คืนนี้รอชม ปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ 2557
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก space.com, nasa.gov
ฝนดาวตกในปี 2557 รอชม ปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ 2557 วันที่ 18 พ.ย.-19 พ.ย. เวลา 03.00-05.00 อัตราตกราว 10 ดวงต่อชั่วโมง ขณะที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จัดงานชม ฝนดาวตกเจมินิดส์ 2557 14 ธ.ค.นี้
วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2557) เตรียมชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือฝนดาวตกสิงโต (Leonids : LEO) ที่จะเกิดขึ้นในช่วงประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งผู้สังเกตสามารถมองเห็นฝนดาวตกเหล่านี้ได้ด้วยตาเปล่า โดยมีอัตราตกสูงสุดตามปกติอยู่ที่ราว 15 ดวงต่อชั่วโมง มีจุดกระจายของฝนดาวตกอยู่บริเวณหัวของสิงโต หรือที่เรียกว่าเคียวของสิงโต (Sickle of Leo) ตามลักษณะดาวที่เรียงกันเป็นวงโค้งคล้ายเคียวเกี่ยวข้าว โดยช่วงที่สังเกตได้ดีที่สุด คือเวลา 03.00-05.00 น. ของวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2557 ด้วยอัตราตกราว 10 ดวงต่อชั่วโมง
และสำหรับผู้ที่พลาดชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกสิงโต ก็ยังสามารถรอชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกคนคู่ (Geminids : GEM) ซึ่งเป็นฝนดาวตกที่เด่นที่สุดกลุ่มหนึ่งในรอบปี ได้ในคืนวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้ โดยจะเริ่มเห็นฝนดาวตกได้ตั้งแต่ 20.00 น. และมากสุดในช่วง 23.00 น. ถึง 01.00 น.ของวันรุ่งขึ้น
ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเดินทางไปร่วมงานกิจกรรมเปิดฟ้าตามหาดาว ครั้งที่ 3 ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ได้ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. เพื่อชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ณ จุดสูงสุดแดนสยาม พร้อมได้รับคำแนะนำการใช้งานแผนที่ดาวเบื้องต้น และได้รับคำแนะนำการดูดาวเบื้องต้นจากวิทยากรของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทั้งยังได้เข้าร่วมกิจกรรมสังเกตวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องดูดาว และร่วมสนุกตอบปัญหาชิงรางวัลด้วย
อนึ่ง สำหรับดาวตกเกิดจากสะเก็ดดาว (meteoroid) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของดาวหางและดาวเคราะห์น้อย ที่เคลื่อนเข้าสู่บรรยากาศโลก จากนี้เมื่อโลกเดินทางฝ่าเข้าไปในธารสะเก็ดดาว หรือเส้นทางที่สะเก็ดดาวจำนวนมากเคลื่อนที่เป็นสายไปในแนวเดียวกัน จะทำให้เห็นดาวตกหลายดวงดูเหมือนพุ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันบนท้องฟ้า เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าฝนดาวตก (meteor shower) ซึ่งในรอบปีหนึ่ง ๆ จะมีฝนดาวตกหลายกลุ่ม โดยที่แต่ละกลุ่มมีลักษณะและจำนวนความถี่แตกต่างกัน ฝนดาวตกบางกลุ่มอาจมีเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมง แต่ก็ยังเรียกว่าฝนดาวตก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
thaiastro.nectec.or.th, narit.or.th