นาซาเผยภาพชุดใหม่ของดาวพลูโต จากยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ เป็นภาพพาโนรามามุมมองกว้าง เผยให้เห็นพื้นผิวที่เป็นส่วนโค้งของดวงดาว เห็นภูเขาน้ำแข็งและกลุ่มหมอกควันได้ด้วยตาเปล่า
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 เว็บไซต์ NASA เปิดเผยภาพถ่ายชุดใหม่ของดาวพลูโต จากยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ โดยครั้งนี้เป็นภาพชุดแบบพาโนรามาที่มีความละเอียดคมชัดสูง และแสดงให้เห็นพื้นผิวส่วนโค้งของดวงดาว อีกทั้งยังสามารถมองเห็นภูมิประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยภูเขาน้ำแข็ง แผ่นน้ำแข็ง และกลุ่มหมอกควันต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน
โดยภาพชุดดังกล่าวถูกถ่ายด้วยกล้อง MVIC ของยานนิวฮอไรซันส์ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ก่อนจะส่งมาถึงโลกเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2558 เผยให้เห็นภาพส่วนโค้งของดาวพลูโต โดยมีแสงอาทิตย์ส่องผ่านมาจากด้านหลัง รวมถึงยังมองเห็นลักษณะภูมิประเทศและสภาพอากาศ ในพื้นที่ด้านกว้างเป็นระยะทางราว 1,280 กิโลเมตร
ภาพนี้เป็นภาพถ่ายมุมกว้างแบบพาโนรามาของดาวพลูโต เผยให้เห็นส่วนโค้งของดวงดาว ด้านขวาของภาพเป็นแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ชื่อ Sputnik Planum ส่วนด้านซ้ายมือของภาพเป็นกลุ่มภูเขาน้ำแข็งที่มีความสูงราว 3,500 เมตร ภาพนี้ถ่ายในระยะห่างราว 18,000 กิโลเมตรจากวงโคจรของดาวพลูโต
"ภาพชุดนี้ทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังสำรวจภูมิประเทศของดาวพลูโตด้วยตัวเอง นอกจากนั้น มันยังเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ของวงการวิทยาศาสตร์ เพราะมันทำให้เรามองเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวดาวพลูโตอย่างละเอียดยิบ ทั้งสภาพอากาศ ภูเขา ธารน้ำแข็ง และทุ่งน้ำแข็ง" อลัน สเติร์น หัวหน้าทีมตรวจสอบประจำปฏิบัติการของยานสำรวจ นิวฮอไรซันส์ กล่าว
นอกจากจะสามารถเห็นสภาพภูมิประเทศอย่างชัดเจนแล้ว ยังปรากฏภาพรายละเอียดใหม่ ๆ ของภูมิอากาศบนดาวพลูโต โดยมีภาพของชั้นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยแก๊สไนโตรเจน ที่เรียงตัวเป็นชั้น ๆ ราว 10 กว่าชั้น จนเกิดเป็นกลุ่มหมอกควันปกคลุมห่างจากพื้นผิวดาวราว 100 กิโลเมตร ซึ่งนั่นทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบว่า สภาพอากาศบนดาวพลูโตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกวันเช่นเดียวกับบนดาวโลก
นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์ยังพบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศบนดาวพลูโต เป็นหลักฐานชั้นดีที่สามารถยืนยันได้ว่า บนดาวพลูโตเองก็มีสิ่งที่คล้ายคลึงกับ "วัฏจักรน้ำ" ของบนโลก เพียงแต่เปลี่ยนจากน้ำเป็นน้ำแข็ง
ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงชั้นไนโตรเจนเหลวที่ปกคลุมพื้นผิวดาวจนกลายเป็นหมอกควัน ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าบนดาวพลูโตเองก็มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในแต่ละวันเช่นเดียวกับบนโลก
"เราไม่เคยคาดหวังว่าจะได้เจอวัฏจักรน้ำแข็งไนโตรเจนมาก่อนเลย โดยเฉพาะกับดาวเยือกแข็งแทบสุดขอบระบบสุริยะจักรวาลอย่างดาวพลูโต ซึ่งมันคล้ายคลึงกับวัฏจักรของน้ำบนโลกมากจนน่าตกใจเลยทีเดียว" อลัน โฮวาร์ด หนึ่งในสมาชิกทีมสำรวจภูมิประเทศของดาวพลูโต กล่าว
ทั้งนี้ ยานนิวฮอไรซันส์ ของนาซา ออกปฏิบัติการสำรวจดาวพลูโตตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2549 และสามารถโคจรผ่านดาวพลูโตได้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ที่ระยะห่างราว 12,500 กิโลเมตร นับเป็นก้าวสำคัญของมนุษย์ในการสำรวจดาวน้องนุชสุดท้องของระบบสุริยะจักรวาลได้สำเร็จ
ภาพจาก nasa.gov