สุวณา สุวรรณจูฑะ ประวัติอธิบดี DSI หญิงคนแรกของไทย
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก จส.100
สุวณา สุวรรณจูฑะ ประวัติอธิบดีดีเอสไอหญิงคนแรกของไทย กับเส้นทางการทำงานในกระทรวงยุติธรรม และภารกิจสางคดีการเมืองที่รออยู่ข้างหน้า
เป็นไปตามความคาดหมายเมื่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 ไฟเขียวให้ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้นี้อันมาพร้อมกับภาระหนักอึ้ง และก็ทำให้หลายคนสงสัยว่า ทำไมชื่อของผู้หญิงคนนี้ถึงมาแรงแซงโค้งจนเข้าวินคว้าเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอไปได้ ตามไปย้อนดูเบื้องหลังประวัติการทำงานของ สุวณา สุวรรณจูฑะ ด้วยกัน
สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในวัย 58 ปี พื้นเพเดิมเป็นชาวนครศรีธรรมราช จบการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2521 และได้ทำงานเป็นลูกหม้อกระทรวงยุติธรรมเรื่อยมา เริ่มจากเข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 3 สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2522 จากนั้นไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการเงิน กองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
กระทั่งปี 2538 รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และอีก 6 ปีต่อมา ก็ได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยปลัดกระทรวงยุติธรรม ก่อนขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม (ระดับ 9) พร้อมกับรับตำแหน่งรักษาการรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกหน้าที่หนึ่ง
ต่อมาในปี 2547 นางสุวณา ได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม (ระดับ 10) พร้อมกับตำแหน่งที่ปรึกษาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จนเมื่อในปี 2549 นางสุวณา ได้รับแต่งตั้งจาก ครม. ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จากนั้นอีก 5 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจ ด้านบริหารความยุติธรรม (กำกับดูแลกรมบังคับคดี และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) ก่อนที่ในปี 2555 จะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้าน อำนวยความยุติธรรม (กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์)
จากประวัติการทำงานจะเห็นได้ว่า นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ไม่ใช่นักกฎหมายโดยตรง แต่ก็ทำงานในกระทรวงยุติธรรมมาโดยตลอด และมีบทบาทเข้าไปร่วมงานกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตั้งแต่ต้น จนได้รับเลือกให้เป็นกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อนมีคำสั่งให้ทำหน้าที่รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ และภายหลัง ครม. มีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในที่สุด ซึ่งหลายฝ่ายก็มองว่าที่แต่งตั้งนางสุวณาก็เพื่อลดกระแสต้านจากคนในที่ไม่ต้องการให้ทาบโอนตำรวจมาเป็นอธิบดีดีเอสไอ
ทั้งนี้มีการคาดหมายกันว่า นางสุวณาจะได้รับมอบภารกิจให้เข้ามาสะสางคดีกองกำลังชายชุดดำ, ผังล้มเจ้า และคดีม็อบ กปปส. ซึ่งดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ โดยคดีทั้ง 2 ส่วนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองบานปลายจน คสช. ต้องออกมาทำการรัฐประหาร
ด้านชีวิตส่วนตัว นางสุวณา สมรสกับ นายก่อพงศ์ สุวรรณจูฑะ ผู้พิพากษาอาวุโสที่เป็นผู้ทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีบุตรชายด้วยกัน 3 คน
ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2522 - เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 3 สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
พ.ศ. 2533 - หัวหน้าฝ่ายการเงิน กองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
พ.ศ. 2538 - ผู้อำนวยการกองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
พ.ศ. 2544 - ผู้ช่วยปลัดกระทรวงยุติธรรม
พ.ศ. 2545 - ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม (ระดับ 9)
พ.ศ. 2545 - รักษาการรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (อีกหน้าที่หนึ่ง) พ.ศ. 2547 - ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม (ระดับ 10)
พ.ศ. 2547 - ที่ปรึกษาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (อีกหน้าที่หนึ่ง)
พ.ศ. 2549 - คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
พ.ศ. 2554 - คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจ ด้านบริหารความยุติธรรม (กำกับดูแลกรมบังคับคดี และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ)
พ.ศ. 2555 - ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้าน อำนวยความยุติธรรม (กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์)
พ.ศ. 2557 - อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
เกียรติประวัติ
พ.ศ. 2519 2520 - ได้รับพระราชทานทุนภูมิพล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2541 - สตรีตัวอย่างแห่งปี สาขาการเงินและการคลัง มูลนิธิเพื่อสังคมไทยและหนังสือพิมพ์เส้นทางเศรษฐกิจ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ.ศ. 2527 - จตุรถาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2529 - ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ. 2534 - ตริตาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2536 - ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ. 2540 - ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2544 - ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ. 2547 - ประถมาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2550 - มหาวชิรมงกุฎ
พ.ศ. 2555 - มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก