณ์มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น เมื่อมีการข่าวว่ามีการลักลอบขนอาวุธสงครามในหลายพื้นที่ของประเทศไทย พล.อ. ประยุทธ์ จึงได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) แต่แล้วในที่สุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ ก็ได้นำ ผบ.เหล่าทัพ ประกาศเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ถือเป็นการทำรัฐประหารอีกครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

            ทั้งนี้หลังการรัฐประหาร พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินหน้าจัดระเบียบสังคม เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศตามโรดแม็ป 3 ขั้น โดยได้มีการจัดตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งสื่อทุกสำนักก็คาดการณ์ว่า ชื่อของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือตัวเต็งอันดับ 1 ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย

            และล่าสุด เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ที่ประชุม สนช. ได้เสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ เพียงคนเดียว ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ได้รับคะแนนโหวตเห็นชอบท่วมท้น 191 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ลาป่วย 3 เสียง

             ต่อมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557 เวลา 10.39 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 
            ลองไปย้อนดูเส้นทางชีวิตการทำงานของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก จนถึงผู้นำการรัฐประหาร 2557 และนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา


ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประวัติ และเส้นทางการทำงาน

            พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือที่สื่อมวลชนเรียก "บิ๊กตู่" (มาจากชื่อเล่นว่า "ตู่") เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2497 ที่จังหวัดนครราชสีมา จบการศึกษาจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพมหานคร และได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร เป็นรุ่นที่ 12 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 จนสำเร็จการศึกษา

            เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ารับราชการตำแหน่งผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ "ทหารเสือราชีนี" จากนั้นเติบโตในสายงาน ณ กรมทหารราบที่ 21 เรื่อยมา โดยดำรงตำแหน่งเสนาธิการ, รองผู้บังคับการ จนได้รับตำแหน่งผู้บังคับการกรม ก่อนจะย้ายไปรับตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ หรือ "บูรพาพยัคฆ์" และมีความก้าวหน้าในสายงานตามลำดับ จากรองผู้บัญชาการกองพล เป็นผู้บัญชาการกองทัพ จนถึงรองแม่ทัพภาคที่ 1

            กระทั่งปี พ.ศ. 2549 พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น ได้ทำการรัฐประหาร ครั้งนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยังมียศเป็นพลตรี ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1 ได้รับคำสั่งโดยตรงจาก พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ยศในขณะนั้นคือ พลโท) แม่ทัพภาคที่ 1 ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

            ในเวลาต่อมา พลโทอนุพงษ์ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอก และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้เลื่อนชั้นยศขึ้นเป็นพลโท และเข้ารับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 พร้อมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หลังการรัฐประหาร รวมทั้งรับตำแหน่งรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และรับตำแหน่งผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในช่วงเดือนกันยายน 2551 

            จากนั้น ในปี 2553 พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก มีกำหนดเกษียณอายุราชการ สื่อมวลชนในช่วงนั้นต่างจับตามอง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะแคนดิเดตที่จะขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไป เพราะเป็นบุคคลที่มีความสามารถ อีกทั้งยังมีความสนิทสนมกับ พล.อ. อนุพงษ์ เป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ มาโดยตลอด โดย พล.อ. ประยุทธ์ นับถือ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นเสมือนพี่และอาจารย์คนหนึ่ง และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา

            ทั้งนี้ ในช่วงที่ พล.อ. ประยุทธ์ นั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก เป็นช่วงที่ปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง จากการที่กลุ่ม นปช. ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังคงคาราคาซังอยู่ นายอภิสิทธิ์ จึงแต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 จนถึงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

            ตลอดระยะเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้พบเจอเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองมาหลายครั้ง กระทั่งล่าสุดกับการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในปลายปี 2556 และยืดเยื้อมานานกว่าครึ่งปี ก็ได้มีการเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้เจ้าหน้าที่ทหารออกมายืนเคียงข้างประชาชน เพราะมีมือมืดลอบใช้อาวุธสงครามทำร้ายประชาชนอยู่บ่อยครั้ง จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนไม่น้อย ขณะที่อีกฝ่ายเรียกร้องให้ทหารอยู่ในที่ตั้ง อย่ากระทำการใด ๆ ที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ นั่นจึงทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนกองทัพหลายต่อหลายครั้ง เพื่อย้ำในหน้าที่ของทหาร

            แต่ความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จึงออกแถลงการณ์ 7 ข้อ ระบุว่า หากสถานการณ์รุนแรงมีแนวโน้มถึงขั้นจะเกิดจลาจล ทหารจำเป็นต้องออกมาระงับอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อไม่ให้ผู้ใดทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์อีก ซึ่งการประกาศแถลงการณ์ครั้งนั้น ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือไม่

            กระทั่งในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย โดยตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นมาดูแลสถานการณ์ พร้อมกับเชิญตัวแทน 7 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล, ตัวแทนวุฒิสภา, ตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ตัวแทนพรรคเพื่อไทย, ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์, ตัวแทน กปปส. และตัวแทน นปช. เข้าวงประชุมหารือแก้ไขปัญหาประเทศ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 แต่ไม่ได้ข้อสรุป จึงนัดมาประชุมร่วมกันใหม่ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

            จนเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตัวแทน 7 ฝ่ายได้เข้าร่วมประชุมกันอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ภายหลัง พล.อ. ประยุทธ์ ได้สั่งควบคุมตัวทุกคนขึ้นรถตู้ไปยัง ร.1 รอ. ก่อนจะแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ประกาศมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจการปกครองตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถือเป็นการประกาศรัฐประหารอีกครั้งที่เกิดขึ้นประเทศไทย

            จากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ได้เข้ามามีบทบาทในการเดินหน้าจัดระเบียบสังคม พร้อมประกาศแผนโรดแม็ป 3 ขั้น เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ โดยในขั้นที่ 2 มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมาร่างกฎหมาย พร้อมกับเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนต่อไปขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่งสื่อทุกสำนักคาดการณ์ว่า ชื่อของ พล.อ. ประยุทธ์ น่าจะมาวิน และก็เป็นดังคาด เมื่อในการประชุม สนช. เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 สิงหาคม สมาชิก สนช.  ได้ลงมติเห็นชอบให้ พล.อ. ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย ด้วยคะแนน 191 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และลาป่วย 3 เสียง และทูลเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา


ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครอบครัว และลูกสาวฝาแฝด

            ในด้านชีวิตครอบครัวนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมรสกับรองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา อดีตอาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรสาวฝาแฝดด้วยกัน 2 คน นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นพี่ชายของพลโท ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3

            และนี่ก็คือประวัติของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก คนปัจจุบัน ที่ตัดสินใจทำรัฐประหาร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29









เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประวัติ ผบ.ทบ. นายกฯ คนที่ 29 อัปเดตล่าสุด 26 สิงหาคม 2557 เวลา 11:29:50 134,863 อ่าน
TOP
x close