x close

ประวัติเทนนิส ข้อมูลความเป็นมา กีฬาเทนนิส


ประวัติเทนนิส

            ประวัติเทนนิส หนึ่งในกีฬายอดนิยมของคนไทย เราได้รวบรวมประวัติ ความเป็นมา และกติกาการเล่นในเบื้องต้นของกีฬาเทนนิสมาไว้ที่นี่แล้ว
            
            กีฬาเทนนิส เป็นอีกหนึ่งกีฬาที่ได้รับความนิยมจากคนไทย และมาบูมอย่างมากในช่วง 10 ปีหลังมานี้ หลังจาก "ภราดร ศรีชาพันธุ์" นักเทนนิสชาวไทยไปสร้างผลงานยอดเยี่ยม จนก้าวขึ้นไปถึงมือวางอันดับ 9 ของโลก ทำให้เด็ก ๆ และเยาวชนสนใจการเล่นกีฬาเทนนิสมากขึ้น เพราะเป็นกีฬาที่สนุกสนานไม่แพ้กีฬาประเภทอื่น วันนี้กระปุกดอทคอม ก็ไม่พลาดที่จะพาทุกท่านมารู้จักกับกีฬาเทนนิสในเบื้องต้น พร้อมกติกาการการแข่งขันที่จะช่วยให้เราชมเกมการแข่งขันลูกสักหลาดได้สนุกขึ้นไปอีก
            
            ประวัติเทนนิส และความเป็นมา

            เทนนิส หรืออีกชื่อหนึ่ง ลอนเทนนิส (LawnTennis) ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่า มีการเล่นครั้งแรกในประเทศอิตาลี เมื่อปี พ.ศ. 2098 จนกระทั่งในศตวรรษที่ 16 และ 17 ได้แพร่สู่ประเทศอังกฤษ แต่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ได้ซบเซาลง และเริ่มหันมาเป็นที่นิยมกันอีกครั้งเมื่อราวศตวรรษที่ 19 โดยในปี พ.ศ. 2416 พันตรี Walter C. Wingfield แห่งกองทัพบกอังกฤษได้นำกีฬาเทนนิสมาดัดแปลงการเล่นใหม่ จากแต่เดิมเล่นกันในที่ร่มมีหลังคา ย้ายไปเล่นกันในสนามกลางแจ้งแทน
 
            ในปี พ.ศ. 2417 กีฬาเทนนิสได้เริ่มแพร่หลายเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้มีการจัดการแข่งขันเทนนิสครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาที่สนามนาฮันต์ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2419 ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2424 ได้มีการประชุมเพื่อก่อตั้งสมาคมลอนเทนนิสแห่งสหรัฐอเมริกาขึ้น โดย James White และ F. Artier Junior ก่อนที่ทางสมาคมได้จัดการแข่งขันเทนนิสแห่งชาติขึ้นครั้งแรกที่โรดไอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2424 แล้วจึงย้ายไปจัดการแข่งขันที่เวสต์ไซด์ เทนนิสคลับ ฟอเรสต์ฮิล นิวยอร์ก 

 
            ในส่วนของประเทศอังกฤษเอง ได้มีการก่อตั้งสมาคมลอนเทนนิสแห่งชาติขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2431 ใช้ชื่อว่า "ลอนเทนนิสสมาคม" พร้อมกับจัดพิมพ์กติกาของเลนเทนนิสขึ้นเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2437 และมีการจัดแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งชาติเป็นครั้งแรก จนในที่สุดกีฬาเทนนิสก็ได้แพร่ขยายไปทั่วอาณานิคมทุกแห่งของอังกฤษและเกือบทั่วโลก ต่อมาในปี พ.ศ. 2455 ได้มีการก่อตั้งองค์การเทนนิสสากลขึ้น เพื่อติดต่อประสานงานระหว่างสมาคมในประเทศต่าง ๆ
             
            ประวัติกีฬาเทนนิสในประเทศไทย
 
            ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครคือผู้นำกีฬาเทนนิสเข้ามาสู่ประเทศไทย แต่มีการสันนิษฐานว่า เริ่มมีการเล่นกัฬาเทนนิสในสมัยรัชกาลที่ 5 คาดว่านำเข้ามาโดยชาวอังกฤษและชาวอเมริกันที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และประชาชนเพิ่งจะเริ่มให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ในราวปี พ.ศ. 2460 จึงได้มีการตั้งสโมสรเทนนิสขึ้นอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2469

 
            ต่อมาพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ทรงจัดตั้งสมาคมชื่อ "ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย" และได้ทรงดำรงตำแหน่งนายกของลอนเทนนิสสมาคมเป็นคนแรก พร้อมทั้งได้ออกกฎข้อบังคับของสมาคมฯ ขึ้นใช้เป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่งได้ใช้เป็นบรรทัดฐานมาจนถึงปัจจุบันนี้ และได้มีการจัดการแข่งขันให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งแบ่งการแข่งขันออกเป็นหลายประเภท เช่น ประเภทชายเดี่ยว ประเภทชายคู่ ประเภทหญิงเดี่ยว ประเภทหญิงคู่ ประเภทคู่ผสม เป็นต้น
            
            มารู้จักกฎกติกาการเล่นเทนนิส
 
            สนามเทนนิส

ประวัติเทนนิส

            สนามเทนนิสจะต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว 78 ฟุต (23.77 เมตร) กว้าง 27 ฟุต (8.23 เมตร) โดยสนามจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน แบ่งกึ่งกลางด้วยตาข่าย ยึดกับเสา 2 ต้นที่อยู่ห่างจากสนาม ข้างละ 3 ฟุต (0.914 เมตร)
            
            ลูกเทนนิส

ประวัติเทนนิส

            ลูกเทนนิสจะมีลักษณะกลมเสมอกันทั้งลูก หุ้มด้วยผ้าสักหลาดสีขาวหรือสีเหลือง มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 6.35 เซนติเมตร และต้องมีน้ำหนักมากกว่า 2 ออนซ์ (56.7 กรัม)
            
            ไม้เทนนิส

ประวัติเทนนิส

            ไม้เทนนิสจะต้องมีลักษณะเรียบ ประกอบด้วยเอ็นถักเป็นแบบเดียวกันติดกับกรอบ และเอ็นต้องถักแบบสลับหรือมัดติดกันตรงบริเวณที่เอ็นซ้อนกัน มีความสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบริเวณตรงกลางของไม้ โดยไม้เทนนิส 1 ไม่ จะไม่สามารถขึงเอ็นมากกว่า 1 ชุด

            กรอบและด้าม ต้องมีความยาวทั้งหมดไม่เกิน 32 นิ้ว (81.28 เซนติเมตร) และกรอบต้องกว้างไม่เกิน 12 1/2 นิ้ว (31.75 เซนติเมตร) บริเวณพื้นที่สำหรับขึงเอ็นต้องมีความยาวไม่เกิน 15 1/2 นิ้ว (39.37 เซนติเมตร) และกว้างไม่เกิน 11 1/2 นิ้ว (29.21 เซนติเมตร)
            
            กติกาและการเล่นเทนนิส

            ผู้เสิร์ฟและผู้รับ

            ผู้เล่นจะต้องอยู่คนละฝั่งของตาข่าย ผู้ที่ส่งลูกก่อนคือ "ผู้เสิร์ฟ" ส่วนอีกฝ่ายคือ "ผู้รับ" ในกรณีที่ผู้เล่นพยายามเสิร์ฟลูกล้ำแนวเส้นสมมติที่ลากตรงต่อจากตาข่ายออกไป จะถือว่าไม่เสียแต้ม เว้นแต่ผู้เล่นจะเสิร์ฟล้ำเข้าไปในสนามของคู่ต่อสู้ ทั้งนี้ผู้รับสามารถยืนอยู่ในตำแหน่งใดของสนามในด้านของตนเองก็ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ในเส้นขอบของสนาม

            การเลือกแดนและเลือกเสิร์ฟ

            การเลือกแดนและการเลือกเสิร์ฟ จะชี้ขาดด้วยการเสี่ยง โดยผู้เล่นที่เป็นผู้ชนะ มีสิทธิ์เลือกก่อนหรือให้คู่ต่อสู่เลือกก่อนก็ได้

            การเสิร์ฟ

            ก่อนเสิร์ฟ ผู้เล่นที่เป็นฝ่ายเสิร์ฟต้องยืนข้างหลังเส้นด้วยเท้าทั้งสองข้าง (ให้เส้นหลังอยู่ระหว่างตาข่ายกับผู้เสิร์ฟ) โดยอยู่ระหว่างเส้นสมมติที่ลากตรงต่อออกไปจากจุดกึ่งกลาง จากนั้นให้ผู้เล่นที่เป็นฝ่ายเสิร์ฟ ใช้มือโยนลูกขึ้นไปในอากาศ แล้วใช้ไม้เทนนิสตีลูกนั้นก่อนที่จะตกถึงพื้น เมื่อไม้สัมผัสลูก ถือว่าการเสิร์ฟเสร็จสิ้น

            การเสิร์ฟลูกที่สอง

            เมื่อเสิร์ฟลูกแรกเสีย ผู้เสิร์ฟจะต้องเสิร์ฟอีกลูกหนึ่งจากหลังสนามด้านเดิมที่เสิร์ฟลูกแรกไปแล้ว แต่ในกรณีลูกแรกที่เสิร์ฟเสียนั้นเป็นเพราะผู้เสิร์ฟยืนผิดด้าน ให้ผู้เสิร์ฟ เสิร์ฟใหม่อีก 1 ลูก จากหลังอีกด้านหนึ่ง

            ลูกเสิร์ฟเสีย

            ในกรณีที่ถือว่า ลูกเสิร์ฟเสีย มีดังนี้

            1. ผู้เสิร์ฟทำผิดกติกา

            2. ผู้เสิร์ฟตีลูกอย่างเจตนา แต่ไม่ถูก

            3. ลูกที่เสิร์ฟไปนั้น สัมผัสสิ่งติดตั้งถาวรอย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนสัมผัสพื้น (ยกเว้นตาข่ายและแถบขึงตาข่าย)

            แต่ในกรณีที่หลังจากโยนลูกเพื่อเสิร์ฟแล้ว ผู้เสิร์ฟเปลี่ยนใจไม่ตีลูกแล้วใช้มือรับลูกไว้ จะถือว่าลูกนั้นไม่เสีย
            
            ลำดับการเสิร์ฟ

            เมื่อจบเกมแรก ผู้รับจะต้องเปลี่ยนเป็นผู้เสิร์ฟ และผู้เสิร์ฟต้องเปลี่ยนเป็นผู้รับ สลับกันเรื่อยไปจนกว่าจะจบการแข่งขัน แต่ถ้าผู้เล่นคนใดเสิร์ฟผิดรอบ ผู้เล่นที่ควรจะเป็นผู้เสิร์ฟจะต้องเป็นผู้เสิร์ฟต่อไปทันที
            

            การขานเล็ท (Let)

            คำว่า "เล็ท" ที่กรรมการเป็นผู้ขานขึ้น เพื่อหยุดยั้งการเล่น มีความหมายดังนี้

            1. ขานเมื่อให้เสิร์ฟลูกนั้นใหม่

            2. ขานเมื่อให้เล่นแต้มนั้นใหม่

            การขานเล็ท ในขณะเสิร์ฟ หมายถึง

            1. การที่ลูกเสิร์ฟไปสัมผัสตาข่าย หรือแถบขึงตาข่าย แล้วตกในสนามที่ถูกต้อง

            2. การที่เสิร์ฟในขณะผู้รับไม่พร้อมที่จะรับ ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ฟที่ดีหรือเสียก็ตาม
            ทั้งนี้เมื่อมีการเสิร์ฟที่เป็นเล็ท จะไม่มีฝ่ายใดได้แต้ม
            
            การเปลี่ยนข้าง

            ผู้เล่นจะต้องเปลี่ยนข้างเมื่อจบเกมที่หนึ่ง เกมที่สอง และทุก ๆ เกมคี่ของแต่ละเซต และต้องเปลี่ยนข้างเมื่อจบเซตรวมกันแล้วเป็นเลขคู่
            
เทนนิส


            วิธีนับแต้มในแต่ละเกม

            วิธีการนับแต้มของกีฬาเทนนิส คือ แต้มที่ 1 นับ 15 แต้มที่ 2 นับ 30 แต้มที่ 3 นับ 40 หากผู้เล่นคนใดได้แต้มที่ 4 ก่อน จะถือว่าเป็นผู้ชนะในเกมแต่ถ้าในกรณีที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายได้แต้มสามแต้มเท่ากันให้ขานแต้มว่า ดิวซ์ (Deuce) ฝ่ายได้แต้มก่อนให้ขานแต้มว่า ได้เปรียบ และถ้าผู้เล่นคนเดิมได้แต้มต่อไปอีกหนึ่งแต้ม ผู้เล่นคนนั้นชนะในเกมทันที แต่หากยังไม่ได้แต้ม ต้องมาดิวซ์กันใหม่จนกว่าจะมีฝ่ายใดได้ 2 แต้มติด จึงจะเป็นผู้ชนะในเกมนั้น

            ส่วนที่มาของการนับแต้ม 15, 30, 40 มาจากสมัยก่อนใช้นาฬิกาในการขึ้นคะแนน โดยเข็มสั้นและเข็มยาวเป็นตัวแทนผู้เล่น มีวิธีการนับดังนี้ 

            แต้มที่ 1 นับ 15 เลื่อนเข็มนาฬิกาไปที่เลข 3 ขานแต้มว่า Fifteen

            แต้มที่ 2 นับ 30 เลื่อนเข็มนาฬิกาไปที่เลข 6 ขานแต้มว่า Thirty

            แต้มที่ 3 ในกีฬาเทนนิสจะนับ 45 เลื่อนเข็มนาฬิกาไปที่เลข 9 ขานแต้มว่า Forty-five จนกระทั่งปี ค.ศ. 1875 สโมสร Marylebone Cricket Club (MCC) ในอังกฤษซึ่งเป็นผู้ออกกฎกติกาเทนนิสสมัยใหม่ ได้เปลี่ยนมานับแต้มที่สามเป็น 40 หรือ Forty แทน เพื่อให้กรรมการออกเสียงง่ายขึ้น

            แต้มที่ 4 เข็มนาฬิกาไปที่เลข 12 ขานแต้มว่า เกมส์ (Game) เป็นอันจบเกม
            
            การได้แต้ม

            ผู้เสิร์ฟจะได้แต้มเมื่อ

            1. ลูกที่เสิร์ฟที่ไม่ได้เป็นเล็ทดังที่ระบุไว้ว่า ลูกไปสัมผัสผู้รับหรือสิ่งที่ผู้รับสวมหรือถืออยู่ก่อนที่จะสัมผัสพื้น

            2. ผู้รับทำเสียแต้ม

            โอกาสที่ผู้รับได้แต้ม

            ผู้รับจะได้แต้มเมื่อ

            1. ผู้เสิร์ฟเสียสองลูกติดต่อกัน

            2. ผู้เสิร์ฟทำเสียแต้ม
            
            การเสียแต้ม

            ผู้เล่นจะเสียแต้มเมื่อ

            1. ผู้เล่นไม่สามารถตีลูกที่อยู่ในการเล่นให้ข้ามตาข่ายกลับไปก่อนที่ลูกจะสัมผัสพื้นสองครั้งได้

            2. ผู้เล่นตีลูกที่อยู่ในการเล่นไปสัมผัสพื้น สิ่งติดตั้งถาวร หรือวัตถุอื่นใดซึ่งอยู่นอกเส้นที่ล้อมรอบสนามของคู่ต่อสู้

            3. ผู้เล่นตีลูกก่อนลูกตกถึงพื้น แต่เสีย แม้จะยืนอยู่นอกสนามก็ตาม

            4. ผู้เล่นใช้ไม้เทนนิสสัมผัสลูกหรือตีลูกที่อยู่ในการเล่นมากกว่าหนึ่งครั้ง

            5. ไม้เทนนิสหรือสิ่งที่ผู้เล่นสวมหรือถืออยู่ สัมผัสตาข่าย เสา ไม้ค้ำตาข่าย เชือกขึงตาข่าย แถบขึงตาข่าย แถบหุ้มตาข่าย หรือสนามของคู่ต่อสู้ ในขณะที่ลูกอยู่ในการเล่น

            6. ผู้เล่นตีลูกก่อนที่ลูกจะตกถึงพื้นหรือก่อนที่ลูกนั้นข้ามตาข่ายมา

            7. ลูกที่อยู่ในการเล่น สัมผัสร่างกายของผู้เล่นหรือสิ่งที่ผู้เล่นสวมอยู่ เว้นแต่ไม้เทนนิสที่ถืออยู่

            8. ผู้เล่นขว้างไม้เทนนิสไปถูกลูก 

            9. ผู้เล่นตั้งใจทำให้รูปร่างของไม้เทนนิสที่ใช้ตีอยู่เปลี่ยนแปลงในระหว่างการเล่นแต้ม
            
            เกมไทเบรก

            เกมไทเบรก คือ การเล่นเกมสุดท้ายอันเป็นเกมตัดสิน ในกรณีที่เกมดำเนินมาถึง 6-6 หากผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนถึง 7 พอยท์เป็นคนแรก ผู้เล่นคนนั้นก็จะเป็นผู้ชนะในเกมเซต ซึ่งเกมไทเบรกจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีผู้เล่นทำคะแนนนำไปได้ 2 พอยท์ อาทิ 9-7, 16-14 เป็นต้น 
            
            การนับแต้มระบบไทเบรก

            ใช้ระบบนับแต้มที่เรียกว่า "No Ad Scoring" ซึ่งเป็นวิธีการนับเลขแบบก้าวหน้าเรียงขึ้นไปตามลำดับคือ แต้ม 1, 2, 3, ... หากผู้เล่นคนใดได้  7แต้มก่อน ถือว่าเป็นฝ่ายชนะในเซตนั้น
            
            รายการแข่งขันเทนนิสในระดับสากล

            Davis Cup 

            เป็นการแข่งขันประเภททีมชายของแต่ละประเทศทั่วโลก การแข่งขันจะมีทั้งหมด 5 แมตช์ โดยการแข่งขันในวันแรกจะเป็นการแข่งขันประเภทเดี่ยวชนมือ โดยผู้เล่นมือ 1 ปะทะกับมือ 1 และมือ 2 ปะทะกับมือ 2 ของแต่ละทีม ในวันที่สองเป็นการแข่งขันประเภทคู่ และวันที่สามจะเป็นการแข่งขัน ประเภทเดี่ยวสลับมือ คือ ผู้เล่นมือ 1 ปะทะกับมือ 2 ของแต่ละทีม ทุกแมตช์แข่งขันโดยใช้ระบบ 3 ใน 5 เซต
            
            Federation Cup  (Fed Cup)

            เป็นการแข่งขันประเภททีมหญิงของแต่ละประเทศทั่วโลก โดยแข่งขันกันให้จบสิ้นภายใน 1 สัปดาห์ มีการแข่งขันทั้งหมด 5 แมตช์ โดยการแข่งขันในวันแรกจะเป็นการแข่งขันประเภทเดี่ยวสลับมือ คือ ผู้เล่นมือ 1 ปะทะกับมือ 2 ของแต่ละทีม ในวันที่สองเป็นการแข่งขันประเภทเดี่ยวชนมือ โดยผู้เล่นมือ 1 ปะทะกับมือ 1 และมือ 2 ปะทะกับมือ 2 ของแต่ละทีม และการแข่งขันประเภทคู่ทุกแมตช์ จะแข่งขันในระบบ 2 ใน 3 เซต
           
            Grand Slam        

            มีการแข่งขันทั้งหมด 4 รายการ โดยจะเริ่มแข่งขันกันตั้งแต่ต้นปีไล่ไปจนถึงปลายปี ถือเป็นการแข่งขันรายการใหญ่ที่สุดของวงการนักเทนนิสอาชีพ ประกอบด้วย

            - ออสเตรเลียนโอเพ่น (Australian Open) แข่งขันในช่วงเดือนมกราคม ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

            - เฟรนช์ โอเพ่น (French Open) แข่งขันในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นแกรนด์สแลมรายการเดียวที่จัดแข่งขันกันบนคอร์ตดิน

            - วิมเบิลดัน (Wimbledon) แข่งขันในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถือเป็นแกรนด์สแลมรายการเดียวที่จัดแข่งขันบนคอร์ตหญ้า และเป็นการแข่งขันแกรนด์สแลมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

            - ยูเอส โอเพ่น (U.S.Open) แข่งขันในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
            
            ทั้งนี้หากนักเทนนิสคนใดสามารถที่จะชนะเลิศทั้ง 4 รายการติดต่อกันจะถือว่าเป็น แชมป์เปียนแกรนด์สแลม ซึ่งการแข่งขันทั้งหมดมี 5 ประเภท คือ ชายเดี่ยว ชายคู่ หญิงเดี่ยว หญิงคู่ และคู่ผสม
            
            มารู้จักนักเทนนิสชื่อดังของไทย

            ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีนักกีฬาเทนนิสชาวไทยหลายคนสร้างผลงานได้ยอดเยี่ยมจากการแข่งขันเทนนิสระดับประเทศแล้วไต่ขึ้นไปสู่การแข่งขันในรายการระดับโลกได้ พร้อมกับสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย อย่างเช่น

            ภราดร ศรีชาพันธุ์

ประวัติเทนนิส

            อดีตนักเทนนิสมือวางอันดับ 9 ของโลก

            ในปี พ.ศ. 2546 ภราดรสามารถไต่อันดับจากนักเทนนิสมือวางอันดับ 30 ไปเป็นมือวางอันดับ 9 ของโลกได้สำเร็จหลังจบการแข่งขันรายการวิมเบิลดัน ที่เขาสร้างผลงานล้มยักษ์อย่าง อังเดร อากัสซี่ อดีตนักเทนนิสมือ 1 ของโลกชาวสหรัฐฯ ได้ในการแข่งขันรอบสอง ทำให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่ววงการเทนนิสโลก พร้อมกับเอกลักษณ์ประจำตัวคือการยกมือไหว้ผู้ชมรอบสนามทั้ง 4 ทิศ ประกาศศักดาความเป็นคนไทยให้เผยแพร่สู่สายตาคนทั่วโลก และจากฟอร์มอันยอดเยี่ยมนี้เอง ทำให้ภราดรเป็นหนึ่งในนักเทนนิสเอเชียที่มีอันดับโลกสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ดึงความสนใจให้คนไทยหันมาเล่นเทนนิสกันมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน
            
            ดนัย อุดมโชค

ประวัติเทนนิส

            อดีตมือวางอันดับ 77 ของโลก

            ดนัย เป็นมือวางอันดับ 77 ของโลก ในปี พ.ศ. 2550 คว้าเหรียญทองในเอเชียนเกมส์ 2006 โดยเอาชนะลี ฮุง-เตก นักเทนนิสชาวเกาหลีใต้ มือวางอันดับ 1 ของรายการ และมือวางอันดับ 1 ขอเอเชียได้ในรอบชิงชนะเลิศ และได้รับรางวัลนักกีฬาสมัครเล่นชายดีเด่น เนื่องในวันนักกีฬาแห่งชาติ พร้อมกับได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะเดียวกัน ดนัยก็ยังรับใช้ชาติด้วยการลงแข่งขันในนามทีมชาติไทยมาอย่างยาวนาน
            
            แทมมารีน ธนสุกาญจน์

ประวัติเทนนิส

            อดีตนักเทนนิสหญิงมือวางอันดับ 1 ของไทย

            แทมมารีน นักเทนนิสหญิงไทยเป็นที่รู้จักครั้งแรกในฐานะรองแชมป์จูเนียร์วิมเบิลดัน ในปี พ.ศ. 2538 และเคยทำผลงานได้ดีในรายการเทนนิสวิมเบิลดัน ผ่านเข้ารอบ 4 ได้มีโอกาสเข้าไปเล่นในสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกันถึง 5 ปี คือ พ.ศ. 2541 ถึง 2545 (เว้นปี 2546 ซึ่งตกรอบแรกและทำได้อีกครั้งในปี 2547)
            
            นพวรรณ เลิศชีวกานต์

ประวัติเทนนิส

            อดีตนักเทนนิสหญิงมือวางอันดับ 2 ของไทย

            นพวรรณมีผลงานเริ่มโดดเด่น ในปี พ.ศ. 2551 สามารถเข้าชิงชนะเลิศรายการแกรนด์สแลม วิมเบิลดัน ระดับเยาวชน ถือเป็นนักเทนนิสไทยคนที่ 2ที่สามารถเข้าชิงชนะเลิศรายการ แกรนด์สแลมระดับเยาวชน ต่อจาก แทมมารีน และคว้าแชมป์หญิงคู่ในรายการจูเนียร์ยูเอสโอเพน ต่อมาในปี 2009นพวรรณรับตำแหน่งการเป็นมือ 1 ของเยาวชนโลก และคว้าแชมป์แกรนด์สแลม จูเนียร์ หญิงคู่ ในรายการเฟรนช์โอเพนและคว้าดับเบิลแชมป์ จูเนียร์ แกรนด์สแลม วิมเบิลดัน ทั้งประเภทเดี่ยวและคู่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย

            สนฉัตร-สรรค์ชัย รติวัฒน์

ประวัติเทนนิส

            แฝดสยามแห่งวงการเทนนิสไทย

            สนฉัตร-สรรค์ชัย เคยทะยานขึ้นไปอยู่มือวางอันดับ 20 ของโลกในระดับเยาวชน พร้อมกับเคยคว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันเทนนิสประเภทคู่ ในเอเชียนเกมส์ 2006 ผลงานล่าสุดในปีนี้ทั้งคู่คว้าแชมป์ชายคู่ในการแข่งขันเทนนิสรายการ “ปูซาน โอเพ่น ชาลเลนเจอร์ 2015 และเข้ารอบรองชนะเลิศสายคู่ ศึกเอทีพีชาลเลนเจอร์ทัวร์ "โซล โอเพ่น ชาลเลนเจอร์ 2015"

            และทั้งหมดนี้คือความเป็นมาและกติกาการเล่นของกีฬาเทนนิส พร้อมทั้งได้ทำความรู้จักกับนักเทนนิสไทยที่ก้าวไกลไปในระดับโลก เชื่อว่าคงเข้าใจเรื่องกฎกติกาของการเล่นกีฬาเทนนิสมากขึ้นแล้วนะคะ ส่วนใครที่กำลังฝึกเล่น ก็ขอให้เล่นกันอย่างสนุกสนาน ปฏิบัติตามกฎกติกาและที่สำคัญอย่าลืมมีน้ำใจนักกีฬาด้วยนะคะ



ภาพจาก เฟซบุ๊ก Noppawan Lertcheewakarn (นพวรรณ เลิศชีวกานต์) , brighttv.co.th

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

- กรมพลศึกษา

- โรงเรียนเซนต์โยเฟซทิพวัล

- sites.google.com

- school.net.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติเทนนิส ข้อมูลความเป็นมา กีฬาเทนนิส อัปเดตล่าสุด 28 พฤษภาคม 2558 เวลา 16:17:50 154,200 อ่าน
TOP