เรือดำน้ำจีน ของดีคุ้มค่า แต่สังคมแคลงใจ ไทยจำเป็นต้องมีหรือ?





          เปิดข้อมูล เรือดำน้ำจีน รุ่น Yaun Class S26T สมรรถนะคุ้มราคา แต่สังคมแคลงใจจำเป็นต้องมีหรือ ด้านนักวิชาการชี้ไม่ตอบโจทย์ด้านความมั่นคง อ้างเหตุพิพาทในทะเลจีนใต้ไม่เกี่ยวกับไทย ขณะที่ ครม. ยังไม่ลงมติไฟเขียวโครงการดังกล่าว

          วันที่ 7 กรกฎาคม 2558 จากกรณีที่กองทัพเรือมีมติเอกฉันท์จะจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน 3 ลำ ซึ่งมีรายงานว่าเป็นรุ่น Yuan Class S-26T เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่มีระวางน้ำอยู่ที่ 2,600 ตัน ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ติดตั้งระบบ Air Independent Propulsion system (AIP) เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด ทำให้อยู่ใต้น้ำได้นานถึง 21 วัน โดยไม่ต้องโผล่มาที่่ผิวนำเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า จึงถือเป็นเรือดำน้ำที่อยู่ใต้น้ำได้นานที่สุดที่ไม่ได้ใช้ระบบนิวเคลียร์เป็นพลังงาน ขณะที่เรือดำน้ำทั่วไปปกติจะอยู่ได้นาน 7-10 วัน

          ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านยุทโธปกรณ์ ระบุว่า เรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S-26T ได้ติดตั้งระบบ ขีปนาวุธต่อต้านเรือ หรือ ASM (Anti-Ship missile) ซึ่งคลาสปกติของ Yuan ไม่ได้มีการติดตั้งระบบดังกล่าวไว้

          หากลองเปรียบเทียบสมรรถนะกับขุมกำลังใต้น้ำของเพื่อนบ้านในละแวกอาเซียนนั้น พบว่า เรือดำน้ำที่กองทัพเรือเสนอจัดซื้อ มีสมรรถนะดีที่สุด และราคาอยู่ในระดับยอมรับได้ ดังนี้

          มาเลเซีย ใช้เรือดำน้ำรุ่นสกอร์เปี้ยน สามารถยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือได้ แต่ไม่มีระบบ AIP
 
          อินโดนีเซีย ใช้เรือดำน้ำ Chang Bogo-class รุ่น DW1400 ยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือ หรือ ASM ไม่ได้ และยังไม่มีระบบ AIP ด้วย

          สิงคโปร์ ใช้เรือดำน้ำที่สั่งต่อเอง รุ่น 218 SG ยิง ASM ไม่ได้ แต่มีระบบ AIP

          เวียดนาม ใช้เรือดำน้ำที่ซื้อจากรัสเซีย คลาส Kilo สามารถยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือได้ แต่ไม่มีระบบ AIP

          จากข้อมูลการเปรียบเทียบข้างต้นจะเห็นว่าในแง่ราคา และสมรรถนะ อาจไม่ใช่ปัญหาของการจัดการซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ แต่ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากสังคม คือ ความเหมาะสมและความจำเป็นของการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการในช่วงเวลานี้ว่าเหมาะสมหรือไม่

          โดยโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนในครั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ทราบความเคลื่อนไหวโครงการดังกล่าวเป็นอย่างดี จากการเดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ และจีนได้เสนอเรือดำน้ำชั้น (คลาส) S-26T ให้กับกองทัพเรือ แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณของประเทศบางหน่วยจะทำความเห็นคัดค้าน เพราะเห็นว่าจะเป็นภาระกับงบประมาณในระยะยาว และสถานการณ์ภัยคุกคามทางทะเลของไทยยังไม่มีความจำเป็นถึงขั้นต้องจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการก็ตาม

          จากนั้นวันที่ 29 เมษายน กระทรวงกลาโหมได้ทำหนังสือเรื่องโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ เตรียมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำที่กระทรวงกลาโหมเสนอเรื่องนั้น เป็นการจัดซื้อเพียง 2 ลำ ไม่ใช่ 3 ลำ ตามที่กองทัพเรือแถลงในภายหลัง โดยมีรายงานว่ากองทัพเรือชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า งบจัดซื้อ 36,000 ล้านบาทนั้น เดิมจัดซื้อได้เพียง 2 ลำ แต่รัฐบาลจีนเสนอให้ 3 ลำโดยใช้งบประมาณเท่าเดิม เท่ากับรัฐบาลจีนลดราคาให้ถึง 12,000 ล้านบาท

          สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายนนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ ต่างยืนยันว่าที่ประชุมมีมติเพียงให้กองทัพเรือศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเท่านั้น ยังไม่ได้อนุมัติให้จัดซื้อ พร้อมข้อสังเกตเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแนวปะการัง ขณะที่การจัดซื้อเรือดำน้ำ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีบรรจุในรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ที่อยู่ระหว่างจัดทำ

          อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการและหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ไม่ใช่ทหาร เห็นตรงกันว่าสถานการณ์รอบบ้านไทยในขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องจัดซื้อเรือดำน้ำเข้าประจำการ อาทิ

          ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทย ว่า การมีเรือดำน้ำของไทยไม่ช่วยตอบโจทย์ด้านความมั่นคง เนื่องจากไทยไม่ค่อยมีข้อพิพาททางทะเลโดยตรง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำอยู่แล้ว ซึ่งเผชิญกับปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ ขณะที่บางประเทศมีความจำเป็นด้านภูมิศาสตร์ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม แต่ไทยไม่มีความจำเป็นในแง่นี้

          ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงที่ไม่ใช่ทหาร ประเมินว่าไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการในขณะนี้ ด้วยเหตุผลคือ
         
          1. ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ไม่เกี่ยวกับไทย
         
          2. ความจำเป็นด้านความมั่นคงที่กองทัพเรือต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หรือปัญหาโจรสลัด ขบวนการค้ามนุษย์ ที่มาทางเรือ ซึ่งใช้เรือรบบนผิวน้ำก็เพียงพอ
         
          3. ประเทศที่เป็นศัตรูหรืออาจเป็นศัตรูของไทยในอนาคตยังไม่มี หรือถ้ามีก็เป็นประเทศที่ไม่มีศักยภาพทางทะเล
         
          4. เขตอธิปไตยไทยมีสองฝั่ง คือ ด้านอ่าวไทยกับอันดามัน ความจำเป็นในการใช้กำลังทางเรือจึงควรเป็นเรือตรวจการณ์ เรือฟรีเกตมากกว่า
         
          5. ความจำเป็นต้องร่วมกับพันธมิตรในการทำสงครามทางทะเลยังไม่มี เพราะมีนโยบายวางตัวเป็นกลาง
         
          6. ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าจะเกิดสงครามทางทะเลในอาเซียน ในทางกลับกันอาเซียนกำลังจะรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ถือเป็นสถานการณ์เชิงบวกว่าทุกประเทศจะไม่สู้รบกัน





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรือดำน้ำจีน ของดีคุ้มค่า แต่สังคมแคลงใจ ไทยจำเป็นต้องมีหรือ? อัปเดตล่าสุด 7 กรกฎาคม 2558 เวลา 14:53:16 31,931 อ่าน
TOP
x close