ประวัติหลวงพ่อจรัญ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน พระผู้สอนกฎแห่งกรรม



หลวงพ่อจรัญ

หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน

หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน

         ประวัติ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม (พระธรรมสิงหบุราจารย์) เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี พระนักเทศน์-วิปัสสนาจารย์ ผู้หยิบยกคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมเมื่อสมัยวัยเยาว์มาสอน พร้อมบทสวดต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้กำลังอาพาธ

         ชื่อของ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม หรือ พระธรรมสิงหบุราจารย์ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี คงเป็นที่รู้จักดีของผู้ที่มักปฏิบัติธรรมอย่างแน่นอน เนื่องจากมีความศรัทธาในคำสอนและหลักการปฏิบัติธรรมที่ท่านได้เผยแพร่คำสอนมาอย่างยาวนาน แต่ล่าสุดมีข่าวว่าหลวงพ่อจรัญได้เข้ารับการรักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 ด้วยอาการหอบเหนื่อยจากโรคปอดอักเสบและตรวจพบว่าการทำงานของไตบางส่วนลดลง รวมทั้งต้องถวายการช่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ ทำให้มีลูกศิษย์ที่มีอยู่จำนวนมากรู้สึกกังวล [อ่านข่าว หลวงพ่อจรัญ ไตทำงานลดลง แพทย์ถวายเครื่องช่วยหายใจในการรักษา]

         เนื่องจากหลวงพ่อจรัญเป็นแบบอย่างพระผู้ปฏิบัติดี มีชื่อเสียงในด้านเป็นพระนักพัฒนา พระนักเทศน์ และพระวิปัสสนาจารย์ รวมทั้งเป็นผู้ที่หยิบยกกฎแห่งกรรมที่ท่านเคยทำไว้เมื่อวัยเด็กมาสอนประชาชนมากมาย ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อจรัญเป็นที่รู้จักในวงกว้างและมีคนสนใจชีวประวัติของหลวงพ่อจรัญอย่างมาก กระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวมชีวประวัติของท่านมาฝากกัน

หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน

ประวัติหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี พร้อมอายุ-วันเกิด

         สำหรับประวัติของหลวงพ่อจรัญ ชื่อเดิมคือ นายจรัญ จรรยารักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2471 เวลา 07.10 น. ปัจจุบันอายุ 87 ปี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวน 10 คน  มีบิดาชื่อ นายแพ จรรยารักษ์ และมารดาชื่อ นางเจิม สุขประเสริญ มีอาชีพเป็นชาวนา ที่ ต.ม่วงหมู่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ได้รับการอุปสมบทเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2491 รวม 67 พรรษา ส่วนวุฒิการศึกษาสำเร็จ นักธรรมชั้นโท ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 3

ชีวิตวัยเด็กของ จรัญ จรรยารักษ์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม)

         วัยเด็กของเด็กชายจรัญ ถูกยาย อายุ 80 ปี ขอไปเลี้ยงอยู่เป็นเพื่อนเนื่องจากตาลาบวช โดยได้ไปอยู่ที่บ้านทรงไทยที่มีหลังบ้านติดกับลำน้ำลพบุรี และในเวลา 04.00 น. ของทุกวัน คุณยายจะตื่นขึ้นมาสวดมนต์เป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยมีเด็กชายจรัญคอยเตรียมอาหารไว้ให้ยายใส่บาตร จากนั้นสองยายหลานจะพากันไปเก็บผัก ผลไม้ เพื่อหาบไปขายในตลาด ก่อนที่เด็กชายจรัญจะไปโรงเรียน แต่ทว่าเวลานั้นเด็กชายจรัญต้องย้ายโรงเรียนบ่อยเนื่องจากไม่ตั้งใจเรียน มีนิสัยเกเร ชอบเอาเวลาไปยิงนกตกปลาและสร้างวีรกรรมไว้มากมาย จนช่วงมัธยมเด็กชายจรัญถูกโรงเรียนไล่ออกและไม่มีโรงเรียนใดใน จ.สิงห์บุรีรับเข้าเรียน ทั้งที่ยายสอนแต่สิ่งดี ๆ

         ทำให้ยายต้องส่งเด็กชายจรัญไปอยู่กับปู่ ซึ่งเป็นคุณหลวงในกรุงเทพฯ และได้ไปเป็นศิษย์ดนตรีไทยของคุณหลวงประดิษฐ์ไพเราะก่อนส่งตัวต่อไปฝากฝังกับ จอมพล ป. จนได้รับการสนับสนุนให้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่เมื่อเจอรุ่นพี่วางอำนาจใส่นายจรัญก็ทนไม่ได้จนมีเรื่องกับรุ่นพี่ จึงต้องลาออกจากโรงเรียนและกลับไปตั้งวงดนตรีไทยที่บ้าน

หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน

หลวงพ่อจรัญ อุปสมบท ได้รับฉายาว่า "ฐิตธมฺโม"

         จนกระทั่งครบอายุบวช ยายก็ได้ให้นายจรัญอุปสมบทเมื่อปี 2491 ที่วัดพรหมบุรี โดยมีพระพรหมนคราจารย์ เจ้าอาวาสวัดแจ้งพรหมนครเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูถาวรวิริยคุณ วัดพุทธารามเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านได้รับฉายาว่า "ฐิตธมฺโม" ทั้งที่ขณะนั้นนายจรัญเกลียดพระสงฆ์เพราะเจอพระทุศีลใช้ผ้าเหลืองหากิน และเมื่อครบกำหนดสึกท่านได้เตรียมตัวสึกแต่ก็เลื่อนสึกถึง 3 ครั้ง จนสมภารวัดบอกว่าไม่สึกให้แล้ว หากคิดจะสึกก็ให้ไปวัดอื่น ท่านจึงออกเดินทางไปนมัสการพระพุทธชินราชเพื่อตั้งใจให้พระที่นั่นสึกให้ แต่ระหว่างทางได้เจอโยมที่กำลังเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อเดิม ที่ จ.นครสวรรค์ ท่านจึงได้เดินทางไปด้วย เมื่อไปถึงก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (เดิม พุทฺธสโร) ซึ่งท่านก็ได้สอนวิชาคชศาสตร์ให้ ซึ่งมีเพียงหลวงพ่อจรัญเพียงคนเดียวที่ได้เรียน รวมถึงวิชาคาถาอื่น ๆ จนท่านไม่ได้สึกอย่างที่ตั้งใจและคิดว่าคงต้องครองสมณเพศไปตลอด

         นอกจากนี้หลวงพ่อจรัญยังได้ศึกษาวิชากับอาจารย์ท่านอื่น ๆ อีก เช่น พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมมฺธโร) และพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) จ.ขอนแก่น ต่อมาได้ศึกษาการทำเครื่องรางของขลัง น้ำมันมนต์ กับหลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่าง จ.พระนครศรีอยุธยา และหลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง จ.อ่างทอง, หลวงพ่อจาด วัดบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี และได้ศึกษา สมถกรรมฐาน กับพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี และศึกษาและปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน กับพระราชสิทธิมุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ รวมทั้งได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาพระอภิธรรมกับอาจารย์เตชิน (ชาวพม่า) ที่วัดระฆัง จ.ธนบุรี และศึกษาการพยากรณ์จากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ กรุงเทพฯ และศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาศาสตร์ทางจิตกับ อาจารย์ พ.อ. ชม สุคันธรัต

         ในที่สุดเมื่อท่านมีวิชาความรู้มากพอทางคณะสงฆ์ก็ได้ให้หลวงพ่อจรัญไปเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดโบราณ ทรุดโทรม มีเพียงพระบวชจำพรรษาเพียง 2 รูป โดยหลวงพ่อได้เข้าไปพัฒนาและได้สอนกรรมฐานคติธรรมจนเป็นประโยชน์แก่คนมากมายจนถึงปัจจุบัน โดยหลวงพ่อจรัญลงรับแขกเวลา 09.30 น. และเวลา 13.30 น. ของทุกวัน

หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน

ผลกรรมของหลวงพ่อจรัญ ที่ยกมาสอนในหนังสือกฎแห่งกรรม

         เรียกได้ว่าสมัยเด็กของหลวงพ่อจรัญได้สร้างกรรมไว้มากมาย โดยไม่สนใจเรื่องบาปบุญคุณโทษซึ่งมีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ โดยยกตัวอย่างดังนี้

         แอบกินอาหารถวายพระ

         เมื่อครั้งหลวงพ่อจรัญยังเป็นเด็กชายจรัญ ท่านกับเพื่อนเคยร่วมกันกินอาหารของยายที่จะนำไปถวายพระ 2 ครั้ง จนสุดท้ายยายจับได้จึงถูกตีอย่างหนัก ซึ่งยายสอนว่า อย่าทำแบบนี้ไม่เช่นนั้นจะเกิดเป็นเปรต ปากเท่ารูเข็ม

         รับจ้างต้มเต่า-ขโมยปลา

         นอกจากนี้เด็กชายจรัญยังรับค่าจ้างจากวงเหล้าให้นำเต่าไปต้มจำนวน 7 ตัว แต่เต่าพากันดิ้นด้วยความทุรนทุรายจนหม้อแตกและพยายามหนีเข้ากอไผ่ เด็กชายจรัญเห็นดังนั้นจึงวิ่งไปจับตัวมาต้มอีกแต่เกิดเปลี่ยนใจเพราะเห็นเต่าร้องไห้ ดังคำที่ว่า “ร้องไห้เป็นเผาเต่า” จนสุดท้ายต้องขโมยปลาตากแห้งของป้ามาให้วงเหล้าแทน

         ยิงนก-หักคอหักขานก

         ในช่วงปิดเทอมตอนนั้นยังไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ได้นำปืนไปตามทุ่งนาแล้วยิงนกเป็ด นกกระสา พอยิงได้ก็จะจับหักคอใส่ตะข้อง แต่พอถูกนกจิกใส่ก็โกรธจึงจับหักคอแล้วถลกหนังเลย บ้างก็จับหักขา

         โกงเงินค่าเรือข้ามฟาก-เงินค่าก๋วยเตี๋ยว

         สมัยนั้นเด็กชายจรัญต้องนั่งเรือจ้างข้ามฟากเดือนละ 25 สตางค์ แต่ก็โกงไม่ให้ค่าเรือ นอกจากนี้ยังเคยโกงเงินแม่ค้าไม่ให้ค่าก๋วยเตี๋ยวด้วย

         หลังจากที่เด็กชายจรัญได้เข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ และได้กลับมาอุปสมบทจนกระทั่งมารักษาการเจ้าอาวาสที่วัดอัมพวัน เมื่อปี 2499 ก็เริ่มรู้ชดใช้กรรมที่เคยทำไว้ตามลำดับจากการนั่งสมาธิ โดยเริ่มจากชดใช้ค่าก๋วยเตี๋ยวด้วยการที่นางกลุ่มและสามีชื่อตากิ๊ม ที่เคยโกงเงินค่าก๋วยเตี๋ยวไว้ แต่พวกเขาไม่รู้ได้นำลูกชายมาฝากบวชที่วัดอัมพวัน เนื่องจากทั้งคู่ฝันพร้อมกันว่าหากอยากให้ลูกชายหายเกเรให้พามาบวชที่วัดนี้ ได้ฟังดังนั้นหลวงพ่อจรัญจึงได้รับไว้และโกนผมให้ ก่อนจะซื้อผ้าไตร ซื้อรองเท้า ซื้อเสื่ออ่อน ซื้อบาตร ซื้อร่ม ทั้งหมด 200 บาท ก็ถือว่าหายกันกับค่าก๋วยเตี๋ยว

หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน

         ต่อมาจากการที่หลวงพ่อจรัญนั่งเจริญภาวนาและอโหสิกรรม แผ่เมตตาเป็นประจำก็รู้ได้ว่าต้องชดใช้หนี้กรรมจากการต้มเต่า ซึ่งกรรมเหล่านี้ได้ลืมไปหมดแล้วแต่มีสติได้บอกว่า ให้ระวังพรุ่งนี้อย่าพาใครขึ้นรถไปด้วย เพราะจะทำให้ตายกันหมดเพราะรถคว่ำ ซึ่งผลสุดท้ายก็ไม่เอาใครไปเลยและได้ขับรถปิกอัพไปคนเดียวด้วยความเร็วขนาด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประกอบกับช่วงเวลานั้นฝนตก พอมาถึงอ่างทองฝนก็หยุด แต่ถนนมันลื่น จนมาถึงตรงโค้งวัดคูรถที่มาด้วยความเร็วก็หมุนเลยและเสียหลักคว่ำ 8 รอบศีรษะ ทำให้จีวรขาด รถพังยับเยินต้องทนปวดแสบปวดร้อนอยู่นานเป็นเดือน ถือเป็นการใช้หนี้เต่าแต่ยังไม่หมดเสียทีเดียว

         จากนั้นหลวงพ่อจรัญก็เกิดนิมิตล่วงหน้าว่า ในวันที่ 14 ตุลาคม อีก 6 เดือนข้างหน้า ตนเองต้องคอหักตายอยู่โรงพยาบาลสิงห์บุรีแน่นอน จึงได้เตรียมการล่วงหน้าทั้งการบริจาคเงิน จัดแจงหน้าที่ภายในวัด เมื่อถึงวันจริงหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเจ้าคณะหลวงพ่อจรัญก็ได้เดินทางกลับ เมื่อรถออกจากวัดเลี้ยวขวาเข้าลพบุรี บริเวณหลังตลาดปากบาง ได้มีรถยนต์ที่ขับตามหลังมา 3 คัน แซงซ้ายรถทัวร์วิ่งเข้าชน ทำให้นาวาตรีที่นั่งมาด้วยกระเด็นตัวลอยไปอยู่บนรถทัวร์

         ส่วนตัวหลวงพ่อจรัญ ไหล่ไปชนกับเหล็กจนหัก และถูกกระจกครูดเอาหนังหัวไปอยู่ตรงท้ายทอยจนหมด คอพับไปที่หน้าอก หมุนได้เลย เลือดเต็มจมูก แต่ยังโชคดีที่ยังมีมือที่ยังใช้การได้พยายามจับดูว่าคอหักหรือเปล่าเหมือนตายหมดแล้วทั้งตัว แต่ยังมีสติดีและรู้ว่าหายใจได้ทางท้องตรงสะดือ ก็พยายามยุบหนอ พองหนอ ตลอดทางที่ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลก็เหมือนได้ยินและเห็นเต่ามาซ้ำเติม และถูกน้ำจากฝาหม้อน้ำหลุดออกมาลวกตัวจนร้อนไปหมด

         เมื่อถึงโรงพยาบาลหลวงพ่อจรัญก็ได้อธิษฐานว่าขอให้ข้าพเจ้าไปสบาย รู้แล้วเข้าใจแล้ว ขออโหสิกรรมทุกอย่างกับโลกมนุษย์ รวมทั้งพยายามตั้งจิตยุบหนอพองหน้า เป็นจังหวะเดียวกันกับที่บุรุษพยาบาลเข็นรถตกร่องประตูเหล็กทำให้กระดูกที่คอเข้าที่ แต่ก็ต้องมาชดใช้หนี้กรรมที่กินข้าวถวายพระเพราะต้องใส่เฝือกจนอ้าปากไม่ขึ้น กินอะไรไม่ได้ต้องใช้หลอดกาแฟหยอดอาหารแทน

บทสวดมนต์ก่อนนอน ของหลวงพ่อจรัญ พาหุงฯ มหากา

         การสวดมนต์ตามแนวทางของหลวงพ่อจรัญนั้น คือ การบูชาพระรัตนตรัย แล้วตั้งนะโม 3 จบ จากนั้นสวดไตรสรณคมน์ สวดพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ แล้วตามด้วยบทพาหุง มหากา จบด้วยการสวดอิติปิโส (พุทธคุณ) เท่าอายุ+1 จบ ดังนี้

         บทแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศล หลวงพ่อจรัญ

หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน

การปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน

         การปฏิบัติธรรมสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการมาที่วัดอัมพวันนั้น จะมีแบบ 3 วัน และ 7 วัน ดังนี้

         - การเข้าปฏิบัติธรรมแบบ 3 วัน สามารถไปลงทะเบียนได้ที่วัด ทุกวันศุกร์ ก่อน 4 โมงเย็น และจะลาศีล (กลับบ้าน) ก่อนบ่ายของวันอาทิตย์

         - การเข้าปฏิบัติธรรมแบบ 7 วัน สามารถไปลงทะเบียนได้ที่วัด ทุกวันโกนก่อน 4 โมงเย็นเช่นกันครับ และลาศีลในวันโกนถัดไป (วันโกนคือวันก่อนวันพระ 1 วัน)

         แต่สำหรับเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะต้องนำหนังสืออนุญาตจากผู้ปกครองนำติดไปด้วย ซึ่งสามารถใช้วิธีเขียน ระบุชื่อผู้ปกครองที่อนุญาตให้มาปฏิบัติธรรมกี่วัน พร้อมเบอร์โทรศัพท์และสำเนาบัตรประชาชน และเมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถนำสัมภาระเข้าไปเก็บยังที่พัก โดยจะมีที่ให้อาบน้ำและเปลี่ยนเป็นชุดปฏิบัติธรรมและลงมารอที่อาคารภาวนา 1 ชั้นบน ในเวลาประมาณ 17.30 น. ซึ่งจะมีท่านพระครูสอนกรรมฐานเบื้องต้น นอกจากนี้ทางวัดยังเปิดปฏิบัติธรรมให้แก่ชาวต่างชาติอีกด้วย สามารถอ่านรายละเอียดข้อบังคับได้ที่นี่ www.jarun.org
 
หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน

ติดตามข่าว หลวงพ่อจรัญ ทั้งหมด


ภาพจาก เฟซบุ๊ก หลวงพ่อจรัญ - คณะศิษย์
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
jarun.org, เฟซบุ๊ก ลูกศิษย์วัดอัมพวัน-จังหวัดสิงห์บุรี, dhammajak.net, kanlayanatam.com, คุณ Nattapong+ สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติหลวงพ่อจรัญ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน พระผู้สอนกฎแห่งกรรม อัปเดตล่าสุด 26 มกราคม 2559 เวลา 11:02:02 176,767 อ่าน
TOP
x close