กทม. ปิดประกาศให้รื้อย้ายบ้านเรือนในชุมชนป้อมมหากาฬ ภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ ขณะที่ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ยันไม่ได้ต่อต้าน แต่ขอแบ่งพื้นที่ในการอยู่อาศัยเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่สำนักการโยธา และสำนักงานเขตพระนคร กทม. ได้เข้าไปปิดป้ายประกาศหน้าชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อกดดันให้ประชาชนย้ายออกจากพื้นที่ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ กทม. จะลงพื้นที่ดำเนินการรื้อถอน ซึ่งการเข้ารื้อย้ายบ้านเรือนประชาชนบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬเป็นการดำเนินการตามกฎหมายกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร ตั้งแต่ปี 2535 เพื่อนำพื้นที่มาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ
สำหรับประกาศดังกล่าวระบุว่า...
"ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายการอนุรักษ์ป้อมและกำแพงพระนคร เพื่อการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้บริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2545 ให้กรุงเทพมหานครและกรมศิลปากรดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬ โดยต่อมาปี 2547 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่ากรุงเทพมหานครสามารถเข้าทำการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างได้ อีกทั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่างก็มีความเห็นว่ากรุงเทพมหานครต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจ่ายค่าทดแทนและรับโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้หาลู่ทางในการดำเนินการให้เกิดประโยชน์ของทุกฝ่ายมาโดยตลอด
บัดนี้ได้เวลาที่สมควรแล้วที่จะขอความร่วมมือผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เกี่ยวข้อง โปรดรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 30 เมษายน 2559 แต่หากมีความประสงค์จะขอให้กรุงเทพมหานครช่วยเหลือในการขนย้าย โปรดแจ้งสำนักงานเขตพระนครเพื่ออำนวยความสะดวกต่อไป ในการนี้กรุงเทพมหานครร่วมกับการเคหะแห่งชาติ จะเปิดให้บริการเกี่ยวกับการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ชุมชน ณ บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ในวันที่ 19 เมษายน 2559 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป"
ด้านนายพีระพล เหมรัตน์ ผู้อาศัยชุมชนป้อมมหากาฬ เปิดเผยว่า ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่รับรู้เรื่องการเวนคืนที่ดิน แต่มีคำถามว่า จะให้ไปอยู่ที่ไหน เพราะอยู่ที่นี่กันมานานกว่า 30 ปีแล้ว และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครเตรียมตัวย้ายออก ทั้งเห็นว่า หากจะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวผู้ที่อยู่ในชุมชนก็สามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาพื้นที่นี้ได้ และกำลังทำหนังสือเพื่อขอเข้าพบและเจรจากับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อทำความเข้าใจ แต่หากไม่อนุญาตให้เข้าพบ ก็จะมีการร้องเรียนต่อ คสช. ต่อไป พร้อมยืนยันว่าชาวบ้านไม่ได้ต่อต้านแต่แค่ขอแบ่งพื้นที่ในการอยู่อาศัยเท่านั้น
ขณะที่ นายสมชัย ไตรพิทยากุล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพระนคร กล่าวว่า ประชาชนที่ต้องการจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างสามารถแจ้งความประสงค์ไปยังเขต เพื่อประสานกองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กทม. ดำเนินการรื้อย้าย และว่า เรื่องเขตพระนครไม่สามารถตอบคำถาม หรืออธิบายรายละเอียดกับประชาชนได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจ
ภาพจาก ทวิตเตอร์ @pr_bangkok, ทวิตเตอร์ @js100radio
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก